ความประทับใจจากการใช้เลนส์: RF50mm f/1.2L USM ในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตและภาพแนวสตรีท
งานของ HARUKI ทำให้เขาจำเป็นต้องใช้ทางยาวโฟกัสที่แตกต่างกันตั้งแต่ระยะมุมกว้างอัลตร้าไวด์ไปจนถึงซูเปอร์เทเลโฟโต้ แต่เลนส์ประเภทหนึ่งที่เขาจำเป็นต้องมีไว้ใช้คือ เลนส์มาตรฐานรูรับแสงกว้าง เขาชื่นชอบเลนส์ EF50mm f/1.2L USM (ฉบับภาษาอังกฤษ) เป็นพิเศษมาโดยตลอด เนื่องจากสามารถสร้างโบเก้ที่นุ่มนวลได้อย่างสมดุลตลอดทั้งเฟรมและจับโฟกัสในพื้นที่โฟกัสได้คมชัด หากเทียบกันแล้ว เลนส์ในเวอร์ชัน RF รุ่นใหม่นี้เป็นอย่างไร ต่อไปนี้คือความประทับใจของเขา (เรื่องโดย: HARUKI, Digital Camera Magazine)
สเปคที่ดีกว่าเลนส์ในเวอร์ชัน EF อย่างเห็นได้ชัด
เมื่อเทียบ RF50mm f/1.2L USM กับเลนส์ EF รุ่น EF50mm f/1.2L USM จะพบความแตกต่างที่สำคัญในการออกแบบออพติคอลสองสามข้อ ได้แก่
- เลนส์พิเศษ: เลนส์ในเวอร์ชัน EF ใช้ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม (ฉบับภาษาอังกฤษ) 1 ชิ้น แต่เวอร์ชัน RF ใช้ 3 ชิ้น และชิ้นเลนส์ Ultra-low Dispersion (UD) อีก 1 ชิ้น
ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมจะช่วยชดเชยความคลาดทรงกลมในเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ และชิ้นเลนส์ UD มีหน้าที่แก้ไขความคลาดสี
- ม่านรูรับแสง: เลนส์ทั้งสองรุ่นมีรูรับแสงทรงกลม เลนส์ในเวอร์ชัน EF มีม่านรูรับแสง 8 กลีบ ในขณะที่เวอร์ชัน RF มี 10 กลีบ
ผลที่ได้คือ คุณภาพของภาพที่เพิ่มขึ้น
เลนส์ RF50mm f/1.2L USM ให้ภาพที่มีความละเอียดสูงพร้อมด้วยโบเก้อันเป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่กึ่งกลางไปจนถึงมุมภาพแม้ใช้รูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.2 ให้รายละเอียดที่คมชัด และแสดงความเปรียบต่างได้ดีเยี่ยม การเกิดแสงแฟลร์และแสงหลอกลดลงอย่างมาก จึงทำให้เป็นเลนส์ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อคุณต้องรวมเอาแหล่งกำเนิดแสงเข้ามาในเฟรมด้วย และทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการออกแบบออพติคอลของเลนส์
เลนส์ที่มีความสามารถรอบด้านอย่างที่คุณคาดไม่ถึง
ทางยาวโฟกัส 50 มม. ของเลนส์นี้เป็นระยะมาตรฐาน ผู้ใช้บางคนอาจพบว่ามุมรับภาพในช่วงนี้ค่อนข้างจำกัด แต่ความจริงแล้ว คุณสามารถใช้มันทำอะไรได้หลากหลายอย่าง
ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถใช้รูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.2 หรือเปลี่ยนมุมที่ใช้ในการถ่ายภาพ หรือการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งจะทำให้ได้ภาพที่ให้ความรู้สึกกว้างใหญ่เช่นเดียวกับเลนส์มุมกว้าง หรือดึงตัวแบบให้เข้ามาใกล้ขึ้นในแบบที่เลนส์เทเลโฟโต้ระยะกลางสามารถทำได้
ระยะโฟกัสใกล้สุด 40 ซม. นั้นสั้นกว่าเลนส์รุ่นอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติอีกข้อหนึ่งที่สามารถนำไปใช้ได้เพื่อความสร้างสรรค์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ด้วยวงแหวนควบคุมที่กำหนดเองได้ และคุณสมบัติใหม่อื่นๆ ที่ไม่มีในเลนส์ EF รุ่นปัจจุบัน เลนส์ RF50mm f/1.2L USM จึงสามารถถ่ายภาพได้หลากหลายแบบมากกว่าที่คุณคาดไว้ ขึ้นอยู่กับความสร้างสรรค์ของคุณเอง
ภาพตัวอย่าง
ถ่ายที่ค่า f/1.2
EOS R/ RF50mm f/1.2L USM / FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.2, 1/4,000 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ผมจับโฟกัสอย่างรวดเร็วและถ่ายภาพนกตัวหนึ่งซึ่งบินอยู่บนท้องฟ้าที่กำลังมืดลงหลังพระอาทิตย์ตก ความคมชัดของพื้นที่ในโฟกัสทำให้เกิดความเปรียบต่างกับโบเก้ที่นุ่มนวลในพื้นที่นอกโฟกัสได้อย่างน่าทึ่ง และจะเห็นได้ว่าการไล่เฉดสีของยามเย็นที่สวยงามนั้นถูกถ่ายทอดออกมาโดยที่ขอบภาพมีส่วนที่มืดอยู่น้อยมาก
ถ่ายที่ค่า f/1.2
EOS R/ RF50mm f/1.2L USM / FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.2, 1/100 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
รูรับแสงกว้างสุด f/1.2 ที่สว่างไม่เพียงแต่ช่วยให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นในสภาวะแสงน้อยเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดโบเก้ที่นุ่มนวลในพื้นที่ที่อยู่นอกโฟกัสซึ่งทำให้ภาพดูมีความเป็นสามมิติมากขึ้นด้วย
ถ่ายที่ค่า f/1.2
EOS R/ RF50mm f/1.2L USM / FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.2, 1/250 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
แม้ RF50mm f/1.2L USM จะเป็นเลนส์มาตรฐาน แต่ก็สามารถถ่ายภาพที่เหมือนกับภาพจากเลนส์มุมกว้างหรือเลนส์เทเลโฟโต้ได้ ในภาพนี้ เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่ได้จาก f/1.2 เหมือนกับโบเก้ที่ได้จากเลนส์เทเลโฟโต้ระยะกลาง ทำให้ตัวแบบในภาพพอร์ตเทรตดูโดดเด่นท่ามกลางทิวทัศน์กว้างใหญ่
ถ่ายที่ค่า f/4
EOS R/ RF50mm f/1.2L USM / FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/13 วินาที, EV-0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เพราะใช้การออกแบบที่ลดการเกิดแสงแฟลร์ลงได้มาก เลนส์จึงสามารถรับมือกับแสงย้อนจากด้านหลังได้เป็นอย่างดี รูรับแสงทรงกลม 10 กลีบช่วยสร้างวงโบเก้ที่สวยงามแม้ผมจะปรับรูรับแสงให้แคบลงเหลือ f/4 ระยะโฟกัสใกล้สุด 40 ซม. ทำให้ผมสามารถถ่ายภาพใบไม้เหล่านี้ได้ในระยะใกล้
ถ่ายที่ค่า f/8
EOS R/ RF50mm f/1.2L USM / FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/800 วินาที, EV+0.3)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ผมมักจะตั้งค่ารูรับแสงทิ้งไว้ที่ f/8 เนื่องจากค่านี้สามารถรับมือกับสถานการณ์ในการถ่ายภาพที่ไม่คาดคิดได้แทบทุกรูปแบบ จากภาพนี้จะเห็นว่า เลนส์ RF50mm f/1.2L USM สามารถถ่ายทอดรายละเอียดได้ทั้งในส่วนที่เป็นเงาและส่วนที่สว่าง แม้จะถ่ายภาพในสภาวะที่มีความเปรียบต่างสูง
เคล็ดลับการใช้งาน: เปลี่ยนจุดโฟกัสเพื่อเปลี่ยนจุดความสนใจหลักในภาพของคุณ
หนึ่งในลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของเลนส์นี้คือ ระยะชัดที่ตื้น คุณสามารถใช้คุณสมบัตินี้เพื่อดึงความสนใจของผู้ชมไปยังองค์ประกอบบางอย่างในภาพ
ลองดูภาพตัวอย่างด้านล่าง
ภาพ A
Aperture-priority AE (f/1.2, 1/750 วินาที, EV+1.0)
ภาพ B
Aperture-priority AE (f/1.2, 1/750 วินาที, EV+1.0)
ทั้งสองภาพ: EOS R/ RF50mm f/1.2L USM / FL: 50 มม./ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
คนส่วนใหญ่จะจับโฟกัสไปที่ดอกไม้ (ภาพ A) เนื่องจากเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของพวกเขาเป็นสิ่งแรก ดอกไม้จึงเป็นจุดสนใจหลักในภาพ
อย่างไรก็ตาม เมื่อผมจับโฟกัสไปที่กรอบหน้าต่างซึ่งอยู่ด้านหลังแจกันแทน (ภาพ B) ทั้งดอกไม้ในโฟร์กราวด์และสวนในแบ็คกราวด์กลายเป็นภาพเบลอ พื้นที่ที่อยู่นอกโฟกัสเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้กรอบหน้าต่างซึ่งอยู่ในโฟกัส “โดด” ออกมาเนื่องจากความเปรียบต่าง
เพราะหน้าต่างนั้นกินพื้นที่ขนาดใหญ่ภายในภาพ สวยตาของผู้ชมจะถูกดึงไปยังภาพทั้งภาพ ในตอนนี้ จุดสนใจหลักจึงอยู่ที่ภาพทั้งภาพ
ผมสามารถถ่ายภาพนี้ได้เนื่องจากรูรับแสงกว้างที่ f/1.2 นั้นทำให้เกิดระยะชัดที่ตื้นมาก จึงเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างพื้นที่ที่อยู่ในกับนอกโฟกัส
กล้อง EOS R ที่ต่อเข้ากับเลนส์ RF50mm f/1.2L USM
ฮูดเลนส์ EW-83
ข้อมูลจำเพาะ
A: ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม
B: ชิ้นเลนส์ UD
โครงสร้างเลนส์: 15 ชิ้นเลนส์ใน 9 กลุ่ม
ระยะโฟกัสใกล้ที่สุด: 0.4 ม.
กำลังขยายสูงสุด: 0.19 เท่า
จำนวนม่านรูรับแสง: 10 (กลีบ)
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: 77 มม.
ขนาด: φ89.8 x 108 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 950 ก.
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ RF ได้ที่นี่:
ขยายขีดความสามารถในการถ่ายภาพของคุณด้วยเลนส์ RF รูปแบบใหม่ทั้งหมด
6 คุณสมบัติที่สำคัญของเลนส์ RF
เลนส์ RF: เลนส์แบบไหนที่เหมาะกับฉัน?
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดเมื่อปี 1959 ที่ฮิโรชิมา Haruki เป็นช่างภาพและผู้กำกับภาพ เขาจบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย Kyushu Sangyo และร่วมงานในกิจกรรมเกี่ยวกับงานถ่ายภาพพอร์ตเทรตสำหรับสื่อเป็นหลัก ทั้งงานโฆษณา นิตยสาร และดนตรี