พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #5: เปอร์สเปคทีฟ
"เปอร์สเปคทีฟ" ในด้านทัศนศิลป์ หมายถึง ระยะห่างที่รับรู้ระหว่างวัตถุ ซึ่งขึ้นอยู่กับเลนส์ที่คุณเลือกใช้รวมถึงปัจจัยอื่นๆ และต่อไปนี้คือวิธีควบคุมเปอร์สเปคทีฟและทำให้ภาพของคุณดูมีอิมแพคมากขึ้น
EOS R6 Mark II + RF10-20mm f/4L IS USM ที่ 10 มม., f/8
วิธีควบคุมเปอร์สเปคทีฟ
เปอร์สเปคทีฟ หมายถึง ระยะห่างที่รับรู้ระหว่างวัตถุ
เมื่อเปอร์สเปคทีฟชัดเจนขึ้น วัตถุที่อยู่ใกล้เราจะดูใหญ่ขึ้น และวัตถุที่อยู่ไกลจากเราจะดูเล็กลง ฉากจะดูขยายลึกลงไปในแบ็คกราวด์มากขึ้น ("มีความลึกมากขึ้น")
เมื่อเปอร์สเปคทีฟน้อยลง ฉากจะดู "แบนมากขึ้น" วัตถุที่อยู่ไกลจะดูใกล้ขึ้น และระยะห่างระหว่างวัตถุจะดูใกล้กันมากขึ้น ("ซ้อนกัน" หรือ "ถูกบีบ")
ปัจจัยที่มีผลต่อเปอร์สเปคทีฟมีอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ ทางยาวโฟกัส ระยะการถ่ายภาพ และมุมถ่ายภาพ
1. ทางยาวโฟกัส
เมื่อถ่ายภาพโดยใช้ทางยาวโฟกัสปกติ (หรือมาตรฐาน) (เทียบเท่าฟูลเฟรมที่ประมาณ 50 มม.) มุมมองเปอร์สเปคทีฟที่ได้จะไม่โดดเด่น/เป็นธรรมชาติ ในขณะที่ทางยาวโฟกัสที่สั้นลงจะให้มุมมองเปอร์สเปคทีฟที่เกินจริงมากกว่า และทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้นจะเป็นการบีบมุมมองเปอร์สเปคทีฟ
2. ระยะห่างจากตัวแบบ (ระยะการถ่ายภาพหรือ "ระยะโฟกัส")
ยิ่งกล้องอยู่ใกล้ตัวแบบมากเท่าใด เปอร์สเปคทีฟจะยิ่งชัดเจนขึ้น
3. มุมถ่ายภาพ
จะเห็นเปอร์สเปคทีฟได้ชัดน้อยลงเมื่อเลนส์ของคุณขนานกับตัวแบบ และจะชัดเจนขึ้นเมื่อคุณถ่ายภาพในมุมที่ชันมากขึ้นจากตัวแบบ
เพื่อเน้นเปอร์สเปคทีฟ:
- ใช้เลนส์มุมกว้าง
- ถ่ายใกล้ตัวแบบให้มากที่สุด
- เอียงกล้องหรือถ่ายภาพจากมุมหนึ่ง
วิธีนี้จะช่วยสร้างภาพที่มีความลึก มิติ และขนาดได้อย่างชัดเจน และควรนำมาใช้ร่วมกับโฟกัสชัดลึกเพื่อให้ภาพออกมาสวยงามยิ่งขึ้น!
วิธีการบีบมุมมองเปอร์สเปคทีฟอย่างง่ายๆ:
- ใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้
- ถ่ายภาพโดยถอยห่างออกมาจากตัวแบบ
- ถ่ายภาพจากมุมที่แบนมากขึ้น
เราลองมาดูรายละเอียดของปัจจัย 3 ประการที่ส่งผลต่อเปอร์สเปคทีฟกัน
1. ทางยาวโฟกัส
ภาพด้านล่างถ่ายจากตำแหน่งเดียวกัน แต่ใช้ทางยาวโฟกัสต่างกัน ยิ่งใช้ทางยาวโฟกัสสั้น ภาพจะดูทอดตัวเข้าไปลึกสุดสายตามากขึ้น นั่นเป็นเพราะมุมมองเปอร์สเปคทีฟ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนใน:
- พื้นที่ระหว่างแถบแนวตั้งที่เรียงรายอยู่ทั้งสองข้างของทางเดิน
พื้นที่เหล่านี้ดูกว้างขึ้นในส่วนโฟร์กราวด์ ซึ่งอยู่ใกล้กล้องมากที่สุด
- เส้นนำสายตาที่เกิดขึ้นจากทางเดิน
เส้นนำสายตาจะเห็นได้ชัดเจนในภาพที่ใช้ทางยาวโฟกัส 24 มม. มากกว่า 50 มม. และ 105 มม.
ทางยาวโฟกัสสั้น (24 มม.)
ในภาพที่ใช้ทางยาวโฟกัส 24 มม. ช่องว่างระหว่างแถบแนวตั้งที่อยู่ใกล้เรามากที่สุดจะดูใหญ่โตแบบผิดสัดส่วนราวกับว่าถูกยืดออกไปเล็กน้อย และช่องว่างที่อยู่ห่างจากเราจะดูเล็กมาก
ทางยาวโฟกัสมาตรฐาน (50 มม.)
ที่ระยะ 50 มม. จะมีเอฟเฟ็กต์ "ยืดออก" ที่บริเวณมุมภาพน้อยกว่า
ทางยาวโฟกัสยาว (105 มม.)
แถบแนวตั้งในราวสะพานทางด้านซ้ายและขวาถูกบีบอัดมากจนเราไม่สามารถมองเห็นช่องว่างระหว่างแถบเหล่านี้ได้
ภาพทุกภาพ: EOS R6 Mark II + RF24-105mm f/4L IS USM ที่ f/8
อ่านเพิ่มเติม:
- อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างเลนส์เทเลโฟโต้ 200 มม. และ 300 มม.
- ความสัมพันธ์ระหว่างเลนส์และเปอร์สเปคทีฟ
2. ระยะห่างจากตัวแบบ
ตัวอย่างด้านล่างถ่ายโดยใช้ทางยาวโฟกัสที่เท่ากัน (50 มม.) ทางเข้าไปยังบันไดเลื่อนดูแคบเมื่อเรายืนห่างจากบันไดเลื่อน แต่เมื่อเราก้าวเข้าไปใต้หลังคา บันไดเลื่อนก็ดูไม่แคบอีกต่อไป! นอกจากนี้ ส่วนฐานของบันไดเลื่อนยังดูกว้างขึ้นในตัวอย่างที่ "ใกล้ขึ้น" สังเกตได้จากบานกระจกด้านหน้าที่ดูเหมือนจะเปิดออกด้านนอกเมื่อเทียบกับภาพที่ "ไกลขึ้น" ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามุมมองเปอร์สเปคทีฟจะเด่นชัดขึ้นเมื่อคุณเข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้น
ไกลขึ้น (FL: 50 มม.)
ใกล้ขึ้น (FL: 50 มม.)
ทั้งสองภาพ: EOS R6 Mark II + RF24-105mm f/4L IS USM ที่ 50 มม., f/8
3. มุมถ่ายภาพ
ด้านหน้ากับแนวทแยง
ทั้งสองภาพถ่ายที่ระยะ 50 มม. ภาพที่ถ่ายจากด้านหน้าดูแบนและไม่แสดงมุมมองเปอร์สเปคทีฟเลย หน้าต่างทุกบานดูเหมือนอยู่ห่างจากกล้องในระยะที่เท่ากัน หน้าต่างมีขนาดและรูปร่างที่เหมือนกัน และดูเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าทั้งหมด
ในขณะที่ภาพที่ถ่ายในแนวทแยงจะแสดงมุมมองเปอร์สเปคทีฟ โดยหน้าต่างที่อยู่ใกล้เราจะมีขนาดใหญ่กว่า หน้าต่างที่อยู่ไกลกว่าจะมีขนาดเล็กกว่า และรูปร่างยังบิดเบี้ยวอีกด้วย
แนวทแยง
ด้านหน้า
ทั้งสองภาพ: EOS R6 Mark II + RF24-105mm f/4L IS USM ที่ 50 มม.
ระดับสายตาเทียบกับมุมต่ำ (เอียงกล้อง)
ภาพนี้เป็นภาพบันไดเลื่อนตัวเดียวกันกับใน "2. ระยะการถ่ายภาพ" แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราถ่ายภาพจากตำแหน่งที่ต่ำและมุมต่ำ (เอียงกล้องขึ้น) บานกระจกและรูปทรงสามเหลี่ยมที่เกิดจากบันไดเลื่อนจะดูกว้างขึ้นจนถึงส่วนฐาน และดูเรียวลงเรื่อยๆ จนถึงด้านบนสุดเมื่อถ่ายภาพจากมุมต่ำ ทำให้มองเห็นมุมมองเปอร์สเปคทีฟที่ชัดเจนขึ้น
ระดับสายตา (50 มม.)
มุมต่ำ (50 มม.)
ทั้งสองภาพ: EOS R6 Mark II + RF24-105mm f/4L IS USM ที่ 50 มม., f/8
ใช้ได้ดีกับมุมสูงด้วยเช่นกัน
EOS R6 Mark II + RF10-20mm f/4L IS USM ที่ 10 มม., f/8
การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟที่เกินจริงด้วยเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ทำให้ดอกไม้เหล่านี้ดูสูงเป็นพิเศษ
หาคำตอบด้วยตัวคุณเอง: ทางยาวโฟกัสสั้น + ใกล้ขึ้น + มุมต่ำ
ภาพตัวอย่างบันไดเลื่อนนี้ถ่ายโดยใช้ทางยาวโฟกัส 50 มม. ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องการให้มุมมองเปอร์สเปคทีฟที่เป็นธรรมชาติ แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราถ่ายภาพนี้โดยใช้มุมที่กว้างขึ้น ต่อไปนี้คือตัวอย่างที่ถ่ายจากฉากเดียวกันโดยใช้ระยะ 24 มม. จะเห็นได้ว่าความแตกต่างของมุมมองเปอร์สเปคทีฟจะดูชัดเจนขึ้นในทุกขั้นตอน!
ไกลจากตัวแบบมากขึ้น (24 มม.)
ไกลจากตัวแบบมากขึ้น (50 มม.)
ใกล้ขึ้น + ระดับสายตา (24 มม.)
ใกล้ขึ้น + ระดับสายตา (50 มม.)
ใกล้ขึ้น + มุมต่ำ (24 มม.)
ใกล้ขึ้น + มุมต่ำ (50 มม.)
ลองอ่าน:
พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #14: ตำแหน่งกล้องและมุมกล้อง
ไอเดียสำหรับการใช้เปอร์สเปคทีฟ
คอยมองหาเส้นต่างๆ
EOS R6 Mark II + RF14-35mm f/4L IS USM
FL: 14 มม./ f/4
มุมมองเปอร์สเปคทีฟที่ชัดเจนจะขับเน้นเส้นนำสายตาที่คุณมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าให้ดูเด่นชัดขึ้น!
ทำให้ตัวแบบธรรมดาดูน่าสนใจ
EOS R8 + RF15-35mm f/2.8L IS USM
FL: 15 มม./ f/5
การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริงทำให้วัตถุที่คุ้นเคยดูเหนือจริงมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #6: เลนส์มุมกว้าง
ไอเดียสำหรับการใช้การบีบภาพ
ทำให้วัตถุดูอัดแน่นมากขึ้น
EOS R8 + RF70-200mm f/2.8L IS USM
FL: 200 มม./ f/10
ใช้การบีบภาพเพื่อทำให้วัตถุดูวางซ้อนกันมากขึ้นเพื่อสร้างฉากที่ดูสมจริงยิ่งขึ้น
สร้างภาพแบบกราฟิก
EOS R8 + RF70-200mm f/2.8L IS USM
FL: 147 มม./ f/5
เอฟเฟ็กต์สร้างความแบนของการบีบภาพสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์คล้ายกับภาพวาด 2 มิติที่เน้นรูปทรงและรูปแบบกราฟิก
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ 8: เลนส์เทเลโฟโต้
เคล็ดลับเพิ่มเติมและแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริง:
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 2: เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง
เทคนิคการใช้เลนส์มุมกว้าง: จัดองค์ประกอบภาพพอร์ตเทรตให้มีชีวิตชีวาที่ระยะ 28 มม.
ภาพโคลสอัพระยะ 24 มม.: 3 แบบฝึกหัดง่ายๆ เพื่อฝึกใช้มุมมองเปอร์สเปคทีฟมุมกว้างให้ชำนาญ
เคล็ดลับเพิ่มเติมและแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการบีบอัดเปอร์สเปคทีฟ:
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพ: การสร้างภาพลวงตาให้พระจันทร์ดูใหญ่ขึ้น
ภาพทิวทัศน์ซูเปอร์เทเลโฟโต้: “ถ้ำ” ลึกลับในช่องเขาที่ถูกปกคลุมไปด้วยตะไคร่น้ำ
[รีวิว] เลนส์ RF600mm f/11 IS STM และ RF800mm f/11 IS STM ในการถ่ายภาพทิวทัศน์เมือง