บทวิจารณ์เลนส์: เลนส์ RF14-35mm f/4L IS USM กับการถ่ายภาพทิวทัศน์
เลนส์ซูม f/4L ของ Canon สร้างมาเพื่อมอบความสะดวกสบายในการพกพาควบคู่กับประสิทธิภาพระดับมืออาชีพ โดยเฉพาะเลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์ RF14-35mm f/4L IS USM ที่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และความสามารถรอบด้าน เป็นเลนส์ที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ซึ่งรวมไปถึงเส้นทางขรุขระหรือการเดินป่าชมธรรมชาติ Takashi Karaki ได้ทดลองใช้เลนส์รุ่นนี้และจะมาบอกเล่าความประทับใจให้เราทราบกัน (เรื่องโดย: Takashi Karaki, Digital Camera Magazine)
1) ขนาดและน้ำหนัก: ความสะดวกในการพกพาที่ดีเยี่ยม
2) ระยะสุดฝั่งมุมกว้าง 14 มม.: มุมรับภาพแนวทแยงใหญ่ถึง 114°
3) ระยะโฟกัสใกล้สุด 20 ซม.: เพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพเชิงสร้างสรรค์
4) คุณภาพของภาพ: สีสันสวยงามแม้ในฉากที่มีแสงย้อนจากด้านหลัง
5) ระบบป้องกันภาพสั่นไหว: ถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งได้อย่างมั่นคงแม้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ 2 วินาที
ขนาดและน้ำหนัก: ความสะดวกในการพกพาที่ดีเยี่ยม
ครั้งแรกที่ผมถือ RF14-35mm f/4L IS USM ไว้ในมือ ผมรู้สึกทึ่งกับความเบาของเลนส์รุ่นนี้ การนำเมาท์ RF มาใช้ทำให้ Canon มีความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในการออกแบบเลนส์ขนาดกะทัดรัดน้ำหนักเบา และเลนส์รุ่นนี้ได้ประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด สามารถเก็บใส่กระเป๋ากล้องใบเล็กได้อย่างง่ายดาย
ความกะทัดรัดที่รู้สึกได้แม้ในระหว่างการถ่ายภาพ
*ตามขนาดที่วัดได้
เลนส์ซูม f/4L ของ Canon สร้างขึ้นเพื่อความสะดวกสบายในการพกพา เสริมด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่และระยะแบ็คโฟกัสที่สั้นของเมาท์ RF เลนส์ RF14-35mm f/4L IS USM สั้นลงราว 13 มม. และเบาขึ้นถึง 75 กรัมเมื่อเทียบกับ EF16-35mm f/4L IS USM ดังที่เห็นได้ในภาพด้านบนนี้ เมื่อเลนส์ยืดออกสำหรับการถ่ายภาพ ความยาวจะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
ระยะโฟกัส: ความกว้างขึ้น 2 มม. หมายความว่ามีมุมรับภาพแนวทแยงใหญ่ถึง 114°
สิ่งแรกที่ช่างภาพส่วนใหญ่จะสังเกตเห็นคือระยะสุดฝั่งมุมกว้าง 14 มม. ของ RF14-35mm f/4L IS USM ที่กว้างกว่าเลนส์เทียบเท่าในเวอร์ชันเมาท์ EF อย่าง EF16-35mm f/4L IS USM ถึง 2 มม.
สำหรับเลนส์มาตรฐานหรือเลนส์เทเลโฟโต้ ระยะที่เพิ่มขึ้น 2 มม. ไม่ได้สร้างความแตกต่างมากนัก แต่สำหรับเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก! เพราะนอกจากจะเป็นความสำเร็จด้านเทคนิคแล้ว คุณสมบัตินี้เพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพ สำหรับช่างภาพอย่างเรา โดยที่เราสามารถใส่ฉากเข้าไปในเฟรมได้มากขึ้น และยังมีประโยชน์มากสำหรับสถานที่ที่คุณต้องการถ่ายให้มีโฟร์กราวด์มากขึ้น
การถ่ายภาพที่ระยะ 14 มม. ทำให้ได้มุมรับภาพแนวทแยง 114° ซึ่งกว้างขึ้นราว 4° เมื่อเทียบกับระยะสุดฝั่ง 15 มม. ของRF15-35mm f/2.8L IS USM และกว้างขึ้น 7° เมื่อเทียบกับระยะสุดฝั่งมุมกว้าง 16 มม. ของเลนส์ซูมมุมกว้าง EF16-35mm
ภาพถ่ายสองภาพนี้ถูกจัดวางเพื่อให้แน่ใจว่ามีองค์ประกอบภาพเหมือนกัน ภาพถ่้ายที่ระยะ 14 มม. ดูเหมือนมีมิติมากกว่าใช่หรือไม่ นั่นเป็นเพราะว่าสามารถนำมุมที่กว้างขึ้นมาใช้เพิ่มเปอร์สเป็คทีฟ ซึ่งจะสร้างมิติความลึกได้มากขึ้น
EOS R5/ RF14-35mm f/4L IS USM/ FL: 14 มม./ Manual exposure (f/8, 0.8 วินาที)/ ISO 200/ WB: 4,500K
เมื่อกระแสน้ำตกไหลเบา วิธีเดียวที่จะถ่ายภาพให้น่าประทับใจและดูทรงพลังคือ การเข้าไปใกล้มากขึ้น หากใช้เลนส์ที่แคบกว่านี้ วิธีนี้มักจะทำให้ใบไม้ด้านข้างและแบ็คกราวด์หลุดออกไปจากองค์ประกอบภาพ แต่ระยะสุดฝั่งที่ 14 มม. ช่วยให้ผมสามารถรวมตัวแบบเหล่านี้และพรรณไม้สีเขียวมากมายไว้ในภาพได้
ระยะโฟกัสใกล้สุด 20 ซม.: คุณสมบัติอเนกประสงค์ร่วมด้วยเปอร์สเป็คทีฟมุมกว้าง
โดยส่วนตัวแล้ว คุณสมบัติที่ผมเห็นว่าน่าสนใจของเลนส์นี้คือระยะโฟกัสใกล้สุด ซึ่งในขณะนี้อยู่ที่ 20 ซม. เท่านั้น ทำให้ถ่ายทอดอารมณ์ภาพได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้นโดยใช้เพียงเลนส์เดียว ไม่เพียงแต่สามารถใช้ถ่ายภาพโคลสอัพเหมือนใช้เลนส์มาโครเท่านั้น แต่ยังสามารถถ่ายตัวแบบในโฟร์กราวด์ได้ใกล้ขึ้นด้วยระยะสุดฝั่งมุมกว้าง 14 มม. ที่ช่วยสร้างเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟที่คมชัดยิ่งขึ้น นับว่าเป็นประสิทธิภาพที่คุ้มค่ามาก!
เหมือนกับเลนส์มาโคร
EOS R5/ RF14-35mm f/4L IS USM/ FL: 35 มม./ Manual exposure (f/4, 1/1000 วินาที)/ ISO 500/ WB: 4,500K
การถ่ายภาพที่ระยะโฟกัสใกล้สุดด้วยระยะสุดฝั่งยาว 35 มม. ทำให้ผมได้สนุกกับการถ่ายภาพโคลสอัพของหยดน้ำบนใบไม้เหล่านี้ เรียกได้ว่าแทบจะเหมือนกับการถ่ายภาพด้วยเลนส์มาโคร ผมรู้สึกทึ่งกับความคมชัด ความชัดเจน และความมีมิติของหยดน้ำ
เพิ่มเอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟ
EOS R5/ RF14-35mm f/4L IS USM/ FL: 14mm/ Manual exposure (f/4, 1/13 วินาที)/ ISO 1600/ WB: อัตโนมัติ
ต้นไม้เก่าแก่ดูมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครที่ผมบังเอิญพบในป่า ผมไม่ได้ต้องการแค่ถ่ายภาพต้นไม้แต่ยังต้องการแสดงให้เห็นบรรยากาศโดยรอบด้วย ผมจึงตั้งค่าเลนส์ไว้ที่ระยะสุดฝั่งมุมกว้าง 14 มม. และขยับเข้าไปใกล้ขึ้นเพื่อให้อยู่ในระยะโฟกัสใกล้สุด ต้นไม้ดูน่าประทับใจมากยิ่งขึ้นเมื่อถ่ายภาพด้วยวิธีนี้ รวมทั้งเหล่าพรรณไม้และภูมิทัศน์โดยรอบช่วยเสริมให้ต้นไม้นี้ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
คุณภาพของภาพ: สีสันสวยงามแม้ในฉากที่มีแสงย้อนจากด้านหลัง
แม้ว่า RF14-35mm f/4L IS USM อาจมีขนาดเล็กกว่าและเบากว่าเลนส์ในเวอร์ชัน EF แต่การออกแบบออพติคอลของเลนส์รุ่นนี้พยายามปรับปรุงคุณภาพของภาพอย่างเต็มที่ โครงสร้าง 16 ชิ้นเลนส์ใน 12 กลุ่มประกอบด้วยเลนส์ UD (ฉบับภาษาอังกฤษ) 2 ชิ้น เลนส์ UD แก้ความคลาดทรงกลม (ฉบับภาษาอังกฤษ) 1 ชิ้น และเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมแบบขึ้นรูปด้วยแก้ว 2 ชิ้น ซึ่งแก้ไขความคลาดเคลื่อนต่างๆ ที่ทำให้คุณภาพของภาพลดลง เพื่อให้แน่ใจว่าภาพมีความชัดเจนไปจนถึงมุมภาพ
เช่นเดียวกับเลนส์ในเวอร์ชันเมาท์ EF มีการใช้การเคลือบพิเศษสองแบบอย่างการเคลือบแบบ ASC (Air Sphere Coating ) และการเคลือบแบบ SWC (Subwavelength Structure Coating) (ฉบับภาษาอังกฤษ) เพื่อลดแสงแฟลร์และแสงหลอก ซึ่งจริงๆ แล้วผมแทบจะไม่เคยพบปัญหาเหล่านี้เวลาถ่ายภาพด้วยเลนส์นี้ อันที่จริง เลนส์ถ่ายทอดสีสันได้อย่างสวยงามแม้ในขณะที่ผมถ่ายแบบย้อนแสง ซึ่งเป็นคุณภาพที่ช่างภาพทิวทัศน์ไม่ควรมองข้าม
EOS R5/ RF14-35mm f/4L IS USM/ FL: 14mm/ Manual exposure (f/4, 1/100 วินาที)/ ISO 1600/ WB: อัตโนมัติ
ผมใช้จอ LCD แบบปรับหมุนได้ของกล้อง EOS R5 เพื่อถ่ายภาพนี้โดยให้กล้องอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำเรี่ยพื้นและเล็งกล้องขึ้นฟ้า ที่ระยะ 14 มม. ลำต้นของต้นไม้จะสร้างเส้นนำไปยังกึ่งกลางของภาพ
ค้นพบวิธีอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้ประโยชน์จากจอแบบปรับหมุนได้ของกล้องให้เต็มที่ได้ที่นี่
ระบบป้องกันภาพสั่นไหว: ถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งได้อย่างมั่นคงแม้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ใกล้ 2 วินาที
RF14-35mm f/4L IS USM มาพร้อมกับ IS แบบออพติคอล (ระบบป้องกันภาพสั่นไหวในเลนส์) ที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีของ Canon เมื่อใช้งานร่วมกับ IS ในตัวกล้องของ EOS R5 (และ EOS R6) คุณจะสามารถป้องกันภาพสั่นไหวได้เทียบเท่าความเร็วชัตเตอร์สูงสุด 7 สต็อปเมื่อถ่ายภาพนิ่ง
หากพิจารณาดู จะพบว่าคุณสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้ต่ำถึงราว 2 วินาทีขณะถ่ายภาพมุมกว้างอัลตร้าไวด์ ทำให้ไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้องเวลาถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยอย่างในสถานที่และช่วงเวลามืดๆ เช่น พลบค่ำ จึงเพิ่มโอกาสในการถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
ฉาก 3 ประเภทที่ใช้ประโยชน์จาก IS ในตัวกล้องได้เต็มที่
ทำไมกล้อง EOS R5 ถึงเป็นกล้องในอุดมคติสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ของผม
EOS R5/ RF14-35mm f/4L IS USM/ FL: 35 มม./ Manual exposure (f/7.1, 2 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ถ่ายที่ระยะ 35 มม. โดยเปิดรับแสง 2 วินาที ภาพนี้เป็นภาพที่แสดงคุณภาพของภาพอันยอดเยี่ยมอย่างที่คุณคาดหวังจากเลนส์ซีรีส์ L ผมเลือกถ่ายภาพในสภาพแสงที่มีความเปรียบต่างสูงซึ่งทำให้น้ำตกและใบไม้ดูลอยขึ้นมาจากพื้นหลังสีดำ เลนส์นี้ถ่ายทอดรายละเอียดและความเปรียบต่างได้อย่างสวยงาม ทำให้ได้ภาพที่ดูน่าประทับใจ
EOS R5 + RF14-35mm f/4L IS USM
ข้อมูลจำเพาะที่สำคัญ
โครงสร้างเลนส์: 16 ชิ้นเลนส์ใน 12 กลุ่ม
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.2 ม.
กำลังขยายสูงสุด: 0.38 เท่า
จำนวนม่านรูรับแสง: 9 (กลีบ)
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: 77 มม.
ขนาด: φ84.1 x 99.8 มม. (ที่ทางยาวโฟกัส 22 มม.)
น้ำหนัก: ประมาณ 540 ก.
โครงสร้างของเลนส์
A: ชุด IS
B: เลนส์แก้ความคลาดทรงกลม
C: เลนส์ UD
D: ชิ้นเลนส์ UD แก้ความคลาดทรงกลม
E: SWC
F: ASC
เลนส์ฮูด: EW-83P (มีให้ในชุด)
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่คุณสามารถทำได้ด้วยเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ใน:
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 1: เอฟเฟ็กต์ภาพที่ได้จากเลนส์มุมกว้าง
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 2: เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง
วิธีการถ่ายภาพนี้: การเพิ่มความพิเศษให้กับภาพทิวทัศน์ในป่าอันกว้างใหญ่
โอเวอร์-อันเดอร์: แนวคิดการถ่ายภาพใต้น้ำแบบแยกส่วน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ RF ได้ที่นี่:
In Focus: RF Lens
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังจากผ่านประสบการณ์การเป็นโค้ชกีฬา ต่อด้วยการทำงานในแวดวงการผลิตนิตยสารและบรรณาธิการมาเป็นเวลา 10 ปี Karaki ก็ย้ายไปยังเมืองโยนาโงะในจังหวัดท็อตโตริ ซึ่งเขาได้กลายเป็นที่รู้จักจากผลงานการถ่ายภาพทิวทัศน์ในภูมิภาคซันอินของญี่ปุ่น ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ใน จุลสาร Amazing Village ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหมู่บ้านสวยๆ ในญี่ปุ่นที่จัดทำขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือ CANON × Discover Japan ในปี 2017 และภาพทะเลหมอกที่ช่องเขาอาเคชิในจังหวัดท็อตโตริก็เป็นหนึ่งใน 12 ภาพที่ได้รับคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ให้เป็นตัวแทนของญี่ปุ่น
Instagram: @karakky0918