ลงลึกถึงพื้นฐาน: เลนส์เดี่ยว/เลนส์ซูมคืออะไร
เลนส์ซูมคือเลนส์ที่ครอบคลุมทางยาวโฟกัสช่วงใดช่วงหนึ่ง (มุมรับภาพ) ซึ่งมักจะมีตัวเลขระบุไว้บนเลนส์ เลนส์นี้ช่วยให้คุณสามารถถ่ายภาพฉากนั้นๆ ได้ใกล้ขึ้นหรือกว้างขึ้นเมื่อคุณหมุนวงแหวนซูม
ในขณะเดียวกัน เลนส์เดี่ยวมีทางยาวโฟกัสเดียวเท่านั้น จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสคงที่”
วิธีแยกแยะระหว่างเลนส์เดี่ยวกับเลนส์ซูม
วิธีที่ง่ายที่สุดในการแยกความแตกต่างของเลนส์ทั้งสองคือการดูชื่อเลนส์!
หากชื่อของเลนส์แสดงทางยาวโฟกัสเดียว นั่นคือเลนส์เดี่ยว
หากชื่อของเลนส์แสดงช่วงทางยาวโฟกัส นั่นคือเลนส์ซูม
ในเมื่อคุณเข้าใจความหมายแล้ว เราลองมาศึกษากันว่าเมื่อใดควรใช้เลนส์ซูมและเมื่อใดควรใช้เลนส์เดี่ยว
1. ขนาดสำคัญหรือไม่
คุณอาจเข้าใจว่าเลนส์เดี่ยวนั้นเล็กกว่าเลนส์ซูม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นเรื่องจริงสำหรับเลนส์ในระดับเดียวกัน แต่ตัวเลนส์จะมีขนาดเล็กกว่ามากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับทางยาวโฟกัสและปัจจัยอื่นๆ ด้วย สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขนาดต่างกันคือลักษณะทางกายภาพ กล่าวคือ เลนส์ซูมมีส่วนประกอบทางออพติคอลมากกว่าและต้องใช้พื้นที่ภายในท่อเลนส์มากกว่าเพื่อให้ทำงานได้
ตัวอย่างโครงสร้างเลนส์ซูม
โครงสร้างเลนส์ของ RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM ที่ระยะสุดฝั่งมุมกว้าง (15 มม.) กลุ่มเลนส์ในกรอบสีแดงจะเคลื่อนที่ขณะทำการซูม
ตัวอย่างโครงสร้างเลนส์เดี่ยว
โครงสร้างเลนส์ของ RF16mm f/2.8 STM เลนส์รุ่นนี้เหมือนกับ RF15-30mm f/4.5-6.3 IS STM ตรงที่เป็นเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ แต่เลนส์นี้จะใช้พื้นที่น้อยกว่าเพราะไม่มีชิ้นเลนส์สำหรับการซูม
ดังนั้นตอบสั้นๆ ได้ว่า เลนส์เดี่ยวมักจะเบากว่าและเล็กกว่าเลนส์ซูมที่ครอบคลุมทางยาวโฟกัสเท่ากันและที่เป็นเลนส์ในระดับเดียวกัน
ข้อควรรู้: ช่วงทางยาวโฟกัสเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ตัวกำหนดขนาดและน้ำหนักของเลนส์
เลนส์เดี่ยวไม่ได้มีขนาดเล็กกว่าและเบากว่าเลนส์ซูมเสมอไป มีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อขนาดของเลนส์ ซึ่งรวมถึง
- เป็นเลนส์เทเลโฟโต้/ เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้: เนื่องจากลักษณะทางกายภาพ ทำให้ทางยาวโฟกัสยาวๆ มักต้องใช้ท่อเลนส์ที่ยาวขึ้น
- เป็นเลนส์ระดับมืออาชีพหรือไม่: เลนส์ระดับมืออาชีพ (เลนส์ L) มีชิ้นเลนส์มากกว่าและมีโครงสร้างที่แข็งแรงกว่า เพื่อให้แน่ใจว่ามีคุณภาพทางออพติคอลที่ดีขึ้นและมีความทนทานยิ่งขึ้นแม้แต่ท่ามกลางสภาพอากาศที่ท้าทาย
- รูรับแสงกว้างสุด: รูรับแสงกว้างสุดที่กว้างมากมักต้องใช้ชิ้นเลนส์ใหญ่ๆ แต่สมดุลจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการออกแบบเลนส์และปัจจัยอื่นๆ
ตัวอย่างเลนส์ RF ที่เล็กและเบาที่สุดของ Canon
RF50mm f/1.8 STM
มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Nifty Fifty” ซึ่งมาจากคุณสมบัติความอเนกประสงค์ของเลนส์ นับเป็นเลนส์ที่หลายคนนึกถึงเมื่อเห็นคำว่า “เลนส์เดี่ยว”
RF16mm f/2.8 STM
Canon ประสบความสำเร็จทางวิศวกรรมเมื่อสร้างสรรค์เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ความไวแสงสูง ขนาดกะทัดรัด และน้ำหนักเบารุ่นนี้ขึ้นมา! นี่เป็นเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่เล็กที่สุดในกลุ่มเลนส์ RF ในขณะนี้
RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM
ออกแบบมาสำหรับกล้อง APS-C เลนส์ซูมมาตรฐานขนาดจิ๋วรุ่นนี้ยาวเพียง 4 ซม. เมื่อหดจนสุด และมีน้ำหนักเพียง 130 กรัมโดยประมาณ อย่างไรก็ตาม คุณยังสามารถใช้เลนส์นี้กับกล้อง EOS R แบบฟูลเฟรมในโหมดครอป 1.6 เท่าได้อีกด้วย เลนส์นี้ให้มุมรับภาพเทียบเท่าฟูลเฟรม 29 ถึง 72 มม.
อย่าลืม: คุณสมบัติการครอปสำหรับกล้อง APS-C
หากคุณใช้กล้อง APS-C มุมรับภาพที่คุณได้จะเทียบเท่ากับ 1.6 เท่าของทางยาวโฟกัสในชื่อเลนส์ เช่น เลนส์ 50 มม. ทำงานได้เหมือนเลนส์ 80 มม.
2. คุณจำเป็นต้องใช้รูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่หรือไม่
2. คุณจำเป็นต้องใช้รูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่หรือไม่
มีเหตุผลหลักอยู่สองข้อที่ว่าทำไมช่างภาพอาจต้องการเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดขนาดใหญ่ (“เลนส์ที่มีความไวแสงสูง”) นั่นคือประสิทธิภาพเมื่อถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อยและโบเก้
ออพติคที่เรียบง่ายขึ้นของเลนส์เดี่ยวยังทำให้รวมรูรับแสงกว้างสุดใหญ่ๆ ไว้ในเลนส์ได้ง่ายขึ้นโดยไม่ส่งผลต่อขนาดและต้นทุนมากนัก นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมเลนส์เดี่ยวที่ราคาย่อมเยาที่สุดจึงสามารถมีความไวสูงได้ถึง f/1.8!
ประสิทธิภาพเมื่อถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย
EOS R3 + RF135mm f/1.8L IS USM ที่ f/1.8, 1/1600 วินาที, ISO 3200
เมื่อใช้เลนส์ความไวแสงสูง คุณสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวหรือป้องกันกล้องสั่นไหว ขณะที่รักษาความไวแสง ISO ให้ต่ำเพื่อหลีกเลี่ยงจุดรบกวนบนภาพ ยกตัวอย่างเช่น ภาพนี้ถ่ายที่ 1/1600 วินาทีเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของนักฟันดาบ
ข้อควรรู้: เนื่องจากเลนส์ของ Canon วัดแสงที่รูรับแสงกว้างสุด เลนส์ที่มีความไวแสงสูงๆ จึงช่วยให้ AF ทำงานได้ดีขึ้นในสภาวะแสงน้อย
โบเก้
วิธีง่ายๆ วิธีหนึ่งที่จะทำให้ได้โบเก้ที่นุ่มนวลสวยงามคือ การใช้รูรับแสงกว้างๆ และรูรับแสงที่กว้างที่สุดก็อยู่ในเลนส์เดี่ยว
EOS R5 + RF85mm f/1.2L USM ที่ f/1.2, 1/2000, ISO 200 (EV +1)
โบเก้ในแบ็คกราวด์ที่นุ่มนวลสวยงามที่ f/1.2 เนื่องจากคุณสามารถรักษาระยะห่างจากตัวแบบได้อย่างสบายๆ ดังนั้น 85 มม. จึงเป็นทางยาวโฟกัสที่ง่ายต่อการถ่ายภาพบุคคลอีกด้วย!
EOS R5 + RF135mm f/1.8L IS USM ที่ f/1.8, 1/3200 วินาที, ISO 400
เลนส์เทเลโฟโต้ยาวๆ จะเสริมโบเก้ที่ได้จากการถ่ายภาพด้วยรูรับแสงกว้าง
4. คุณต้องการความอเนกประสงค์มากขึ้นหรือไม่
3. สไตล์การถ่ายภาพของคุณเป็นอย่างไร คุณต้องใช้พื้นที่แค่ไหนในการเคลื่อนที่ไปมา
4. คุณกำลังมองหาเลนส์ที่มีสารพัดประโยชน์ในบอดี้เดียวใช่หรือไม่
เราจะพูดถึงสองประเด็นนี้ร่วมกัน
เลนส์เดี่ยว: ความคล่องตัวมาก เหมาะสำหรับทำการค้นพบที่คาดไม่ถึง!
เมื่อใช้เลนส์เดี่ยว การถ่ายภาพเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการเคลื่อนตัวมาก คุณจะต้องเข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้นเพื่อถ่ายภาพที่ระยะใกล้ๆ และถอยหลังหากคุณต้องการภาพมุมกว้างขึ้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คุณต้อง “ใช้เท้าของตัวเองซูมเข้าออก” ช่างภาพบางคนอาจพบว่าวิธีนี้ทำได้ง่ายกว่าการหมุนวงแหวนซูม และฝึกให้คุณขยับเท้าได้เร็วขึ้นแน่นอน หรือเสี่ยงที่จะพลาดภาพนั้นๆ ไป!
หากคุณเบื่อหน่ายกับการถ่ายภาพซ้ำซากหรือกำลังมองหามุมมองใหม่ๆ คุณอาจพบว่าความท้าทายในการถ่ายภาพด้วยทางยาวโฟกัสเดียวเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากคุณต้องเคลื่อนที่ไปรอบๆ เพื่อหาองค์ประกอบที่เหมาะกับสิ่งที่คุณมี คุณไม่เพียงแต่ต้องคิดให้มากขึ้นและค้นพบสิ่งใหม่ๆ แต่จำเป็นต้องทดสอบความสามารถในการจัดองค์ประกอบภาพของตัวเองอีกด้วย!
ถ่ายด้วย RF16mm f/2.8 STM
สิ่งที่ค้นพบในระหว่างที่พยายามถ่ายภาพโคลสอัพด้วย RF16mm f/2.8 STM ขณะออกไปเดินเล่น ด้วยโบเก้ f/2.8 รั้วสีเขียวอมน้ำเงินเข้มเพิ่มองค์ประกอบพื้นผิวที่น่าสนใจ และยังสร้างสมดุลให้กับโทนสีเขียวอบอุ่น เสริมให้ดอกไลแลคสีชมพูโดดเด่นยิ่งขึ้น
ถ่ายด้วย RF16mm f/2.8 STM
คุณอาจจะอยากซูมเข้าไปในตัวแบบที่สะดุดตาคุณ แต่จะทำอย่างไรหากคุณไม่สามารถทำได้ การถูกจำกัดให้ใช้ได้เพียง 16 มม. บังคับให้ช่างภาพที่ถ่ายภาพนี้ต้องพยายามหาวิธีอื่นๆ เพื่อดึงความสนใจไปที่กระท่อม เช่น การทำให้สีตัดกันและการใช้เส้นนำสายตา หากเป็นคุณ จะทำอย่างไร
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
3 โจทย์ท้าทายที่ดูเหมือนง่าย แต่ยกระดับทักษะการถ่ายภาพของคุณได้
เลนส์เดี่ยวมุมกว้างพร้อมความสามารถในการถ่ายภาพมาโคร
เลนส์เดี่ยวที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบาที่แนะนำไว้ในข้อ 1. เหมาะสำหรับการสำรวจมุมต่างๆ หากต้องการความเป็นไปได้มากขึ้น ลองใช้เลนส์เดี่ยวต่อไปนี้ที่จะช่วยให้สามารถถ่ายภาพโคลสอัพได้ด้วยกำลังขยายอย่างต่ำ 0.5 เท่า
การเลือกเลนส์เดี่ยว: คุณชื่นชอบทางยาวโฟกัสแบบใดเป็นพิเศษหรือไม่
ความรู้นี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่าจะซื้อเลนส์เดี่ยวรุ่นใด คนส่วนใหญ่มีทางยาวโฟกัสบางระยะที่ตนเองชื่นชอบโดยไม่รู้ตัว ลองประเมินภาพที่คุณถ่ายด้วยเลนส์คิทหรือเลนส์ซูมที่คุณโปรดปราน ตัวอย่างเช่น หากมีหลายภาพที่ถ่ายที่ระยะประมาณ 35 มม. เลนส์เดี่ยว 35 มม. อาจมีประโยชน์มากที่สุดสำหรับคุณ
แน่นอนว่าหากคุณต้องการออกนอกกรอบเดิมๆ ก็สามารถซื้อเลนส์เดี่ยวที่มีทางยาวโฟกัสที่คุณไม่ค่อยใช้ และราคาอาจย่อมเยากว่าเลนส์ซูมในระดับเดียวกัน ลองพิจารณา RF600mm f/11 IS STM หรือ RF800mm f/11 IS STM ซึ่งมีทางยาวโฟกัสที่เลนส์ซูมมักจะไม่ครอบคลุม
เลนส์ซูม: เพื่อความยืดหยุ่นในการจัดองค์ประกอบได้ง่ายขึ้น
สำหรับพื้นที่ที่จำกัดที่คุณไม่สามารถเคลื่อนที่ไปรอบๆ ได้มากนัก หรือหากคุณต้องการเพียงแค่ความสะดวกสบายในการถ่ายภาพที่ระยะใกล้และในมุมกว้างผสมผสานกันโดยไม่ต้องเคลื่อนที่มากหรือเปลี่ยนเลนส์ เลนส์ซูมย่อมมีความอเนกประสงค์มากที่สุด
24 มม.
50 มม.
70 มม.
240 มม.
ทุกภาพถ่ายด้วย RF24-240mm f/4-6.3 IS STM ที่ f/8, 1/160 วินาที, ISO 100
ในบางสถานการณ์ เพียงแค่การขยับเข้าไปใกล้ขึ้นอาจไม่ได้ทำให้คุณเข้าใกล้รายละเอียด ยกตัวอย่างเช่น รายละเอียดในศาลาด้านบนไม่สามารถมองเห็นได้จากใต้ศาลา เลนส์ซูมช่วยให้คุณมีตัวเลือกในการเปลี่ยนขอบเขตการมองเห็นขณะอยู่ในตำแหน่งเดิม
ข้อควรรู้: เลนส์ซูมที่มีรูรับแสงแบบปรับได้และเลนส์ซูมที่มีรูรับแสงคงที่
ความท้าทายของการออกแบบเลนส์ซูมที่มีรูรับแสงกว้างหมายความว่า เลนส์ซูมราคาย่อมเยาที่สุดหรือมีน้ำหนักเบาที่สุดมักจะเป็นเลนส์ที่มีรูรับแสงแบบปรับได้ โดยที่รูรับแสงกว้างสุดจะแคบลงเมื่อใช้ทางยาวโฟกัสยาวขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ใน RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM รูรับแสงกว้างสุดที่ระยะสุดฝั่ง 150 มม. คือ f/6.3
ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงกว้างสุดกับทางยาวโฟกัสในเลนส์ที่มีรูรับแสงแบบปรับได้
(ในความเป็นจริง อัตราการลดขนาดรูรับแสงกว้างสุดจะสม่ำเสมอน้อยกว่าและขึ้นอยู่กับการออกแบบเลนส์)
หากคุณต้องการความอเนกประสงค์ของเลนส์ซูม แต่ต้องการให้มีรูรับแสงเท่ากันตลอดทั้งช่วงทางยาวโฟกัส ก็ควรเตรียมตัวลงทุนซื้อเลนส์ที่มีรูรับแสงคงที่ เลนส์ต่อไปนี้เป็นเลนส์ระดับมืออาชีพ (ซีรีย์ L) และราคาสูงกว่า แต่มีซีลป้องกันสภาพอากาศ ซึ่งทำให้มีความทนทานกว่าแม้ในสภาพอากาศที่รุนแรง
ตัวอย่างเลนส์ซูมที่มีรูรับแสงคงที่
เลนส์ซูม f/4
เลนส์ซูม f/2.8
อย่างไรก็ตาม หากคุณต้องการเสริมทางยาวโฟกัสของเลนส์คิทโดยมีงบประมาณจำกัด หรือกำลังมองหาความคล่องตัวที่ดีกว่า ควรลองใช้เลนส์ซูมที่มีรูรับแสงแบบปรับได้ต่อไปนี้
ตัวอย่างเลนส์ซูมที่มีรูรับแสงแบบปรับได้
กลุ่มของเลนส์มุมกว้าง เลนส์มาตรฐาน และเลนส์เทเลโฟโต้ เรียกว่า “เลนส์ทรงพลังสามรุ่น” เนื่องจากช่วงโฟกัสกว้างที่เลนส์เหล่านี้ให้รวมกันถือว่าเพียงพอที่จะถ่ายภาพได้ในฉากแทบทุกแบบ การมีกลุ่มเลนส์ f/2.8 หรือ f/4 ทรงพลังสามรุ่นไว้เป็นเรื่องดีหากคุณต้องการความอเนกประสงค์สูงสุด แต่แน่นอนว่าคุณสามารถผสมผสานการใช้งานได้ตามต้องการ!
หากต้องการความยืดหยุ่นสูงสุดในการจัดเฟรมภาพ ลองใช้เลนส์ซูเปอร์ซูม
*เลนส์ซูเปอร์ซูมคือเลนส์ซูมที่ครอบคลุมทางยาวโฟกัสมุมกว้างไปจนถึงทางยาวโฟกัสเทเลโฟโต้ระยะกลางหรือเทเลโฟโต้ นับเป็นตัวเลือกที่ดีเวลาเดินทาง!
RF24-240mm f/4-6.3 IS STM
ด้วยพลังซูม 10 เท่า เลนส์นี้ผสมผสานความอเนกประสงค์เข้ากับคุณภาพของภาพถ่ายอันยอดเยี่ยม เมื่อใช้กับกล้อง EOS R แบบฟูลเฟรม ให้เปิดโหมดครอป 1.6 เท่าเพื่อยืดระยะให้ไกลขึ้นถึงเทียบเท่า 384 มม.
RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM
เลนส์นี้มีน้ำหนักเพียง 310 กรัม ออกแบบมาสำหรับผู้ใช้กล้อง APS-C EOS R (หรือผู้ใช้กล้อง EOS R แบบฟูลเฟรมที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกในการพกพา) เลนส์นี้ครอบคลุมช่วงทางยาวโฟกัสเทียบเท่าฟูลเฟรม 29 ถึง 240 มม.
คำถามคือ หากเลนส์ซูเปอร์ซูมมีขนาดเล็กกะทัดรัดและมีความสามารถรอบด้านขนาดนี้ ทำไมยังมีคนซื้อเลนส์ที่มีรูรับแสงแบบปรับได้ที่มีระยะการซูมน้อยกว่ามาก คำตอบอยู่ในประเด็นสุดท้าย
5. คุณภาพด้านออพติคอลสำคัญหรือไม่
5. คุณภาพด้านออพติคอลสำคัญหรือไม่
คุณอาจจะเคยได้ยินว่าเลนส์เดี่ยวมีความคมชัดกว่าเลนส์ซูม นั่นเป็นเพราะการจะสร้างเลนส์ซูมที่มีคุณภาพด้านออพติคอลที่ดีอย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงโฟกัสต้องใช้ความพยายามมากกว่า มีความคลาดที่ต้องแก้ไขมากกว่า เนื่องจากความคลาดของเลนส์ต่างๆ เกิดขึ้นที่ช่วงทางยาวโฟกัสแตกต่างกัน เมื่อเทียบกันแล้ว การออกแบบเลนส์เดี่ยวเพียงต้องปรับให้เหมาะสมกับทางยาวโฟกัสเดียวเท่านั้น!
ยิ่งมีช่วงโฟกัสมาก ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะแน่ใจว่าคุณภาพออพติคอลอยู่ในระดับที่สม่ำเสมอตลอดทั้งเลนส์ ด้วยเหตุนี้ เลนส์ซูเปอร์ซูมจึงขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพด้านออพติคอลที่แย่กว่า และทำให้เลนส์ซูมที่มีช่วงโฟกัสแบบเดียว (มุมกว้าง มาตรฐาน หรือเทเลโฟโต้) ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ และยังเป็นสาเหตุว่าทำไมช่างภาพที่พิถีพิถันในเรื่องคุณภาพของภาพถ่ายมักจะชอบเลนส์เดี่ยว
ข้อควรรู้: เลนส์ซูมประสิทธิภาพสูง
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เลนส์ซูมระดับมืออาชีพสามารถมีคุณภาพเทียบเคียงกับเลนส์เดี่ยวระดับมืออาชีพ ยกตัวอย่างเช่น RF28-70mm f/2L USM มักเป็นที่พูดถึงว่ามีความคมชัดเหมือนมี “เลนส์เดี่ยวสี่ตัวในบอดี้เดียว” อย่างไรก็ตาม ชุดออพติคแก้ไขที่เกี่ยวข้องทำให้ขนาดและน้ำหนักของเลนส์เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความคล่องตัว แต่ก็ขึ้นอยู่กับความชอบด้วย คุณอาจรู้สึกว่าการพกพาเลนส์ซูมที่มีขนาดใหญ่แต่ความไวแสงสูงและมีคุณภาพสูงนั้นสะดวกสบายกว่าและเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าการซื้อเลนส์เดี่ยวหลายตัว
สรุป: เลนส์ตัวต่อไปที่ฉันต้องการคือเลนส์ซูมหรือเลนส์เดี่ยว
หลังจากอ่านประเด็นด้านบนและประเมินงบประมาณแล้ว คุณก็น่าจะทราบข้อดีและข้อเสียของเลนส์แต่ละแบบ ขั้นตอนต่อไปคือการประเมินเลนส์ที่คุณมีอยู่ในปัจจุบัน คุณรู้สึกว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง เลนส์ตัวไหนจะช่วยเติมเต็มช่องว่างได้
ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดหรือ “สมบูรณ์แบบ” สำหรับเลนส์ที่ควรมี แม้แต่ช่างภาพมืออาชีพยังผสมผสานการใช้งานเลนส์ประเภทต่างๆ ตามความชอบและความต้องการส่วนตัว
ต่อไปคุณจะซื้อเลนส์อะไร
(เทียบกับเลนส์ซูมในระดับเดียวกัน) |
|
ข้อดี | ข้อเสีย |
- โดยทั่วไปราคาย่อมเยากว่า - โดยทั่วไปมีขนาดเล็กกว่าและเบากว่า - คมชัดกว่า - มีรูรับแสงกว้างสุดที่ใหญ่กว่า โบเก้ดีกว่า - ประสิทธิภาพการถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อยดีกว่า - ช่วยฝึกการจัดองค์ประกอบภาพ - บางคนรู้สึกว่าการ “ใช้เท้าของตัวเองซูมเข้าออก” เป็นเรื่องง่ายกว่า |
- มีทางยาวโฟกัสเดียวเท่านั้น - ต้องขยับร่างกายเพื่อซูม - การจัดองค์ประกอบท้าทายมากขึ้น |
เลนส์ซูม (เทียบกับเลนส์เดี่ยวในระดับเดียวกัน) |
|
ข้อดี | ข้อเสีย |
- ความอเนกประสงค์: ทางยาวโฟกัสหลายขนาดในบอดี้เดียว - ความสะดวกสบาย |
- รูรับแสงกว้างสุดมีขนาดเล็กกว่า - มีขนาดใหญ่กว่าและหนักกว่า - อาจไม่คมชัดเท่าเลนส์เดี่ยว |