คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์ #4: “แสงหลอก” และ “แสงแฟลร์” คืออะไร
เรามักได้รับคำแนะนำให้ระวังปัญหาเรื่องแสงหลอกและแสงแฟลร์ขณะถ่ายภาพย้อนแสง หรือเมื่อมีแหล่งแสงที่สว่างจ้าในเฟรมภาพ แต่แท้จริงแล้ว แสงหลอกและแสงแฟลร์คืออะไร และเราจะป้องกันได้อย่างไร หาคำตอบได้จากบทความนี้ (เรื่องโดย Shirou Hagihara, Digital Camera Magazine)
“แสงหลอก” และ “แสงแฟลร์” เกิดจากอะไร
แสงแฟลร์ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “แสงแฟลร์แบบพร่ามัว” เกิดจากการที่แสงสะท้อนไปมาในชิ้นเลนส์ หรือชิ้นส่วนอื่นๆ เช่น ท่อเลนส์และกล่องกระจก ทำให้ภาพบางส่วนหรือทั้งหมดพร่ามัวหรือขาดความคมชัด
แสงหลอก ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า “แสงแฟลร์แบบหลอก” เกิดจากการสะท้อนแหล่งกำเนิดแสงจ้าซ้ำไปซ้ำมา จนเกิดเป็นเงาแปลกปลอมขึ้นบนภาพเห็นได้ชัดเจน และเกิดในทิศทางตรงข้ามกับแหล่งกำเนิดแสงพอดี
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดแสงแฟลร์และแสงหลอก
- จำนวนชิ้นเลนส์: ยิ่งมีชิ้นเลนส์มาก สิ่งที่สามารถสะท้อนแสงได้ซึ่งอยู่ภายในเลนส์ก็มากขึ้นตามไปด้วย
- ทางยาวโฟกัส: ทางยาวโฟกัสสั้นๆ ทำให้แหล่งกำเนิดแสงดูมีขนาดเล็กกว่า ซึ่งอาจทำให้มองเห็นแสงหลอกและแสงแฟลร์ได้น้อยกว่า
- การเคลือบแบบป้องกันการสะท้อน: เลนส์บางรุ่น เช่น เลนส์ Canon ในซีรีย์ L นั้นใช้การเคลือบป้องกันการสะท้อนแบบพิเศษซึ่งช่วยลดแสงแฟลร์และแสงหลอกได้
เคล็ดลับ: สำหรับเลนส์ Canon จะมีการเคลือบหลายแบบ เช่น Air Sphere Coating (ASC) (ฉบับภาษาอังกฤษ) และ Subwavelength Structure Coating (SWC) (ฉบับภาษาอังกฤษ) แต่ถึงแม้จะมีการเคลือบด้วยวิธีการเหล่านี้ การขจัดแสงหลอกและแสงแฟลร์ออกไปอย่างสิ้นเชิงก็ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
- ฝุ่นละอองและสิ่งสกปรก: ฝุ่นละอองที่สะสมอยู่ภายในเลนส์ รวมทั้งสิ่งสกปรกและรอยเปื้อนที่อยู่ด้านหน้าชิ้นเลนส์หรือฟิลเตอร์ UV ล้วนเป็นสาเหตุของการสะท้อนแสงเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดแสงหลอกและแสงแฟลร์
ตัวอย่างแสงหลอกและแสงแฟลร์
แสงแฟลร์
ภาพที่มีแสงแฟลร์
ภาพนี้มีแสงแดดค่อนข้างจ้าส่องเข้ามาในภาพ ทำให้เกิดแสงแฟลร์และส่งผลให้ภาพดูพร่ามัว เราไม่สามารถลบแสงนี้ได้ด้วยการลดรูรับแสงให้แคบลง
ภาพที่ไม่มีแสงแฟลร์
ผมกำจัดแสงแดดส่วนเกินออกไปโดยใช้มือบังเลนส์ไว้ และดูให้แน่ใจว่ามือของตัวเองอยู่นอกเฟรม ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดแสงแฟลร์ลงในระดับที่จะสามารถมองเห็นได้เพียงแค่รางๆ จากที่ขอบด้านบนสุดของภาพ
แสงหลอก
ภาพที่มีแสงหลอก
แสงอาทิตย์ (แหล่งกำเนิดแสง) ส่องไปที่ด้านมุมบนขวาของภาพ แสงหลอกปรากฏขึ้นที่มุมล่างซ้ายในทิศทางตรงกันข้ามกับแหล่งกำเนิดแสงพอดี รูปลักษณะของแสงหลอกนี้สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน
ภาพที่ไม่มีแสงหลอก
สิ่งที่ผมทำสองอย่างเพื่อป้องกันแสงหลอกในภาพนี้คือ 1. ใช้หมวกบังเลนส์ไว้ และ 2. ปรับตำแหน่งการถ่ายภาพของตนเองเล็กน้อย เพื่อไม่ให้เกิดแสงหลอกที่เห็นได้ชัดเนื่องจากทิศทางของแสง
ข้อควรรู้: แสงหลอกและแสงแฟลร์ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป!
โดยทั่วไปแล้ว แสงหลอกและแสงแฟลร์ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คุณภาพของภาพลดลง แต่ภาพถ่ายของคุณไม่จำเป็นต้องสะอาดหมดจดทุกครั้งไป คุณสามารถใช้แสงแฟลร์และแสงหลอกเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ที่มีความเป็นศิลปะให้ภาพได้ด้วย
ช่างภาพ tsukao ชอบที่จะสร้างแสงแฟลร์ด้วยเลนส์ EF50mm f/1.4 USM อ่านต่อได้ที่นี่
จะป้องกันแสงหลอกและแสงแฟลร์ที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างไร
ใช้เลนส์ฮูด
นี่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่ช่างภาพสามารถทำได้เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้
(จากซ้ายไปขวา) EW-63C / ET-63
เลนส์ฮูดแต่ละรุ่นมีรูปร่างที่แตกต่างกันเพื่อให้รับกับลักษณะของเลนส์ต่างๆ คุณจึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับเลนส์ของคุณ ยกตัวอย่างเช่น เลนส์ฮูด EW-63C ใช้งานร่วมกับเลนส์ซูมมาตรฐาน EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM ได้ ในขณะที่เลนส์ฮูด ET-63 ใช้ได้กับเลนส์ EF-S55-250mm f/4-5.6 IS STM
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: เหตุผล 3 ข้อว่าทำไมคุณควรหันมาใช้เลนส์ฮูด
ใช้สิ่งของบังแสงส่วนเกินออกไป
หากจำเป็น คุณสามารถตัดแสงที่อาจทำให้เกิดแสงแฟลร์ออกไปได้โดยการใช้สิ่งของต่างๆ เช่น มือของคุณ หมวก หรือวัตถุที่มีรูปทรงเหมือนแผ่นกระดาน
ถ้าไม่ได้ผลก็ให้แก้ไขด้วยการปรับแต่งภาพ
การขจัดแสงหลอกและแสงแฟลร์ออกไปทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หากคุณทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้แล้วแต่ยังเห็นแสงแฟลร์หรือแสงหลอกในภาพอยู่ คุณจะต้องแก้ไขในขั้นตอนการปรับแต่งภาพ คําเตือน: อาจเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและกินเวลานาน!
หากบริเวณที่เกิดแสงหลอกและแสงแฟลร์นั้นไม่ใหญ่จนเกินไป คุณสามารถใช้เครื่องมือโคลนนิ่ง แปรง หรือเครื่องมือลบจุดได้ในซอฟต์แวร์ปรับแต่งภาพที่คุณชื่นชอบเพื่อทำการแก้ไขภาพ
หากถ่ายภาพในรูปแบบ DPRAW คุณสามารถใช้คุณสมบัติการลดแสงหลอกใน DPRAW Optimizer ซึ่งมีใน Digital Photo Professional เวอร์ชัน 4.5.0 และเวอร์ชันที่สูงกว่า
คุณได้ทราบถึงวิธีการรับมือกับแสงหลอกและแสงแฟลร์ไปแล้ว ทีนี้ก็มาชมและเรียนรู้ขั้นตอนการถ่ายภาพย้อนแสงที่สวยงามต่อไปนี้กัน
วิธีการถ่ายภาพนี้: การเพิ่มความพิเศษให้กับภาพทิวทัศน์ในป่าอันกว้างใหญ่
4 ขั้นตอนในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตที่มีแสงเข้าทางด้านหลังให้ดูนุ่มนวลชวนฝัน
การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: ควรใส่ดวงอาทิตย์ไว้ในเฟรมภาพดีหรือไม่
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดในปี 1959 ที่เมืองยามานาชิ หลังจากจบการศึกษาจาก Nihon University, Hagihara มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นนิตยสารถ่ายภาพ Fukei Shashin ที่เขาทำงานเป็นบรรณาธิการและผู้ตีพิมพ์ ต่อมาเขาลาออกและผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ ปัจจุบัน Hagihara ทำงานอยู่ในวงการถ่ายภาพและเขียนผลงานที่เน้นการถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ เขาเป็นสมาชิกของ Society of Scientific Photography (SSP)
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation