บทวิจารณ์เลนส์: RF50mm f/1.8 STM ในการถ่ายภาพแนวสตรีท
เลนส์ 50 มม. ความไวสูงประสิทธิภาพดีและพกพาสะดวกจะให้ทั้งความคล่องตัวและความสามารถรอบด้านที่คุณต้องการขณะลองสำรวจมุมต่างๆ บนท้องถนน ซึ่งในขณะนี้ มีรุ่นปกติสำหรับ RF เมาท์ให้คุณเลือกใช้แล้ว นั่นก็คือเลนส์ RF50mm f/1.8 STM Kazuyuki Okajima ช่างภาพแนวสตรีทได้นำเลนส์ไปทดลองใช้กับกล้อง EOS R6 และแบ่งปันความประทับใจให้เราฟัง (เรื่องโดย: Kazuyuki Okajima, Digital Camera Magazine)
เลนส์เดี่ยวมาตรฐานความเร็วสูงสารพัดประโยชน์ที่สามารถถ่ายภาพระยะใกล้ได้
หากคุณถ่ายภาพด้วยเลนส์ของ Canon มาได้ระยะหนึ่งแล้ว คุณอาจจะคุ้นเคยกับเลนส์ EF50mm f/1.8 ของ Canon เป็นอย่างดี และอาจจะเป็นเลนส์รุ่นแรกที่คุณเป็นเจ้าของด้วยซ้ำหากไม่นับเลนส์คิท! ด้วยขนาดที่เล็ก ราคาไม่แพง และคุณภาพของภาพที่สูง เลนส์นี้จึงเคยและยังคงเป็นเลนส์ยอดนิยมรุ่นหนึ่งของ Canon ซึ่ง EF50mm f/1.8 STM นั้นเป็นเลนส์รุ่นที่สาม ระบบมิเรอร์เลสของ EOS R ในปัจจุบันมีเวอร์ชันเมาท์ RF ปกติแล้ว นั่นคือเลนส์ RF50mm f/1.8 STM ซึ่งเป็นตัวเลือกสำหรับเลนส์เดี่ยวมาตรฐานขนาดกะทัดรัดที่มีราคาเป็นมิตร ต่างจาก RF50mm f/1.2L USM เลนส์ระดับมืออาชีพที่มีขนาดใหญ่กว่า
ความประทับใจแรก: น้ำหนักเบาและมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม
ในการทดลองใช้ครั้งนี้ ผมใช้เลนส์กับกล้อง EOS R6 สิ่งแรกที่ทำให้ผมประทับใจคือน้ำหนักที่เบาของเลนส์ ตามมาด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงแหวนเมาท์สีเงินที่ส่วนฐานซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเลนส์ RF
ตัวเลนส์เข้ากันได้ดีกับกล้องในซีรีย์ EOS R พกพาได้สะดวกสำหรับการเดินเล่นและมีขนาดเล็กพอที่จะใส่กระเป๋าใบเล็กๆ ได้ และเมื่อใช้เลนส์นี้ ผมรู้สึกว่าได้สัมผัสกับความคล่องตัวของกล้องมิเรอร์เลสอย่างแท้จริง ตลอดระยะเวลาที่ผมใช้เลนส์ ผมมักจะพบว่าตนเองถ่ายภาพได้ทั้งวันโดยใช้เพียงแค่เลนส์ RF50mm f/1.8 STM เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สะดวกสบายมาก!
คุณสมบัติเด่นข้อที่ 1: โบเก้นุ่มนวลที่ f/1.8
แยกแบ็คกราวด์ออกได้ง่ายเพื่อให้ตัวแบบของคุณโดดเด่น
ผมชอบเลนส์เดี่ยวมาตรฐานมากกว่าเลนส์ซูมมาตรฐานเนื่องจากผมมักจะอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องถ่ายภาพที่ f/1.4 หรือ f/2 รูรับแสงกว้างสุดที่กว้างกว่าทำให้ผมสามารถควบคุมระยะชัดได้ดีขึ้น และยังทำให้ภาพเกิดระยะชัดลึกและความมีมิติได้ง่ายกว่าด้วย
ที่ f/1.8 รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ RF50mm f/1.8 STM จะกว้างกว่า f/2.8 ของเลนส์ซูมมาตรฐานความไวสูงอยู่หนึ่งสต็อป ซึ่งไม่ใช่แค่โบเก้เท่านั้นที่เพิ่มขึ้นหนึ่งสต็อป แต่ความเร็วชัตเตอร์ก็เพิ่มขึ้นหนึ่งสต็อปด้วยเช่นกัน จึงแยกตัวแบบออกจากแบ็คกราวด์และโฟร์กราวด์ได้ง่ายขึ้น และยังทำให้องค์ประกอบที่คุณต้องการให้เด่นออกมามีความคมชัดมากขึ้นด้วย
EOS R6/ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/800 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ตัวแบบนี้ค่อนข้างอยู่ห่างจากผม แต่ผมก็ยังได้โบเก้ชัดเจนในแบ็คกราวด์เมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.8 เลนส์สามารถแยกตัวแบบออกจากแบ็คกราวด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำสายตาของผู้ชมไปยังดอกไม้
พื้นที่ในกรอบสีแดงที่ถูกครอปคือส่วนที่ผมจับโฟกัสเอาไว้ พื้นที่โดยรอบดอกไม้มีความเบลอที่นุ่มนวลและสม่ำเสมอ เลนส์ไม่เพียงแต่สามารถแสดงความมีมิติของฉากได้อย่างสวยงามเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นผิวสัมผัสอันนุ่มนวลของกลีบดอกไม้ด้วย
คุณสมบัติเด่นข้อที่ 2: ความคล่องตัว
ให้อิสระในการถ่ายภาพจากหลากหลายมุม
ด้วยขนาดเล็กกะทัดรัดและน้ำหนักที่เบา เลนส์ RF50mm f/1.8 STM จึงช่วยให้คุณเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว เหมาะสำหรับการขยับไปมาเมื่อต้องหามุมและองค์ประกอบภาพใหม่ๆ
นอกจากยาวโฟกัสมาตรฐาน 50 มม. จะสามารถถ่ายภาพที่มีมุมมองใกล้เคียงกับสายตามนุษย์ได้แล้ว คุณยังสามารถถ่ายภาพให้ดูคล้ายกับภาพที่ได้จากเลนส์ต่อไปนี้ด้วย…
- เลนส์มุมกว้าง: เมื่อทำให้เกิดระยะห่างระหว่างตัวคุณและตัวแบบ และถ่ายภาพจากมุมที่ช่วยเพิ่มเอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริง
- เลนส์เทเลโฟโต้: เมื่อคุณขยับเข้าใกล้ตัวแบบ เอามุมมองแบบเปอร์สเปคทีฟออกไป และจำกัดปริมาณข้อมูลในภายในเฟรมเพื่อทำให้องค์ประกอบภาพมีความเรียบง่าย
ภาพแบบเทเลโฟโต้
EOS R6/ Program AE (f/8, 1/800 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
หากต้องการภาพที่ดูเหมือนภาพเทเลโฟโต้ ให้เข้าใกล้บางส่วนของตัวแบบแทนที่จะถ่ายภาพตัวแบบทั้งหมด เอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริงใดๆ จะทำให้ภาพดูเหมือนถูกถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการเอียงกล้องขึ้นด้านบน และให้อยู่ในแนวตรงมากที่สุด
EOS R6/ Program AE (f/10, 1/800 วินาที, EV -1.0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เมื่อทำให้แบ็คกราวด์เบลอและเข้าใกล้ตัวแบบมากพอที่จะทำให้องค์ประกอบที่ไม่ต้องการอยู่นอกเฟรม ผมจึงสามารถทำให้องค์ประกอบภาพมีความเรียบง่ายขึ้นและสร้างภาพครอปในระยะใกล้ให้เหมือนกับภาพที่ผมจะได้จากทางยาวโฟกัสที่ยาวกว่า หากต้องการให้มุมรับภาพแคบลงซึ่งสามารถดึงความสนใจไปยังตัวแบบที่อยู่ไกลได้มากขึ้น ให้ถ่ายภาพในแนวตั้ง
ภาพแบบมุมกว้าง
EOS R6/ Program AE (f/5.6, 1/320 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
หากคุณให้ความสนใจกับการจัดเฟรมภาพไม่เพียงพอ ฉากที่อยู่ไกลอาจดูรกตา แม้จะใช้เลนส์มาตรฐานก็ตาม! สำหรับภาพนี้ ผมใช้เส้นแนวทแยงในฉากเพื่อดึงองค์ประกอบต่างๆ เข้าหากันและสร้างมุมมองแบบเปอร์สเปคทีฟ ผลที่ได้คือภาพที่ดูเหมือนถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (3): ดึงความสามารถสูงสุดของเลนส์มาใช้
ออพติคที่มีความคมชัด
นอกจากจะมีออพติคที่เป็นที่ยอมรับเช่นเดียวกับเลนส์ EF50mm f/1.8 STM แล้ว RF50mm f/1.8 STM ยังมีเส้นผ่านศูนย์กลางเมาท์ขนาดใหญ่และแบ็คโฟกัสที่สั้นของเลนส์ RF ด้วย รวมทั้งเพิ่มชิ้นเลนส์แก้ความคลาด PMo ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพออพติคให้ดียิ่งขึ้น ภาพจึงให้ความคมชัดที่น่าพอใจจนถึงขอบภาพและสามารถแก้ไขความคลาดของเลนส์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้โบเก้ที่สวยงามไร้ที่ติที่รูรับแสงกว้างสุด f/1.8 ผมไม่เห็นแสงแฟลร์และแสงหลอกที่ชัดเจนเลยแม้มีแสงจ้าจากด้านหลัง
คุณสมบัติเด่นข้อที่ 3: ภาพที่คมชัด
รายละเอียดที่คมชัดกว่าแม้ใช้รูรับแสงที่แคบกว่ารูรับแสงกว้างสุดเพียงเล็กน้อย
เลนส์รุ่นนี้ให้โบเก้ที่สวยงามเมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุด แต่สำหรับในสถานการณ์ที่คุณต้องการให้ฉากและตัวแบบดูคมชัดมากขึ้น คุณก็สามารถปรับรูรับแสงให้แคบลงได้ จะปรับให้แคบลงเท่าใดขึ้นอยู่กับระยะในการถ่ายภาพและระยะห่างจากแบ็คกราวด์ แต่เลนส์นี้มีความคมชัดพออยู่แล้วแม้คุณจะไม่ปรับรูรับแสงให้แคบลงเกินไป
หากคุณเปลี่ยนค่ารูรับแสงบ่อย สามารถกำหนดให้วงแหวนควบคุมเป็นทางลัดได้ และยังลดการเบลอที่เกิดจากการกระจายแสงได้ด้วย Digital Lens Optimizer ดังนั้น คุณจึงสามารถใช้โฟกัสชัดลึกได้ด้วยรูรับแสงแคบสุด f/22 ในสถานการณ์ที่จำเป็น
f/4.5
EOS R6/ Aperture-priority AE (f/4.5, 1/160 วินาที, EV -1.0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ใบไม้บนต้นไม้ต้นนี้เพิ่งจะเริ่มเปลี่ยนสี ซึ่งเป็นสัญญาณแห่งการเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ผมปรับรูรับแสงให้แคบลงเล็กน้อยเพื่อให้ส่วนที่ได้รับแสงแดดดูคมชัดขึ้น ยังคงมีโบเก้อยู่บ้างในองค์ประกอบส่วนที่อยู่ตรงข้ามและด้านหลังใบไม้ แต่ก็เป็นการช่วยสร้างความลึกในภาพ
f/9
หากคุณไม่ได้อยู่ห่างจากตัวแบบจนเกินไปนัก คุณสามารถใช้โฟกัสชัดลึกได้โดยไม่ต้องปรับรูรับแสงให้แคบลงมากเกินไป และหากมีแสงมาก โหมด Program AE จะเลือกรูรับแสงที่แคบลงเพื่อให้ฉากดูมีความคมชัดโดยอัตโนมัติ
คุณสมบัติเด่นข้อที่ 4: ระยะโฟกัสใกล้สุด 30 ซม.
ถ่ายภาพตัวแบบขนาดเล็กในระยะใกล้ให้เต็มเฟรมภาพยิ่งขึ้น
แม้ภาพระยะใกล้ของเลนส์นี้จะดูคล้ายกับภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์กึ่งมาโคร เช่น RF35mm f/1.8 Macro IS STM หรือ RF85mm f/2 Macro IS STM แต่ RF50mm f/1.8 STM นั้นเป็นเลนส์มาโครหนึ่งส่วนสี่ (กำลังขยายสูงสุด 0.25 เท่า) ระยะโฟกัสใกล้สุด 30 ซม. ช่วยให้คุณถ่ายภาพตัวแบบได้ใกล้ขึ้นเมื่อเทียบกับ EF50mm f/1.8 STM คุณจึงสามารถสนุกไปกับการถ่ายภาพตัวแบบขนาดเล็กในระยะใกล้ได้
Aperture-priority AE (f/3.2, 1/100 วินาที, EV +3.0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เลนส์ที่ช่วยให้คุณถ่ายภาพระยะใกล้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการนั้นเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยม คุณจะได้เส้นที่คมชัดและความละเอียดสูงทั่วทั้งภาพ เมื่อสังเกตดูจะพบว่าแม้แต่เส้นบนใบไม้ขนาดเล็กก็ยังมีความละเอียดมาก มีความคมชัดสูงและความเปรียบต่างที่เพียงพอ
ระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 30 ซม. ช่วยให้คุณเข้าใกล้ตัวแบบได้ค่อนข้างมาก อันที่จริงนั้นมากพอที่จะทำให้เกิดเงาบนตัวแบบด้วย! จึงควรระวังข้อนี้ไว้ขณะคุณถ่ายภาพ
AF ที่ว่องไวและราบรื่น ระบบป้องกันภาพสั่นไหว 7 สต็อปเมื่อใช้กับ EOS R5/R6
AF ที่ขับเคลื่อนด้วย STM (Stepping Motor) นั้นทำงานได้เงียบเชียบและจับโฟกัสได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น และวงแหวนควบคุมก็มีประโยชน์ เนื่องจากสามารถใช้เป็นวงแหวนโฟกัสที่ช่วยให้ใช้โฟกัสแบบแมนนวลและระบบแมนนวลโฟกัสแบบ Full-time ได้ด้วยการสับสวิตช์เพียงครั้งเดียว
แม้เลนส์จะไม่มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัว แต่หากคุณใช้กับกล้อง EOS R5 หรือ EOS R6 ระบบ IS ในตัวกล้องจะสามารถป้องกันภาพสั่นไหวได้เทียบเท่าความเร็วชัตเตอร์สูงสุดเจ็ดสต็อป จึงทำให้คุณสามารถถ่ายภาพโดยถือกล้องด้วยมือได้แม้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ราว 2 วินาที
สรุป: เลนส์สำหรับเดินถ่ายรูปสารพัดประโยชน์ที่มีความสามารถรอบด้าน
อย่าเพิ่งคิดว่าคุณคงทำอะไรไม่ได้มากนักเมื่อใช้เลนส์เดี่ยวมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเลนส์ที่ให้ความคล่องตัวสูงเช่นนี้ ด้วยประโยชน์ใช้งานในหลากหลายสาขาและประเภทการถ่ายภาพ คุณอาจพบว่าตนเองถ่ายภาพมากขึ้นด้วยกล้องในซีรีย์ EOS R หลังจากได้เพิ่มเลนส์นี้เข้าไปในชุดอุปกรณ์ของคุณ!
*เนื่องจากรีวิวนี้ใช้เลนส์รุ่นก่อนการผลิต รูปลักษณ์ภายนอกและคุณภาพของภาพที่ได้จากผลิตภัณฑ์อาจแตกต่างไปจากนี้
RF50mm f/1.8 STM
ข้อมูลจำเพาะ
โครงสร้างเลนส์: 6 ชิ้นเลนส์ใน 5 กลุ่ม
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.3 ม.
กำลังขยายสูงสุด: 0.25 เท่า
จำนวนม่านรูรับแสง: 7 (กลีบ)
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: 43 มม.
ขนาด: φ69.2 x 40.5 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 160 ก.
โครงสร้างเลนส์
A: เลนส์แก้ความคลาด PMO
ฮูดเลนส์ ES-65B (ขายแยกต่างหาก)
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีของเลนส์ RF และเลนส์ RF รุ่นอื่นๆ ได้ที่:
In Focus: RF Lens
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Kazuyuki Okajima เกิดเมื่อปี 1967 ที่เมืองฟุกุโอกะ และจบการศึกษาจาก Tokyo School of Photography (ปัจจุบันชื่อ: Tokyo Visual Arts) หลังจากทำงานเป็นผู้ช่วยในสตูดิโอและผู้ช่วยช่างภาพ เขาก็ผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ นอกจากจะทำงานเป็นช่างภาพโฆษณาและนิตยสารแล้ว เขายังเดินทางไปทั่วโลกเพื่อถ่ายภาพมากมายที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งราวกับบทกวี อีกทั้งยังตีพิมพ์สิ่งพิมพ์มากมาย รวมถึงคอลเลคชั่นภาพถ่ายที่มีชื่อว่า Dingle และจัดนิทรรศการแสดงผลงานมาแล้วหลายครั้ง รวมถึง “The Light and Wind of Dingle,” “Shio-sai” (Tidal Tints) และ “Let’s Go to School”