บทวิจารณ์เลนส์: เลนส์ RF15-35mm f/2.8L IS USM ในการถ่ายภาพทิวทัศน์
สำหรับช่างภาพทิวทัศน์ที่ใช้ระบบ EOS R เลนส์ RF15-35mm f/2.8L IS USM คือเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ (UWA) มาตรฐานสำหรับเมาท์ RF ที่หลายคนตั้งตารอ ช่างภาพท่องเที่ยวและทิวทัศน์ Edwin Martinez ได้ทดสอบเลนส์ในหลากหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นภูเขาโบรโม่ที่เต็มไปด้วยฝุ่นในอินโดนีเซีย บ่อน้ำพุร้อนของอุทยานแห่งชาติต่างๆ ในอเมริกาเหนือในช่วงฤดูใบไม้ร่วงไปจนถึงเทือกเขาร็อกกีในแคนาดาช่วงฤดูหนาวที่เย็นจัดถึง -44°C เขาจะมาเล่าให้เราฟังว่าทำไมตนเองจึงคิดว่าเลนส์ UWA นั้น “ยอดเยี่ยม” (เรื่องโดย Edwin Martinez)
ความกะทัดรัดที่ลงตัวกับกล้อง EOS R
เมื่อคุณถือเลนส์ RF15-35mm f / 2.8L IS USM ที่ติดตั้งเข้ากับกล้อง EOS R ไว้ในมือ ความแตกต่างอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในทันทีคือ ขนาดและน้ำหนัก
หากดูที่เลนส์เพียงอย่างเดียว เลนส์ RF15-35mm f/2.8L IS USM มีน้ำหนักมากกว่า EF16-35mm f/2.8L III USM ราว 50 กรัม แต่นั่นเป็นผลมาจากทางยาวโฟกัสที่เพิ่มขึ้นและ IS ในตัวที่เพิ่มเข้ามา อีกทั้งกล้อง EOS R และ EOS 5D Mark IV ยังมีขนาดที่แตกต่างกันด้วย
จากภาพด้านบนจะเห็นได้ว่ากล้อง EOS R กับเลนส์ RF15-35mm f/2.8L IS USM มีน้ำหนักเบากว่าประมาณ 180 กรัมและสั้นกว่าประมาณ 17 ซม. เมื่อเทียบกับกล้อง EOS 5D Mark IV กับเลนส์ EF16-35mm f/2.8L III USM ซึ่งสร้างความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อต้องเดินทางไกลและเมื่อถ่ายภาพในพื้นที่ที่สมบุกสมบัน
ระยะกว้างที่เพิ่มขึ้น 1 มม. สร้างความแตกต่างได้อย่างมาก
ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ ระยะ 1 มม. ที่เพิ่มขึ้นอาจมีความสำคัญอย่างมาก โดยหมายถึงมุมรับภาพที่กว้างขึ้น 4° ซึ่งจะสร้างความแตกต่างอย่างมากสำหรับการแสดงให้เห็นถึงขนาดอันกว้างใหญ่ และสิ่งที่ดีที่สุดคือ คุณสามารถใช้ฟิลเตอร์ชนิดสวมหน้าเลนส์ 82 มม. ทั่วไป กับเลนส์ RF15-35mm f/2.8L IS USM เพื่อเพิ่มโอกาสในการรังสรรค์ภาพถ่ายได้หลากหลายยิ่งขึ้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่ฟิลเตอร์สามารถเปลี่ยนภาพถ่ายของคุณได้ที่นี่:
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์ #5: ฟิลเตอร์ ND มีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง
การใช้ฟิลเตอร์เลนส์: 2 เทคนิคจากช่างภาพมืออาชีพ
EOS R/ RF15-35mm f/2.8 IS USM/ FL: 15 มม./ Manual exposure (f/11, 1/4 วินาที)/ ISO 200
สถานที่: อุทยานแห่งชาติแบมฟ์ เทือกเขาร็อกกีในแคนาดา
มุมมองเปอร์สเป็คทีฟมุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่ 15 มม. สื่อถึงระยะห่างจากฟองน้ำแข็งในส่วนโฟร์กราวด์ไปจนถึงเทือกเขาที่อยู่ด้านหลัง
EOS R/ RF15-35mm f/2.8 IS USM/ FL: 15 มม./ Manual exposure (f/8, 1/13 วินาที)/ ISO 200
สถานที่: หมู่เกาะโลโฟเทน นอร์เวย์
น้ำตกที่ “ซ่อนอยู่” ภายใต้น้ำแข็ง ระยะ 15 มม. เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพตัวแบบในโฟร์กราวด์อันน่าประทับใจและภูเขา Stortinden ชื่อดังในแบ็คกราวด์ให้อยู่ในเฟรมเดียวกันอย่างสมบูรณ์แบบ
ไม่ใช่แค่ว่าคุณสามารถเก็บรายละเอียดมากน้อยแค่ไหนในเฟรมเท่านั้น แต่ความแตกต่างระหว่าง 15 มม. กับ 16 มม. นั้นเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงผลของการจัดองค์ประกอบภาพได้ (เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพนี้ได้ที่นี่)
คุณภาพของภาพถ่ายอันยอดเยี่ยม
ผมรู้สึกประทับใจมากที่พบว่า แม้จะมีทางยาวโฟกัสที่ครอบคลุมเพิ่มขึ้น 1 มม. แต่บริเวณมุมภาพของภาพที่ผมถ่ายด้วยเลนส์ RF15-35mm f/2.8L IS USM กลับมีความคมชัดกว่า เมื่อเทียบกับเลนส์ EF16-35mm f/2.8L III USM และยังมีความคลาดสีและความบิดเบี้ยวน้อยกว่าแม้จะถ่ายที่ระยะมุมกว้าง สีสันและความเปรียบต่างที่ได้จากกล้องโดยตรงดูไม่แตกต่างจากเลนส์ในเวอร์ชัน EF แต่เลนส์ RF15-35mm f/2.8L IS USM มีประสิทธิภาพดีกว่าในการป้องกันแสงหลอกและแสงแฟลร์เมื่อถ่ายภาพหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์
EOS R/ RF15-35mm f/2.8 IS USM/ FL: 15 มม./ Manual exposure (f/11, 1/20 วินาที)/ ISO 200
สถานที่: อุทยานแห่งชาติเกลเชอร์ รัฐมอนแทนา สหรัฐอเมริกา
แม้จะถ่ายที่ระยะ 15 มม. รายละเอียดก็คมชัดทั่วทั้งภาพโดยไม่ปรากฏความบิดเบี้ยวแบบโป่งออก
ระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัวกล้อง
RF15-35mm f/2.8L IS USM เป็นเลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่มีรูรับแสงคงที่ f/2.8 แบบฟูลเฟรมรุ่นแรกของ Canon ที่มีระบบป้องกันภาพสั่นไหว (IS) ทั้งยังมีระบบป้องกันภาพสั่นไหวได้เทียบเท่าความเร็วชัตเตอร์ถึง 5 สต็อป ซึ่งช่วยได้มากในการถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือในสภาวะแสงน้อย ผมเคยถ่ายภาพที่ไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้องช่วยในการจัดองค์ประกอบภาพให้ดีขึ้น แต่ภาพที่ได้กลับคมชัดแม้ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
EOS R/ RF15-35mm f/2.8 IS USM/ FL: 15 มม./ Manual exposure (f/16, 1/4 วินาที)/ ISO 100
สถานที่: อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน สหรัฐอเมริกา
หนึ่งในภาพที่ผมถ่ายโดยใช้มือถือกล้อง ผมแปลกใจมากที่ได้ภาพที่คมชัดเช่นนี้แม้จะถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/4 วินาที
เคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพ: ตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณเลือกการเล่นระดับจุดสนใจที่เหมาะสมเพื่อจัดเฟรมฉาก
EOS R/ RF15-35mm f/2.8 IS USM/ FL: 15 มม./ Manual exposure (f/11, 1/3 วินาที)/ ISO 100
สถานที่: อุทยานแห่งชาติแบมฟ์ เทือกเขาร็อกกีในแคนาดา
ทางยาวโฟกัส 15 มม. เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ แต่ใช้ได้ยากมากหากคุณต้องการใส่รายละเอียดทั้งหมดไว้ในเฟรมโดยไม่ได้ใช้รูปทรงเรขาคณิตที่เหมาะสม มองหาแนวเส้นที่มีมิติในฉากและจัดเฟรมภาพโดยใช้ทางยาวโฟกัสกว้างสุดเพื่อสร้างมิติความลึกและมุมมองเปอร์สเป็คทีฟ
ในภาพด้านบน ผมถ่ายจากมุมต่ำ ซึ่งช่วยดึงความสนใจไปที่ลวดลายที่เกิดจากน้ำค้างแข็งในส่วนโฟร์กราวด์ นอกจากนี้ ผมยังจัดเฟรมเพื่อให้ลวดหลายเหล่านี้ประกอบกันเป็นเส้นยาวแนวทแยงมุมไปทางด้านหลังของภาพอีกด้วย มุมมองเปอร์สเป็คทีฟมุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่ไม่เหมือนใครทำให้เส้นนี้ดูยาวยิ่งขึ้น จึงทำให้ภาพมีมิติความลึกมากขึ้น
อ่านเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพเพิ่มเติมเพื่อใช้เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ให้ดีที่สุดได้ที่:
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 1: เอฟเฟ็กต์ภาพที่ได้จากเลนส์มุมกว้าง
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 2: เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง
การทำงานของกล้อง EOS R กับเลนส์ RF15-35mm f/2.8L IS USM
ข้อมูลจำเพาะ
โครงสร้างเลนส์: 16 ชิ้นเลนส์ใน 12 กลุ่ม
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.28 ม.
กำลังขยายสูงสุด: 0.21 เท่า
จำนวนม่านรูรับแสง: 9 (ทรงกลม)
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: 82 มม.
ขนาด: φ88.5 × 126.8 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 840 ก.
โครงสร้างเลนส์
A: ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม
B: ชิ้นเลนส์ UD
C: SWC
D: ASC
เคลือบฟลูออไรต์ป้องกันการเปื้อนบนพื้นผิวด้านหน้าและด้านหลังเลนส์
เลนส์ฮูด: EW-88F
ภาพตัวอย่าง
EOS R/ RF15-35mm f/2.8 IS USM/ FL: 16 มม./ Manual exposure (f/2.8, 25 วินาที)/ ISO 3200
สถานที่: ภูเขาโบรโม่ อินโดนีเซีย
ดวงดาวถูกถ่ายภาพเป็นจุดแสงโดยแทบไม่ปรากฏความคลาดสี แม้แต่บริเวณขอบภาพ
EOS R/ RF15-35mm f/2.8 IS USM/ FL: 25 มม./ Manual exposure (f/11, 1/80 วินาที)/ ISO 100
สถานที่: บาหลี อินโดนีเซีย
หมู่บ้านในหุบเขาที่ห้อมล้อมไปด้วยเทือกเขา มุมมองเปอร์สเป็คทีฟมุมกว้างของเลนส์ RF15-35mm f/2.8 IS USM เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการแสดงให้เห็นถึงขนาดอันกว้างใหญ่
EOS R/ RF15-35mm f/2.8 IS USM/ FL: 35 มม./ Manual exposure (f/11, 1/50 วินาที, EV-0.7)/ ISO 500
สถานที่: ทะเลสาบอับราฮัม รัฐแอลเบอร์ตา แคนาดา
การซูมเข้าไปที่ระยะ 35 มม. ทำให้ผมสามารถถ่ายภาพแอ็บสแตรกต์ของฟองก๊าซมีเธนเหล่านี้ได้ ดูแล้วเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลอีกแห่งทีเดียว
ศึกษาความเป็นมาของเลนส์ซูม EF f/2.8L จาก Canon ได้ใน:
ประวัติที่แทบไม่มีใครรู้ของเลนส์ซูม f/2.8L และ f/4L ของ Canon
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีของเลนส์ RF และเลนส์ RF รุ่นอื่นๆ ได้ที่:
จุดโฟกัส: เลนส์ RF
หากกำลังตัดสินใจว่าจะซื้อกล้อง EOS R หรือ EOS RP ดี โปรดดูที่:
EOS R หรือ EOS RP เลือกใช้กล้องรุ่นไหนดี
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
https://www.facebook.com/EdwinMartinezPhotography
https://500px.com/EdwinMartinez
http://edwinmartinezphoto.com/