พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #12: ช่องมองภาพ
เมื่อพูดถึงการถ่ายภาพ องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของกล้องคือช่องมองภาพ ในปัจจุบัน มีกล้องหลายรุ่นที่ไม่มีช่องมองภาพ มีแต่เพียงการถ่ายภาพแบบ Live View เท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อคุณมีประสบการณ์การถ่ายภาพมากขึ้น คุณจะตระหนักได้ว่าการถ่ายภาพด้วยช่องมองภาพมีผลต่อภาพถ่ายของคุณอย่างมาก ในบทความนี้ เราลองมาทำความรู้จักกับช่องมองภาพกัน (เรื่องโดย: Tomoko Suzuki)
ช่องมองภาพแบบออพติคอลช่วยให้คุณมุ่งความสนใจไปที่ตัวแบบได้
สิ่งที่ควรจดจำ
- ป้องกันแสงจากภายนอกไม่ให้รบกวนการถ่ายภาพของคุณ
- ช่วยให้คุณมุ่งความสนใจไปที่ตัวแบบได้โดยไม่มีสิ่งรบกวนความสนใจ
- ติดตามตัวแบบที่เคลื่อนไหวได้ง่าย
ช่องมองภาพคือหน้าต่างจอเล็กในกล้องที่สามารถมองผ่านเข้าไปเพื่อจัดองค์ประกอบภาพและจับโฟกัสที่ตัวแบบได้ ความแตกต่างระหว่างการถ่ายภาพแบบ Live View ซึ่งคุณสามารถใช้จอภาพ LCD และการถ่ายภาพด้วยช่องมองภาพ คือ เมื่อถ่ายภาพด้วยช่องมองภาพ จะมีการป้องกันแสงจากภายนอกไม่ให้ส่งผลต่อการมองเห็นภาพบนหน้าจอ คุณจึงมุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่ตัวแบบที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างเต็มที่ ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการติดตามตัวแบบที่กำลังเคลื่อนไหว
กล้องดิจิตอลติดตั้งช่องมองภาพสองแบบ ได้แก่ ช่องมองภาพแบบออพติคอล (OVF) และช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ (EVF)
ส่วนใหญ่ช่องมองภาพแบบออพติคอล (OVF) มักพบในกล้อง DSLR เช่น EOS 77D และ EOS 1300D ในกล้องรุ่นดังกล่าว แสงที่เดินทางผ่านเลนส์จะสะท้อนบนกระจกและเข้าไปในช่องมองภาพ ช่วยให้คุณถ่ายภาพขณะมองภาพจริงไปพร้อมกันได้ ข้อดีของระบบนี้ก็คือ คุณสามารถติดตามตัวแบบที่เคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น และมองเห็นสีสันได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม เนื่องจากกระจกเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยในการสะท้อนแสง จึงส่งผลต่อข้อจำกัดในการออกแบบกล้องให้มีขนาดที่กะทัดรัด นอกจากนี้ ยังไม่สามารถตรวจสอบเอฟเฟ็กต์สมดุลแสงขาวและการชดเชยแสงก่อนถ่ายภาพได้
ในขณะที่โดยปกติช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ (EVF) มักพบในกล้องมิเรอร์เลส อาทิ EOS M5 ซึ่งจะฉายภาพที่ถ่ายด้วยเซนเซอร์ภาพลงบนแผงหน้าจอ LCD ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และกลายเป็นภาพที่คุณเห็นเมื่อมองผ่าน EVF เนื่องจากช่องมองภาพชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องใช้กระจกเพื่อสะท้อนแสง ดังนั้น จึงสามารถออกแบบกล้องให้มีขนาดกะทัดรัดมากยิ่งขึ้นได้ อีกทั้งคุณยังสามารถขยายภาพบนพื้นที่โฟกัสให้ใหญ่ขึ้น และตรวจสอบเอฟเฟ็กต์การปรับค่าโทนสีและความสว่างก่อนถ่ายภาพได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจาก EVF ใช้พลังงานมากกว่า ดังนั้น จึงอาจต้องใช้แบตเตอรี่มากกว่าเดิมเล็กน้อย
ช่องมองภาพออพติคอล
คุณสมบัติส่วนใหญ่ในกล้อง DSLR
EOS 77D
ข้อดี
- สามารถดูตัวแบบจริงได้
- ง่ายในการติดตามตัวแบบที่เคลื่อนไหว
- ตรวจจับโทนสีได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ข้อเสีย
- มีข้อจำกัดในการออกแบบกล้องให้มีขนาดกะทัดรัด
- ไม่สามารถตรวจสอบเอฟเฟ็กต์สมดุลแสงขาวและการชดเชยแสงก่อนลั่นชัตเตอร์
ช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์
คุณสมบัติส่วนใหญ่ในกล้องมิเรอร์เลส
EOS M5
ข้อดี
- สามารถออกแบบกล้องให้มีขนาดกะทัดรัดมากขึ้น
- สามารถขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นเพื่อจับโฟกัส
- สามารถตรวจสอบเอฟเฟ็กต์สมดุลแสงขาวและการชดเชยแสงก่อนลั่นชัตเตอร์
ข้อเสีย
- ใช้พลังงานมากขึ้นเล็กน้อย
แนวคิดที่ 1: การถ่ายตัวแบบที่เคลื่อนไหวด้วย OVF
EOS-1D X Mark II/ EF500mm f/4L IS II USM/ FL: 500 มม./ Manual exposure (f/11, 1/320 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เหตุผลที่ OVF มอบประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นในการถ่ายภาพตัวแบบที่เคลื่อนไหวเพราะผลของความสามารถในการใช้ Phase detection AF เนื่องจาก Phase detection AF ตามระนาบภาพสามารถจับโฟกัสด้วยความเร็วสูงเป็นพิเศษ จึงเป็นโหมด AF ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับถ่ายภาพตัวแบบที่กำลังเคลื่อนไหว
จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ คนส่วนใหญ่เชื่อมโยงการถ่ายตัวแบบที่เคลื่อนไหวเข้ากับการใช้ช่องมองภาพแบบออพติคอลโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี เมื่อเปิดตัว Dual Pixel CMOS AF ที่นำ Phase detection AF ตามระนาบภาพมาใช้ ขณะนี้เราจึงสามารถถ่ายภาพตัวแบบที่เคลื่อนไหวด้วยการใช้ช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง EOS M5 สามารถถ่ายภาพด้วยความเร็วต่อเนื่องที่ 7 fps และสามารถใช้ DIGIC 7 ซึ่งเป็นระบบประมวลผลภาพใหม่ล่าสุด จึงทำให้บันทึกภาพตัวแบบที่กำลังเคลื่อนไหวด้วยความแม่นยำสูงได้
สำหรับการเปิดตัว Phase Detection AF หรือที่เรียกว่า AF ตรวจจับแบบ Phase-Difference โปรดดูที่:
พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #11: Phase Detection AF
แนวคิดที่ 2: ตรวจสอบเอฟเฟ็กต์ด้วย EVF ก่อนการถ่ายภาพ
(ซ้าย)
WB: อัตโนมัติ
การชดเชยแสง: EV±0
แสงย้อนที่ส่องเข้ามาทางหน้าต่างทำให้โคมไฟในภาพดูมืด นี่เป็นสถานการณ์ที่คุณอาจใช้การชดเชยแสงเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ที่สว่างขึ้นได้
(ขวา)
WB: แสงแดด
การชดเชยแสง: EV+1.0
ตั้งค่าการชดเชยแสงเป็น EV+1.0 และ WB เป็นแสงแดด ในตัวอย่างนี้ EVF ช่วยให้ทราบได้ว่าภาพถ่ายดูสว่างเกินไป ก่อนที่จะลงมือถ่ายภาพ
ทั้งสองภาพ: EOS M/ EF-M22mm f/2.0 STM/ FL: 22 มม. (เทียบเท่า 35 มม.)/ Aperture-priority AE (f/2, 1/320 วินาที)/ ISO 100
ข้อได้เปรียบที่สำคัญที่สุดของช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์คือ ในระหว่างถ่ายภาพ ช่องมองภาพนี้ช่วยให้คุณสามารถตรวจสอบเอฟเฟ็กต์จากการเปลี่ยนการตั้งค่าก่อนลงมือถ่ายภาพจริงได้ ดังนั้น EVF จึงมีความได้เปรียบมากกว่า OVF ซึ่งทำให้คุณต้องตรวจสอบภาพถ่ายหลังจากถ่ายภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่า
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดย ลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังเรียนจบจากวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวโพลีเทคนิคแล้ว Suzuki ก็เข้าทำงานกับบริษัทโปรดักชั่นโฆษณาแห่งหนึ่ง เธอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับช่างภาพหลายคน รวมถึง Kirito Yanase และมีความเชี่ยวชาญการถ่ายภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องแต่งกายและเครื่องสำอางอีกด้วย ตอนนี้เธอทำงานเป็นช่างภาพสตูดิโอให้กับบริษัทผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง