5 องค์ประกอบหลักในการพัฒนาเลนส์ RF10-20mm f/4L IS STM
RF10-20mm f/4L IS STM เป็นเลนส์ที่น่าทึ่งอย่างยิ่งในหลายๆ ด้าน เนื่องจากไม่ได้เป็นเพียงเลนส์ซูมที่กว้างที่สุดของ Canon ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นเลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่มีรูรับแสงคงที่ที่กว้างที่สุดในโลกสำหรับกล้องฟูลเฟรมอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยน้ำหนักเพียง 570 กรัม จึงเบากว่าเลนส์ EF11-24mm f/4L USM ซึ่งเป็นเวอร์ชันเมาท์ EF ของเลนส์นี้ถึงครึ่งหนึ่ง จากการสัมภาษณ์นักพัฒนาเลนส์ เราจึงสรุปเรื่องราวการพัฒนาเลนส์นี้ออกมาใน 5 ประเด็นหลัก
นักพัฒนาเลนส์ RF10-20mm f/4L IS STM ได้แก่ (จากซ้าย):
- Akihiko Masuki หัวหน้าฝ่ายการพัฒนา/การออกแบบเชิงกลไก
- Masato Shiono ฝ่ายการออกแบบเชิงกลไก
- Fuya Mizuochi ฝ่ายการออกแบบระบบไฟฟ้า
- Makoto Nakahara ฝ่ายการออกแบบออพติคอล
1. EF11-24mm f/4L USM
แบบอย่างของมาตรฐานระดับสูง
เลนส์ EF11-24mm f/4L USM นั้นเป็นที่ยอมรับว่ามีเปอร์สเปคทีฟอันเป็นเอกลักษณ์และให้คุณภาพของภาพในระดับยอดเยี่ยม จึงเป็นมาตรฐานที่นักพัฒนาต้องการจะทำให้ดียิ่งขึ้น แนวคิดในการพัฒนา RF10-20mm f/4L IS STM คือการจินตนาการถึงเลนส์ที่:
- มีความกว้างเท่ากันเป็นอย่างน้อย
- มีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบาเพื่อให้ถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือได้อย่างสะดวกสบาย
- ให้คุณภาพของภาพเทียบเท่าหรือดียิ่งกว่าเลนส์ EF11-24mm f/4L USM
การให้ความสำคัญกับขนาดที่กะทัดรัดและความสะดวกในการพกพาที่มากยิ่งขึ้นเป็นการปรับปรุงที่เกิดจากเสียงตอบรับของผู้ใช้ EF11-24mm f/4L USM จำนวนมากเกี่ยวกับน้ำหนักของเลนส์ ซึ่งหนักประมาณ 1,180 กรัม
“ผมคิดว่าภารกิจของเราในฐานะที่เป็นนักพัฒนาคือการลดภาระนั้น [จากน้ำหนักของเลนส์]”
- Akihiko Masuki หัวหน้าฝ่ายการพัฒนา/การออกแบบเชิงกลไก
และเหล่านักพัฒนาก็ปฏิบัติภารกิจนี้ได้สำเร็จ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลจำเพาะของเลนส์ RF10-20mm f/4L IS STM
2. เลนส์แก้ความคลาดทรงกลมด้านหน้า
2. เลนส์แก้ความคลาดทรงกลมด้านหน้า
หัวใจสำคัญของคุณภาพของภาพที่สูงในระยะ 10 มม.
“ทีมจากฝ่ายพัฒนาและฝ่ายผลิตทำงานร่วมกันเพื่อสร้างการจำลองในรูปแบบต่างๆ จึงทำให้ชิ้นเลนส์ด้านหน้ามีรูปร่างอย่างที่ต้องการและมีประสิทธิภาพในระดับสูง ทั้งยังสามารถผลิตในปริมาณมากได้อย่างแม่นยำ”
- Makoto Nakahara ฝ่ายการออกแบบออพติคอล
ระยะ 10 มม. ให้การครอบคลุมและเปอร์สเปคทีฟที่หลากหลายซึ่งระยะ 14 มม. หรือ 15 มม. ไม่สามารถทำได้ และช่วยให้ผู้ใช้ถ่ายภาพตัวแบบทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ได้ในเฟรมเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยิ่งเลนส์ครอบคลุมมุมกว้างได้มากเท่าใด การแก้ไขความคลาดของเลนส์และทำให้มีคุณภาพของภาพที่โดดเด่นก็จะยิ่งยากขึ้นเท่านั้น
หัวใจสำคัญของการบรรลุเป้าหมายทั้งในด้านคุณภาพของภาพและการลดขนาดของ RF10-20mm f/4L IS STM อยู่ที่ชิ้นเลนส์ด้านหน้า ซึ่งจำเป็นต้องใช้วัสดุและรูปทรงที่มีความพิเศษมาก:
- เส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่
- มีความโค้งสูง
- ชิ้นเลนส์แก้ไขความคลาดทรงกลมสองด้าน
เลนส์แก้ความคลาดที่มีขนาดใหญ่จะทำให้ผลิตด้วยความแม่นยำสูงได้ยาก และความโค้งสูงยังทำให้ยากต่อการเคลือบเลนส์แบบพิเศษด้วย เช่น SWC (การเคลือบแบบ Subwavelength Structure Coating) (ฉบับภาษาอังกฤษ) ซึ่งช่วยลดแสงหลอกและแสงแฟลร์ได้อย่างสม่ำเสมอ แต่นักพัฒนาก็สามารถเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ได้โดยอาศัยเทคโนโลยีการจำลอง
A: ชิ้นเลนส์ UD (Ultra-low dispersion)
B: ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมขึ้นรูปด้วยแก้ว
C: เลนส์แก้ความคลาดทรงกลม UD
ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมด้านหน้าขึ้นรูปด้วยแก้วที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่และความโค้งสูงคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลนส์มีระยะมุมกว้าง 10 มม. คุณภาพของภาพสูง รวมถึงมีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบา
ข้อควรรู้: การเพิ่มคุณภาพของภาพตลอดช่วงการซูมก็เป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเลนส์ EF11-24mm f/4L USM เป็นแบบอย่างที่มีมาตรฐานสูงมาก แต่ปัญหานี้ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการจำลองการออกแบบออพติคอลที่ Canon ได้พัฒนาขึ้น
3. น้ำหนักเบาและแข็งแรงทนทาน
การทำงานเป็นทีมและเทคโนโลยีการจำลอง
“โดยการตรวจสอบรายละเอียดในการจำลองขณะดำเนินการออกแบบ เราจึงสามารถคงความแข็งแรงทนทานไว้ในระดับเดียวกับเลนส์ L แบบดั้งเดิมพร้อมทั้งลดจำนวนชิ้นส่วนที่เป็นโลหะลงได้”
- Masato Shiono ฝ่ายการออกแบบเชิงกลไก
เลนส์ RF10-20mm f/4L IS STM ได้รับการออกแบบมาให้มีขนาดเท่ากับ EF14-35mm f/4L IS USM ซึ่งเกิดขึ้นได้โดยอาศัยความพยายามจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการออกแบบออพติคอล กลไก และฝ่ายผลิตในการเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุ ชิ้นส่วนที่ใช้ รวมถึงการจัดวางตำแหน่งและโครงสร้างของเลนส์ ในส่วนของการออกแบบออพติคอลนั้น เทคโนโลยีการจำลองมีส่วนช่วยให้วิศวกรฝ่ายกลไกสามารถใช้วิธีการอันล้ำสมัยในการคงความแข็งแรงทนทานเอาไว้ได้
ร่องในกระบอกลูกเบี้ยวที่ทำหน้าที่รองรับเลนส์สองกลุ่มจะช่วยกระจายแรงกระแทกและทำให้เลนส์มีความทนทานและน่าเชื่อถือในระดับเดียวกับเลนส์ L
4. การประสานการควบคุมที่ขอบภาพ
4. การประสานการควบคุมที่ขอบภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการทำงานของระบบ
EOS R5 + RF10-20mm f/4L IS STM ที่ 10 มม., f/11, 0.5 วินาที, ISO 100
เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์สามารถใช้ประโยชน์จากระบบป้องกันภาพสั่นไหวได้ ซึ่งขัดกับความเชื่อโดยทั่วไป เลนส์เหล่านี้ทำให้เกิดการเบลอที่ขอบภาพได้ง่ายเนื่องจากมีเปอร์สเปคทีฟแบบอัลตร้าไวด์ แต่ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดายโดยการย้ายตำแหน่งของชุดทำงานระบบ IS ในเลนส์ และการประสานการควบคุมกับระบบ IS ในตัวกล้องก็ช่วยแก้ไขการเบลอนี้ได้มากยิ่งขึ้น
“แม้จะสามารถออกแบบระบบ IS ในเลนส์เพื่อชดเชยการสั่นของกล้องให้ทั่วถึงทั้งเฟรมภาพที่ทางยาวโฟกัสหรือระยะโฟกัสหนึ่งได้ แต่หากจะทำการชดเชยเช่นนี้ให้ถึงสุดขอบภาพโดยครอบคลุมช่วงทางยาวโฟกัสหรือระยะห่างจากตัวแบบที่หลากหลายนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก การประสานการควบคุมที่ขอบภาพใช้ประโยชน์จากการประสานงานกันระหว่างระบบ IS แบบออพติคอลและระบบ IS ในตัวกล้องเพื่อให้สามารถแก้ไขการเบลอที่ขอบภาพได้ดียิ่งขึ้น”
- Fuya Mizuochi ฝ่ายการออกแบบระบบไฟฟ้า
5. STM
เพราะเหตุใด STM จึงทำงานได้ดีที่สุดในเลนส์รุ่นนี้
ซ้าย: STM ของเลนส์ RF10-20mm f/4L IS STM
ขวา: ชิ้นเลนส์โฟกัสที่มี STM
RF10-20mm f/4L IS STM เป็นเลนส์ L รุ่นแรกที่ใช้ STM (Stepping Motor) ในการขับเคลื่อน AF เนื่องจากชิ้นเลนส์โฟกัสมีขนาดเล็กและได้รับการออกแบบมาให้มีช่วงการเลื่อนที่สั้น นักพัฒนาเลนส์จึงตัดสินใจว่า STM น่าจะทำงานได้ดีเช่นเดียวกับ USM (มอเตอร์อัลตร้าโซนิค) ซึ่งให้ประโยชน์มากกว่าในเลนส์ที่มีช่วงการเลื่อนยาว STM ที่เล็กลงช่วยเพิ่มอิสระในการจัดเรียงกลุ่มเลนส์ IS จึงทำให้สามารถวางเลนส์ไว้ในตำแหน่งที่ใกล้กับเซนเซอร์ภาพมากขึ้นซึ่งจะช่วยลดการเบลอที่ขอบภาพได้ง่าย
STM ในเลนส์ RF10-20mm f/4L IS STM มีเซนเซอร์ตรวจจับตำแหน่งที่ช่วยลดระยะเวลาในการเริ่มทำงานของมอเตอร์ จึงช่วยให้โฟกัสได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพโดยรวมเทียบเท่ากับ USM
บทสรุป: เปิดโลกใหม่ให้เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์
บทสรุป: เปิดโลกใหม่ให้เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์
เลนส์ RF ทุกรุ่นได้รับการพัฒนาขึ้นมาด้วยเจตนาที่มอบคุณประโยชน์ที่เลนส์ EF ไม่สามารถให้ได้ ระยะมุมกว้าง 10 มม. ของเลนส์ RF10-20mm f/4L IS STM สามารถถ่ายภาพด้วยมุมมองอันโดดเด่นที่ให้เปอร์สเปคทีฟแตกต่างไปจากทิวทัศน์ที่อยู่เบื้องหน้าเราได้อย่างมาก และขนาดที่กะทัดรัดรวมถึงความสะดวกในการพกพายังช่วยเพิ่มประโยชน์ใช้สอยของเลนส์นี้ให้มากขึ้น นักพัฒนาเลนส์ต่างก็หวังว่าผู้ใช้จะได้เห็นมุมมองที่สวยงามจนน่าทึ่งของเลนส์นี้ด้วยตาตนเองและค้นพบว่าเลนส์นี้มีสมรรถนะที่ยอดเยี่ยมเพียงใดในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำหรับการถ่ายทอดอารมณ์
จากซ้าย:
- Makoto Nakahara ฝ่ายการออกแบบออพติคอล
- Masato Shiono ฝ่ายการออกแบบเชิงกลไก
- Akihiko Masuki หัวหน้าฝ่ายการพัฒนา/การออกแบบเชิงกลไก
- Fuya Mizuochi ฝ่ายการออกแบบระบบไฟฟ้า
ดูเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเลนส์ EF11-24mm f/4L USM ได้ที่:
[ตอนที่ 1] โลกของเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่ไม่เคยมีมาก่อนกับเลนส์ 11 มม.