ความประทับใจจากการใช้เลนส์: RF28-70mm f/2L USM ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ
ด้วยค่ารูรับแสงคงที่ที่ f/2 เลนส์ RF28-70mm f/2L USM จึงมีความเร็วมากกว่าค่ารูรับแสง f/2.8 ที่พบในเลนส์ซูมมาตรฐานระดับพรีเมียมส่วนใหญ่ถึงหนึ่งสต็อป ทำให้แสงสามารถเข้ามาในกล้องได้มากกว่าถึงสองเท่า และโครงสร้างออพติคอลอันยอดเยี่ยมประกอบขึ้นจากชิ้นเลนส์พิเศษหลายชิ้นยังช่วยเพิ่มคุณภาพด้านออพติคอลให้โดดเด่นอีกด้วย Toshiki Nakanishi จะแสดงให้เราเห็นว่าเพราะเหตุใดเขาจึงคิดว่าเลนส์นี้เป็นเลนส์ที่ช่างภาพแนวธรรมชาติต้องมีไว้ครอบครอง (เรื่องโดย: Toshiki Nakanishi, Digital Camera Magazine)
โครงสร้างเลนส์แบบพิเศษที่สามารถสร้างโบเก้สวยงามได้ที่ f/2
RF28-70mm f/2L เป็นเลนส์ขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแกร่ง น้ำหนักราว 1,430 ก. ของเลนส์นั้นมีที่มาสองข้อคือ เส้นผ่านศูนย์กลางเลนส์ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งทำให้ได้รับแสงเพียงพอสำหรับค่ารูรับแสงคงที่ที่ f/2 และโครงสร้างเลนส์ภายในซึ่งจำเป็นต้องมีชิ้นเลนส์ที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้รองรับเส้นผ่านศูนย์กลางเลนส์และยังมีชิ้นเลนส์พิเศษอีกหลายชิ้นด้วย
ข้อควรทราบ: เลนส์รุ่นนี้มีกลไกดูดซับการสั่นสะเทือนจากแรงที่ส่งมาจากด้านหนัาเลนส์
ความคมชัดและรายละเอียดแม้ใช้ค่ารูรับแสงที่ f/2
ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ เรามักจะปรับค่ารูรับแสงลงหนึ่งสต็อปเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถถ่ายทอดรายละเอียดของธรรมชาติได้โดยไม่เกิดการเบลอ แต่เลนส์ RF28-70mm f/2L USM สามารถให้ความคมชัดและความเปรียบต่างที่สูงได้แม้ใช้รูรับแสงกว้างสุด พื้นผิวของต้นไม้และใบไม้ถูกแสดงออกมาได้อย่างละเอียดสมบูรณ์ ดังที่คุณเห็นได้จากภาพด้านล่าง ผมกล้าที่จะใช้รูรับแสงกว้างสุดมากขึ้น นี่จึงเป็นการขยายขอบเขตความเป็นไปได้ในการถ่ายภาพที่สร้างสรรค์อย่างไม่ต้องสงสัย
โครงสร้างภายในของเลนส์: ออกแบบมาเพื่อคุณภาพของภาพระดับพรีเมียม
เลนส์นี้ประกอบไปด้วย:
- ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม (ฉบับภาษาอังกฤษ) สี่ชิ้น เพื่อแก้ไขความคลาดทรงกลม การบิดเบี้ยว และความคลาดทรงเบี้ยว
- ชิ้นเลนส์ UD (ฉบับภาษาอังกฤษ) สามชิ้น เพื่อช่วยลดทั้งความคลาดสีตามยาว (ตามแกน) และความคลาดสีริมขอบวัตถุ (ตามแนวทแยง) และ
- การเคลือบแบบพิเศษสองชนิด (Air Sphere Coating (ฉบับภาษาอังกฤษ) และ Subwavelength Structure Coating (ฉบับภาษาอังกฤษ)) เพื่อให้ลดการเกิดแสงแฟลร์และแสงหลอก เมื่อมีแสงย้อนจากด้านหลังได้มากขึ้น
แน่นอนว่าส่วนประกอบเหล่านี้ทำให้ภาพมีคุณภาพสูง ซึ่งคุณสามารถเห็นได้จากภาพตัวอย่างด้านล่าง การปรับปรุงเพื่อให้สามารถถ่ายภาพในสภาวะแสงย้อนจากด้านหลังได้ดียิ่งขึ้นนี้ ทำให้เลนส์นี้เป็นเลนส์ซูมมาตรฐานที่ช่างภาพทิวทัศน์ต้องมีไว้ครอบครอง
ภาพตัวอย่าง
ถ่ายที่ระยะ 29 มม.
EOS R/ RF28-70mm f/2L USM/ FL: 29 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 0.4 วินาที, EV+2.0)/ ISO 200/ WB: แสงแดด
ภาพมีความละเอียดไปจนถึงขอบภาพ การเปลี่ยนผ่านของโทนสีเป็นไปอย่างราบรื่นและค่อยเป็นค่อยไปในส่วนที่สว่าง และคุณยังสามารถใช้การเปลี่ยนผ่านของโทนสีในการทำให้สีต่างๆ ดูกลมกลืนไปกับสีขาวได้
ถ่ายที่ระยะ 34 มม.
EOS R/ RF28-70mm f/2L USM/ FL: 34 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/8 วินาที, EV-0.7)/ ISO 200/ WB: เมฆครึ้ม
ด้วยการออกแบบเพื่อให้ได้คุณภาพสูงสุดและเทคโนโลยีการเคลือบที่ล้ำหน้า เลนส์นี้จึงสามารถถ่ายภาพตัวแบบที่มีความเปรียบต่างสูงได้ไม่ว่าแสงจะมาจากทิศทางใด ในภาพนี้ รายละเอียดของข้าวสาลีทุกเม็ดถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างคมชัด
ถ่ายที่ระยะ 50 มม.
EOS R/ RF28-70mm f/2L USM/ FL: 50 มม./ Flexible-priority AE (f/2, 1/6,400 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
เลนส์ RF28-70mm f/2L USM ไม่เพียงแต่ให้ความคมชัดเท่านั้น แต่ยังสามารถถ่ายทอดสีได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย จากภาพนี้จะเห็นได้ว่า เลนส์สามารถถ่ายทอดโทนสีที่เข้มข้นได้อย่างไม่น่าเชื่อเมื่อคุณใช้ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีความเปรียบต่างของสีอ่อนและเข้มที่ชัดเจน
ถ่ายที่ระยะ 52 มม.
EOS R/ RF28-70mm f/2L USM/ FL: 52 มม./ Flexible-priority AE (f/2, 1/500 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
คุณจะเห็นประสิทธิภาพของรูรับแสงกว้างสุดที่ f/2 ในการถ่ายภาพฉากที่มีแสงน้อยได้จากภาพนี้ ซึ่งแสดงบรรยากาศออกมาได้อย่างชัดเจนราวกับว่ากักเก็บความเย็นของสภาพแวดล้อมโดยรอบไว้ในภาพด้วย
ถ่ายที่ระยะ 70 มม.
EOS R/ RF28-70mm f/2L USM/ FL: 70 มม./Flexible-priority AE (f/11, 1/10 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
เส้นที่ได้มีความละเอียดอย่างมากและภาพมีความคมชัดเทียบเท่ากับภาพที่ได้จากเลนส์เดี่ยว และยังสามารถถ่ายทอดบรรยากาศชวนอึดอัดบนพื้นดินได้เป็นอย่างดีจนคุณแทบจะได้กลิ่นของใบไม้ที่กำลังเหี่ยวแห้งในภาพ
เคล็ดลับการใช้งาน: ใช้ความสามารถของค่ารูรับแสงที่ f/2 ให้คุ้มค่าที่สุดด้วยทางยาวโฟกัสต่างๆ กัน
เลนส์ RF28-70mm f/2 USM ตัวเดียวนั้นเทียบได้กับเลนส์เดี่ยว f/2 สองสามตัว ซึ่งไม่เพียงช่วยให้คุณมีความคล่องตัวมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังง่ายและสะดวกสบายต่อการจัดองค์ประกอบภาพอีกด้วย คุณไม่จำเป็นต้องคอยเปลี่ยนเลนส์อยู่ตลอดเวลา เพราะคุณมีช่วงทางยาวโฟกัสทั้งหมดให้เลือกใช้ในการจัดเฟรมภาพ และยังมีค่ารูรับแสงที่ f/2 ให้ใช้ได้ตลอดช่วงทางยาวโฟกัสด้วย ซึ่งข้อสุดท้ายคือคุณสมบัติที่ดีที่สุดของเลนส์นี้ และแน่นอนว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการถ่ายทอดความสร้างสรรค์ออกมาได้หลากหลายรูปแบบ
จากภาพด้านล่าง คุณจะเห็นว่าสามารถใช้ค่ารูรับแสงที่ f/2 เพื่อถ่ายภาพตามวัตถุประสงค์ที่หลากหลายด้วยทางยาวโฟกัสต่างๆ กันได้อย่างไร
ที่ 28 มม.: เพิ่มความลึกให้กับภาพของคุณด้วยโบเก้
ผมเข้าไปใกล้น้ำแข็งสีเงินบนต้นไม้โดยใช้ทางยาวโฟกัส 28 มม. ที่ระยะมุมกว้าง การใช้รูรับแสงกว้างสุดและกำหนดให้โฟกัสอยู่ด้านหลังฉากช่วยสร้างความลึกให้กับภาพ
ที่ 35 มม.: เพิ่มความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้น
ภาพในช่วงเวลาที่เงียบเหงาหลังพระอาทิตย์ตก รูรับแสงที่ f/2 ทำให้ผมสามารถถ่ายภาพที่ 1/800 วินาทีได้ แม้ใช้ความไวแสง ISO 1600
ที่ 50 มม.: สร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ในโฟร์กราวด์ซึ่งถ่ายทอดสิ่งที่ตาของคุณมองเห็น
เมื่อใช้ f/2 ที่ทางยาวโฟกัสประมาณ 50 มม. จะเกิดเอฟเฟ็กต์โบเก้ในโฟร์กราวด์ จึงทำให้ได้ภาพที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งเหมาะสำหรับการถ่ายภาพสแนปช็อตทั้งภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ภาพพอร์ตเทรต และภาพท้องถนน
ที่ 70 มม.: ดึงดูดความสนใจไปที่ความมีมิติของวัตถุ
ระยะเทเลโฟโต้ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์แบบโคลสอัพที่สวยงามพอเหมาะสำหรับภาพนี้ คุณสามารถสนุกไปกับการถ่ายภาพได้มากขึ้นโดยใช้โบเก้ในส่วนโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์ เพื่อสร้างภาพถ่ายที่สื่ออารมณ์ได้หนักแน่นขึ้น
กล้อง EOS R เมื่อต่อเข้ากับเลนส์ RF28-70mm f/2L USM
ฮูดเลนส์ EW-103
ข้อมูลจำเพาะ
A: ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม
B: ชิ้นเลนส์ UD
โครงสร้างเลนส์: 19 ชิ้นเลนส์ใน 13 กลุ่ม
ระยะโฟกัสใกล้ที่สุด: 0.39 ม.
กำลังขยายสูงสุด: 0.18 เท่า
จำนวนม่านรูรับแสง: 9 (กลีบ)
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: 95 มม.
ขนาด: φ103.8 x 139.8 มม.
น้ำหนัก: 1,430 ก. โดยประมาณ
ดูผลงานของช่างภาพคนอื่นๆ ที่ใช้เลนส์รุ่นนี้ได้ที่:
EOS R: บันทึกช่วงเวลาอันน่าตื่นตาตื่นใจในการถ่ายภาพกีฬาขี่ม้า
3 เคล็ดลับเพื่อยกระดับการถ่ายทอดเรื่องราวในงานแต่งงาน (และเหตุผลที่ EOS R ช่วยคุณได้)
Roberto Valenzuela: การจะเป็นช่างภาพงานแต่งงานมือหนึ่งนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ RF ได้ที่นี่:
ขยายขีดความสามารถในการถ่ายภาพของคุณด้วยเลนส์ RF รูปแบบใหม่ทั้งหมด
6 คุณสมบัติที่สำคัญของเลนส์ RF
เลนส์ RF: เลนส์แบบไหนที่เหมาะกับฉัน?
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดปี 1971 ในโอซาก้า หลังจากศึกษาการถ่ายภาพด้วยตัวเอง Nakanishi ย้ายสถานที่ดำเนินกิจกรรมถ่ายภาพของตนไปยังเมือง Biei ที่อำเภอ Kamikawa-gun ในฮอกไกโด นอกจากถ่ายภาพทิวทัศน์ที่โฟกัสที่แสงเป็นหลักแล้ว เขายังสร้างสรรค์ผลงานที่เน้นถึงความงามของธรรมชาติในจินตนาการอีกด้วย เขามีตำแหน่งเป็นหัวหน้า PHOTO OFFICE ของ atelier nipek