เปิดตัวเลนส์ RF-S สองรุ่นแรกจาก Canon
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2022 Canon ได้เปิดตัวเลนส์ RF รุ่นใหม่สองรุ่น ได้แก่ RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM และ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM เลนส์ทั้งสองเป็นรุ่นแรกในซีรีย์ RF-S โดยได้รับการปรับปรุงให้เหมาะกับกล้องที่ใช้เซนเซอร์ APS-C และยังมีข้อดีมากมายของเมาท์ RF เช่น คุณสมบัติด้านออพติคอลที่ยอดเยี่ยมและอินเทอร์เฟซการสื่อสารความเร็วสูงในตัวกล้องขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และจับถือง่าย
เลนส์ RF ขนาดเล็กน้ำหนักเบาเหมาะสำหรับกล้อง APS-C
ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และมีคุณภาพของภาพที่ยอดเยี่ยม: เลนส์ RF ที่เหมาะสำหรับกล้อง APS-C
เช่นเดียวกับที่กล้องซีรีย์ DSLR EOS มีเลนส์ EF-S ที่ออกแบบมาเพื่อกล้อง APS-C ในกลุ่มโดยเฉพาะ เลนส์ RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM และ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM ก็ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเปิดตัวพร้อมกับ EOS R7 และ EOS R10 ซึ่งเป็นกล้อง APS-C รุ่นแรกในซีรีย์ EOS R
เมื่อใช้เมาท์ RF รุ่นใหม่ เลนส์จึงนำคุณสมบัติที่ดีที่สุดของระบบกล้อง EOS R ออกมาใช้ได้ ทำให้สื่อสารข้อมูลระหว่างเลนส์กับตัวกล้องได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคุณสมบัติต่างๆ เช่น โฟกัสอัตโนมัติ (AF) การควบคุมระดับแสงแบบเรียลไทม์ ระบบป้องกันภาพสั่นไหว และการแก้ไขความคลาดของเลนส์แบบดิจิตอล (อ่านคุณสมบัติเหล่านี้ได้ที่ 6 คุณสมบัติที่สำคัญของเลนส์ RF)
ในขณะเดียวกัน เลนส์เหล่านี้ยังได้ประโยชน์จากข้อดีด้านขนาดและน้ำหนักที่ได้จากเซนเซอร์ APS-C ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า เช่นเดียวกับตัวกล้อง APS-C ดังนั้น เลนส์เหล่านี้จึงให้สมดุลที่สมบูรณ์แบบระหว่าง EOS R7 กับ EOS R10 ซึ่งทำให้ผู้ใช้เพลิดเพลินไปกับความคล่องตัวด้วยน้ำหนักที่เบาของระบบ APS-C พร้อมทั้งคุณประโยชน์ของระบบเมาท์ RF
เส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า ทำให้เข้าใกล้ได้มากขึ้น
พื้นที่เซนเซอร์ที่ใหญ่กว่าของเซนเซอร์ภาพแบบฟูลเฟรมหมายความว่าภาพที่เลนส์ฉายลงไปบนพื้นที่ภาพหรือวงภาพจะต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะสามารถครอบคลุมพื้นที่นั้นได้ ด้วยขนาดราวครึ่งหนึ่ง เซนเซอร์ APS-C จึงมีวงภาพที่เล็กกว่ามาก ทำให้สามารถผลิตเลนส์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าได้แม้ทางยาวโฟกัสจะเท่ากัน ขอบภาพที่อยู่นอกวงภาพจะถูกครอปออกไป ทำให้ได้เอฟเฟ็กต์แบบเทเลโฟโต้
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างกล้องฟูลเฟรมกับกล้อง APS-C ได้ที่:
กล้องฟูลเฟรมและกล้อง APS-C: ควรเลือกรุ่นไหนดี
เอฟเฟ็กต์เทเลโฟโต้ 1.6 เท่า
การถ่ายภาพด้วยกล้อง APS-C ทำให้ได้เอฟเฟ็กต์แบบเทเลโฟโต้ ซึ่งภาพจะดูเหมือนถูกซูมเข้าไปหรือ “ครอป” ออกเมื่อเทียบกับกล้องฟูลเฟรมแม้ใช้ทางยาวโฟกัสเท่ากันตามที่ระบุไว้บนเลนส์ สำหรับเลนส์ RF-S เอฟเฟ็กต์นี้จะเทียบเท่าการซูม 1.6 เท่า ซึ่งหมายความว่า ภาพถ่ายที่ระยะ 150 มม. ของเลนส์ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM จะมีมุมรับภาพเท่ากันกับภาพถ่ายที่ระยะ 240 มม. ด้วยกล้องฟูลเฟรม
เลนส์ RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM และ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM มีดีไซน์ที่กะทัดรัดและเรียบง่าย เช่นเดียวกับเลนส์ RF รุ่นใหม่จำนวนมาก เลนส์ RF-S ทั้งสองรุ่นนี้มีวงแหวนโฟกัส/ควบคุมที่มีลักษณะเป็นปุ่มรวมกันอยู่ที่ด้านหน้า ผู้ใช้ที่ถ่ายภาพด้วย AF เป็นส่วนใหญ่สามารถใช้เลนส์เป็นวงแหวนควบคุมได้โดยการกำหนดฟังก์ชันควบคุมระดับแสงให้
เนื่องจากกลไก AF ของเลนส์ทั้งสองรุ่นใช้ Stepping Motor (STM) แบบลีดสกรู ซึ่งสามารถเคลื่อนโฟกัสได้อย่างราบรื่น เลนส์จึงเหมาะสำหรับการถ่ายวิดีโอด้วย
RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM: เลนส์ซูมมาตรฐานรุ่นเล็กเพื่อการถ่ายภาพทั่วไปของคุณ
RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM: เลนส์ซูมมาตรฐานที่พกพาได้อย่างสะดวก
RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM เป็นเลนส์ซูมมาตรฐานที่มีช่วงทางยาวโฟกัสครอบคลุม 18 ถึง 45 มม. จึงให้มุมรับภาพเทียบเท่า 29 ถึง 72 มม. บนกล้องฟูลเฟรมเมื่อใช้เอฟเฟ็กต์เทเลโฟโต้แบบ APS-C เลนส์นี้เป็นเลนส์อเนกประสงค์ที่ครอบคลุมฉากถ่ายภาพทั่วไปส่วนใหญ่ เนื่องจากมีคุณสมบัติดังนี้
- ช่วงมุมกว้างที่มีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์และภาพสแนปช็อต
- ช่วงโฟกัสมาตรฐาน (ประมาณ 40-60 มม.) ซึ่งให้มุมรับภาพที่ใกล้เคียงกับสายตามนุษย์
- ช่วงเทเลโฟโต้ระดับกลาง (ประมาณ 70-72 มม.) ที่มักใช้ในการถ่ายภาพพอร์ตเทรต
เรียนรู้เกี่ยวกับเลนส์ชนิดต่างๆ มุมรับภาพ และวิธีการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อใช้ประโยชน์จากเลนส์และมุมรับภาพให้ได้มากที่สุดที่:
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (3): ดึงความสามารถสูงสุดของเลนส์มาใช้
EOS R10/ RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM/ FL: 18 มม. / Manual exposure (f/4.5, 1/2000 วินาที)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
เมื่อหดเก็บเข้ามา เลนส์จะมีขนาดกะทัดรัดมากด้วยความยาวประมาณ 44.3 มม. ซึ่งบางพอที่จะใส่ลงไปในกระเป๋าเสื้อนอกหรือกางเกงคาร์โกได้ และด้วยน้ำหนักไม่เกิน 130 ก. เลนส์จึงเบามากและคุณจะแทบไม่รู้สึกเลยว่ามีเลนส์อยู่ในขณะเคลื่อนไหวไปมา
ออพติค
เลนส์ใช้ประโยชน์จากการผสมผสานการแก้ไขความคลาดของเลนส์แบบออพติคอลและดิจิตอล โดยมีเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม 2 ชิ้นเพื่อการแก้ไขแบบออพติคอลในเลนส์และการแก้ไขความบิดเบี้ยวแบบดิจิตอลในตัวกล้อง เมื่อรวมกัน คุณสมบัติในการแก้ไขความคลาดของเลนส์เหล่านี้จึงทำให้ได้ภาพที่คมชัดและมีคุณภาพสูง (การแก้ไขความบิดเบี้ยวในกล้องจะได้รับการแก้ไขเมื่อ ‘เปิด’)
ระบบป้องกันภาพสั่นไหว
ระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบออพติคอล (ระบบ IS แบบออพติคอล) ในเลนส์สามารถแก้ไขการสั่นของกล้องได้สูงสุดเทียบเท่าความเร็วชัตเตอร์ 4 สต็อป เมื่อติดตั้งลงไปบนกล้องที่มีระบบ IS ในตัวกล้อง จะสามารถป้องกันภาพสั่นไหวได้สูงสุด 6.5 สต็อปด้วยระบบ IS แบบประสานการควบคุม
รู้หรือไม่ว่า: สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้สูงขึ้นเพื่อถ่ายภาพคมชัดด้วยทางยาวโฟกัสยาวขึ้น
คุณอาจเคยได้ยินหลักการใช้ความเร็วชัตเตอร์เพื่อหลีกเลี่ยงการสั่นของกล้อง ซึ่งกล่าวว่าหากคุณใช้ทางยาวโฟกัสที่ X ความเร็วชัตเตอร์ของคุณไม่ควรต่ำกว่า 1/X วินาที พูดอีกอย่างหนึ่งคือ สำหรับกล้องฟูลเฟรม หากถ่ายภาพที่ระยะ 80 มม. คุณจะต้องถ่ายภาพที่ความเร็วไม่ต่ำกว่า 1/80 วินาที อย่างไรก็ตาม สำหรับกล้อง APS-C การถ่ายภาพที่ระยะ 50 มม. จะให้มุมรับภาพเทียบเท่า 80 มม. ดังนั้น ตามหลักการ คุณจึงสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าถึง 1/50 วินาทีได้ นี่คือประโยชน์ของการถ่ายภาพด้วยระบบ APS-C
RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM: เลนส์ซูเปอร์ซูมอเนกประสงค์ขนาดเล็กเพื่อให้เข้าใกล้ได้มากยิ่งขึ้น
RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM: เลนส์ซูมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก
RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM เป็นเลนส์ซูเปอร์ซูมที่มีช่วงทางยาวโฟกัสครอบคลุม 18 ถึง 150 มม. จึงให้มุมรับภาพเทียบเท่า 29 ถึง 240 มม. บนกล้องฟูลเฟรมเมื่อใช้เอฟเฟ็กต์เทเลโฟโต้แบบ APS-C
นอกจากจะครอบคลุมช่วงมุมกว้าง มาตรฐาน และเทเลโฟโต้ระยะกลางแล้ว เลนส์ RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM ยังครอบคลุมช่วงเทเลโฟโต้ด้วย ซึ่งสามารถใช้ในการถ่ายภาพกีฬาและชีวิตสัตว์ป่าได้ และทางยาวโฟกัสที่ยาวกว่ายังช่วยให้ได้เอฟเฟ็กต์โบเก้แบบเทเลโฟโต้ที่สวยงาม ซึ่งสามารถใช้ในการเบลอแบ็คกราวด์และทำให้ตัวแบบโดดเด่นออกมาในการถ่ายภาพพอร์ตเทรต เลนส์รุ่นนี้เป็นเลนส์อเนกประสงค์ที่มีความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์มากมายให้ผู้ใช้ได้สำรวจ
และนี่คืออีกสิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้อย่างง่ายดายเมื่อใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้น!
4 ขั้นตอนง่ายๆ ในการถ่ายภาพวงกลมโบเก้ที่เข้าใจยาก!
EOS R7/ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 135 มม./ Manual exposure (f/6.3, 1/125 วินาที)/ ISO 2000/ WB: อัตโนมัติ
สำหรับเลนส์รุ่นนี้ คุณจะต้องขยายท่อเลนส์ออกเพื่อถ่ายภาพที่ทางยาวโฟกัสยาว เลนส์รุ่นนี้มีขนาดสั้นที่สุดประมาณ 84.5 มม. ขณะถ่ายภาพที่ระยะมุมกว้าง และมีน้ำหนักประมาณ 310 ก. จึงเป็นเลนส์ซูเปอร์ซูมที่ค่อนข้างเล็กและเบา
ออพติค
เลนส์ใช้เลนส์แก้ความคลาดทรงกลม 2 ชิ้นและเลนส์ Ultra-low dispersion (UD) 1 ชิ้นซึ่งสามารถแก้ไขความคลาดหลากหลายแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดและมีคุณภาพสูง
ระบบป้องกันภาพสั่นไหว
ระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบออพติคอล (ระบบ IS แบบออพติคอล) ในเลนส์สามารถแก้ไขการสั่นของกล้องได้สูงสุดเทียบเท่าความเร็วชัตเตอร์ 4.5 สต็อป เมื่อติดตั้งลงไปบนกล้องที่มีระบบ IS ในตัวกล้อง จะสามารถป้องกันภาพสั่นไหวได้สูงสุด 7.0 สต็อปด้วยระบบ IS แบบประสานการควบคุม
เอฟเฟ็กต์สุดเท่: Centre Focus Macro
เลนส์ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM เหมาะสำหรับการถ่ายภาพระยะใกล้ เมื่อใช้ AF เลนส์จะมีระยะโฟกัสใกล้สุดเพียง 17 ซม. (ที่ทางยาวโฟกัส 18 มม. ถึง 35 มม.) เมื่อถ่ายภาพที่ 50 มม. จะมีกำลังขยายสูงสุด 0.44 เท่า นับว่าใกล้เคียงกับเลนส์มาโครมากซึ่งมีกำลังขยายสูงสุดอย่างน้อย 0.5 เท่า
การถ่ายภาพด้วยโหมดโฟกัสแบบแมนนวลจะทำให้คุณเข้าใกล้ได้มากขึ้นอีกเมื่อลดระยะโฟกัสใกล้สุดลงเหลือ 12 ซม. (ที่ทางยาวโฟกัส 18 มม. ถึง 35 มม.) และเพิ่มกำลังขยายสูงสุดเป็น 0.59 เท่า (ที่ 35 มม.) การถ่ายภาพเช่นนี้ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์ Centre Focus Macro อันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งมีเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่ชัดเจนตรงขอบภาพ
EOS R10/ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 18 มม. / Aperture-priority AE (f/3.5, 1/320 วินาที, EV +1.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ความเข้ากันได้กับกล้องแบบฟูลเฟรมในซีรีย์ EOS R
ใช้เลนส์เหล่านี้กับกล้องฟูลเฟรมในซีรีย์ EOS R ด้วย!
แม้ RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM และ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM จะเป็นเลนส์ที่ออกแบบมาเพื่อกล้อง APS-C แต่คุณก็สามารถติดตั้งเลนส์เหล่านี้ลงไปบนกล้องฟูลเฟรมในซีรีย์ EOS R ได้โดยตรง กล้องจะเปลี่ยนไปใช้โหมดครอป 1.6 เท่าโดยอัตโนมัติ และแสดงระยะชัดลึกแบบ APS-C เต็มหน้าจอ EVF (หรือจอ LCD ด้านหลัง) คุณจะไม่เห็นขอบมืดที่เกิดจากวงภาพที่มีขนาดแตกต่างกัน การมองเห็นของคุณจึงไม่ต่างจากขณะถ่ายภาพโดยใช้เลนส์สำหรับกล้องฟูลเฟรม
ดังนั้น หากคุณเป็นเจ้าของกล้องฟูลเฟรมในซีรีย์ EOS R แต่สนใจในความกะทัดรัดและพกพาสะดวกของเลนส์ RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM และ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM คุณก็สามารถใช้เลนส์ทั้งสองรุ่นนี้ได้เช่นกัน หากคุณไม่ต้องการครอปภาพมากนักในกระบวนการปรับแต่งภาพ! เลนส์ RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM มีขนาดใกล้เคียงกับ RF50mm f/1.8 STM และด้วยช่วงโฟกัสเทียบเท่า 29 ถึง 72 มม. คุณจะพบว่าเลนส์นี้ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่สามารถใช้แทนรุ่นหลังได้เช่นกัน
ข้อมูลจำเพาะ: RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM
RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM
ข้อมูลจำเพาะ
โครงสร้างเลนส์: 7 ชิ้นเลนส์ใน 7 กลุ่ม
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.2 ม. (AF)/0.15 ม. (MF)
กำลังขยายสูงสุด: 0.16 เท่า (AF)/0.26 เท่า (MF)
จำนวนม่านรูรับแสง: 7 (กลีบ)
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: 49 มม.
ขนาด: φ69×44.3 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 130 ก.
A: เลนส์แก้ความคลาดทรงกลม
ฮูดเลนส์ EW-53 (มีจำหน่ายแยกต่างหาก)
ข้อมูลจำเพาะ: RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM
RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM
ข้อมูลจำเพาะ
โครงสร้างเลนส์: 17 ชิ้นเลนส์ใน 13 กลุ่ม
ระยะโฟกัสใกล้สุด: 0.17 ม. (AF)/0.12 ม. (MF)
กำลังขยายสูงสุด: 0.44 เท่า (AF)/0.59 เท่า (MF)
จำนวนม่านรูรับแสง: 7 (กลีบ)
เส้นผ่านศูนย์กลางฟิลเตอร์: 55 มม.
ขนาด: φ69×84.5 มม.
น้ำหนัก: ประมาณ 310 ก.
A: เลนส์แก้ความคลาดทรงกลม
B: เลนส์ UD
ฮูดเลนส์ EW-60F (มีจำหน่ายแยกต่างหาก)
ภาพตัวอย่าง: RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM
ภาพตัวอย่าง: RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM
EOS R7/ RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM/ FL: 18 มม. / Aperture-priority AE (f/11, 0.6 วินาที)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
EOS R7/ RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM/ FL: 18 มม. / Manual exposure (f/4.5, 1/125 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพตัวอย่าง: RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM
ภาพตัวอย่าง: RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM
EOS R10/ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 129 มม. / Manual exposure (f/6.3, 1/100 วินาที)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
EOS R7/ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM/ FL: 18 มม. / Aperture-priority AE (f/22, 2 วินาที, EV +0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!