บทวิจารณ์เลนส์: RF24mm f/1.8 Macro IS STM กับการถ่ายภาพธรรมชาติ
RF24mm f/1.8 Macro IS STM เป็นเลนส์เดี่ยวมุมกว้างน้ำหนักเบาและกะทัดรัดที่มีรูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ที่ f/1.8 และประโยชน์ในการถ่ายภาพแบบมาโครที่ 0.5 เท่า ซึ่งทำให้เลนส์นี้เหมาะสำหรับเก็บภาพความสวยงามของธรรมชาติ ตั้งแต่ทิวทัศน์ภูเขาและน้ำตกสุดตระการตา ภาพระยะใกล้มุมกว้างของต้นไม้และแมลงที่แสดงสภาพแวดล้อมด้วย หรือแม้กระทั่งการถ่ายภาพดวงดาวที่มีทางช้างเผือกที่ส่องประกายวิบวับยามค่ำคืน ช่างภาพทิวทัศน์ Chikako Yagi จะมาบอกเล่าเรื่องราวการค้นพบของเธอให้เราฟัง (เรื่องโดย: Chikako Yagi, Digital Camera Magazine)
ถ่ายภาพมาโครแบบอัลตร้าไวด์ได้อย่างรวดเร็วด้วยเลนส์ขนาดเล็ก
เลนส์ไวแสงสูงและมุมกว้างพร้อมความสามารถในการถ่ายภาพมาโคร: เหมือนอุปกรณ์แบบทรีอินวัน
สำหรับช่างภาพหลายคนรวมทั้งผมด้วย ที่กำลังตั้งตารอเลนส์เดี่ยวมุมกว้างความไวแสงสูงแบบฟูลเฟรมสำหรับเมาท์ RF ถือว่า RF24mm f/1.8 Macro IS STM เป็นเลนส์รุ่นหนึ่งที่ใครๆ ต่างรอคอย เลนส์รุ่นนี้มีหลักการแบบเดียวกับ RF35mm f/1.8 Macro IS STM ที่เป็นเลนส์เดี่ยวความไวแสงสูง ขนาดกะทัดรัด และราคาย่อมเยาพร้อมความสามารถกึ่งมาโคร (กำลังขยาย 0.5 เท่า) แต่มีความกว้างกว่าที่ 24 มม. จึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ (น้อยกว่า 24 มม.) ทำให้มีความสามารถรอบด้านที่ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้นสำหรับการถ่ายวิวและทิวทัศน์ดวงดาว ซึ่งในจุดนี้รูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ที่ f/1.8 ของเลนส์ก็พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์
คุณสมบัติเด่นข้อที่ 1: ความสะดวกในการพกพาที่ดีเยี่ยม
คุณสมบัติเด่นข้อที่ 1: ความสะดวกในการพกพาที่ดีเยี่ยม
ตอนผมถือ RF24mm f/1.8 Macro IS STM เป็นครั้งแรก ผมรู้สึกว่าเลนส์มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบาเหมือนกับ RF35mm f/1.8 Macro IS STM เลนส์ทั้งสองรุ่นนี้มีคุณลักษณะที่คล้ายกันมาก และเวลานำมาใช้จริงก็แทบจะดูเหมือนไม่มีความแตกต่างเลย ส่วนความสมดุลกับกล้องถือว่าอยู่ในระดับดี เพราะไม่รู้สึกว่าด้านหน้าหนักเลยเวลาสวมเลนส์เข้ากับกล้อง
เลนส์มีความยาว 63.1 มม. จับได้ถนัดมือและพกพาสะดวกมาก เมื่อคุณถ่ายภาพ ปลายเลนส์จะยืดออกไปเล็กน้อย แต่ความยาวโดยรวมแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง เวลามีเลนส์รุ่นนี้อยู่ในกระเป๋า คุณก็อาจจะพกเลนส์เพิ่มอีกตัวได้โดยแทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่างมากนัก
ภาพมาโครมุมกว้างที่ไม่เหมือนใครพร้อมสีสันและคุณภาพดีเยี่ยม
คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของเลนส์รุ่นนี้คือความสามารถในการถ่ายภาพโคลสอัพ โดยมีกำลังขยายสูงสุด 0.5 เท่า (กึ่งมาโคร) ที่ระยะโฟกัสใกล้สุดที่สั้นมากถึง 0.14 ม. ทำให้ได้ภาพ “มาโครมุมกว้าง” แบบไม่เหมือนใคร ซึ่งคุณไม่เพียงแต่ถ่ายภาพโคลสอัพของตัวแบบเท่านั้น แต่ยังเก็บภาพแบ็คกราวด์โดยรอบได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับเลนส์มาโครเทเลโฟโต้ทั่วไป
นอกจากนี้ เลนส์ยังสามารถสร้างโบเก้ที่นุ่มนวลเพราะมีรูรับแสงกว้างถึง f/1.8
EOS R5/ RF24mm f/1.8 Macro IS STM/ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/5000 วินาที, EV -1.0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ตั๊กแตนตำข้าวน้อยตัวนี้อาจถูกมองข้ามไปได้ง่ายๆ แต่ความสามารถในการถ่ายภาพมาโครของ RF24mm f/1.8 Macro IS STM ช่วยให้ผมวางตำแหน่งตั๊กแตนตำข้าวให้เป็นจุดรวมความสนใจได้อย่างง่ายดาย ผมรู้สึกประหลาดใจกับความคมชัดของเลนส์ ที่แม้แต่พื้นผิวหนวดของตั๊กแตนตำข้าวก็จับภาพออกมาได้อย่างสวยงาม
EOS R5/ RF24mm f/1.8 Macro IS STM/ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/800 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโคลสอัพของดอกบัวภาพนี้ถ่ายที่ระยะโฟกัสใกล้สุด 0.14 ม. โดยจับโฟกัสที่เกสรเพศผู้ด้านหน้า บริเวณที่อยู่ในโฟกัสมีความคมชัด ขณะที่กลีบดอกไม้ในโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์กลมกลืนเข้ากันดีกับโบเก้สวยๆ ลองสังเกตสีสันและความเปรียบต่างที่สวยงาม แม้จะใช้รูรับแสงกว้างสุด ภาพลักษณะนี้ถ่ายได้ตลอดทั้งช่วงรูรับแสง แม้กระทั่วเวลาถ่ายภาพโคลสอัพ
บนกล้อง APS-C: เข้าใกล้ได้ยิ่งขึ้น
ด้วยการครอป 1.6 เท่าบนกล้อง APS-C EOS เลนส์ RF24mm f/1.8 Macro IS STM จะให้มุมรับภาพเทียบเท่า 38.4 มม. บนกล้องฟูลเฟรม ทำให้ทำงานเหมือนเลนส์ 35 มม. หรือเลนส์มาตรฐานที่มีมุมรับภาพกว้างขึ้นเล็กน้อย ตัวแบบจึงดูใหญ่ขึ้นในเฟรม และภาพที่ได้เทียบเท่ากับอัตราส่วนกำลังขยาย 0.8 เท่า ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่จะเกิดเช่นกันถ้าคุณใช้โหมดครอป 1.6 เท่าบนกล้องฟูลเฟรม
บนกล้องฟูลเฟรม: 24 มม.
บนกล้อง APS-C: ประมาณ 38.4 มม. (เทียบเท่าฟูลเฟรม)
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
กล้องฟูลเฟรมและกล้อง APS-C: ควรเลือกรุ่นไหนดี
ระบบป้องกันภาพสั่นไหว: สูงสุดถึง 6.5 สต็อป ระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบไฮบริด
เมื่อถ่ายภาพมาโคร คุณมักมีแสงน้อย และการสั่นไหวใดๆ ของกล้องจะเห็นชัดขึ้น ทำให้การถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งเป็นเรื่องยากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นสไตล์การถ่ายภาพที่ผมชอบ เลนส์ RF24mm f/1.8 Macro IS STM คำนึงถึงประเด็นนี้ เพราะรองรับระบบป้องกันภาพสั่นไหวสามระบบ
1. ระบบป้องกันการสั่นไหวแบบออพติคอล (ระบบ IS แบบออพติคอล) รุ่นเดิมจะแก้ไขการสั่นไหวของกล้องสูงสุดถึงประมาณ 5 สต็อป
2. เมื่อติดตั้งเลนส์เข้ากับกล้องที่มีระบบ IS ในตัวกล้อง ระบบ IS แบบประสานการควบคุมจะเพิ่มเอฟเฟ็กต์ป้องกันภาพสั่นไหวขึ้นสูงสุด 6.5 สต็อป
3. ระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบไฮบริดจะเสริมเอฟเฟ็กต์ของระบบ IS แบบออพติคอลด้วยการชดเชยการสั่นไหวในลักษณะการเคลื่อนกล้องขึ้น-ลง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกล้องขยับในแนวขนานกับตัวแบบและจะเห็นชัดยิ่งขึ้นในการถ่ายภาพมาโครและโคลสอัพ
คุณสมบัติเหล่านี้ช่วยให้ผมถ่ายภาพมาโครโดยไม่ต้องใช้ขาตั้งได้อย่างสบายใจ
คุณสมบัติเด่นข้อที่ 2: สวิตช์ AF และ IS ที่ใช้งานสะดวก
คุณสมบัติเด่นข้อที่ 2: สวิตช์ AF และ IS ที่ใช้งานสะดวก
ดีไซน์ท่อเลนส์ดูเรียบง่าย แต่ไม่ได้ลดทอนความสะดวกในการใช้งาน เพราะมีสวิตช์ AF/MF และสวิตช์เปิด/ปิด IS อยู่ด้านข้าง ช่วยให้เป็นเรื่องสะดวกมากที่จะถ่ายภาพมาโคร ซึ่งมักจะต้องสลับใช้โฟกัสแบบแมนนวลอย่างรวดเร็วเพื่อให้การโฟกัสแม่นยำขึ้น
รองรับระบบแมนนวลโฟกัสแบบ Full-time
สามารถโฟกัสแมนนวลแบบ Full-time ได้ จึงเปลี่ยนโฟกัสอัตโนมัติ (AF) เป็นโฟกัสแบบแมนนวล (MF) ได้ลื่นไหลยิ่งกว่าที่เคย สิ่งที่คุณต้องทำมีเพียงหมุนวงแหวนโฟกัส
การสลับใช้โหมด MF ทั้งสองวิธีช่วยในการปรับใช้โฟกัสพีคและ Focus Guide (ตราบใดที่คุณเปิดใช้งานบนกล้อง) ถือเป็นตัวช่วยการมองเห็นที่ทำให้สามารถโฟกัสแมนนวลแบบ Pinpoint ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ประสิทธิภาพเหมือนเลนส์มุมกว้าง
เก็บภาพวิวทิวทัศน์พร้อมรายละเอียดที่น่าประทับใจ
คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของเลนส์รุ่นนี้อาจเป็นความสามารถในการถ่ายภาพมาโครมุมกว้าง แต่นอกเหนือจากมาโครแล้ว เลนส์ตัวนี้ยังเป็นเลนส์มุมกว้างที่มีความสามารถสูงอีกด้วย คุณสามารถใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟที่เกินจริงแบบไดนามิกเพื่อทำให้ระยะห่างดูไกลขึ้นและฉากดูลึกขึ้นด้วยการเล่นกับมุมและตำแหน่งกล้องของคุณ หรือใช้ระยะชัดที่กว้างขึ้นของทางยาวโฟกัสที่สั้นลงเพื่อทำการโฟกัสชัดลึก
คุณภาพของภาพ
เช่นเดียวกับการถ่ายภาพโคลสอัพ ภาพที่ได้จะมีความคมชัดตามที่ควรจะเป็นตลอดช่วงรูรับแสง พร้อมความคมชัดที่คุณคาดหวังได้จากเลนส์เดี่ยว ขอบมืดและสีคลาดเคลื่อนบางส่วนจะยังมีให้เห็นเมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุด แต่จะหายไปเมื่อคุณลดจำนวนสต็อปลงเล็กน้อย
EOS R5/ RF24mm f/1.8 Macro IS STM/ Aperture-priority AE (f/8, 1/6 วินาที, EV -1.0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เพื่่อใช้ทางยาวโฟกัสกว้าง 24 มม. ของเลนส์นี้ให้เป็นประโยชน์ ผมถ่ายภาพใกล้กับทางเดินไม้ ซึ่งแต่งแต้มโทนสีแดงอมชมพูยามอรุณรุ่ง ซึ่งทำให้มุมมองเปอร์สเป็คทีฟดูเกินจริง และยังให้เพิ่มมิติความให้กับฉาก โดยที่องค์ประกอบในแบ็คกราวด์ยิ่งดูไกลออกไป
EOS R5/ RF24mm f/1.8 Macro IS STM/ Aperture-priority AE (f/9, 4 วินาที)/ ISO 50/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้เปิดรับแสงนาน 4 วินาทีและถ่ายโดยใช้ขาตั้งกล้อง มุมรับภาพกว้าง 24 มม. เก็บภาพความกว้างใหญ่ไพศาลของฉากนี้ คมชัดไปถึงเงาสะท้อนของต้นไม้เขียวขจีบนผิวน้ำและบรรยากาศสดชื่นเย็นสบายที่เกิดจากกระแสน้ำตก
เหมาะกับการถ่ายภาพดวงดาวด้วย
การถ่ายภาพมาโครและภาพทิวทัศน์เป็นภาพแนวหลักๆ ที่มักใช้เลนส์นี้ แต่อย่าลืมการถ่ายภาพทิวทัศน์ดวงดาว RF24mm f/1.8 Macro IS STM มีรูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ จึงเหมาะสำหรับการถ่ายภาพตอนกลางคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทิวทัศน์มีท้องฟ้ายามค่ำคืนที่กว้างใหญ่และพร่างพรายไปด้วยดวงดาว คุณอาจเห็นแสงแฟลร์แบบ Sagittal coma บางส่วนเมื่อถ่ายด้วย f/1.8 แต่แสงนี้จะหายไปเมื่อลดจำนวนสต็อปในเลนส์ลงเล็กน้อย
EOS R5/ RF24mm f/1.8 Macro IS STM/ Aperture-priority AE (f/1.8, 15 วินาที)/ ISO 1600/ WB: อัตโนมัติ
แสงไฟในเมืองทำให้ท้องฟ้าดูสว่างในภาพนี้ แต่เลนส์นี้ถ่ายทอดทางช้างเผือกได้อย่างชัดเจนและคมชัด รูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ที่ f/1.8 ช่วยให้คุณรักษาความไวแสง ISO ให้ต่ำเพื่อลดจุดรบกวน ทำให้ดวงดาวบนท้องฟ้าดูชัดเจนขึ้นและสว่างไสวขึ้น และท้องฟ้าดูสะอาดตาขึ้น
สรุป: เลนส์พร้อมความคล่องตัวดีเยี่ยมสำหรับการสำรวจความงามของธรรมชาติ
RF24mm f/1.8 Macro IS STM เป็นเลนส์ที่ครบเครื่องซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ในฉากหลากหลายรูปแบบ ผมชื่นชอบขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบา ซึ่งช่วยให้พกพาเลนส์นี้และถ่ายมุมต่างๆ ได้สะดวก นับว่าเป็นเลนส์ที่ไว้ใจได้ที่คุณจะต้องอยากพกติดตัวไว้ตลอดเวลา
EOS R5 + RF24mm f/1.8 Macro IS STM
เลนส์ฮูด EW-65B (มีจำหน่ายแยกต่างหาก)
ข้อมูลจำเพาะที่สำคัญ
โครงสร้างของเลนส์: 11 ชิ้นเลนส์ใน 9 กลุ่ม
จำนวนม่านรูรับแสง: 9 (กลีบ)
รูรับแสงต่ำสุด: f/22
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.14 ม.
กำลังขยายสูงสุด: 0.5 เท่า
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: 52 มม.
ขนาด: φ74.4 x 63.1 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 270 กรัม
A: เลนส์ UD
B: เลนส์แก้ความคลาดทรงกลม PMo
หากกำลังมองหาเลนส์มุมกว้างเพื่อเสริมอุปกรณ์ถ่ายภาพของคุณ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวเลือกเลนส์ RF อื่นๆ ได้ใน
บทวิจารณ์เลนส์: อิสระในการเดินถ่ายภาพด้วย RF16mm f/2.8 STM
บทวิจารณ์เลนส์: เดินถ่ายรูปเล่นกับ RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM
บทวิจารณ์เลนส์: เลนส์ RF14-35mm f/4L IS USM กับการถ่ายภาพทิวทัศน์
บทวิจารณ์เลนส์: เลนส์ RF15-35mm f/2.8L IS USM ในการถ่ายภาพทิวทัศน์
หากคุณกำลังมองหาเลนส์มาโครราคาย่อมเยาที่มีความยาวกว่านี้ ลองอ่าน:
RF85mm f/2 Macro IS STM: มองดูธรรมชาติให้ใกล้ชิดขึ้น
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Chikako Yagi มีอายุเพียง 20 ปีตอนที่เธอเริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพด้วยตัวเองโดยใช้กล้องฟิล์ม SLR เธอออกจากงานประจำมาเป็นช่างภาพทิวทัศน์เต็มตัวในปี 2016 เธอเคยฝึกงานกับช่างภาพชื่อดังหลายราย เช่น Kiyoshi Tatsuno และ Tomotaro Ema และยังเป็นสมาชิกของชมรม Shizensou Club ซึ่งก่อตั้งโดย Kiyoshi Tatsuno และเป็นหนึ่งในชมรมช่างถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ในปี 2013 เธอได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 10 อันดับช่างภาพฝีมือดีของชมรม Tokyo Camera Club
www.chikakoyagi.com
Instagram: @chikako_yagi