บทวิจารณ์เลนส์: RF28mm f/2.8 STM กับ RF35mm f/1.8 Macro IS STM ในการถ่ายภาพท่องเที่ยว และสตรีท
เลนส์เดี่ยวไวแสง พกพาสะดวก และมีทางยาวโฟกัสกว้างปานกลาง เช่น 28 มม. หรือ 35 มม. (เทียบเท่าฟูลเฟรม) เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเดินถ่ายรูป เพราะจะไม่ทำให้คุณรู้สึกหนักมากนัก มีขอบเขตภาพที่ใช้จัดองค์ประกอบภาพได้ง่าย และรูรับแสงกว้างสุดที่สว่างยังรับมือกับสถานที่มืดและฉากยามค่ำคืนอย่างง่ายดาย ในบทความนี้ เราจะเปรียบเทียบว่า RF28mm f/2.8 STM และ RF35mm f/1.8 Macro IS STM มีประสิทธิภาพเพียงใดสำหรับการถ่ายภาพในสถานการณ์จริง ซึ่งน่าจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่าควรเลือกใช้เลนส์รุ่นไหนดี! เลื่อนลงไปท้ายสุดเพื่อดูเคล็ดลับการจัดองค์ประกอบภาพที่น่าสนใจ (เรื่องโดย: Maiko Fukui, Digital Camera Magazine)
จุดที่ 1: ความสะดวกในการพกพา
ใส่ในกระเป๋าทั่วไปได้ง่ายแค่ไหน
ด้านบน: เลนส์ที่สวมเข้ากับกล้อง EOS R8
เมื่อคุณจะออกไปเดินเที่ยวตามท้องถนนไม่ว่าที่บ้านเกิดหรือในต่างประเทศ คุณคงไม่อยากเป็นจุดสนใจมากนัก จึงไม่ใช้กระเป๋ากล้องที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน
เมื่อออกไปเดินท่องเที่ยวเพื่อถ่ายภาพ ฉันมักจะพกเลนส์เพียง 1 หรือ 2 ตัวไว้ในกระเป๋าที่ใช้ประจำ โดยใส่ไว้ในกระเป๋ากล้องบุนวมกันกระแทก ในภาพนี้คือกระเป๋าผ้าใบโปรดของฉัน ซึ่งสามารถหยิบกล้องได้ง่าย มีน้ำหนักเบา และขนาดพอเหมาะไม่เกะกะเวลามีคนพลุกพล่าน
สรุป: เลนส์ทั้งสองรุ่นใช้งานได้สะดวก แต่ฉันให้คะแนนเลนส์ RF28mm f/2.8 STM เป็นพิเศษในเรื่องดีไซน์แบบแพนเค้ก
ทั้ง RF28mm f/2.8 STM และ RF35mm f/1.8 Macro IS STM มีขนาดเล็กพอที่จะใส่กระเป๋ากล้องของฉันได้พอดี แต่เลนส์ RF28mm f/2.8 STM แบนกว่ามาก จึงมีส่วนที่ยื่นออกมาเกินกริปของกล้อง EOS R8 เล็กน้อย จึงมีโอกาสน้อยมากที่เลนส์จะกระแทกหรือเกี่ยวเข้ากับสิ่งของในกระเป๋า หรือเมื่อคุณเดินทางพร้อมกับสะพายกล้องพาดไหล่หรือห้อยไว้ที่คอ
จุดที่ 2: ทางยาวโฟกัส
ทางยาวโฟกัสแบบใดใช้ง่ายกว่ากัน
มุมรับภาพของ RF28mm f/2.8 STM กว้างกว่า ขณะที่มุมรับภาพของ RF35mm f/1.8 Macro IS STM ใกล้เคียงกับสิ่งที่คุณเห็นมากกว่า อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างจะมากน้อยขนาดไหนขึ้นอยู่กับฉากที่คุณถ่าย
เมื่อตัวแบบอยู่ในระยะไกล
RF28mm f/2.8 STM
RF35mm f/1.8 Macro IS STM
เมื่อถ่ายภาพฉากกว้างๆ ซึ่งตัวแบบอยู่ไกลออกไป ทางยาวโฟกัสที่แตกต่างกัน 7 มม. ไม่ได้สร้างความแตกต่างมากนัก การจัดเฟรมภาพก็ง่ายพอๆ กันสำหรับเลนส์ทั้งสองรุ่น
ตัวแบบแบบโคลสอัพ
RF28mm f/2.8 STM
RF35mm f/1.8 Macro IS STM
เมื่อถ่ายภาพโคลสอัพ เราจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนขึ้น สังเกตว่าอาคารในส่วนแบ็คกราวด์จะดูใหญ่ขึ้นเมื่อใช้เลนส์ 35 มม. ถ้าพิจารณาเส้นขอบของกล่องไปรษณีย์สีแดงอย่างละเอียด จะสังเกตเห็นว่า RF28mm f/2.8 STM แสดงความเปรียบต่างที่ชัดเจนกว่า ในขณะที่ RF35mm f/1.8 Macro IS STM แสดงภาพได้ละเอียดกว่า
สรุป: ขึ้นอยู่กับสไตล์และความชอบของคุณ
RF35mm f/1.8 Macro IS STM เหมาะสำหรับการถ่ายทอดฉากต่างๆ ที่คุณมองเห็นได้อย่างสมจริงและตรงไปตรงมา แต่ผู้ที่เคยถ่ายภาพด้วยกล้องสมาร์ทโฟนอาจรู้สึกคุ้นเคยกับขอบเขตภาพที่กว้างกว่า 28 มม. มากกว่า
ในกรณีที่ไม่เกี่ยวกับทางยาวโฟกัสโดยตรง คุณอาจต้องพิจารณาการแสดงผลภาพของเลนส์ด้วยเช่นกัน ภาพที่ได้จาก RF28mm f/2.8 STM ดูเหมือนจะมีเส้นขอบที่คมชัดและเห็นได้ชัดเจนกว่า และมีความคลาดมากกว่า ภาพผลลัพธ์ที่ได้ดูคล้ายกับภาพที่ถ่ายจากฟิล์มโพลารอยด์ ซึ่งค่อนข้างเป็นที่นิยมในปัจจุบัน! ในขณะเดียวกัน RF35mm f/1.8 Macro IS STM จะให้ความงดงามแบบเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติมากกว่า
จุดที่ 3: โบเก้ (เอฟเฟ็กต์โฟกัสตื้น)
โบเก้มีความแตกต่างกันอย่างไร
รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ RF28mm f/2.8 STM คือ f/2.8 ในขณะที่รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ RF35mm f/1.8 Macro IS STM คือ f/1.8 เท่ากับว่าแตกต่างกันอยู่ 1 1/3 สต็อป ซึ่งดูไม่มากเกินไปใช่หรือไม่
เปรียบเทียบภาพด้านล่าง
RF28mm f/2.8 STM @ f/2.8
RF35mm f/1.8 Macro IS STM @ f/2.8
RF35mm f/1.8 Macro IS STM @ f/1.8
หากคุณจำได้ ยิ่งทางยาวโฟกัสยาว โบเก้ยิ่งชัดเจนขึ้น ดังนั้น RF35mm f/1.8 Macro IS STM ที่ยาวขึ้นจึงสร้างแบ็คกราวด์ที่เบลอมากกว่า RF28mm f/2.8 STM ที่ค่ารูรับแสง f/2.8 เท่ากัน
สรุป: โบเก้ดูสวยงามขึ้นเมื่อใช้ RF35mm f/1.8 Macro IS STM
หากโบเก้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้คุณต้องการซื้อเลนส์เดี่ยว ฉันขอแนะนำ RF35mm f/1.8 Macro IS STM เนื่องจากเมื่อใช้ค่ารูรับแสง f/2.8 เลนส์นี้จะแสดงข้อได้เปรียบที่ชัดเจนกว่า RF28mm f/2.8 STM และเมื่อใช้รูรับแสงกว้างที่ f/1.8 แบ็คกราวด์จะดูนุ่มนวลมากขึ้น
ในทางกลับกัน RF28mm f/2.8 สามารถสร้างโบเก้ที่สวยงามเมื่อพิจารณาจากขนาดที่กะทัดรัด และน่าจะเพียงพอสำหรับผู้ใช้ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของโบเก้มากนัก
จุดที่ 4: การถ่ายภาพโคลสอัพ
เลนส์ทั้งสองรุ่นช่วยให้คุณถ่ายภาพโคลสอัพได้หรือไม่
ด้วยความสามารถกึ่งมาโคร 0.5 เท่า ทำให้ RF35mm f/1.8 Macro IS STM มีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้นสำหรับการถ่ายภาพโคลสอัพ คุณจะสามารถเก็บรายละเอียดของอาหารและดอกไม้ให้เต็มเฟรมได้อย่างง่ายดาย
แม้ว่า RF28mm f/2.8 STM จะไม่ช่วยให้คุณเข้าใกล้ตัวแบบได้มากนัก แต่ก็ให้คุณเข้าใกล้ได้เพียงพอที่จะถ่ายภาพอาหารที่สวยงาม รวมถึงบริบทโดยรอบ ดังเช่นตัวอย่างภาพอาหารด้านล่าง
ดอกไม้
RF28mm f/2.8 STM
RF35mm f/1.8 Macro IS STM
เมื่อถ่ายภาพดอกไม้ เราจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องความสามารถในการถ่ายโคลสอัพและโบเก้ คุณสามารถเข้าใกล้ดอกไม้ได้มากขึ้นด้วย RF35mm f/1.8 Macro IS STM
อาหาร
RF28mm f/2.8 STM
RF35mm f/1.8 Macro IS STM
RF28mm f/2.8 STM ช่วยให้คุณเข้าใกล้ได้มากพอที่จะถ่ายภาพอาหารตรงหน้าพร้อมกับบริบทบางอย่างได้ แต่พึงทราบว่าอาจมีการบิดเบี้ยวของเปอร์สเปคทีฟเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากมุมที่กว้างขึ้น
RF28mm | RF35mm | |
ระยะโฟกัสใกล้สุด | 0.23 ม. | 0.17 ม. |
กำลังขยายสูงสุด | 0.17 เท่า | 0.5 เท่า |
สรุป: RF35mm f/1.8 Macro IS STM ให้ความยืดหยุ่นมากกว่าในการถ่ายภาพโคลสอัพ
แม้ว่า RF28mm f/2.8 STM จะมีจุดแข็ง แต่ RF35mm f/1.8 Macro IS STM มอบตัวเลือกในการสร้างสรรค์ที่มากกว่า
คุณอาจสนใจบทความต่อไปนี้
เลนส์ 3 แบบสำหรับเริ่มต้นถ่ายภาพอาหาร
ผู้เขียนเลือกใช้ RF35mm f/1.8 Macro IS STM*
*หมายเหตุ: นี่เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนและไม่ได้สะท้อนมุมมองของ Canon
เหตุใดจึงเลือก RF35mm f/1.8 Macro IS STM
ฉันรู้สึกว่า RF35mm f/1.8 Macro IS STM เหมาะกับสไตล์การถ่ายภาพของฉันมากที่สุด ฉันชอบมุมรับภาพที่ใกล้เคียงกับการมองเห็นตามธรรมชาติของฉันมากกว่า และชื่นชอบโบเก้ที่สวยงามและนุ่มนวลที่เลนส์นี้สร้างขึ้น
สำหรับฉันแล้ว RF35mm f/1.8 Macro IS STM ยังเปิดโอกาสให้สร้างสรรค์ได้มากขึ้นด้วย RF28mm f/2.8 STM มีมุมรับภาพที่กว้างกว่า ทำให้ภาพที่ได้ดูเหมือนภาพวาด ขณะที่ RF35mm f/1.8 Macro IS STM อยู่กึ่งกลางระหว่างนั้น คือดูเหมือนภาพมุมกว้างหรือเทเลโฟโต้เล็กน้อย ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบภาพและการตั้งค่ารูรับแสง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้คุณใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น นับเป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยมสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันร่วมกับกล้อง และสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวที่ให้คุณทำอะไรได้มากขึ้นโดยถืออุปกรณ์น้อยลง
สิ่งที่ฉันชื่นชอบเกี่ยวกับ RF28mm f/2.8 STM
การโฟกัสอัตโนมัติของ RF28mm f/2.8 STM ให้ความรู้สึกที่ราบรื่นกว่า และความคมชัดจากมุมจรดมุมเหนือกว่าที่คาดหมายไว้สำหรับเลนส์แพนเค้ก นอกจากนี้ ความสะดวกในการพกพายังเป็นจุดเด่นของเลนส์นี้ด้วย เนื่องจากมีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบา คุณจึงสามารถถ่ายภาพได้ตลอดทั้งวันโดยไม่รู้สึกเมื่อยล้า คุณจะไม่ผิดหวังแน่นอนหากเลือกเลนส์นี้สำหรับการเดินทางท่องเที่ยว
ข้อความทิ้งท้าย
คุณอาจชอบ RF28mm f/2.8 STM มากกว่าหากคุณต้องการภาพที่คมชัดและมีความเปรียบต่างคล้ายกล้องสมาร์ทโฟน แต่หากต้องการเลนส์ที่มีความสามารถรอบด้านในการสร้างสรรค์ เช่น การถ่ายภาพโคลสอัพ การสร้างโบเก้ และการทดลองเล่นกับระยะการถ่าย คุณควรเลือก RF35mm f/1.8 Macro IS STM
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพ: การจัดเฟรมให้กับตัวแบบรองสำหรับทางยาวโฟกัส
ตัวแบบรองสามารถทำให้ภาพอาหารหรือสิ่งของตกแต่งดูโดดเด่นขึ้นได้ ดังนั้น ครั้งต่อไปที่คุณตัดสินใจใส่ตัวแบบรองไว้ในเฟรมภาพ ลองนึกถึงวิธีการใช้ประโยชน์จากทางยาวโฟกัสในการจัดองค์ประกอบภาพ ไม่ใช่เรื่องของขอบเขตภาพเท่านั้น!
ดังที่แสดงในภาพตัวอย่างนี้ ทั้งสองภาพมีตัวแบบหลักคือแก้วกาแฟ
RF28mm f/2.8 STM
ฉันจัดองค์ประกอบภาพนี้สำหรับเลนส์ 28 มม. ด้วยขอบเขตภาพที่กว้างขึ้น คุณจึงสามารถใส่บริบท (ตัวแบบรอง) ได้มากขึ้นที่ด้านหน้าและด้านหลังของตัวแบบหลัก เพื่อให้ภาพบอกเล่าเรื่องราว
RF35mm f/1.8 Macro IS STM
เลนส์ 35 มม. จะจำกัดสิ่งที่คุณสามารถใส่ไว้ในภาพถ่าย คุณจึงต้องจัดองค์ประกอบภาพให้ต่างไปจากเดิม ในภาพนี้ ฉันใช้ความสามารถในการสร้างโบเก้ของเลนส์ เพื่อทำให้วัตถุในส่วนโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์อยู่นอกโฟกัส วิธีนี้จะทำให้สิ่งที่อยู่รอบๆ ดูเรียบง่ายขึ้น และดึงความสนใจไปที่ไอน้ำ คุณแทบจะได้กลิ่นกาแฟลอยอบอวลไปทั่ว
คำแนะนำจากมืออาชีพ: เมื่อใช้เลนส์เดี่ยว หากคุณไม่สามารถใส่องค์ประกอบบางอย่างไว้ในเฟรมภาพได้ คุณก็ไม่ควรฝืน แต่พยายามสร้างองค์ประกอบภาพที่ดีที่สุดด้วยสิ่งที่คุณมี แล้วคุณจะสนุกมากขึ้นอีกเยอะ!
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
4 แนวคิดเกี่ยวกับเลนส์ที่จะพลิกโฉมภาพถ่ายของคุณ
กำลังคิดที่จะขยายคอลเลกชันเลนส์ของคุณหรือไม่ ลองอ่านข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อไปนี้เพื่อช่วยในการตัดสินใจ
เลนส์เดี่ยวหรือเลนส์ซูม: ควรซื้อแบบไหนดี
10 แนวคิดที่คุณควรทราบก่อนซื้อเลนส์ตัวที่สอง
เลนส์ RF กับเลนส์ EF: แตกต่างกันอย่างไรและควรตัดสินใจเลือกอย่างไร
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดปี 1983 ในโอซาก้า ช่างภาพ ทำงานในงานถ่ายภาพนิตยสารและโฆษณา เขียนหนังสือ เวิร์คช็อปการถ่ายภาพ และอื่นๆ