สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 1: เอฟเฟ็กต์ภาพที่ได้จากเลนส์มุมกว้าง
เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์เป็นเลนส์ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์หรือภายในอาคารที่ดูตระการตา และภาพอื่นๆ ที่คุณจำเป็นต้องใช้มุมรับภาพกว้าง อย่างไรก็ตาม เลนส์มุมกว้างมักทำให้ระยะห่างเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าสิ่งของและส่วนต่างๆ ของวัตถุในภาพจะดูไกลกันมากกว่าความเป็นจริง ความสามารถในการทำให้มุมมองเปอร์สเป็คทีฟดูเกินจริงนี้เป็นเครื่องมือที่ให้ความสร้างสรรค์และมีประโยชน์ แต่การใช้ได้อย่างเชี่ยวชาญก็อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายเช่นกัน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในซีรี่ย์นี้ซึ่งมี 2 ตอน (บรรณาธิการโดย studio9)
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L USM/ f/13/ 1/80 วินาที/ ISO 640
สรุป: เลนส์มุมกว้างคืออะไร
โดยทั่วไป เลนส์มุมกว้างจะมีทางยาวโฟกัสเทียบเท่าฟูลเฟรม (ฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.) ในระยะ 35 มม. หรือน้อยกว่า (24 มม. หรือน้อยกว่าสำหรับกล้องที่ใช้เซนเซอร์ APS-C)
เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์โดยทั่วไปหมายถึง เลนส์มุมกว้างที่มีทางยาวโฟกัสเทียบเท่าฟูลเฟรม 24 มม. หรือน้อยกว่า (16 มม.หรือน้อยกว่าสำหรับกล้องที่มีเซนเซอร์ APS-C)
ประโยชน์ของเลนส์มุมกว้างที่เราจะมาดูกันในวันนี้จะชัดเจนมากขึ้นเมื่อทางยาวโฟกัสสั้น ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมทางยาวโฟกัสที่สั้นจึงใช้งานได้ดีที่สุดในเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถลองใช้ทางยาวโฟกัสสั้นได้โดยใช้ระยะมุมกว้างของเลนส์ซูมมาตรฐาน (โดยทั่วไปที่ 24 มม. หรือเทียบเท่า 28 มม.)
ลักษณะเด่นข้อที่ 1: มุมรับภาพกว้าง
เนื่องจากมีมุมรับภาพกว้าง ทำให้เลนส์มุมกว้างสามารถจับภาพฉากได้เป็นบริเวณกว้าง จึงเป็นที่ชื่นชอบของช่างภาพทิวทัศน์ (ดูบทความ: เลนส์ที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ของ Canon)
แต่คุณสมบัติข้อนี้อาจทำให้มีวัตถุที่คุณไม่ต้องการเข้ามาอยู่ในเฟรมด้วย ทำให้ยากต่อการควบคุมสิ่งที่อยู่ในองค์ประกอบภาพ
ลักษณะเด่นข้อที่ 2: มีบทบาทสำคัญในการทำให้มุมมองเปอร์สเป็คทีฟดูเกินจริง
ภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างจะมีเปอร์สเป็คทีฟที่ดูเกินจริง วัตถุต่างๆ ที่อยู่ใกล้อาจดูมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก (จึงดูเหมือนอยู่ใกล้ขึ้น) กว่าความเป็นจริง และวัตถุที่อยู่ไกลจะยิ่งดูเล็กลงและไกลขึ้น
และเอฟเฟ็กต์นี้ยังเพิ่มระยะห่างระหว่างวัตถุต่างๆ ด้วย หมายความว่าสิ่งของต่างๆ จะดูเหมือนอยู่ห่างกันมากขึ้น ยิ่งทางยาวโฟกัสสั้น เอฟเฟ็กต์มุมมองเปอร์สเป็คทีฟก็จะยิ่งเด่นชัดขึ้น
เนื่องจากทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟที่เกินจริง เลนส์มุมกว้างจึงไม่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตหรือตัวแบบอื่นที่การถ่ายทอดรูปร่างที่แท้จริงของตัวแบบเป็นสิ่งสำคัญ แต่เอฟเฟ็กต์นี้ก็มีประโยชน์ของมันเอง และเราหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์นี้ได้ดียิ่งขึ้น
*อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ทางยาวโฟกัส การบีบภาพด้วยเลนส์ และการบิดเบี้ยวของเปอร์สเป็คทีฟ
ในระยะหลังนี้ มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าเลนส์ทำให้เกิดการบิดเบี้ยวของเปอร์สเป็คทีฟจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงภาพลวงตาที่เกิดจากระยะการถ่ายภาพ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่: การบีบภาพด้วยเลนส์และการบิดเบี้ยวของเปอร์สเป็คทีฟเกิดขึ้นได้อย่างไร (ฉบับภาษาอังกฤษ)
แนวคิดที่ 1: มุมมองเปอร์สเป็คทีฟทำให้เส้นมาบรรจบกัน
กฎของมุมมองเปอร์สเป็คทีฟมีอยู่ว่า
ยิ่งวัตถุอยู่ไกลเท่าใด จะยิ่งดูเล็กลงเท่านั้น
และยิ่งวัตถุอยู่ใกล้เท่าใด ก็จะดูใหญ่ขึ้นเท่านั้น
คุณเคยคิดหรือไม่ว่ามุมมองเปอร์สเป็คทีฟส่งผลอย่างไรต่อเส้นในภาพ
ลองดูภาพทางเดินธรรมดาๆ ด้านล่างซึ่งถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่ 16 มม. คุณเห็นว่าเส้นที่เกิดตามแนวพื้นดูเป็นอย่างไร
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L USM/ f/4.5/ 1/20 วินาที/ ISO 1600
ในความเป็นจริง เส้นทั้งสองฝั่งของทางเดินนั้นขนานกัน แต่ในภาพ เส้นทั้งสองเอียงเข้าหากัน (บรรจบกัน) ในลักษณะที่ทำให้บริเวณปลายสุดของทางเดินเลือนหายไปในบริเวณกึ่งกลางภาพ จุดที่เส้นมาบรรจบกันและ “หายไป” เรียกว่า “จุดรวมสายตา”
"เอฟเฟ็กต์การบรรจบกัน" นี้ไม่ได้มีเฉพาะในเลนส์มุมกว้างเท่านั้น คุณอาจพบได้ในภาพที่ใช้เลนส์ประเภทอื่นถ่ายด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยิ่งทางยาวโฟกัสสั้นลงเท่าใด เอฟเฟ็กต์มุมมองเปอร์สเป็คทีฟก็จะเด่นชัดขึ้นเท่านั้น และจุดรวมสายตาก็จะอยู่ใกล้ขึ้นด้วย
เส้นที่ไปบรรจบกันด้านบน
เมื่อส่วนล่างของตัวแบบดูอยู่ใกล้เราที่สุดในภาพ
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ f/8/ 1/800 วินาที/ ISO 200
เส้นตามแนวหอคอยเอียงเข้าหากันเมื่อใกล้ยอดเนื่องจากส่วนล่างของหอคอยอยู่ใกล้กล้องมากกว่า (จึงดูใหญ่ขึ้น) ในขณะที่ยอดหอคอยนั้นอยู่ไกลกว่า (จึงดูเล็กลง) อาจเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ได้ให้ความสนใจนักเมื่อมองผ่านช่องมองภาพ แต่นี่คือมุมมองเปอร์สเป็คทีฟ!
เส้นที่มาบรรจบกันด้านข้างหรือตรงมุมภาพ
เมื่อด้านซ้ายของตัวแบบอยู่ใกล้เราที่สุดในภาพ
เมื่อส่วนมุมของตัวแบบดูอยู่ใกล้เราที่สุดในภาพ
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L USM/ f/5.6/ 1/320 วินาที/ ISO 3200
A: มุมด้านบนและด้านล่างของภาพ (ฝั่งที่ใกล้กับกล้อง)
รถไฟที่อยู่ในภาพถ่ายด้านบนอยู่ใกล้เรามากกว่าทางด้านซ้าย เส้นจึงไปบรรจบกันที่มุมขวา
จะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร
การเล่นกับระยะห่างที่มองเห็นคือสิ่งสำคัญ ตัวแบบ (หรือบางส่วนของตัวแบบ) ดูเหมือนอยู่ใกล้หรือไกลเท่าใดเมื่อเทียบกับส่วนที่เหลือของภาพ ปรับองศา เปลี่ยนมุมกล้อง หรือเปลี่ยนตำแหน่งของตัวแบบ และดูว่าการไล่ระดับของแนวเส้น ตำแหน่งของจุดรวมสายตา และผลที่เกิดขึ้นกับภาพที่ได้เปลี่ยนไปอย่างไร
แนวคิดที่ 2: จะเห็นเอฟเฟ็กต์มุมมองเปอร์สเป็คทีฟได้น้อยลงหากวัตถุอยู่กึ่งกลางเฟรม
และนี่คือข้อเท็จจริงที่ไม่ค่อยมีใครสังเกตเห็น เมื่อใช้เลนส์มุมกว้าง วัตถุที่อยู่ตรงขอบภาพจะดูมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องมาจากการขยายมุมมองเปอร์สเป็คทีฟเกินจริง ขณะที่วัตถุที่อยู่กึ่งกลางจะได้รับผลกระทบดังกล่าวน้อยกว่า
เนื่องจากวัตถุที่อยู่ตรงขอบภาพจะบรรจบเข้าหากันมากขึ้น ขณะที่วัตถุที่อยู่บริเวณกึ่งกลางภาพจะบรรจบเข้าหากันน้อยลง
วัตถุที่อยู่ตรงขอบภาพจะบรรจบเข้าหากันมากขึ้น
วัตถุที่อยู่บริเวณกึ่งกลางภาพจะบรรจบเข้าหากันน้อยลง
และต่อไปนี้คือตัวอย่างประกอบสองข้อ
ตัวอย่างที่ 1
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L USM/ f/16/ 1/125 วินาที/ ISO 500
ผมถ่ายภาพนี้โดยยืนอยู่ท่ามกลางตึกสูงในเมืองแมนฮัตตัน ในขณะที่ผมยืนอยู่ใกล้กับตัวแบบและมองขึ้นไป ก็เห็นเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟได้อย่างชัดเจนราวกับมันกำลังร้องบอกว่า "มุมกว้าง!" ทุกอาคารดูเหมือนจะเอียงเข้าหาจุดกึ่งกลางด้านบน แต่จะเห็นได้่ว่า อาคารที่อยู่ตรงกลางดูไม่เอียงเท่าอาคารอื่น
ตัวอย่างที่ 2
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L USM/ f/5.6/ 1/500 วินาที/ ISO 250
นี่เป็นอีกภาพของเมืองแมนฮัตตันซึ่งถ่ายด้วยเลนส์เดียวกัน แต่คราวนี้ถ่ายจากเหนือน้ำในระยะไกล
ทุกอาคารอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางภาพ เอฟเฟ็กต์มุมมองเปอร์สเป็คทีฟจึงดูไม่เกินจริงเท่าใดนักหากเทียบกับภาพก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าอาคารที่อยู่ด้านข้างเอียงเข้าหาจุดกึ่งกลางเล็กน้อย ในขณะที่อาคารตรงกลางจะดูตั้งตรงมากกว่า และยังเห็นเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟได้ชัดเจนที่ทะเลและท้องฟ้า ซึ่งมีแนวยาวไปจนถึงขอบเฟรม
จะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร
วางวัตถุไว้ตรงกึ่งกลางภาพเพื่อป้องกันไม่ให้ดูบิดเบี้ยวจากเปอร์สเป็คทีฟที่เกินจริง
หากต้องการเห็นเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟเกินจริงได้ชัดเจนขึ้น ให้วางตัวแบบไว้ใกล้ขอบภาพ
และหากต้องการถ่ายภาพอาคารสูงโดยปราศจากการบิดเบี้ยวของเปอร์สเป็คทีฟ คุณอาจจะต้องใช้เลนส์ทิลต์-ชิฟท์ อ่านวิธีการทำงานของเลนส์ทิลต์-ชิฟต์ได้ที่นี่:
เรื่องที่คุณไม่เคยรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นชิฟต์ในเลนส์ทิลต์-ชิฟต์
คลิกที่นี่เพื่อไปยังบทความ สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 2: เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง
เลนส์ที่แนะนำให้ใช้
เลนส์ที่ผมใช้เป็นประจำคือ EF16-35mm f/2.8L II USM ผมรักเลนส์ตัวนี้เนื่องจากให้เอฟเฟ็กต์แฉกแสงสวยงามที่ผมสร้างได้จากดวงอาทิตย์หรือแสงไฟตามถนนเมื่อใช้รูรับแสงแคบ และยังสามารถใช้รูรับแสงกว้างในการถ่ายภาพดวงดาวได้ด้วย
หากคุณใช้กล้องที่มีเซนเซอร์ APS-C ผมขอแนะนำให้ใช้เลนส์ EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM ซึ่งเป็นเลนส์ EF-S ที่มีมุมรับภาพกว้างที่สุดในขณะนี้ คุณสมบัติการครอป 1.6 เท่าของเซนเซอร์ APS-C หมายความว่า ที่ระยะมุมกว้าง 10 มม. คุณสามารถใช้มุมรับภาพ 16 มม. เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.
เลนส์ EF16-35mm f/2.8L II USM ได้รับการปรับปรุงแล้ว! อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ EF16-35mm f/2.8L III USM และความสามารถของเลนส์ได้ในบทความเหล่านี้
เปิดตัวเลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์ EF16-35mm f/2.8L III USM: เคลือบด้วย SWC และ ASC
EF16-35mm f/2.8L III USM: ความละเอียดที่ขอบภาพที่พัฒนาขึ้นอย่างมาก
วิธีการถ่ายภาพนี้: การเพิ่มความพิเศษให้กับภาพทิวทัศน์ในป่าอันกว้างใหญ่
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เว็บไซต์ด้านการถ่ายภาพของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นเมื่อปี 2011 ด้วยสโลแกนว่า "ให้การถ่ายภาพใกล้ตัวคุณยิ่งขึ้น" เว็บไซต์นี้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับทุกคนที่ชอบการถ่ายภาพ นอกจากเนื้อหาบนเว็บไซต์แล้ว studio9 ยังมีการจัดสัมมนาและเวิร์กช็อปอีกด้วย