3 เคล็ดลับเพื่อยกระดับการถ่ายทอดเรื่องราวในงานแต่งงาน (และเหตุผลที่ EOS R ช่วยคุณได้)
การถ่ายภาพงานแต่งงานเป็นสิ่งท้าทาย เพราะมีตัวแปรที่คาดเดาไม่ได้หลายอย่าง ตั้งแต่สภาพอากาศและสถานที่ไปจนถึงการเคลื่อนไหวของคน แม้แต่ช่างภาพที่เตรียมตัวมาอย่างดีที่สุดยังต้องตัดสินใจหลายเรื่องเฉพาะหน้า ซึ่งอาจทำให้ภาพออกมาดูดีหรือแย่ก็ได้ แม้คุณควบคุมทุกสิ่งไม่ได้ดังใจนึก แต่การเข้าใจเทคนิคอย่างถูกต้องสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพที่ถ่ายทอดเรื่องราวน่าสนใจได้ Roberto Valenzuela ช่างภาพงานแต่งงานมือรางวัลระดับนานาชาติและ Canon Explorer of Light จะมาให้คำแนะนำแก่เรา (ภาพโดย: Roberto Valenzuela)
1. คิดอย่างนักถ่ายทำภาพยนตร์
เมื่อคุณถ่ายภาพหนึ่งภาพ ภาพนั้นจะเก็บบันทึกช่วงเวลาหนึ่งเอาไว้ อย่างไรก็ดี ช่วงเวลานั้นๆ ไม่จำเป็นต้องแสดงบริบทหรือเบื้องหลังความเป็นมาอย่างเพียงพอเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว
Roberto เล่าว่า เทคนิคหนึ่งที่ใช้ได้ผลดีสำหรับตัวเขาเองและช่วยให้เขากลายเป็นนักเล่าเรื่องด้วยภาพที่ยอดเยี่ยมคือ การคิดอย่างช่างภาพวิดีโอหรือนักถ่ายทำภาพยนตร์ และการจัดการฉากแต่ละฉากเหมือนเป็นลำดับเนื้อเรื่อง
เราจะเห็นเทคนิคดังกล่าวได้ตามลำดับต่อไปนี้
1)
2)
3)
4)
5)
6)
7)
8)
ภาพทุกภาพ: EOS R/ RF28-70mm f/2L USM/ Manual exposure (f/3.2, 1/250 วินาที, EV±0)
1) เจ้าบ่าวมองออกไปนอกระเบียงพลางครุ่นคิดบางอย่าง กำลังรออยู่ใช่ไหม
2) เจ้าสาวเดินลงบันไดมาพร้อมกับเพื่อนเจ้าสาว ในฐานะผู้ชม เราคาดว่า เราทราบว่าเขาทั้งสองอยู่ในสถานที่เดียวกันและต่างรอคอยที่จะได้พบกัน
3) ภาพระยะใกล้ที่จับโฟกัสไปที่เจ้าสาว เราสามารถจินตนาการได้ว่าเจ้าสาวหยุดรอเล็กน้อยก่อนที่จะไปพบกับเจ้าบ่าว
4) ภาพระยะใกล้ซึ่งครั้งนี้จับโฟกัสไปที่เจ้าบ่าว
5) เจ้าสาวดึงเจ้าบ่าวจากด้านหลัง…
6) …เพื่อสวมกอด ทั้งสองยิ้มเขินๆ อย่างมีความสุข
7) เจ้าบ่าวหันมาและสวมกอดเช่นกัน
8) ทั้งคู่ผละออกจากกันและมองตากันด้วยความรัก หากนี่เป็นภาพยนตร์ก็จะทำให้คุณนึกถึงเทคนิคการเลื่อนภาพออกนั่นเอง
เคล็ดลับพิเศษ 1: ใช้เลนส์ซูมที่สามารถใช้งานได้ครอบคลุมและมีรูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่
ในการเก็บภาพเป็นลำดับต่อเนื่องกันไปนั้น เลนส์ซูมที่ครอบคลุมช่วงทางยาวโฟกัสที่หลากหลายช่วยคุณได้มาก เพราะสามารถใช้งานได้ตั้งแต่ถ่ายภาพระยะใกล้ไปจนถึงมุมกว้างโดยไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์ นอกจากนี้ การมีรูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ยังมีข้อดีที่สำคัญคือ เหมาะกับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตและยังสามารถใช้สร้างเอฟเฟกต์ระยะชัดลึกที่ตื้น (โบเก้) เพื่อดึงความสนใจของผู้ชมไปยังส่วนใดส่วนหนึ่งของฉากได้ ซึ่งจริงๆ แล้วก็คล้ายกับการสร้างเอฟเฟ็กต์แบบ Racking Focus ในการถ่ายทำภาพยนตร์นั่นเอง
Roberto ถ่ายฉากทั้งหมดด้วยกล้อง EOS R ที่มาพร้อมเลนส์ RF28-70mm f/2L USM ซึ่งให้รูรับแสงกว้างที่สุดรุ่นหนึ่งในเลนส์ซูมมาตรฐาน เพียงเปิดใช้งานคุณสมบัติการครอป 1.6 เท่าของกล้อง คุณก็สามารถใช้ช่วงทางยาวโฟกัสได้ถึง 112 มม. นอกจากนี้ยังสามารถตั้งค่าโปรแกรมวงแหวนควบคุมที่กำหนดเองได้เพื่อควบคุมการตั้งค่าต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว อาทิ ความไวแสง ISO หรือการชดเชยแสง
ด้วยความอเนกประสงค์ระดับนี้ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไม Roberto จึงยกให้เลนส์รุ่นนี้เป็นเลนส์ที่เหมาะกับการถ่ายภาพงานแต่งงานอย่างยิ่ง
2. สิ่งหนึ่งที่คุณต้องให้ความสำคัญคือ การโพสท่า
“คุณอาจไม่ได้เป็นช่างภาพหรือศิลปิน และอาจบอกข้อแตกต่างระหว่างแสงสวยๆ แสงธรรมดา หรือแสงแย่ๆ ไม่ได้ แต่ถ้าคุณดูแย่ในภาพถ่ายแล้วล่ะก็ คุณจะรู้ทันที” Roberto ให้ข้อสังเกต ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเชื่อว่าการโพสท่าเป็นทักษะทางเทคนิคที่สำคัญที่สุดในการถ่ายภาพงานแต่งงาน “คุณอาจถ่ายภาพตัวแบบในแสงที่สวยที่สุด แต่ถ้าคนพวกนั้นยืนหลังค่อม พวกเขาจะไม่ชอบ (ภาพนั้น) แน่”
ศิลปะแห่ง "การโพสเหมือนไม่ได้โพส"
Roberto รู้สึกว่าความคิดเรื่อง “การโพสท่า” มักจะมีนัยเชิงลบ เนื่องจากคนเรามักนึกถึงอิริยาบถของร่างกายที่ดูเก้งก้าง แข็งทื่อ และไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งช่างภาพเป็นคนจัดท่าทาง อย่างไรก็ดี หากใช้เวลาฝึกฝนเทคนิคการโพสท่า ช่างภาพจะสามารถสั่งสมทักษะ “การโพสท่าที่ดูเหมือนไม่ได้โพส” จนสามารถจัดท่าทางการโพสที่ลื่นไหลเป็นธรรมชาติได้โดยไม่ต้องพยายามและดูเหมือนพฤติกรรมของคนตามปกติ
Roberto มีระบบการโพสท่าที่ประกอบด้วยเทคนิคห้าประการ ซึ่งไม่สามารถนำมากล่าวในบทความนี้ได้ทั้งหมด เพราะเขาเขียนหนังสือขึ้นมาหนึ่งเล่มเกี่ยวกับเทคนิคเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ในสองตัวอย่างดังต่อไปนี้ คุณจะเห็นว่าการโพสท่าและการกำกับตัวแบบช่วยให้เขาถ่ายภาพพอร์ตเทรตงานแต่งงานออกมาดูเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องพยายามได้อย่างไร
1) การโพสท่าแบบไม่มองกล้องอย่างมีสไตล์
EOS R/ EF70-200mm f/2.8L IS II USM/ FL: 90 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/60 วินาที, EV±0)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
เมาท์อะแดปเตอร์: เมาท์อะแดปเตอร์ฟิลเตอร์แบบ Drop-in EF-EOS R กับฟิลเตอร์ ND แบบปรับได้
เมื่อถ่ายภาพคู่บ่าวสาว เทคนิคหนึ่งที่จะทำให้ตำแหน่งของใบหน้าดูน่ามองคือ การวาดเส้นสมมติจากปลายจมูกของตัวแบบและจัดมุมใบหน้าของตัวแบบให้เส้นเหล่านี้ตัดกันเป็นรูปตัว ‘X’ สำหรับภาพลักษณะนี้ Roberto มักบอกให้คู่บ่าวสาวมองไปยังตำแหน่งที่กำหนดและตรึงสายตาไว้ ณ จุดนั้น ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรหรือทั้งสองจะมีปฏิกิริยาใดก็ตาม ซึ่งวิธีนี้ยังช่วยให้ได้มุมใบหน้าที่ถูกต้องด้วย จากนั้น Roberto จะใช้การกระตุ้นด้วยคำพูด ซึ่งหากพูดด้วยความกระตือรือร้นในระดับที่พอเหมาะ จะเรียกปฏิกิริยาจากคู่บ่าวสาว ซึ่งเมื่อรวมกับสายตาที่ตรึงไว้กับที่แล้ว จะทำให้ได้ภาพที่ดูเหมือนภาพทีเผลอและไม่ได้โพสท่า
2) การโพสท่าแบบมองกันอย่างมีสไตล์
EOS R/ RF28-70mm f/2L USM/ FL: 58 มม./ Manual exposure (f/4.5, 1/160 วินาที, EV±0)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ในการสร้างความรู้สึกสนุกสนานแบบไม่ตั้งใจเช่นในภาพนี้ Roberto จัดตำแหน่งตัวแบบอย่างหลวมๆ โดยให้ภาพมีความหลากหลายเพียงพอ เพื่อไม่ให้ตัวแบบแต่ละคนโพสท่าเดียวกันหรือเลียนแบบกัน “ถ้าสมบูรณ์แบบเกินไป ภาพก็ดูเหมือนโพสท่ามากไป ความไม่สมบูรณ์แบบในระดับที่พอเหมาะคือหัวใจสำคัญ” ดังเช่นในภาพนี้ Roberto ขอให้เจ้าสาวและเพื่อนเจ้าสาวมองรูจมูกของกันและกัน โดยแทบไม่ได้ให้สัญญาณเตือนก่อนถ่ายภาพ ซึ่งยิ่งพวกเขามองรูจมูกมากเท่าไหร่ ภาพถ่ายก็ยิ่งสวยเท่านั้น คำขอแปลกๆ กับความใกล้กันส่งผลให้ตัวแบบต่างระเบิดเสียงหัวเราะออกมาและมีสีหน้าท่าทางที่เป็นธรรมชาติอย่างมาก ดังที่คุณเห็นในภาพ นอกจากนี้ วิธีนี้ยังนำสายตาของตัวแบบได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทุกคนจึงอยู่ในสายตาของตัวแบบอีกอย่างน้อยหนึ่งคน (ดูลูกศร) ซึ่งสื่อถึงมิตรภาพอันดี
เคล็ดลับระดับมือโปร: แม้ว่าเป็นเรื่องน่าพอใจที่ตัวแบบของคุณมีปฏิกิริยาที่ดีต่อเส้นนำสายตาที่คุณใช้ในการสร้างเสียงหัวเราะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณควรใช้วิธีนี้ซ้ำๆ กับลูกค้าทุกคน Roberto ให้ข้อสังเกตว่า “ลูกค้าจะรู้สึกได้เมื่อช่างภาพนำเทคนิคเดิมมาใช้ซ้ำๆ ซึ่งจะทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนเป็นเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายภาพแบบสำเร็จรูป ซึ่งไม่ไช่เรื่องดีเลย” Roberto จึงพยายามอย่างหนักเพื่อหลีกเลี่ยงวิธีการเดิมๆ “ลูกค้าอยากรู้สึกว่าตัวเองกำลังได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนอื่น”
เคล็ดลับพิเศษ 2: ปฏิสัมพันธ์แบบต่อหน้ากับตัวแบบ
เมื่อคุณจัดและกำกับท่าทางของตัวแบบ การพูดคุยกับตัวแบบจะช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่ดีขึ้น ซึ่งคงเป็นเรื่องยากหากคุณเอาแต่มองกล้องขณะจับโฟกัสและปรับองค์ประกอบภาพ Roberto ชื่นชอบประสิทธิภาพการทำงานที่ดีเยี่ยมของ AF ในกล้อง EOS R เพราะเขาไม่จำเป็นต้องมองกล้องตลอดเวลา และแม้จะใช้ค่า f/2.0 เขายังสามารถไว้ใจในคุณสมบัติการติดตามใบหน้าและตรวจจับดวงตาของกล้องที่ช่วยจับและรักษาโฟกัสไว้ที่ตัวแบบได้เป็นอย่างดี แม้ขณะที่เขากำลังสื่อสารกับตัวแบบก็ตาม
ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับการโพสท่าที่อาจช่วยได้:
เทคนิคการโพสท่าและจัดท่าทางให้ตัวแบบในการถ่ายภาพพอร์ตเทรต
3 เทคนิคน่ารู้จากนางแบบมืออาชีพ
3. ฟิลเตอร์ Neutral Density สร้างความมหัศจรรย์ให้ภาพถ่ายของคุณได้
ในการเป็นช่างภาพที่ประสบความสำเร็จนั้น คุณจำเป็นต้องมีผลงานที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร Roberto เล่าว่า เคล็ดลับหนึ่งที่ช่วยให้เขาได้ภาพที่แตกต่างจากช่างภาพคนอื่นๆ คือการใช้ฟิลเตอร์ Neutral Density (ND)
สิ่งที่เขาทำเป็นประจำคือ การใช้ฟิลเตอร์ ND ที่ช่วยให้เขาสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้ากว่าปกติประมาณ 3 สต็อป ซึ่งวิธีนี้ช่วย “ขจัด” แสงและสร้างบรรยากาศที่ขุ่นมัว จากนั้นจึงชดเชยแสงที่หายไปบนตัวแบบโดยใช้แฟลช เช่น Speedlite 600EX RT-II เพื่อทำให้ตัวแบบสว่างขึ้น ผลที่ได้คือ การจัดแสงที่สร้างเอฟเฟ็กต์เป็นธรรมชาติแต่เหมือนฉากในภาพยนตร์พร้อมสีสันที่สดใสยิ่งขึ้น ซึ่งอาศัยความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลง
EOS R/ EF70-200mm f/2.8L IS II USM/ FL: 120 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/1250 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
เมาท์อะแดปเตอร์: เมาท์อะแดปเตอร์ฟิลเตอร์แบบ Drop-in EF-EOS R กับฟิลเตอร์ ND แบบปรับได้
การใช้ฟิลเตอร์ ND แบบปรับได้พร้อมกับแฟลชเสริมช่วยให้ Roberto สามารถจับภาพโทนสีทองสว่างสดใสของใบไม้ในภาพพอร์ตเทรตในไร่องุ่นภาพนี้ พร้อมกับสร้างความรู้สึกมหัศจรรย์ราวกับต้องมนต์ โดยปกติ เขามักใช้ฟิลเตอร์ 20-30 ND ในกระเป๋าติดเข้ากับเลนส์ทุกชนิดที่มี แต่เมาท์อะแดปเตอร์ฟิลเตอร์แบบ Drop-in EF-EOS R กับฟิลเตอร์ ND แบบปรับได้ ช่วยให้เขาสามารถหมุนวงแหวนเพื่อลดปริมาณแสงลงมาที่ความเร็วชัตเตอร์ระหว่าง 1.5 ถึง 9 สต็อป ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องการถ่ายภาพอย่างรวดเร็ว เช่น ภาพงานแต่งงานนี้ซึ่งคู่บ่าวสาวอายกล้องมากๆ
คุณทราบหรือไม่ว่าฟิลเตอร์ ND มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมปริมาณแสงในการถ่ายภาพวิดีโอระดับมืออาชีพ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความนี้:
4 สิ่งที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับวิดีโอ 4K ในกล้อง EOS R
เคล็ดลับพิเศษ 3: สร้างประกายในดวงตาของตัวแบบ
การสร้างประกายในบริเวณดวงตานั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ่ายภาพในแสงธรรมชาติ เนื่องจากดวงตาอยู่ในเบ้าตา ดังนั้นแสงที่ส่องมาในแนวตั้ง เช่น แสงแดด อาจถูกโหนกคิ้วบดบังและเกิดเงา หากต้องการทำให้เบ้าตาดูสว่างขึ้น Roberto แนะนำให้ใช้แฟลชเพื่อให้แสงในแนวนอน พร้อมกับใช้ตัวกระจายแสงเพื่อให้ภาพดูนุ่มนวลขึ้น
สำหรับการเตรียมถ่ายภาพในลักษณะนี้อย่างง่ายๆ ให้ใช้กล่องแปดเหลี่ยมขนาดกลางหรือ Beauty dish ติดเข้ากับก้านบูมที่มีแฟลชหนึ่งหรือสองตัวอยู่ด้านใน อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สร้างสรรค์ภาพได้ยืดหยุ่นมากขึ้นคือ การใช้แฟลชตัวเดียวและตัวกระจายแสงขนาดใหญ่แบบยุบตัวได้ที่มีด้ามจับ ซึ่งการขยับแฟลชเข้าไปใกล้หรือออกห่างจากตัวกระจายแสงนั้นจะช่วยสร้างลุคที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม วิธีนี้จัดการได้ยากด้วยตัวเองคนเดียว เนื่องจากคุณจะต้องใช้มือข้างหนึ่งถือแฟลชและมืออีกข้างถือตัวกระจายแสง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจาก Canon USA และเป็นสมาชิกในโปรแกรม Canon Explorer of Light แล้ว Roberto ยังได้รับรางวัลในระดับนานาชาติมากว่า 100 รางวัลจากการถ่ายภาพงานแต่งงานและภาพพอร์ตเทรต เขาเป็นที่ยอมรับในวงการว่าเป็นหนึ่งในสิบช่างภาพและนักสอนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก นอกจากนี้ เขายังเป็นนักเขียนที่มียอดขายอันดับหนึ่ง และหนังสือเกี่ยวกับการถ่ายภาพและการถ่ายภาพงานแต่งงานของเขา เช่น Picture Perfect Practice และ Wedding Storyteller Volume 1 นั้นมีจำหน่ายทั่วโลกและได้รับการแปลเป็นหลายภาษา