การถ่ายภาพอาหารในสไตล์ Chiaroscuro ให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจ
EOS 5D Mark II/ EF85mm f/1.2L II USM/ FL: 85 มม./ Manual exposure (f/13, 0.3 วินาที, EV±0)/ ISO 320/ WB: Manual
ในภาพนี้ คุกกี้ถูกตกแต่งให้เป็นธีม Alice in Wonderland ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันออกแบบให้เหมือนอยู่ในปาร์ตี้น้ำชากลางป่า ฉันใช้รีเฟลกเตอร์สีดำ (หรือที่เรียกกันว่าธงดำ) เพื่อเน้นเงาและแบ็คกราวด์สีเข้ม ตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริเวณต่างๆ ที่มีไอซิ่งสีขาวอยู่ได้รับแสงเพียงพอ เพื่อไม่ให้ภาพถ่ายดูมืดทึม นอกจากนี้ ฉันยังนำของประกอบฉากต่างๆ ไปหนุนไว้และถ่ายภาพโดยใช้แสงด้านข้างเพื่อไม่ให้คุกกี้ดูแบนเกินไป
เคล็ดลับที่ 1: ควบคุมทั้งแสงและเงา
อย่าลืมว่า Chiaroscuro แปลว่า “สว่าง-มืด” ไม่ใช่ “มืด” เพียงอย่างเดียว
แม้จะเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “การถ่ายภาพแนวดาร์ค” คุณก็ไม่อาจถ่ายภาพแนว Chiaroscuro ได้โดยใช้เพียงแค่ การเปิดรับแสงน้อย ความสวยงามของภาพถ่ายแนว Chiaroscuro จึงอยู่ที่การใช้ความต่างระหว่างส่วนที่สว่างกับส่วนที่เป็นเงาทึบได้อย่างมีประสิทธิผลนั่นเอง
รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในการจัดแสงเป็นสิ่งสำคัญ
การจะถ่ายภาพ Chiaroscuro ให้ดีนั้น คุณต้องแน่ใจว่า
- แสงนุ่มนวลเพียงพอที่จะเน้นตัวแบบให้ดูเป็นสามมิติ และ
การเปลี่ยนผ่านระหว่างบริเวณแสงกับเงามีความราบรื่นและค่อยเป็นค่อยไป
และการจะทำได้เช่นนี้ คุณจะต้องควบคุมแสงและเงา สิ่งที่ฉันทำคือสร้างทางเดินแสงเพื่อควบคุมปริมาณแสงที่เข้าสู่ภาพและใช้แผ่นรีเฟลกเตอร์สีดำ (หรือแผ่นกระดานสองสามแผ่น) เพื่อสร้างเงาที่เพียงพอสำหรับสื่อถึงความรู้สึกที่หนักแน่นในภาพ
คำแนะนำ
แสงด้านข้าง: มุมของแสงด้านข้างทำให้ง่ายต่อการสร้างความเปรียบต่างที่เด่นชัดระหว่างส่วนที่สว่างกับส่วนที่มืด
แบ็คกราวด์สีเข้ม/สิ่งของประกอบในแบ็คกราวด์: สีเข้มจะช่วยดูดซึมแสงและเพิ่มเงา ทำให้ภาพดูมีความเป็น Chiaroscuro ได้มากยิ่งขึ้น
ภาพที่ใช้งานได้
EOS-1D X/ EF28-70mm f/2.8L IS USM/ FL: 70 มม./ Manual exposure (f/6.3, 1/50 วินาที, EV±0)/ ISO 500/ WB: 4700K
ภาพถ่ายขาวดำนี้เกิดจากการออกแบบโดยนำคุกกี้สโนว์บอลสีขาว จานรองสีดำและส้อม และพื้นสีเทามาจัดวางไว้ด้วยกัน แสงด้านข้างทางขวาสร้างมิติและความราบรื่นในการเปลี่ยนผ่านระหว่างบริเวณแสงและเงาได้ในปริมาณที่พอเหมาะ จึงสามารถนำความสนใจของผู้ชมไปยังคุกกี้สโนว์บอลและพื้นที่ขรุขระได้
การจัดแสง
A: สร้างช่องว่างสำหรับให้แสงส่องผ่าน
B: สร้างเงาและการเปลี่ยนผ่านของโทนสีระหว่างแสงและเงาบนพื้น
C: ใช้รีเฟลกเตอร์สีดำเพื่อดูดซึมแสงและเพิ่มเงา
ฉันใช้รีเฟลกเตอร์สีดำกั้นพื้นที่รอบๆ ตัวแบบ ซึ่งสามารถช่วยขับเน้นเงาของตัวแบบได้ด้วย แสงจะส่องเข้ามาในฉากผ่านทางช่องว่าง A
เคล็ดลับพิเศษ: เมื่อถ่ายภาพสไตล์นี้ คุณจะต้องสร้างบรรยากาศที่มีความนุ่มนวล การใช้แสงที่สว่างจ้าเกินไปจะทำให้ความเปรียบต่างระหว่างแสงกับส่วนที่เป็นเงาดูหยาบกระด้าง หากต้องการให้แสงนุ่มนวลขึ้น ให้ใช้ผ้าม่านลูกไม้หรือตัวกระจายแสง
การออกแบบภาพ: หัวใจสำคัญอยู่ที่แบ็คกราวด์
แบ็คกราวด์สีเข้ม
แบ็คกราวด์สีอ่อน
ควรเลือกใช้แบ็คกราวด์/พื้นสีเข้มในการถ่ายภาพแนว Chiaroscuro แบ็คกราวด์สีเข้มจะช่วยดูดซึมแสงและขับเน้นเงาเช่นเดียวกันกับการใช้รีเฟลกเตอร์สีดำ ในทางตรงกันข้าม แบ็คกราวด์สีอ่อนจะสะท้อนแสงและทำให้เงาดูนุ่มนวล ซึ่งเป็นเอฟเฟ็กต์ที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่คุณต้องการในการถ่ายภาพแนว Chiaroscuro
ความแตกต่างระหว่างภาพถ่ายแนว Chiaroscuro กับภาพที่มืดจนเกินไป
ภาพถ่ายแนว Chiaroscuro
ภาพที่มืดจนเกินไป
ภาพถ่ายแนว Chiaroscuro: มีการสร้างเงาขึ้นอย่างจงใจเพื่อให้อาหารดูสว่างขึ้นในทางตรงกันข้าม คุณสามารถจินตนาการถึงอาหารร้อนๆ จากลักษณะที่ดูเปล่งประกายนี้ได้ แต่สังเกตว่าภาพยังคุมบริเวณที่สว่างเหล่านี้ได้ดีโดยไม่มีส่วนที่สว่างจ้าเกินไป
ภาพที่มืดเกินไป: ดูมืดโดยรวม และไม่มีความเปรียบต่างระหว่างส่วนที่สว่างกับส่วนที่เป็นเงาเลย
เคล็ดลับที่ 2: อย่าปล่อยให้อาหารเย็นชืดขณะจัดเตรียมฉาก ควรเตรียมการทุกอย่างไว้ล่วงหน้า
หลักการสำคัญสองข้อในการถ่ายภาพอาหาร
1. ถ่ายภาพเมื่ออาหารทำเสร็จใหม่ๆ จากครัว อาหารจะดูน่ารับประทานน้อยลงหากคุณปล่อยทิ้งไว้นาน
2. ทำงานด้วยความรวดเร็ว ถ่ายภาพอาหารขณะยังร้อนๆ และถ่ายภาพอาหารที่เย็นก่อนจะละลาย หากคุณต้องการให้ภาพถ่ายออกมาดูน่ารับประทาน สิ่งสำคัญที่สุดคือถ่ายภาพเมื่ออาหารทำเสร็จใหม่ๆ จากครัว
เตรียมการทุกอย่างให้พร้อมมากที่สุดก่อนทำอาหารเสร็จ
เนื่องจากคุณต้องปรับมุมของแสงอย่างละเอียดตามความจำเป็น คุณจึงอาจใช้เวลาสักพักกว่าจะจัดฉากและอุปกรณ์ทั้งหมดให้เข้าที่เข้าทาง เตรียมการทุกอย่างให้เรียบร้อยมากที่สุดก่อนอาหารพร้อม หรือแม้แต่ก่อนที่คุณจะเริ่มเตรียมอาหาร สิ่งสำคัญคือดูให้แน่ใจว่าเมื่อนำอาหารออกมาจากครัวและวางบนโต๊ะแล้ว การถ่ายภาพจะดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุด
---
ขั้นตอนการถ่ายภาพ
1. ขณะจัดเตรียมฉาก ควรตัดสินใจเลือกแบ็คกราวด์ จานและช้อนส้อม สไตล์ และการจัดแสงไว้ให้พร้อม
2. ทดสอบถ่ายภาพจานที่วางในตำแหน่งต่างๆ (โดยไม่มีอาหาร)
3. เลือกระยะและมุมถ่ายภาพ ทางยาวโฟกัสของเลนส์ การตั้งค่ากล้อง และเทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพ (เช่น หากคุณตั้งใจจะใช้กฎสามส่วน)
---
หากทำตามขั้นตอนได้สมบูรณ์แบบ สิ่งเดียวที่คุณต้องทำหลังจากนั้นคือวางอาหารแล้วลั่นชัตเตอร์
เคล็ดลับพิเศษ: การใช้ขาตั้งกล้องก็ช่วยได้มาก เพราะจะทำให้กล้องนิ่งอยู่กับที่เมื่อคุณเปลี่ยนค่าการรับแสง รูรับแสง หรือจุดโฟกัสระหว่างที่กำลังถ่ายภาพ
EOS 5D Mark II/ EF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 88 มม./ Manual exposure (f/5.0, 1/60 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
อาหารชนิดใดก็ตามที่มีรสชาเขียวมักได้รับการจัดวางเข้ากับองค์ประกอบแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม แต่ในภาพนี้ ฉันตัดสินใจใช้การออกแบบ "สไตล์ตะวันตก" การผสมผสานระหว่างกลิ่นอายแบบตะวันออกกับตะวันตกสามารถสร้างความหรูหราสง่างามได้เป็นอย่างดี ในภาพนี้ นอกจากจะสร้างจังหวะและเลย์เอาต์ที่สวยงามแล้ว ฉันยังต้องการขับเน้นรายละเอียดพื้นผิวของไอศกรีมโคนเพื่อให้มั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านระหว่างบริเวณแสงกับเงาจะราบรื่นและค่อยเป็นค่อยไปอีกด้วย ซึ่งจำเป็นต้องปรับแต่งรายละเอียดต่างๆ อย่างพิถีพิถันในระหว่างการทดลองถ่ายภาพ
ในระหว่างทดลองถ่ายภาพ ฉันไม่เพียงแต่ปรับมุมของแสงและตำแหน่งของรีเฟลกเตอร์สีดำเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนตำแหน่งและเลย์เอาต์ของไอศกรีมโคนด้วย การใช้ขาตั้งกล้องช่วยให้กล้องนิ่งอยู่กับที่ระหว่างการเตรียมการอันยาวนาน จากนั้นจึงตักไอศกรีมขึ้นมาหลังจากเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว
เคล็ดลับที่ 3: อาหารจะดูน่ารับประทานยิ่งขึ้นหากคุณจับภาพความมันเป็นประกายได้พอเหมาะพอดี
สิ่งสำคัญคือการจับภาพส่วนที่สว่าง
หากทุกอย่างลงตัว ซุปและอาหารต่างๆ ที่ใส่ซอสและน้ำเกรวี่จะดู “ชุ่มฉ่ำมากขึ้น” และน่ารับประทานยิ่งขึ้น
1. มุมของแสงเป็นสิ่งสำคัญ ควรเลือกใช้แสงด้านข้างหรือแสงย้อนครึ่งหนึ่ง จากนั้นถ่ายภาพจากมุมทแยงด้านบนตัวแบบ
2. ความมันของอาหารจึงควรมีสัดส่วนไม่เกินยี่สิบหรือสามสิบเปอร์เซ็นต์ หากมีส่วนที่มันมากเกินไปอาหารจะดูสว่างจ้ามาก หรือหากน้อยเกินไปอาหารก็จะดูไม่น่ารับประทาน
EOS 5D Mark II/ EF100mm f/2.8L Macro IS USM/ FL: 100 มม./ Manual exposure (f/6.3, 1/40 วินาที, EV±0)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ในภาพนี้ ฉันพยายามไม่เปิดรูรับแสงมากเกินไป เนื่องจากเอฟเฟ็กต์นอกโฟกัสที่เด่นชัดเกินไปอาจบดบังรายละเอียดต่างๆ ในส่วนที่สว่างและบนถ้วยชาม
เคล็ดลับพิเศษ: ฉันแนะนำให้ใช้ทางยาวโฟกัสอย่างน้อย 70 มม. (เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.) เนื่องจากลักษณะเฉพาะของเลนส์มุมกว้างในทางยาวโฟกัสที่สั้นกว่าอาจทำให้รูปทรงของจานบิดเบี้ยวและทำให้ภาพถ่ายดูไม่เป็นธรรมชาติ (สำหรับภาพตัวอย่างที่ถ่ายด้วยเลนส์ชนิดนี้ โปรดดูเทคนิคที่ 3 ใน เทคนิคการใช้เลนส์: เคล็ดลับ 4 ข้อในการฝึกฝนใช้งาน EF-S18-55mm f/4-5.6 IS STM)
โปรดดูบทความต่อไปนี้สำหรับเคล็ดลับและบทช่วยสอนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพอาหาร:
3 เทคนิคการออกแบบและจัดองค์ประกอบสำหรับการถ่ายภาพอาหาร
การถ่ายภาพอาหารด้วย EOS M10: 2 ไอเดียสำหรับการถ่ายภาพขนมเยลลี่
ถ่ายภาพเพสทรีให้ดูชุ่มฉ่ำและน่ากินด้วยเทคนิคการควบคุมแสง
เคล็ดลับในการถ่ายภาพและออกแบบอาหาร
การถ่ายภาพกาแฟ – การถ่ายภาพกาแฟลงใน Instagram (ฉบับภาษาอังกฤษ)
เทคนิคการถ่ายภาพแบบ Strobist ในการถ่ายภาพอาหาร (ฉบับภาษาอังกฤษ)
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
ช่างภาพอาหารมืออาชีพ Reiko Nanto ค้นพบใจรักในศิลปะขณะศึกษาอยู่ในต่างประเทศที่มหาวิทยาลัย Angers ในฝรั่งเศส เมื่อกลับมาญี่ปุ่น เธอเข้าเรียนที่โรงเรียนการออกแบบ Kuwasawa เพื่อศึกษาด้านการออกแบบและจบการศึกษาในสาขาการถ่ายภาพ จากนั้น เธอเข้าฝึกงานกับ Yoshikatsu Saeki ผู้บุกเบิกการถ่ายภาพอาหารในญี่ปุ่นเป็นเวลาห้าปี ก่อนแยกตัวออกมาเป็นช่างภาพอิสระ โดยเริ่มก่อตั้งบริษัทของตัวเองที่มีชื่อว่า Nanto International, Ltd. เธอมุ่งสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่ดูน่ารับประทานซึ่งผสมผสานศิลปะ การออกแบบ และอาหาร Nanto ถ่ายภาพอาหารและเพสทรีต่างๆ สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์และโฆษณาและมากมาย
เอื้อเฟื้อภาพโปรไฟล์โดย: JAPAN PHOTOSTYLING ASSOCIATION
https://photostyling.jp/