คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์: ฉันจะได้ภาพแบบไหนหากถ่ายด้วยกำลังขยาย 0.25 หรือ 0.5 เท่า มีเลนส์
มีเลนส์มาโครจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มีกำลังขยายสูงสุด 0.5 เท่า หรือที่เรียกว่า “กึ่งมาโคร” แต่เลนส์ที่ไม่มีคำว่า “มาโคร” ในชื่อเลนส์ก็อาจมีความสามารถในการถ่ายภาพโคลสอัพได้ดีกว่าที่คุณคาด โดยให้กำลังขยายอย่างน้อย 0.25 เท่าหรือ “มาโครหนึ่งส่วนสี่” แล้วข้อแตกต่างคืออะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับเลนส์ที่มีกำลังขยาย 1.0 เท่าซึ่งขยายภาพได้เท่าขนาดจริง คุณสามารถเข้าใกล้ตัวแบบได้มากแค่ไหนเวลาใช้เลนส์ที่ว่านี้ มาศึกษาหาความรู้ได้ในบทความนี้โดยใช้ตัวอย่างจากการถ่ายภาพดอกไม้ (เรื่องโดย: Chikako Yagi, Digital Camera Magazine)
เราสามารถถ่ายภาพได้เต็มเฟรมแค่ไหนเวลาใช้กำลังขยายแต่ละระดับ
ก่อนอื่น มาดูภาพถ่ายดอกแดนดิไลออนที่ถ่ายด้วยกำลังขยายต่างๆ
0.25 เท่า (มาโครหนึ่งส่วนสี่)
ที่กำลังขยาย 0.25 เท่า ดอกแดนดิไลออนดูมีขนาดเล็ก แต่ก็ถือว่าเพียงพอสำหรับการถ่ายดอกไม้ที่มีขนาดใหญ่ๆ
0.5 เท่า (กึ่งมาโคร)
กำลังขยาย 0.5 เท่าเพียงพอสำหรับการถ่ายภาพโคลสอัพของยอดดอกแดนดิไลออนได้ทั้งหมด
0.25 เท่า (มาโครหนึ่งส่วนสี่)
กำลังขยาย 1.0 เท่าเพียงพอสำหรับการถ่ายภาพโคลสอัพของเมล็ดแดนดิไลออนฟูฟ่อง
ใหญ่กว่าขนาดจริง (มาโคร 1.4 เท่า)
กำลังขยาย 1.4 เท่าช่วยให้คุณได้เข้าใกล้มากจนเห็นขนเส้นเล็กจิ๋วแต่ละเส้นบนเมล็ด
ดังที่เห็นได้จากตัวอย่างด้านบน ยิ่งกำลังขยายใหญ่มาก ตัวแบบก็จะยิ่งกินพื้นที่ในเฟรมมาก อย่างไรก็ตาม แค่ 0.5 เท่าก็อาจเพียงพอแล้ว ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวแบบและจุดประสงค์ของคุณ!
กำลังขยายสูงสุดหมายถึงอะไร อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์: “อัตราส่วนกำลังขยาย” หมายถึงอะไร
ถัดไป มาสำรวจภาพดอกไม้ชนิดต่างๆ ที่เราสามารถถ่ายได้โดยใช้กำลังขยายแตกต่างกัน
กำลังขยาย 0.25 เท่า: ถ่ายดอกไม้และต้นไม้ใหญ่ๆ ได้เต็มเฟรม
ในเลนส์ที่มีกำลังขยายสูงสุด 0.25 เท่า ตัวแบบขนาดเล็กจะไม่กินพื้นที่ในเฟรมมากนักถึงแม้ว่าจะถ่ายที่ระยะโฟกัสใกล้สุด (อย่าลืมว่าในเลนส์ส่วนใหญ่ กำลังขยายสูงสุดจะเกิดขึ้นได้เมื่อถ่ายที่ระยะโฟกัสใกล้สุด) อย่างไรก็ตาม คุณสามารถถ่ายภาพโคลสอัพของตัวแบบขนาดใหญ่ๆ ให้ออกมาดูค่อนข้างน่าสนใจ เช่น ช่อดอกไม้หรือลำต้นข้าวสาลีในภาพด้านล่าง
ถ่ายด้วย RF50mm f/1.8 STM (กำลังขยายสูงสุด: 0.25 เท่า)
EOS R5 + RF50mm f/1.8 STM ที่ f/2.5, 1/250 วินาที, ISO 200
ภาพนี้ถ่ายที่ระยะโฟกัสใกล้สุดของเลนส์ แต่ยังมีพื้นที่ว่างระหว่างตัวแบบกับเลนส์ของฉัน รวมทั้งช่อดอกไม้อีกช่ออยู่คั่นกลาง ฉันเปลี่ยนช่อดอกไม้ด้านหน้าให้กลายเป็นโบเก้ในโฟร์กราว ซึ่งช่วยทำให้เกิด “โบเก้ประกบตัวแบบ” ที่ดึงความสนใจไปที่ตัวแบบหลัก
EOS R5 + RF50mm f/1.8 STM ที่ f/3.2, 1/8000 วินาที, ISO 500 (EV -1.3)
ฉันถ่ายรวงข้าวในโฟร์กราวให้ใกล้ที่สุดเท่าที่ทำได้ ด้วยมุมรับภาพ 50 มม. การถ่ายที่ระยะใกล้สุดของเลนส์จะไม่สร้างภาพครอปในระยะใกล้ ในภาพนี้คุณจะเห็นทุ่งข้าวสาลีอยู่ด้านหลัง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
- RF16mm f/2.8 STM (กำลังขยายสูงสุด: 0.26 เท่า)
ตัวแบบอาจยังคงดูเล็กกว่าที่คุณต้องการ ขึ้นอยู่กับตัวแบบ ระยะการถ่ายภาพ และเลนส์ที่คุณใช้ เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพแบบใดที่คุณสามารถใช้เพื่อให้ตัวแบบยังคงดึงดูดความสนใจ มาดูกรณีศึกษานี้กัน
การจัดองค์ประกอบภาพที่มีประสิทธิภาพ: ดึงความสนใจไปยังกบตัวจิ๋วในดอกไม้
กำลังขยาย 0.5 เท่า: ถ่ายภาพที่แสดงทั้งดอกไม้และแมลง
ที่กึ่งมาโคร (กำลังขยาย 0.5 เท่า) คุณสามารถสร้างสรรค์ภาพที่ใกล้เคียงกับภาพมาโครในความคิดของคนส่วนใหญ่ได้มากขึ้น เนื่องจากกำลังขยายระดับนี้ช่วยให้คุณเข้าใกล้ตัวแบบได้ค่อนข้างมาก คุณจึงสามารถรวมส่วนประกอบต่างๆ ที่น่าสนใจไว้ในเฟรมได้มากขึ้นและถ่ายทอดให้เห็นในภาพของคุณ
ถ่ายด้วย RF35mm f/1.8 Macro IS STM (กำลังขยายสูงสุด: 0.5 เท่า)
EOS R5 + RF35mm f/1.8 Macro IS STM ที่ f/4, 1/160 วินาที, ISO 100 (EV -1.7)
กลีบดอกไม้เล็กจิ๋วชุ่มน้ำเหล่านี้บนต้นกกลังกาดูโปร่งแสง กำลังขยาย 0.5 เท่าของ RF35mm f/1.8 Macro IS STM ช่วยให้ฉันสามารถใส่ดอกไม้ให้เต็มเฟรมและสร้างสรรค์ภาพที่น่าสนใจ
EOS R5 + RF35mm f/1.8 Macro IS STM ที่ f/2.5, 1/500 วินาที, ISO 100 (EV -0.7)
นอกจากนี้ยังถ่ายภาพระยะใกล้ที่สวยงามของผึ้งที่กำลังดูดน้ำหวานจากดอกไม้ที่กำลังขยาย 0.5 เท่าได้ ฉันสามารถถ่ายได้ใกล้พอที่จะทำให้การจัดเฟรมและจัดองค์ประกอบภาพเป็นเรื่องง่าย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
- RF24mm f/1.8 Macro IS STM (กำลังขยายสูงสุด: 0.5 เท่า)
- RF85mm f/2 Macro IS STM (กำลังขยายสูงสุด: 0.5 เท่า)
- RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM (กำลังขยายสูงสุด: 0.5 เท่า ที่ 15 มม. ขณะใช้ MF)
กำลังขยาย 0.5 เท่าเพียงพอสำหรับการถ่ายภาพเนื้อสัมผัสของอาหาร อ่านได้ที่
วิธีง่ายๆ ในการถ่ายภาพเนื้อสัมผัสของอาหาร
กำลังขยาย 1.0 เท่าขึ้นไป: แสดงรายละเอียดของเกสร หยดน้ำ และตัวแบบขนาดจิ๋วอื่นๆ
เมื่อใช้เลนส์มาโครที่มีกำลังขยายเท่าขนาดจริง (1.0 เท่า) ขึ้นไป คุณจะสามารถเข้าใกล้ส่วนที่เฉพาะเจาะจงของตัวแบบได้ใกล้ยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยให้คุณได้ค้นพบสิ่งต่างๆ ที่คุณไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า คุณอาจเริ่มสังเกตเห็นความสวยงามเชิงแอ็บสแตรกต์จากรูปแบบและโครงสร้างที่ปรากฏในรายละเอียดเหล่านั้น
ถ่ายด้วย RF100mm f/2.8L Macro IS USM (กำลังขยายสูงสุด: 1.4 เท่า)
EOS R5 + RF100mm f/2.8L Macro IS USM ที่ f/2.8, 1/640 วินาที, ISO 800 (EV -0.3)
ภาพโคลสอัพนี้ดึงดูดความสนใจของเราไปที่โครงสร้างละเอียดอ่อนคล้ายเส้นขนบนเมล็ดแดนดิไลออน ส่วนระยะชัดตื้นก็ช่วยให้สื่อถึงความอ่อนนุ่ม
EOS R5 + RF100mm f/2.8L Macro IS USM ที่ f/5.6, 1/80 วินาที, ISO 400 (EV -1.0)
หยดน้ำจิ๋วจากฝน เมื่อถ่ายด้วยกำลังขยายเท่าขนาดจริง หยดน้ำเหล่านี้ดูคล้ายเม็ดอัญมณีอันวิจิตร
อ่านวิธีการใช้มาโคร 1.0 เท่าในการถ่ายภาพอาหารเพิ่มเติมได้ที่
ภาพมาโครชวนน้ำลายสอ: ศิลปะแห่งการถ่ายภาพอาหารแบบโคลสอัพ
---
ดังที่คุณเห็น การถ่ายภาพโคลสอัพสามารถทำได้หลายวิธีแม้ว่าเลนส์ของคุณจะถ่ายมาโครเท่าขนาดจริงไม่ได้ ลองออกไปข้างนอก ขยับเข้าใกล้ตัวแบบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วดูว่าคุณสามารถถ่ายอะไรได้บ้าง
ดูเคล็ดลับในการถ่ายภาพมาโครและภาพโคลสอัพเพิ่มเติมได้ในบทความต่อไปนี้
ศิลปะเบื้องหลังภาพ: ภาพดอกไม้แบบมาโครที่ดูราวกับความฝัน
วิธีการถ่ายภาพพอร์ตเทรตแบบมาโครเพื่อบอกเล่าเรื่องราว
เทคนิคการถ่ายภาพมาโคร: การสร้างพื้นที่ว่างและความลึกลวงตา
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Chikako Yagi มีอายุเพียง 20 ปีตอนที่เธอเริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพด้วยตัวเองโดยใช้กล้องฟิล์ม SLR เธอออกจากงานประจำมาเป็นช่างภาพทิวทัศน์เต็มตัวในปี 2016 เธอเคยฝึกงานกับช่างภาพชื่อดังหลายราย เช่น Kiyoshi Tatsuno และ Tomotaro Ema และยังเป็นสมาชิกของชมรม Shizensou Club ซึ่งก่อตั้งโดย Kiyoshi Tatsuno และเป็นหนึ่งในชมรมช่างถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ในปี 2013 เธอได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 10 อันดับช่างภาพฝีมือดีของชมรม Tokyo Camera Club
www.chikakoyagi.com
Instagram: @chikako_yagi