ภาพโคลสอัพระยะ 24 มม.: 3 แบบฝึกหัดง่ายๆ เพื่อฝึกใช้มุมมองเปอร์สเปคทีฟมุมกว้างให้ชำนาญ
เลนส์เป็นเครื่องมือสำคัญในศิลปะแห่งการถ่ายภาพ เมื่อคุณใช้เลนส์ได้อย่างชำนาญแล้ว คุณจะสามารถปลดล็อกวิธีใหม่ๆ ในการถ่ายทอดตัวแบบและฉากแบบเดียวกันได้
ในบทความนี้ เราจะมาแบ่งปันสามแบบฝึกหัดที่คุณสามารถทำได้เพื่อสร้างความคุ้นเคยในการใช้มุมมองเปอร์สเปคทีฟมุมกว้าง สิ่งที่คุณต้องมีคือเวลาว่างไปเดินเล่นและถ่ายภาพ รวมถึงเลนส์ที่สามารถถ่ายที่ระยะ 24 มม. ได้ (เทียบเท่าฟูลเฟรม) ทำไมต้องใช้ระยะ 24 มม. เพราะเป็นทางยาวโฟกัสมุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด ที่จริงแล้ว ระยะดังกล่าวอาจถือได้ว่าเป็นระยะสุดฝั่งมุมกว้างที่สุดของเลนส์คิทซูมมาตรฐานหากคุณใช้กล้องฟูลเฟรม (เรื่องโดย: Masatsugu Kohrikawa, Digital Camera Magazine)
EOS 6D Mark II/ EF17-40mm f/4L USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/9.5, 1/250 วินาที)/ ISO 400
แบบฝึกหัดที่ 1: เรียนรู้ที่จะตระหนักถึงมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริงและความบิดเบี้ยว
คุณอาจรู้อยู่แล้วว่าเลนส์มุมกว้างสามารถถ่ายภาพให้เห็นฉากได้มากขึ้นในเฟรมเดียวกัน แต่รู้หรือไม่ว่าเลนส์ชนิดนี้สามารถทำให้มุมมองเปอร์สเปคทีฟดูเกินจริงและทำให้รูปทรงบิดเบี้ยวได้
ขั้นตอนแรกในการฝึกฝนเทคนิคการใช้เลนส์ต่างๆ ให้ชำนาญคือการเรียนรู้ที่จะจดจำเอฟเฟ็กต์ของเลนส์นั้นๆ เนื่องจากจะช่วยให้คุณสามารถควบคุมการใช้งานของเลนส์ได้มากขึ้น ลองดูภาพบางส่วนที่ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง ซึ่งอาจเป็นภาพของคุณเองหรือของคนอื่นก็ได้ คุณสามารถระบุเอฟเฟ็กต์มุมมองเปอร์สเปคทีฟและความบิดเบี้ยวได้หรือไม่
มุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริง
“เปอร์สเปคทีฟ” หมายถึง ปรากฏการณ์ที่ทำให้สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวผู้ชมดูมีขนาดใหญ่ขึ้น และสิ่งที่อยู่ไกลออกไปดูมีขนาดเล็กลง ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ระยะระหว่างวัตถุต่างๆ ทางยาวโฟกัสมุมกว้างจะทำให้วัตถุที่อยู่ใกล้บิดเบี้ยวไปจนดูใหญ่ขึ้น ซึ่งทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟเกินจริง
ส่วนเครนของรถบรรทุกคันนี้ดูใหญ่มากเมื่อเทียบกับตัวรถซึ่งดูเล็กกว่าและไกลออกไป นี่คือผลของเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟ
ความบิดเบี้ยว
นอกจากมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริงแล้ว เลนส์มุมกว้างยังทำให้รูปทรงของตัวแบบบิดเบี้ยวอีกด้วย ซึ่งจะเห็นเด่นชัดมากขึ้นเมื่อเลนส์เข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้น ทั้งสองปรากฏการณ์นี้เชื่อมโยงกันในระดับหนึ่งเนื่องจากความบิดเบี้ยวทำให้ตัวแบบระยะใกล้ดูใหญ่ขึ้น
สังเกตเห็นหรือไม่ว่าตัวถังของรถบรรทุกดูนูนออกมา นี่คือเอฟเฟ็กต์ความบิดเบี้ยว
แบบฝึกหัดที่ 2: ถ่ายภาพด้วยเส้นรวมสายตา
ฉากต่างๆ ที่เราพยายามถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างมักจะมีเส้นตรงสามมิติในลักษณะของถนน ทางเดิน ระเบียง หรือสิ่งที่คล้ายกัน เราสามารถจัดองค์ประกอบภาพเพื่อให้เส้นเหล่านี้กลายเป็นเส้นนำสายตาที่บรรจบกันที่จุดนำสายตาได้ ซึ่งวิธีนี้ไม่เพียงช่วยสร้างมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริงเท่านั้น แต่ยังเพิ่มมิติความลึกอีกด้วย
ลองใช้เลนส์รุ่นใดก็ได้ของคุณที่มีทางยาวโฟกัสเทียบเท่าฟูลเฟรม 24 มม. (15 มม. บนเลนส์ APS-C) เพื่อสร้างภาพที่มีจุดรวมสายตาในแบบของคุณเอง อย่าลืมตรวจดูให้แน่ใจว่ามองเห็นจุดรวมสายตาได้ชัดเจน!
ไม่เห็นจุดรวมสายตา
ในภาพนี้ จุดรวมสายตาที่สร้างขึ้นจากถนนมีรถยนต์ขวางอยู่ สายตาของเราหยุดอยู่ที่รถยนต์ ดังนั้นภาพจึงไม่มีมิติความลึก (เปอร์สเปคทีฟ) ดังที่ควรจะมี
มองเห็นจุดรวมสายตา
เพียงขยับตำแหน่งตัวของผมเล็กน้อยและตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีวัตถุขวางทางอยู่ ผมได้สร้างจุดรวมสายตาที่มีเส้นต่างๆ จากถนน รางรถไฟเหนือศีรษะ และทางหลวงมาบรรจบกัน ซึ่งช่วยเน้นเปอร์สเปคทีฟและเพิ่มมิติความลึก
แบบฝึกหัดที่ 3: ขยับเข้าใกล้ตัวแบบในโฟร์กราวด์มากขึ้น
สร้างจุดรวมสายตาอย่างที่คุณทำในแบบฝึกหัดที่ 2 แต่ในคราวนี้ให้ขยับเข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้น เห็นการเปลี่ยนแปลงของภาพขณะที่คุณเข้าใกล้มากขึ้นหรือไม่
นี่คืออีกหนึ่ง “ความลับ” ในการใช้ประโยชน์จากมุมมองเปอร์สเปคทีฟมุมกว้างอย่างเต็มที่ โดยการจัดวางตัวแบบของคุณในโฟร์กราวด์และถ่ายภาพให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลองเข้าไปใกล้กว่าที่คุณเคยทำตามปกติ และถ้าตัวคุณยังอยู่ภายในระยะโฟกัสใกล้ที่สุด ภาพที่ถ่ายออกมาจะดูน่าประทับใจมากยิ่งขึ้นโดยอัตโนมัติ
ไม่ดีนัก: ตัวแบบในโฟร์กราวด์อยู่ไกลเกินไป
ภาพนี้มีจุดรวมสายตา ดังนั้นจึงมีความลึกและเปอร์สเปคทีฟ แต่เอฟเฟ็กต์ไม่ชัดเจนมากนัก
ดี: ใกล้ตัวแบบ มุมมองเปอร์สเปคทีฟดูเกินจริง
ในภาพนี้ ผมขยับเข้าใกล้รั้วทางขวามากขึ้น รั้วที่มีป้าย “GATE No. 1” ดูใหญ่ขึ้นและใกล้มากขึ้น ซึ่งทำให้เอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟชัดเจนยิ่งขึ้น
ดี: ใกล้จนมุมมองเปอร์สเปคทีฟดูเกินจริงเป็นอย่างมาก
เมื่อผมขยับไปทางขวาเข้าหารั้วเพื่อถ่ายภาพ รูปทรงสี่เหลี่ยมมุมฉากของป้าย “GATE No. 1” จะดูบิดเบี้ยว มีบางสถานการณ์ที่เราต้องการหลีกเลี่ยงความบิดเบี้ยวดังกล่าว เช่น ในการถ่ายภาพสินค้าเมื่อเราต้องการถ่ายภาพรูปทรงของสินค้าได้อย่างสมจริง อย่างไรก็ตาม เรายังสามารถใช้ความบิดเบี้ยวได้อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ภาพดูน่าประทับใจยิ่งขึ้น
เคล็ดลับระดับมือโปร: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าความบิดเบี้ยวไม่ได้ดูผิดธรรมชาติจนเกินไป
เอฟเฟ็กต์ความบิดเบี้ยวอาจทำให้ตัวแบบดูน่าสนใจมากขึ้น แต่ก็อาจทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติและผิดแปลกเช่นกัน ไม่มีกฎตายตัวว่าความบิดเบี้ยวระดับใดจึงจะถือว่ามากเกินไป แต่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของแต่ละคนรวมทั้งเอฟเฟ็กต์ที่คุณพยายามสร้าง ลองดูภาพของคุณอย่างละเอียด หากคุณคิดว่าความบิดเบี้ยวทำให้ตัวแบบดูผิดแปลกเกินไป ให้ขยับถอยเลนส์ของคุณออกมาแล้วถ่ายภาพจนได้ผลลัพธ์ที่ยอมรับได้มากขึ้น
ความบิดเบี้ยวมุมกว้างทำให้รถโดยสารคันนี้ดูยาวอย่างผิดธรรมชาติ
ยกระดับแบบฝึกหัดไปอีกขั้น
ถึงตอนนี้คุณคงคุ้นเคยกับการใช้มุมมองเปอร์สเปคทีฟมุมกว้างแล้ว ลองทำสิ่งต่อไปนี้โดยใช้เลนส์ 24 มม.
1. ทำสิ่งตรงกันข้าม: สร้างภาพที่ไม่มีเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟแบบเห็นได้ชัด
คุณได้เรียนรู้วิธีระบุและเพิ่มเอฟเฟ็กต์เปอร์สเปคทีฟไปแล้ว คราวนี้ลองทำแบบย้อนขั้นตอน แล้วดูว่าคุณจะสามารถใช้ทางยาวโฟกัสที่เท่ากันเพื่อตั้งใจสร้างภาพสวยงามโดยที่ไม่มีเอฟเฟ็กต์นั้นได้อย่างไร ภาพเช่นนี้จะให้มุมมองเปอร์สเปคทีฟที่ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่ยังคงให้ความรู้สึกถึงมุมกว้างที่ไม่เหมือนใคร
ภาพนี้ถ่ายที่ระดับสายตาโดยที่ตัวแบบทั้งหมดอยู่ค่อนข้างไกลออกไป และมีระยะชัดลึกที่กว้างพร้อมด้วยเปอร์สเปคทีฟที่ดูเป็นธรรมชาติ เนื่องจากมีองค์ประกอบในเฟรมน้อยมาก จึงอาจทำให้ภาพออกมาดูน่าเบื่อ ทว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมีนักดับเพลิงสองคนอยู่ที่ด้านล่างซ้ายซึ่งกลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจมากขึ้น
2. ถ่ายภาพตัวแบบที่เอียงเพื่อสร้างการเคลื่อนไหวบางส่วน
ตัวแบบส่วนใหญ่จะดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นเมื่อถ่ายในแนวตรงและได้ระดับ อย่างไรก็ตาม หากคุณถ่ายภาพตัวแบบให้เอียงเล็กน้อยแทนที่จะถ่ายในแนวตรงด้วยเลนส์ ภาพอาจดูมีพลังมากขึ้น
ผมถ่ายภาพเสาเหล็กนี้ให้ได้มุมเฉียงจากกล้อง โดยที่เส้นต่างๆ อยู่ในแนวเอียงแทนที่จะอยู่ในแนวนอนอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้เพิ่มเปอร์สเปคทีฟบางส่วนและราวกับเสาเหล็กดูสูงขึ้นไปบนฟ้ายิ่งขึ้น
---
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เลนส์มุมกว้างได้ที่:
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 1: เอฟเฟ็กต์ภาพที่ได้จากเลนส์มุมกว้าง
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 2: เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง
เทคนิคการใช้เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์: เส้นแสงจากมุมมองใหม่
หากคุณสนุกกับการถ่ายภาพที่ระยะ 24 มม. คุณสามารถสร้างเปอร์สเปคทีฟที่ชัดเจนขึ้นหากถ่ายด้วยมุมกว้างยิ่งขึ้น ลองพิจารณาเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์บางรุ่นต่อไปนี้
สำหรับระบบ EOS R:
RF16mm f/2.8 STM (เลนส์เดี่ยวราคาประหยัด)
RF14-35mm f/4L IS USM (เลนส์ซูมน้ำหนักเบาระดับมืออาชีพ)
RF15-35mm f/2.8L IS USM (เลนส์ซูมรูรับแสงกว้างระดับมืออาชีพ)
สำหรับกล้อง DSLR ฟูลเฟรม:
EF17-40mm f/4L USM (ฉบับภาษาอังกฤษ) (เลนส์เดี่ยวราคาประหยัด)
EF16-35mm f/4L IS USM (เลนส์ซูมน้ำหนักเบาระดับมืออาชีพ)
EF16-35mm f/2.8L III USM (เลนส์ซูมรูรับแสงกว้างระดับมืออาชีพ)
สำหรับกล้อง APS-C:
EF-S10-22mm f/3.5-4.5 USM
EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM (มีระบบป้องกันภาพสั่นไหว)
EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM (สำหรับกล้องมิเรอร์เลส EOS M)
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดในเมืองนาระ นอกจากการถ่ายภาพพอร์ตเทรตและสินค้าให้กับนิตยสารกล้องและเพลงแล้ว Koorikawa ยังมีผลงานที่ใช้ริมฝั่งบริเวณอ่าวโตเกียวเป็นธีมอีกด้วย