การถ่ายภาพทิวทัศน์ให้งดงามภายใต้สภาวะแสงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
การถ่ายภาพในยามเช้าตรู่นั้นต้องแข่งกับเวลา เพราะสภาพแสงที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด จึงต้องไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น ในบทความต่อไปนี้ ฉันจะอธิบายหลักสำคัญสามข้อของการถ่ายภาพในวินาทีที่ต้องตัดสินใจ ซึ่งได้แก่ เวลา การจัดองค์ประกอบภาพ และมุมรับภาพ (เรื่องโดย: Michiko Kaneko)
ภาพที่ 1
EOS 5D Mark III/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL:47 มม./ Aperture-priority AE (f/16, 1/20 วินาที EV+0.3)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ทิวทัศน์ตระการตาที่ดูแตกต่างกันไปในยามเช้าตรู่
ในการจะถ่ายภาพต้นสนที่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองในหนองน้ำ Odashirogahara ซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียวออกไปทางเหนือ 200 กม. ในจังหวัด Tochigi ตอนบนนั้น ฉันเริ่มถ่ายตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น มีต้นเบิชขาวต้นหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า “สุภาพสตรีแห่ง Odashirogahara” ยืนต้นโดดเดี่ยวอยู่ในหนองน้ำ เพื่อเก็บภาพความกว้างขวางของพื้นที่แห่งนี้ ฉันจึงจัดให้ต้นเบิชอยู่ตรงกลางภาพ ให้ที่ราบสีขาวที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งและต้นสนสีทองที่เกิดเป็น “ฉากพับ” อยู่ในฉากหลัง จากนั้นก็รอให้พระอาทิตย์ส่องแสงลงไปบนนั้นจากมุมหนึ่งเพื่อให้ได้ภาพที่ดูเป็นประกายระยิบระยับ
ตัวแบบในภาพจะแตกต่างกันไปในทุกๆ วินาที ดังนั้น คุณจึงควรใช้เวลาอย่างน้อยสองชั่วโมงในการถ่ายภาพ คุณสามารถถ่ายภาพหนองน้ำ Odashirogahara ได้จากมุมกว้างหรือทางยาวโฟกัสระดับเทเลโฟโต้ ดังนั้นจึงเป็นการดีที่สุดหากพกเลนส์ที่มีช่วงทางยาวโฟกัสกว้างไปด้วย
สำหรับการถ่ายภาพในครั้งนี้ ฉันเลือกโหมด Aperture-priority AE และทำให้รูรับแสงแคบลงที่ f/16 เพื่อถ่ายตัวแบบในภาพให้คมชัด อย่างไรก็ตาม ควรระวังไม่ให้รูรับแสงแคบจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดความบิดเบี้ยวขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้ภาพขาดความคมชัด
ขั้นตอนที่ 1: เวลา – เริ่มถ่ายตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อให้ได้ภาพที่ดูแตกต่างกัน
ในภาพด้านบนซึ่งถ่ายจากสถานที่เดียวกันกับภาพที่ 1 แต่ถ่ายห่างกันหนึ่งชั่วโมงเมื่อเวลา 5:30 ในตอนเช้า หนองน้ำนั้นดูแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง พระอาทิตย์ขึ้นมาจากอีกฝั่งของภูเขา มีแสงสว่างของยามเช้าที่สะท้อนบนก้อนเมฆทำให้ท้องฟ้าสว่างไปทั่ว หมอกในตอนเช้าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ช่วยเพิ่มความรู้สึกมหัศจรรย์ให้แก่ภาพ
ขั้นตอนที่ 2 : การจัดองค์ประกอบภาพ – ถ่ายทั้งแสงเฉียงและเงาด้วยเพื่อความเปรียบต่างที่มากขึ้น
ฉันจัดองค์ประกอบภาพโดยมีต้นเบิชขาวเป็นตัวแบบหลัก และปรับองค์ประกอบโดยเน้นไปที่ต้นสนสีทองในฉากหลังและแสงเฉียงที่ส่องมาจากทางขวามือ เนื่องจากวัตถุที่สว่างมักดึงดูดเรา ฉันจึงรวมเอาบริเวณที่เป็นเงาในโฟร์กราวด์เข้ามาด้วยเพื่อดึงความสนใจของผู้ชมไปที่ตัวแบบหลัก
ขั้นตอนที่ 3: มุมรับภาพ – เปลี่ยนตัวแบบรองไปตามขนาดของตัวแบบหลัก
ในภาพที่ 1 ฉันใช้ทางยาวโฟกัส 47 มม. เพื่อถ่ายองค์ประกอบหลายอย่าง ในทางตรงข้าม หากใช้ทางยาวโฟกัสที่ 200 มม. เพื่อถ่ายภาพขนาดใหญ่ของต้นเบิชขาวดังแสดงด้านบน ฉันสามารถดึงเอาประกายของน้ำแข็งที่ปกคลุมต้นไม้ออกมาได้ ขณะที่กำลังจัดองค์ประกอบภาพ คุณควรพิจารณาทั้งตัวแบบหลักและตัวแบบรอง
Michiko Kaneko
เกิดที่เมือง Sendai จังหวัด Miyagi เธอเริ่มสนใจการถ่ายภาพหลังจากบังเอิญได้เห็นภาพถ่ายที่ทำให้เธอเกิดแรงบันดาลใจใน Okunikko ในปี 1987 เธอศึกษาการถ่ายภาพจาก Shotaro Akiyama ช่างภาพผู้มีชื่อเสียงที่ล่วงลับไปแล้ว ก่อนจะเปิดสตูดิโอของตัวเองและผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ ด้วยความหลงใหลในสีสันอันงดงามของธรรมชาติ เธอจึงเดินทางไปทั่วญี่ปุ่นด้วยรถยนต์ของเธอ เพื่อเก็บภาพทิวทัศน์แสนสงบในฤดูต่างๆ รวมทั้งภาพที่มีทั้งรถไฟและทิวทัศน์ด้วย เธอเป็นสมาชิกของ Japan Professional Photographers Society (JPS) และ Japan Society for Arts and History of Photography (JSAHP)
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation