EOS R5 และ EOS R6 เป็นกล้องรุ่นแรกๆ จาก Canon ที่มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัว (IS ในตัวกล้อง) ซึ่งไม่เพียงทำงานร่วมกับระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบออพติคอล (ในเลนส์) (IS แบบออพติคอล) ของเลนส์รุ่นที่เข้ากันได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันภาพสั่นไหว แต่ยังช่วยลดปัญหากล้องสั่นได้เทียบเท่าความเร็วชัตเตอร์สูงสุดถึง 8 สต็อปเมื่อใช้เลนส์ที่ไม่มีระบบป้องกันภาพสั่นไหว มาเรียนรู้เพิ่มเติมกันได้ในบทความนี้ (เรื่องโดย: Kazuo Nakahara, Digital Camera Magazine)
1. ทำงานร่วมกับระบบป้องกันภาพสั่นไหวในเลนส์เพื่อป้องกันภาพสั่นไหวโดยรวมได้ดียิ่งขึ้น
ด้วยความสามารถในการป้องกันภาพสั่นไหวได้เทียบเท่าความเร็วชัตเตอร์สูงสุด 8 สต็อป ระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัวกล้อง (IS ในตัวกล้อง) ของ Canon จึงทรงพลังด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ระบบนี้ทรงพลังยิ่งขึ้นคือ การประสานการทำงานกับระบบป้องกันการสั่นไหวแบบออพติคอล (IS แบบออพติคอล) ของเลนส์รุ่นที่เข้ากันได้
เมื่อคุณใช้เลนส์ที่มี IS แบบออพติคอล ข้อมูลจากเซนเซอร์ต่างๆ ของเลนส์จะถูกส่งไปยังตัวประมวลผลภาพผ่านระบบการสื่อสารเมาท์ RF ความเร็วสูง เมื่อรวมกับข้อมูลจากเซนเซอร์ต่างๆ ในระบบป้องกันภาพสั่นไหวภายในกล้องแล้ว (ดูข้อ 2) ข้อมูลนี้จะถูกใช้ในการประสานการทำงานกับ IS แบบออพติคอลและ IS ในตัวกล้อง เพื่อเลื่อนชุด IS ของเลนส์หรือขยับเซนเซอร์ภาพเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ดูการทำงานภายในของระบบ IS ในตัวกล้องด้านล่าง
แก้ไขการสั่นของกล้องแบบมุมองศาที่ดียิ่งขึ้น
ประโยชน์หลักของ IS แบบประสานการควบคุมอยู่ที่การแก้ไขการสั่นของกล้องแบบมุมองศาอย่างมีประสิทธิภาพ
การสั่นของกล้องแบบมุมองศา หมายถึง การสั่นไหวของกล้องไปตามแกนหันและแกนยก ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกล้องเอียงขึ้นและลง หรือหมุนจากซ้ายไปขวา เมื่อใช้ทางยาวโฟกัสสั้นๆ การแก้ไขปัญหานี้ภายในกล้อง (ด้วย IS ในตัวกล้อง) จะได้ผลกว่า แต่เมื่อใช้ทางยาวโฟกัสยาวๆ ควรแก้ไขในตัวเลนส์จะดีที่สุด (ด้วย IS แบบออพติคอล) IS แบบประสานการควบคุมจะประสานการทำงานของทั้งสองระบบ โดยใช้ประโยชน์จากแต่ละระบบเพื่อป้องกันภาพสั่นไหวอย่างได้ผลมากขึ้น
ปัญหากล้องสั่นจาก 5 แกนที่สามารถแก้ไขได้ด้วย IS ในตัวกล้อง IS แบบออพติคอลในเลนส์อาจใช้ได้ผลดีกว่าสำหรับการแก้ไขอาการกล้องสั่นบางประเภทที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ทางยาวโฟกัสบางระยะ IS แบบประสานการควบคุมจะประสานการทำงานของทั้ง 2 ระบบเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
หมายเหตุ: IS แบบประสานการควบคุมจะไม่แก้ไขการสั่นไหวของกล้องในแนวดิ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อแพนกล้องในแนวนอนหรือแนวตั้ง หรือการสั่นไหวที่เกิดจากการหมุนกล้องซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเอียงกล้องในแนวนอน แต่ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขด้วย IS ในตัวกล้อง
*ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2020 ยกเว้นเลนส์ RF600mm f/11 IS STM และ RF800mm f/11 IS STM
2. ตรวจจับอาการกล้องสั่นด้วยความแม่นยำสูง
ก่อนที่จะแก้ไขปัญหากล้องสั่นไหวได้ IS ในตัวกล้องต้องสามารถตรวจจับอาการดังกล่าวให้ได้เสียก่อน ระบบ Sensor-shift ที่ยอดเยี่ยมจะไม่มีประโยชน์เลยหากไม่มีการตรวจจับการสั่นไหวของกล้องด้วยความแม่นยำสูง
สำหรับกล้อง EOS R5 และ EOS R6 ข้อมูลรายละเอียดจากส่วนประกอบหลักๆ 3 อย่างต่อไปนี้จะถูกส่งไปยังตัวประมวลผลภาพ DIGIC X เพื่อตรวจจับการสั่นของกล้อง
- เซนเซอร์ไจโร (ความเร็วเชิงมุม)
- เซ็นเซอร์ตรวจจับความเร่ง (ความเร่ง)
- เซนเซอร์ภาพ (ข้อมูลภาพถ่าย)
กล้องจะใช้ข้อมูลนี้เพื่อระบุปริมาณ ทิศทาง และความเร็วในการสั่นของกล้อง ซึ่งช่วยให้สามารถขยับเซนเซอร์ภาพเพื่อทำให้ภาพนิ่ง เมื่อติดตั้งเลนส์ที่มีระบบป้องกันภาพสั่นไหว (ออพติคอล) ในตัวเลนส์ (IS แบบออพติคอล) แล้ว ข้อมูลการสั่นไหวของกล้องจากเซนเซอร์ไจโรและเซนเซอร์ตรวจจับความเร่งในเลนส์จะถูกนำมารวมในการคำนวณการป้องกันภาพสั่นไหวเพื่อใช้ IS แบบประสานการควบคุม
การไหลของข้อมูล
*เฉพาะในเลนส์ที่มี IS แบบไฮบริดเท่านั้น
3. ป้องกันภาพสั่นไหวได้แบบ 5 แกนแม้จะใช้กับเลนส์ที่ไม่มี IS
IS ในตัวกล้องสามารถแก้ไขอาการกล้องสั่นที่เกิดขึ้นบนแกนต่างๆ 5 แกน (ดูข้อ 1) ได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าจะไม่มี IS แบบประสานการควบคุม เช่น เมื่อใช้เลนส์ที่ไม่มีระบบ IS แบบออพติคอล
ทั้งนี้ ใช้ได้กับเลนส์คุณภาพเยี่ยมหลายรุ่นที่ไม่มี IS ของ Canon เช่น เลนส์ RF สามรุ่นในภาพด้านบน
- RF85mm f/1.2L USM
- RF28-70mm f/2L USM
- RF50mm f/1.2L USM
อีกทั้งยังสามารถใช้ได้กับเลนส์เมาท์ EF ที่ไม่มี IS ที่ติดตั้งผ่านเมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS R* ภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้อง ภาพพอร์ตเทรตยามค่ำคืนโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้อง…IS ในตัวกล้องช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ในการใช้เลนส์ดังกล่าวและทำให้เลนส์นั้นๆ เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับฉากหลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น
* ผลในการป้องกันภาพสั่นไหวขึ้นอยู่กับเลนส์และสภาพการถ่าย
EOS R6/ RF50mm f.1.2L USM/ Manual exposure (f/16, 4 วินาที)/ ISO 100
IS ในตัวกล้อง (ON)
ด้วย IS ในตัวกล้อง แม้แต่การถ่ายภาพด้วยมือ 4 วินาทีบน RF50mm f/1.2L USM ก็ดูคมชัดและไม่มีปัญหากล้องสั่นไหว
ข้อควรรู้: เหตุผลที่ IS ในตัวกล้องเหมาะสำหรับกล้องมิเรอร์เลสมากกว่ากล้อง DSLR
ระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัวทำงานโดยการขยับเซนเซอร์ภาพเพื่อแก้ปัญหาการเคลื่อนไหวของกล้อง ซึ่งหมายความว่า เมื่อคุณใช้กล้อง DSLR ส่วนของฉากที่ถูกกล้องถ่ายไว้ (เซ็นเซอร์ภาพ) อาจดูแตกต่างไปจากฉากที่คุณเห็นในช่องมองภาพแบบออพติคอล (OVF) เล็กน้อย
สำหรับกล้องมิเรอร์เลส ภาพที่คุณเห็นในช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ (EVF) จะเหมือนกับภาพที่เซนเซอร์ภาพบันทึกไว้ นั่นเป็นเพราะการขยับของเซ็นเซอร์ภาพในระหว่างการป้องกันภาพสั่นไหวจะไม่ส่งผลต่อความแม่นยำในการจัดเฟรมของคุณ ด้วยเหตุนี้ IS ในตัวกล้องจึงทำงานกับกล้องมิเรอร์เลสได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับกล้อง DSLR
สรุป: ประโยชน์ของ IS ในตัวกล้อง
- ช่วยให้ใช้ระบบป้องกันภาพสั่นไหวได้ แม้แต่เมื่อใช้เลนส์วินเทจและเลนส์ที่ไม่มี IS
- สามารถแก้ไขอาการกล้องสั่นประเภทต่างๆ ที่ยากจะแก้ไขหรือแก้ไขไม่ได้หากใช้ IS แบบออพติคอลเพียงอย่างเดียว เช่น การสั่นไหวที่เกิดจากการขยับและการหมุนกล้อง
- IS ในตัวกล้องและ IS แบบออพติคอลสามารถประสานการทำงานกันเพื่อป้องกันภาพสั่นไหวอย่างได้ผลยิ่งขึ้น
คุณอาจสนใจบทความต่อไปนี้:
เราจะกำหนดสต็อปของระบบป้องกันภาพสั่นไหวได้อย่างไร
[รีวิวการใช้งาน] EOS R5 ในการถ่ายภาพความงาม
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย