เรื่องที่คุณไม่เคยรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นชิฟต์ในเลนส์ทิลต์-ชิฟต์
คุณเคยสังเกตไหมว่าเมื่อถ่ายภาพอาคารสูงๆ จากระดับต่ำ ฐานของอาคารมักดูกว้างกว่ายอดอาคารอย่างไม่สมส่วน ปัญหานี้เรียกว่าการบิดเบี้ยวของเปอร์สเป็คทีฟ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เมื่อถ่ายภาพด้วยเลนส์ทั่วไป ดังนั้น หากต้องการถ่ายภาพอาคารทั้งหลังให้เป็นเส้นตรงและขนานกัน คุณจะต้องใช้เลนส์ทิลต์-ชิฟต์ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่คุณสามารถทำได้ด้วยเลนส์ชนิดพิเศษนี้ในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม และมาดูวิธีใช้ฟังก์ชั่นชิฟต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกัน (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)
เลนส์ทิลต์-ชิฟต์คืออะไร
เมื่อคุณถ่ายภาพสิ่งปลูกสร้างทางสถาปัตยกรรม มุมกล้องอาจทำให้เห็นการบิดเบี้ยวของเปอร์สเป็คทีฟชัดเจนขึ้น ตัวอย่างเช่น บริเวณยอดอาคารอาจดูแคบลงหากคุณถ่ายภาพจากระดับพื้นดิน
เลนส์ทิลต์-ชิฟต์ (รู้จักกันในชื่อเลนส์ TS-E ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของ Canon) คือเลนส์ชนิดพิเศษที่ช่วยให้ช่างภาพสามารถย้ายองค์ประกอบทางออพติคอลในเลนส์เพื่อแก้ไขความบิดเบี้ยว โดยทั่วไป เลนส์นี้ประกอบด้วยสองฟังก์ชั่น ได้แก่
- ฟังก์ชั่นชิฟต์: ใช้กลไกที่จะเลื่อนส่วนหนึ่งของชิ้นเลนส์ไปตามแกนออพติคอล เพื่อช่วยขจัดการบิดเบี้ยวของเปอร์สเป็คทีฟ และมีประโยชน์ในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ภาพพอร์ตเทรต ภาพผลิตภัณฑ์ และฉากอื่นๆ ที่จำเป็นต้องถ่ายทอดรูปทรงของตัวแบบอย่างแม่นยำ
- ฟังก์ชั่นทิลต์: ใช้กลไกที่จะเอียงเลนส์ที่มุมๆ หนึ่ง เพื่อปรับพื้นที่ที่อยู่ในโฟกัสในลักษณะที่เลนส์ทั่วไปไม่สามารถทำได้ เอฟเฟ็กต์ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดของฟังก์ชั่นนี้คือ เอฟเฟ็กต์ย่อส่วน/ฉากจำลอง ซึ่งมีพื้นที่ส่วนหนึ่งของภาพเท่านั้นที่อยู่ในระยะโฟกัส นอกจากนี้ ฟังก์ชั่นทิลต์ยังสามารถทำสิ่งที่ตรงกันข้ามได้คือ หากฉากมีความลึกมาก ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ส่วนโฟร์กราวด์จนถึงแบ็คกราวด์จะอยู่ในโฟกัส
ในบทความนี้ เราจะเน้นที่ฟังก์ชั่นชิฟต์และความสามารถของฟังก์ชั่นนี้ในการป้องกันการบิดเบี้ยวในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม
เลนส์ทิลต์-ชิฟต์ทำงานอย่างไร
ก่อนอื่น มาดูกันว่าภาพถ่ายจะเป็นอย่างไรถ้าเราไม่ใช้ฟังก์ชั่นชิฟต์ในเลนส์ทิลต์-ชิฟต์ ภาพที่ได้ไม่ต่างจากการถ่ายภาพโดยใช้เลนส์ทั่วไป ในภาพด้านล่าง สังเกตดูว่าบริเวณยอดตึกจะแคบลง
ไม่ใช้ฟังก์ชั่นชิฟต์
EOS-1D X Mark II/ TS-E24mm f/3.5L II/ Aperture-priority AE(f/5.6, 1/1000 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ ระดับชิฟต์: 0 มม. (ไม่ใช้ฟังก์ชั่นชิฟต์)
โดยทั่วไป เมื่อเราถ่ายภาพอาคารสูงด้วยเลนส์ทั่วไป เราต้องเล็ง (เอียงกล้อง) ขึ้น ซึ่งจะทำให้บริเวณส่วนยอดของตึกดูแคบกว่าบริเวณส่วนล่างอย่างผิดสัดส่วน
แกนออพติคอลที่ไม่ใช้การแก้ไขชิฟต์
รูปทรงที่แคบลงเกิดขึ้นเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในการขยายภาพ กล่าวคือ เมื่อเอียงเลนส์ จุดบางจุดบนตัวแบบจะอยู่ไกลจากกล้องมากขึ้นขณะที่จุดอื่นๆ จะอยู่ใกล้มากขึ้น นั่นเป็นเพราะหลักการในด้านออพติคอลที่ว่า "วัตถุที่อยู่ใกล้จะดูใหญ่ขึ้นและวัตถุที่อยู่ห่างไกลจะดูเล็กลง" นั่นเอง
ใช้การแก้ไขชิฟต์
EOS-1D X Mark II/ TS-E24mm f/3.5L II/ Aperture-priority AE(f/5.6, 1/1000 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ/ ระดับชิฟต์: 5 มม. (ขึ้น)
แกนออพติคอลที่ใช้การแก้ไขชิฟต์โดยการเลื่อนเลนส์ขึ้น
เมื่อคุณใช้ฟังก์ชั่นชิฟต์เพื่อถ่ายภาพอาคารสูง คุณจะต้องปรับเลื่อนออพติคขึ้น ผลทางออพติคอลที่เกิดขึ้นนี้มีความคล้ายคลึงกับการเคลื่อนกล้องไปยังตำแหน่งที่สูงขึ้นพร้อมกับรักษามุมของระดับเลนส์ให้สัมพันธ์กับอาคาร ดังนั้น เส้นแนวตั้งของอาคารจะดูขนานกัน
เพราะเหตุใดจึงได้ผล
เนื่องจากวงภาพที่เลนส์ทิลต์-ชิฟต์สร้างขึ้นมีขนาดใหญ่กว่าวงภาพของเลนส์ทั่วไป คุณจึงสามารถใช้ฟังก์ชั่นชิฟต์เพื่อเลื่อนเลนส์ให้อยู่ห่างจากตรงกลาง และเปลี่ยนส่วนของฉากที่ถูกถ่ายภาพได้
วิธีถ่ายภาพให้ดีที่สุดด้วยฟังก์ชั่นชิฟต์
พึงระลึกถึงหลักการสำคัญสองข้อดังนี้ เพื่อใช้ประโยชน์จากฟังก์ชั่นชิฟต์อย่างเต็มที่
1. ตรวจดูให้แน่ใจว่ากล้องได้ระดับในแนวตั้งและแนวนอน
เครื่องมืออย่างเช่นจอแสดงการวัดระดับอิเล็กทรอนิกส์ในกล้องจะช่วยคุณตรวจสอบและปรับระดับให้เหมาะสมได้
(อ่านได้ที่: การถ่ายภาพสถาปัตยกรรม #1: 3 แนวคิดพื้นฐาน)
2. จัดองค์ประกอบภาพด้วยโดยใช้ส่วนเสริมอื่นๆ
อย่าลืมว่าเมื่อคุณใช้ฟังก์ชั่นชิฟต์ ส่วนของฉากที่อยู่ในเฟรมภาพจะเปลี่ยนไปด้วย
สำหรับการโฟกัส ผมแนะนำให้ใช้ฟังก์ชั่น Live View และถ่ายภาพในโหมดแมนนวลโฟกัส (MF) โดยคุณสามารถขยายภาพที่แสดงใน Live Vew ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อตรวจสอบรายละเอียดของภาพ เช่น ดูว่าการตั้งค่ารูรับแสงให้ผลลัพธ์ที่ดีหรือไม่
ขั้นตอนที่ 1: ปรับการตั้งค่ากล้อง
ก่อนเริ่มถ่ายภาพ ปรับการตั้งค่ากล้องเพื่อใช้กับเลนส์ทิลต์-ชิฟต์ ฟังก์ชั่นที่เป็นประโยชน์:
- ฟังก์ชั่น Live View ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ภาพ 100% เหมาะอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องการตรวจสอบให้มั่นใจว่าความบิดเบี้ยวได้รับการแก้ไขแล้ว
- ตัววัดระดับความเอียงอิเล็กทรอนิกส์ การแสดงตาราง และเครื่องมืออื่นๆ ที่ช่วยให้แน่ใจว่าภาพจะได้ระดับ นั้นเหมาะที่สุดสำหรับการถ่ายภาพด้วยเลนส์ทิลต์-ชิฟต์
แน่นอนว่าคุณสามารถถ่ายภาพผ่านช่องมองภาพได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี แสงที่ส่องผ่านเลนส์อาจถูกบดบังบางส่วนและทำให้เกิดความผันผวนของแสง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณการชิฟต์ ดังนั้น การถ่ายภาพด้วย Live View จึงเหมาะมากเพราะช่วยให้เห็นตัวอย่างภาพได้ดีว่าภาพถ่ายขั้นสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร
ขั้นตอนที่ 2: ยึดกล้องไว้กับขาตั้งกล้อง และตรวจสอบดูแนวตั้งและแนวนอนของภาพว่าตรงดีแล้ว
1. ยึดกล้องไว้กับขาตั้งกล้องและเปิดกล้อง (ภาพแรก)
2. ใช้ตัววัดระดับความเอียงอิเล็กทรอนิกส์เพื่อตรวจสอบดูแนวตั้งและแนวนอนของภาพว่าตรงดีแล้ว
(หมายเหตุ: แม้ในสายตาของคุณพื้นดินอาจดูเหมือนได้ระดับ แต่ในความเป็นจริงพื้นดินอาจเอียงก็ได้ จึงควรใช้ตัววัดระดับความเอียงอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้แน่ใจทุกครั้ง)
เมื่อคุณแน่ใจว่ากล้องตั้งตรงและได้ระดับดีแล้ว คุณอาจพบว่าส่วนบนสุดของภาพถูกตัดออกไป (ภาพที่ 2) เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปหลังจากมีการใช้ชิฟต์
หลังจากทำการตั้งค่ากล้อง คุณอาจทดลองถ่ายภาพสัก 2-3 ภาพโดยใช้ชิฟต์และไม่ใช้ชิฟต์เพื่อทำความคุ้นเคยกับเอฟเฟ็กต์นี้
ขั้นตอนที่ 3: ปรับเลื่อนเลนส์เพื่อแก้ไขความบิดเบี้ยว
เมื่อคุณแน่ใจแล้วว่าภาพอยู่ในแนวตรงดีแล้ว ให้หมุนหัวจับชิฟต์เพื่อปลดล็อก จากนั้นหมุนหัวจับชิฟต์เพื่อปรับเลื่อนเลนส์ขึ้น ปรับแต่งภาพจนกระทั่งคุณเห็นภาพอาคารทั้งหมดในการแสดงตัวอย่างภาพของ Live View
สำหรับภาพนี้ ผมปรับเลื่อนเลนส์ขึ้น 5 มม. ซึ่งปริมาณการปรับเลื่อนที่จะใช้ควรพิจารณาจากระยะโฟกัสและความสูงของอาคารที่คุณจะถ่าย
ใช้การแสดงตารางเพื่อช่วยให้คุณ "เห็น" และปรับความสมดุลระหว่างท้องฟ้ากับพื้นดิน จัดองค์ประกอบภาพให้เสร็จสมบูรณ์และถ่ายภาพเมื่อคุณพร้อม
ควรเลือกเลนส์ทิลต์-ชิฟต์ของ Canon แบบไหนดี
Canon มีกลุ่มผลิตภัณฑ์ทิลต์-ชิฟต์ที่มีทางยาวโฟกัสต่างกันให้เลือกมากมาย และเลนส์แต่ละรุ่นมีคุณลักษณะแตกต่างกัน
ฟังก์ชั่นชิฟต์ไม่เพียงมีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรต ภาพผลิตภัณฑ์ และฉากอื่นๆ ที่คุณจำเป็นต้องขจัดความบิดเบี้ยวของเปอร์สเป็คทีฟและจับภาพรูปทรงของตัวแบบอย่างถูกต้องแม่นยำ
ขณะเดียวกัน ฟังก์ชั่นทิลต์ที่ใช้สำหรับปรับพื้นที่ที่อยู่ในโฟกัสมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการใช้งานพิเศษต่างๆ ซึ่งเลนส์ทั่วไปไม่อาจทำได้ เช่น การเก็บภาพทิวทัศน์อันน่าประทับใจหรือสร้างเอฟเฟ็กต์ย่อส่วน ซึ่งมีพื้นที่บางส่วนของภาพอยู่ในโฟกัส หรือสร้างภาพโต๊ะอาหารที่เต็มไปด้วยจานที่อยู่ในระยะโฟกัสตั้งแต่ส่วนโฟร์กราวด์จนถึงแบ็คกราวด์
เลนส์ TS-E ทุกรุ่นมีฟังก์ชั่นชิฟต์และทิลต์เหมือนกันและมี "ระบบการหมุน TS" ซึ่งสามารถหมุนมุมทิลต์และชิฟต์ได้ถึง 90° ทั้งสองทิศทาง
TS-E17mm f/4L
มีมุมรับภาพกว้างสุดในซีรีย์ เมื่อใช้งานร่วมกับฟังก์ชั่นชิฟต์ คุณสามารถจับภาพตัวแบบได้ทั้งหมดแม้จะถ่ายภาพในพื้นที่แคบๆ
TS-E24mm f/3.5L II
24 มม. คือทางยาวโฟกัสอเนกประสงค์ และให้มุมรับภาพใกล้เคียงกับสายตามนุษย์ ทำให้ภาพมีความเป็นธรรมชาติเหมาะสำหรับฉากทุกชนิดตั้งแต่ทิวทัศน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรม เลนส์ที่มีความสามารถรอบตัวนี้เป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยมสำหรับเลนส์ TS-E ตัวแรก
TS-E50mm f/2.8L Macro
ดังคำว่า "มาโคร" ที่ปรากฏในชื่อ เลนส์ชนิดนี้สามารถใช้ถ่ายภาพมาโครได้เช่นกัน เนื่องจากมีระยะโฟกัสใกล้สุดที่สั้นและให้กำลังขยายสูงสุด 0.5 เท่า และทางยาวโฟกัส 50 มม. ยังเหมาะสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์เพราะมีฟังก์ชั่นชิฟต์ช่วยจัดตำแหน่งขอบฟ้าใหม่เพื่อให้ภาพของคุณมีองค์ประกอบที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเหมาะกับการถ่ายภาพอาหารและตัวแบบที่อยู่นิ่งอื่นๆ
TS-E90mm f/2.8L Macro
ให้กำลังขยาย 0.5 เท่าเช่นกัน และมีทางยาวโฟกัสที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพนิ่ง ฟังก์ชั่นทิลต์ไม่เพียงให้คุณควบคุมระยะชัดลึกได้ง่ายดายเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นอีกมากมาย เช่น ความสามารถในการโฟกัสลึกโดยไม่ต้องใช้รูรับแสงที่แคบมากๆ
TS-E135mm f/4L Macro
เลนส์ TS-E เทเลโฟโต้รุ่นแรกของ Canon มีคุณสมบัติพื้นฐานเหมือนกับรุ่น TS-E90mm f/2.8L Macro ทางยาวโฟกัสที่ยาวกว่าทำให้เลนส์รุ่นนี้เป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยม ไม่เพียงสำหรับการถ่ายภาพวัตถุสะท้อนเท่านั้นแต่ยังเหมาะกับการสร้างเอฟเฟ็กต์ย่อส่วนที่ใช้เทคนิค "ทิลต์-ชิฟต์ในทิศทางตรงข้าม" อีกด้วย นอกจากนี้ หากใช้ถ่ายภาพพอร์ตเทรตก็ทำให้ได้ภาพที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ TS-E50mm f/2.8L Macro, TS-E90mm f/2.8L Macro และ TS-E135mm f/4L Macro ที่นี่:
Canon ประกาศเปิดตัวเลนส์ TS-E ทิลต์-ชิฟต์ใหม่ 3 รุ่น
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมได้ที่:
เคล็ดลับระดับมือโปรเพื่อปรับปรุงการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมจากระดับพื้นถนน
6 วิธีในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมด้วยชุดเลนส์
การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมและเทคนิคการจัดแสง (ฉบับภาษาอังกฤษ)
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ นอกจากถ่ายภาพสำหรับงานโฆษณาและนิตยสารทั้งในและนอกญี่ปุ่นแล้ว เขายังทำหน้าที่เป็นนักรีวิวให้กับ "Digital Camera Magazine" นับตั้งแต่นิตยสารเปิดตัว ตลอดจนตีพิมพ์ผลงานต่างๆ มากมาย ในส่วนของการรีวิวผลิตภัณฑ์และเลนส์ Takahashi เน้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพที่ดึงประสิทธิภาพการทำงานของเลนส์ออกมาผ่านมุมมองและการทดสอบเฉพาะตัวของเขาเอง ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย