ภาพมาโครชวนน้ำลายสอ: ศิลปะแห่งการถ่ายภาพอาหารแบบโคลสอัพ
ใครๆ ต่างก็เคยถ่ายภาพอาหารอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต แค่ดูจากภาพอาหารนับไม่ถ้วนที่อัปโหลดในโซเชียลมีเดียทุกๆ วัน! แต่เพราะการถ่ายภาพแนวนี้ได้รับความนิยม คุณจึงต้องใช้ความพยายามมากขึ้นหากต้องการให้ภาพของคุณโดดเด่น ในบทความนี้ เราจะมาแบ่งปันเทคนิคการถ่ายภาพอาหารในแบบที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน โดยใช้ตัวอย่างจากขนมและของหวานต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารประเภทที่คนนิยมถ่ายรูปมากที่สุด
หากต้องการถ่ายภาพแบบโคลสอัพและเห็นรายละเอียดได้ชัดเจน เลนส์มาโครคือเพื่อนแท้ของคุณ
การถ่ายภาพรายละเอียดที่ซับซ้อนของตัวแบบใดก็ตามรวมทั้งอาหารนั้น สร้างมุมมองที่น่าสนใจได้ ซึ่งทำได้โดยเข้าไปใกล้ตัวแบบ แต่หากใช้เลนส์ทั่วๆ ไป คุณจะพบว่าเมื่อเข้าไปใกล้ตัวแบบเกินกว่าระยะหนึ่ง คุณจะไม่สามารถจับโฟกัสได้
เนื่องจากเลนส์ทุกชนิดจะมีระยะโฟกัสใกล้สุด (หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ระยะการถ่ายภาพต่ำสุด) ระยะนี้จะเป็นตัวกำหนดระยะห่างต่ำสุดระหว่างกล้องกับตัวแบบที่ทำให้กลไกการโฟกัสสามารถทำงานได้
เลนส์ทุกตัวมีระยะโฟกัสใกล้สุดที่แตกต่างกันออกไป สำหรับเลนส์มาโครนั้น ระยะดังกล่าวมักจะสั้นกว่าเลนส์ประเภทอื่นๆ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเลนส์มาโครจึงมักนำไปใช้ในการถ่ายภาพตัวแบบที่มีขนาดเล็ก เช่น แมลง ดอกไม้ หยดน้ำ และเครื่องประดับชิ้นเล็กๆ ในบทความนี้ เราจะแสดงวิธีการใช้เลนส์มาโครในการถ่ายภาพขนมและของหวานที่จะทำให้ผู้ชมต้องน้ำลายสอ
นี่คือภาพที่ถ่ายด้วยระยะโฟกัสใกล้สุด (25 ซม.) ของเลนส์ซูมมาตรฐาน (EF-M18-55mm f/3.5-5.6 IS STM) หากเข้าไปใกล้กว่านี้ เลนส์จะไม่สามารถโฟกัสได้
เมื่อใช้เลนส์มาโคร คุณจะสามารถเข้าไปได้ใกล้กว่านี้มาก ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ EF-M28mm f/3.5 Macro IS STM ซึ่งมีระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 9.3 ซม. ในโหมด Super Macro ซึ่งเพียงพอที่จะถ่ายแท่งช็อกโกแลตได้เต็มเฟรม
1. หากไม่แน่ใจว่าจะจัดองค์ประกอบภาพอย่างไร ให้เข้าไปใกล้ๆ ตัวแบบและทำให้รูปร่างของตัวแบบเป็นจุดเด่น!
EOS M50/ EF-M28mm f/3.5 Macro IS STM/ FL: 28 มม. (เทียบเท่า 45 มม.)/ Aperture-priority AE (f/4, 1/20 วินาที, EV+0.33)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
เมื่อถ่ายภาพของหวาน คุณอาจจะพบว่า การจัดองค์ประกอบภาพคือปัญหาที่ทำให้คุณปวดหัวมากที่สุด แต่เลนส์มาโครนั้นมีทางออกง่ายๆ ให้คุณ: เพียงแค่เข้าไปใกล้ตัวแบบ คุณก็จะได้มุมมองใหม่ที่น่าสนใจในทันที ผมพบว่ารูปร่างของครีมเมอแรงก์ปิ้งบนหน้าทาร์ตนั้นดูแปลกตา และการถ่ายภาพแบบโคลสอัพก็ช่วยเสริมให้ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
เทคนิคเพิ่มเติม: เลนส์มาโครยังเก็บรายละเอียดบนเนื้อสัมผัสของขนมด้วย ซึ่งยิ่งทำให้ภาพดูน่าจดจำมากขึ้น และเราจะอธิบายเพิ่มเติมในข้อต่อไป
ภาพขนมทั้งชิ้นไม่สามารถดึงเอา “เสน่ห์” ของขนมออกมาได้ เพราะทำได้เพียงบอกผู้ชมว่าขนมมีหน้าตาเป็นอย่างไรเท่านั้น จึงดูไม่น่ากินเท่า
2. ยั่วผู้ชมด้วยรายละเอียดที่ดูน่าอร่อยแบบโคลสอัพ
EOS M50/ EF-M28mm f/3.5 Macro IS STM/ FL:28 มม. (เทียบเท่า 45 มม.)/ Aperture-priority AE (f/8, 1/20 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
ภาพอาหารที่ดูน่ารับประทานที่สุดนั้นทำให้ผู้ชมรับรู้จากประสาทสัมผัสได้หลายทาง เพราะไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นหน้าตาของอาหารเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นประสาทสัมผัสอื่นๆ ด้วย คุณจะสามารถจินตนาการถึงกลิ่น รสชาติ และความรู้สึกเมื่อกัดลงบนขนมหรือเมื่อขนมอยู่ในปากได้ การถ่ายภาพแบบโคลสอัพทำให้เกิดความรู้สึกเช่นนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากขนมนั้นมีเนื้อสัมผัสที่น่ารับประทานหรือมีรายละเอียดที่ประณีตงดงาม จงเลือกส่วนที่คุณคิดว่าดูน่ารับประทานมากที่สุด ผมรู้สึกว่าสีเหลืองและเนื้อสัมผัสที่น่ารับประทานของเค้กน่าดึงดูดใจมากจึงตัดสินใจถ่ายภาพให้ใกล้ตัวแบบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สีเหลืองของเค้กกินพื้นที่เกินครึ่งของเฟรมทั้งหมดและแสดงให้เห็นผงละเอียดๆ บนเค้กได้อย่างชัดเจน
ภาพที่สวยงามนี้นับเป็น “อาหารตา” เพราะทำให้ผู้ชมเห็นว่าเค้กมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่จินตนาการได้ยากว่าจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้กัดลงบนเค้กชิ้นนี้ และในภาพยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชมมากเกินไป (ชิ้นส้ม แบ็คกราวด์ที่เป็นพื้นไม้ ฯลฯ)
3. ใช้จุดโฟกัสเป็นเส้นนำสายตาของผู้ชม
EOS M50/ EF-M28mm f/3.5 Macro IS STM/ FL: 28 มม. (เทียบเท่า 45 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/8 วินาที, EV+0.67)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
การจะถ่ายภาพอาหารให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจ คุณจะต้องแน่ใจว่าได้โฟกัสที่เหมาะสม อย่าจับโฟกัสอย่างไร้จุดหมาย คุณควรเลือกว่าส่วนไหนของตัวแบบที่น่าสนใจมากที่สุดและโฟกัสไปที่จุดนั้น สำหรับภาพด้านบน ผมตั้งใจให้การตกแต่งอันประณีตสวยงามบนหน้าไวท์ช็อกโกแลตอยู่ในโฟกัสอย่างชัดเจน
หากจุดโฟกัสบนตัวแบบไม่อยู่ในจุดที่คุณต้องการให้ผู้ชมเห็น ภาพนั้นจะชวนให้สับสนและดูไม่เข้ากัน ควรตัดสินใจก่อนว่าต้องการดึงดูดความสนใจของผู้ชมไปยังจุดไหน จึงโฟกัสที่จุดนั้นแล้วถ่ายภาพ ซึ่งคุณอาจจะต้องลองถ่ายสักสองสามภาพก่อนจึงจะประสบความสำเร็จ
เคล็ดลับ: หากต้องการโฟกัสที่แม่นยำมากขึ้น ให้ขยายภาพบนจอ Live View
เฟรมการโฟกัสในหน้าจอขนาด 1 เท่า (ขนาดปกติ)
เฟรมการโฟกัสที่ขยายขนาด 10 เท่า
หากต้องการตรวจสอบว่าโฟกัสของคุณอยู่ในจุดที่ต้องการหรือไม่ ให้ใช้คุณสมบัติการขยายภาพใน Live View คุณสมบัตินี้จะช่วยให้คุณขยายขนาดของภาพได้ถึง 5 หรือ 10 เท่า ซึ่งทำให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าโฟกัสของคุณอยู่ตรงจุดไหน นับว่ามีประโยชน์เป็นพิเศษในการถ่ายภาพแบบมาโครซึ่งการจับโฟกัสให้แม่นยำนั้นเป็นเรื่องยากเนื่องจากระยะชัดตื้น
สรุป
เพื่อให้ภาพขนมหวานของคุณโดดเด่นต่างจากภาพแบบเดียวกันที่มีอยู่นับไม่ถ้วนบนโซเชียลมีเดีย อย่าถ่ายเพียงเพื่อเก็บภาพขนมสวยๆ แต่ให้มองเข้าไปใกล้กว่านั้น ชื่นชมขนมให้มากขึ้น และพยายามหาองค์ประกอบที่ประทับใจ (หรือดึงดูดใจ) คุณ เมื่อทำเช่นนี้ ภาพที่คุณถ่ายจะแสดงออกถึงมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ของคุณเท่านั้น เพียงแค่นี้ก็จะทำให้ผู้ชมประทับใจได้มากขึ้น
Canon มีเลนส์มาโครที่เข้ากันได้กับเมาท์ทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเลนส์ RF, เลนส์ EF, เลนส์ EF-S หรือ เลนส์ EF-M ดังนั้น หากคุณยังไม่มีเลนส์มาโครเป็นของตัวเอง ลองเริ่มตั้งแต่วันนี้ดีไหม
หากต้องการแรงบันดาลใจมากขึ้นในการถ่ายภาพอาหาร โปรดอ่านบทความต่อไปนี้:
การถ่ายภาพอาหารในสไตล์ Chiaroscuro ให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจ
3 วิธีในการยกระดับการถ่ายภาพอาหารของคุณด้วยกล้องแคนนอน EOS R
สำหรับเคล็ดลับการจัดแสงในการถ่ายภาพอาหาร อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
ถ่ายภาพเพสทรีให้ดูชุ่มฉ่ำและน่ากินด้วยเทคนิคการควบคุมแสง
การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์อย่างง่าย: ดอกไม้และขนมหวาน
การถ่ายภาพอาหาร: 2 ไอเดียสำหรับการถ่ายภาพขนมเยลลี่
เทคนิคการใช้เลนส์มาโคร - ถ่ายภาพทาร์ตและเพสตรี้ให้ดูใหม่สดน่ารับประทาน
ทบทวนความรู้พื้นฐานในการถ่ายภาพอาหารได้ที่:
5 วิธีถ่ายภาพอาหารยั่วน้ำลายสำหรับลง Instagram
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!