การจัดองค์ประกอบภาพที่มีประสิทธิภาพ: ดึงความสนใจไปยังกบตัวจิ๋วในดอกไม้
เมื่อต้องถ่ายภาพสัตว์หรือแมลงที่มีขนาดเล็กจิ๋ว คุณอาจจะอยากถ่ายภาพในระยะใกล้เพื่อให้สัตว์หรือแมลงนั้นกินพื้นที่ส่วนใหญ่ในเฟรมภาพ แต่นั่นไม่ใช่เพียงวิธีการเดียวที่สามารถดึงความสนใจไปที่พวกมันได้! ในบทความนี้ Kazuha Tani ช่างภาพธรรมชาติผู้มีชื่อเสียงจากการถ่ายภาพกบบนดอกไม้ จะมาแบ่งปันเคล็ดลับในการทำให้ตัวแบบขนาดเล็กโดดเด่นออกมาได้แม้จะมีวัตถุอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่ามากอยู่ในเฟรม (เรื่องโดย: Kazuha Tani, Digital Camera Magazine)
EOS 7D Mark II/ EF100mm f/2.8L Macro IS USM/ FL: 100 มม. (เทียบเท่า 160 มม.)/ Manual exposure (f/3.5, 1/800 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
เรื่องราวเบื้องหลังภาพนี้
ฉันพบกบต้นไม้ญี่ปุ่นตัวนี้กำลังนั่งอยู่บนดอกบัวในเช้าฤดูร้อนวันหนึ่ง อันที่จริง ฉันจะถ่ายแค่ภาพโคลสอัพของตัวกบเลยก็ได้ แต่ฉันต้องการแสดงบริบทให้มากขึ้น ดังนั้น ฉันจึงถอยออกมานิดหน่อยเพื่อให้ดอกไม้ส่วนใหญ่อยู่ในเฟรมภาพด้วย จากนั้นจึงใช้การจัดองค์ประกอบภาพตามกฎสามส่วนเพื่อดึงความสนใจของผู้ชมไปที่ตัวกบ
ดอกไม้ที่กำลังบานกินพื้นที่ส่วนใหญ่ของเฟรม ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวาและสีสันให้กับภาพเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงขนาดด้วย คุณจะเห็นได้ว่ากบมีขนาดเล็กเพียงใดเมื่อเทียบกับดอกไม้!
เทคนิคที่เป็นประโยชน์ 3 ข้อ
1. การใช้กฎสามส่วนอย่างมีทักษะ: วางตัวแบบหลักไว้ใกล้กับจุดตัด
ในภาพนี้ ตัวแบบหลักคือกบ ดังนั้น เป็นสิ่งสำคัญมากที่กบจะต้องดึงดูดความสนใจมากกว่าดอกไม้สีสันสดใสขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านหลัง
อย่าลืมว่ากฎสามส่วนไม่ได้เป็นเรื่องของเส้นที่แบ่งภาพออกเป็นสามส่วนเท่านั้น แต่จุดตัดก็มีความสำคัญเช่นกัน! วัตถุที่ถูกจัดวางอยู่ในตำแหน่งใกล้กับจุดตัดจะสามารถดึงดูดความสนใจได้มากกว่า
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: พื้นฐานการจัดองค์ประกอบภาพ (4): การจัดองค์ประกอบภาพตามเส้นแนวทแยงมุมและกฎสามส่วน
ในภาพนี้ ฉันจัดให้กลีบดอกบัวที่มีกบนั่งอยู่ตรงกับจุดตัดจุดหนึ่ง นี่เป็นเหมือนการส่งสัญญาณไปยังผู้ชมว่า "มองมาที่ฉันสิ!"
เพิ่มประสิทธิภาพของเอฟเฟ็กต์: อย่าลืมทำให้กบดูมีชีวิตชีวา ดวงตาคือหัวใจสำคัญ!
อะไรก็ตามที่ดูมีชีวิตชีวาและอารมณ์ความรู้สึกจะดูโดดเด่นขึ้นในภาพ ฉันพยายามมองหามุมที่สามารถทำให้กบดูมีชีวิตชีวาและใส่บุคลิกให้มันเล็กน้อย
ดวงตาที่เบลอและอยู่นอกโฟกัสอาจทำให้ตัวแบบดูมีเสน่ห์น้อยลง ฉันจึงตรวจดูให้แน่ใจว่าดวงตาของกบอยู่ในโฟกัสอย่างคมชัดก่อนที่จะลั่นชัตเตอร์
2. สร้างโบเก้ในโฟร์กราวด์เพื่อให้เป็นเส้นนำสายตาของผู้ชม
หากตัวแบบของคุณมีขนาดเล็กมาก คุณอาจต้องใช้วิธีการอื่นเพิ่มเติมในการดึงสายตาของผู้ชมไปที่ตัวแบบ
เทคนิคอีกข้อหนึ่งที่คุณสามารถใช้ได้คือ การเบลอโฟร์กราวด์ (สร้างโบเก้ในโฟร์กราวด์) และใช้เส้นนำสายตาในการสร้างความลึกและนำสายตาของผู้ชม
ในภาพด้านล่าง ฉันถ่ายจากตำแหน่งต่ำเพื่อให้เห็นก้านดอกไม้ ซึ่งทำให้เกิดเป็นเส้นนำสายตาแนวตั้งที่นำสายตาของผู้ชมไปยังกบตัวจิ๋วตรงตรงกลางภาพ
3. ปรับแต่งภาพเพื่อให้ตัวแบบ "โดดเด่น" ออกมา
แน่นอนว่าจะเป็นการดีที่สุดหากคุณได้ภาพที่สมบูรณ์แบบตั้งแต่ยังอยู่ในกล้อง อย่างไรก็ตาม ในสภาวะการถ่ายภาพบางอย่าง เช่น เมื่อตัวแบบของคุณอยู่ในที่มืด (ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้นไม้ทำให้เกิดเงาบนตัวแบบ) คุณอาจต้องอาศัยการปรับแต่งภาพสักเล็กน้อย
สำหรับภาพหลักที่มีกบอยู่ในดอกบัวนั้น ฉันใช้การปรับแต่งภาพเพื่อเพิ่มความสว่างตามขั้นตอนต่อไปนี้
- เพิ่ม “เงา”
- เพิ่ม “แสงขาว”
การปรับแต่งนี้ทำให้บางส่วนของภาพสว่างเกินไป ฉันจึงลด "ไฮไลต์" ลงเพื่อปรับความสว่าง
ค่าที่ปรับจะแตกต่างกันไปในแต่ละภาพ ภาพนี้ปรับแต่งโดยใช้ค่าไปนี้
- ไฮไลต์: -44
- เงา: +33
- แสงขาว: +11
ดูเพิ่มเติมได้ที่:
ทำความเข้าใจช่วงไดนามิกเรนจ์: วิธีหลีกเลี่ยงแสงสว่างโพลนที่ไม่จำเป็น
---
หากคุณเพิ่งหัดถ่ายภาพมาโคร ดูเทคนิคที่จำเป็นและคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ได้ที่:
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (4): การใช้เลนส์พิเศษ
การถ่ายภาพมาโครในสภาพแสงน้อย: การป้องกันปัญหากล้องสั่นไหว
เทคนิคการถ่ายภาพด้วยกล้อง EOS M5: การถ่ายภาพมาโคร
เลนส์ EF100mm f/2.8L Macro IS USM ช่วยให้คุณถ่ายภาพด้วยกำลังขยาย 1:1 ได้จากระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 30 ซม. โดยไม่รบกวนสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เลนส์นี้มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัวและเป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับการถ่ายภาพแมลง รวมถึงการถ่ายภาพมาโครประเภทอื่นๆ ด้วย เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของเลนส์รุ่นนี้ได้ใน:
EF100mm f/2.8L Macro IS USM – เลนส์มาโครเทเลโฟโต้ระยะกลางที่มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบไฮบริด
การถ่ายภาพมาโคร: หยาดน้ำค้าง ใบไม้ และดอกไม้ (ฉบับภาษาอังกฤษ)
วิธีถ่ายภาพหยดน้ำให้มีแสงส่องประกาย!
คู่มือเริ่มต้นสำหรับการถ่ายภาพมาโครใต้น้ำ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังจากย้ายออกจากบ้านเกิดในจังหวัดทตโตะริไปยังกรุงโตเกียว อดีตผู้ประกาศข่าว Kazuha Tani ก็เปลี่ยนสายอาชีพมาเป็นช่างภาพธรรมชาติและสัตว์ เมื่อปี 2015 เธอรู้สึกประทับใจที่ได้เห็นภาพกบกำลังปีนดอกไม้ นับจากนั้น ผลงานของเธอก็มักจะเป็นภาพของกบบนดอกไม้ ซึ่งเธอจะแบ่งปันลงบนบัญชีโซเชียลมีเดียของเธอ รวมทั้งในงานนิทรรศการเดี่ยวของเธอด้วย เธอท่องเที่ยวหมู่บ้านในชนบทหลายแห่งในญี่ปุ่นเพื่อตามหาฉากที่บังเอิญมีสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น กบต้นไม้ญี่ปุ่นและกบต้นไม้สีเขียว Schlegel กำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางโลกธรรมชาติ
Instagram: @nya_moo