วิธีการถ่ายภาพนี้: การเพิ่มความพิเศษให้กับภาพทิวทัศน์ในป่าอันกว้างใหญ่
ในบางครั้ง เมื่อเราพยายามถ่ายภาพทิวทัศน์ที่กว้างใหญ่ไพศาล ภาพที่ออกมามักไม่สื่อถึงความยิ่งใหญ่ตระการตาแบบที่เราเห็นเบื้องหน้าเท่าไหร่นัก Toshiki Nakanishi ช่างภาพทิวทัศน์มืออาชีพจะมาเผยวิธีใช้เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์เพื่อให้ได้ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงเจิดจรัสเหนือแนวป่าอันกว้างใหญ่ได้อย่างสวยงามน่าทึ่ง (เรื่องโดย: Toshiki Nakanishi)
EOS 5D Mark IV/ EF16-35mm f/2.8L III USM/ FL: 18 มม. /Aperture-priority AE (f/11, 1/30 วินาที, EV -1.0)/ ISO 200/ WB: เมฆครึ้ม
สถานที่ถ่ายภาพ: Mikuni Touge Pass ฮอกไกโด
จุดถ่ายภาพนี้ให้ความรู้สึกเหมือนคุณกำลังมองลงมาจากท้องฟ้า เพื่อชื่นชมความงามแบบดั้งเดิมของฮอกไกโดที่เต็มไปด้วยผืนป่าธรรมชาติ
เคล็ดลับที่ 1: รู้จักเลนส์ของคุณและเลือกเลนส์ที่เหมาะที่สุดสำหรับฉาก
ในฉากนี้ ผมเลือกใช้เลนส์ EF16-35mm f/2.8L III USM ซึ่งเหมาะกับภาพที่ผมจินตนาการไว้ เนื่องจาก
EF16-35mm f/2.8L III USM
เลนส์นี้เป็นเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์: ที่ให้มุมมองเปอร์สเป็คทีฟเกินจริง โดยการทำให้วัตถุดูกระจัดกระจายออกจากกันมากขึ้น ทำให้ฉากที่ออกมาดูกว้างไกลยิ่งขึ้น สำหรับฉากนี้ ผมได้ผลภาพที่ดีที่สุดที่ทางยาวโฟกัส 18 มม.
เลนส์สร้างแฉกแสงที่สวยงาม: ผมต้องการให้ภาพมีเอฟเฟ็กต์แฉกแสงตามจุดต่างๆ ด้วยม่านรูรับแสง 9 กลีบ เลนส์ EF16-35mm f/2.8L III USM จึงสร้างเอฟเฟ็กต์แฉกแสงที่มีประกายแฉกแสงถึง 18 แฉกด้วยกัน
เลนส์จัดการกับสภาวะย้อนแสงได้ดี การถ่ายภาพโดยมีดวงอาทิตย์อยู่ในเฟรมภาพหมายความว่าจะต้องมีสภาวะย้อนแสงเกิดขึ้น และภาพมีแนวโน้มที่จะเกิดแสงหลอกและแสงแฟลร์ จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมทราบดีว่า EF16-35mm f/2.8L III USM สามารถให้คุณภาพของภาพถ่ายที่ยอดเยี่ยม โดยไม่เกิดแสงหลอกและแสงแฟลร์ที่มองเห็นได้ชัดเจนภายใต้สภาวะดังกล่าว
หากต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของเลนส์มุมกว้างและวิธีใช้เลนส์ โปรดดูที่:
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 1: เอฟเฟ็กต์ภาพที่ได้จากเลนส์มุมกว้าง
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 2: เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพสำหรับเลนส์มุมกว้าง
คุณอาจสนใจอ่านบทความนี้เช่นกัน:
การตัดสินใจในการถ่ายภาพทิวทัศน์: ควรใส่ดวงอาทิตย์ไว้ในเฟรมภาพดีหรือไม่
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ประเภทอื่นๆ ได้ใน จุดโฟกัส: พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์
เคล็ดลับที่ 2: สร้างมิติความลึกเพื่อให้เอฟเฟ็กต์เปอร์สเป็คทีฟมีประสิทธิภาพสูงสุด
แม้ว่าเลนส์มุมกว้างจะช่วยเน้นมุมมองเปอร์สเปคทีฟของภาพ แต่เอฟเฟ็กต์ที่ได้อาจไม่ชัดเจนนักหากคุณตั้งกล้องให้ได้ระดับอย่างสมดุลและถ่ายไปที่ทิวทัศน์โดยตรง ภาพที่มีมิติความลึกจะมีเปอร์สเป็คทีฟมากกว่าภาพที่ดูธรรมดา
สำหรับภาพนี้ ผมเล็งเลนส์ลงด้านล่างเพื่อให้ผืนป่าดูเหมือนค่อยๆ ลาดเอียงมาที่ผม วิธีนี้ไม่เพียงสร้างมิติความลึกเท่านั้น แต่ยังทำให้ฉากดูเหมือนแผ่ขยายไปที่บริเวณมุมทั้งสี่ของภาพ และเพิ่มความรู้สึกกว้างไกลให้มากขึ้นด้วย
ผมเล็งเลนส์ลงต่ำไปทางผืนป่าด้านล่างในลักษณะนี้
เคล็ดลับที่ 3: แฉกแสงสามารถเพิ่มความรู้สึกกว้างไกลได้เช่นกัน
วิธีการใช้แสงมีความสำคัญเช่นกัน การสร้างแฉกแสงช่วยขับเน้นภาพถ่ายของผมใน 2 ทางด้วยกันคือ
1. ทำให้ภาพดูน่าสนใจมากขึ้น
2. ลำแสงของแฉกแสงทำหน้าที่เป็นเส้นนำสายตา ที่ดึงดูดสายตาของผู้ชมไปด้านนอกตามที่ลูกศรแสดงด้านล่าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้สึกกว้างไกลมากขึ้น
ตอนแรกสายตาของผู้ชมอาจจับจ้องไปที่แฉกแสง แต่ต่อจากนั้นจะค่อยๆ กวาดตาไปด้านนอกตามที่ลูกศรแสดง
เคล็ดลับพิเศษ: วิธีการสร้างแฉกแสงที่สมบูรณ์แบบ
1. การมีเมฆบางส่วนปกคลุมจะทำให้แฉกแสงของคุณดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
ผมถ่ายภาพนี้ในเช้าวันเมฆครึ้มขณะดวงอาทิตย์กำลังขึ้น เมฆที่บดบังดวงอาทิตย์ช่วยทำให้แฉกแสงดูโดดเด่นยิ่งขึ้น แสงแดดที่ส่องผ่านลงมาเล็กน้อยดูเจิดจ้ามากขึ้น และแสงสว่างที่ส่องประกายชัดเจนนั้นตัดกับท้องฟ้าที่มืดมิดอย่างมาก
2. สังเกตและรอให้ถึงช่วงเวลาที่สมบูรณ์แบบ
เมื่อคุณถ่ายภาพโดยใช้แสงธรรมชาติ สภาพแสงจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ดังนั้น การสังเกตและเตรียมพร้อมที่จะลั่นชัตเตอร์จึงช่วยได้มาก ในภาพนี้ ผมตั้งกล้องไว้ที่ค่า f/11 (เหมาะสำหรับการสร้างแฉกแสง) และรอจนกระทั่งแสงตกกระทบในลักษณะที่ขับเน้นใบไม้เปลี่ยนสีให้มีโทนสีแดงและทองมากขึ้น
อ่านบทความเกี่ยวกับคำแนะนำในการสร้างเอฟเฟ็กต์แฉกแสงด้วยดวงอาทิตย์
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดปี 1971 ในโอซาก้า หลังจากศึกษาการถ่ายภาพด้วยตัวเอง Nakanishi ย้ายสถานที่ดำเนินกิจกรรมถ่ายภาพของตนไปยังเมือง Biei ที่อำเภอ Kamikawa-gun ในฮอกไกโด นอกจากถ่ายภาพทิวทัศน์ที่โฟกัสที่แสงเป็นหลักแล้ว เขายังสร้างสรรค์ผลงานที่เน้นถึงความงามของธรรมชาติในจินตนาการอีกด้วย เขามีตำแหน่งเป็นหัวหน้า PHOTO OFFICE ของ atelier nipek