RF100-300mm f/2.8L IS USM พลิกโฉมเลนส์เดี่ยว 300mm f/2.8L รุ่นคลาสสิกจาก Canon ให้กลายเป็นเลนส์ซูมซูเปอร์เทเลโฟโต้ไม่เหมือนใคร นับเป็นความสำเร็จไม่น้อยในการพัฒนาเลนส์ให้ได้ระยะซูม ประสิทธิภาพ และคุณภาพด้านออพติคอลเช่นนี้พร้อมทั้งรักษาน้ำหนักเบาเอาไว้ ในบทความนี้ เหล่านักพัฒนาเลนส์จะมาบอกเล่าเรื่องราวให้เราได้รับรู้กัน
1. การวางแผนและแนวคิด: “เพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพ”
“เลนส์รุ่นนี้มีความคล่องตัวและคุณภาพของภาพที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้เลนส์เดี่ยว จึงสามารถใช้ถ่ายภาพได้หลายประเภท เช่น ภาพกีฬาในร่มและกีฬากลางแจ้ง งานแฟชั่นโชว์ หรือการเดินพรมแดงในเทศกาลภาพยนตร์
ฉันเชื่อว่า RF100-300mm f/2.8L IS USM จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถถ่ายภาพวินาทีสำคัญๆ ที่ตัวเองไม่เคยคิดฝันว่าจะลองทำมาก่อน และให้ผลลัพธ์ตามต้องการเพื่อถ่ายภาพได้อย่างสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น”
- Yuriyo Asami
ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์
“จุดแข็งที่เด่นที่สุดของ RF100-300mm f/2.8L IS USM คือการรวมความสามารถในการซูม 100-300 มม. และรูรับแสงคงที่ f/2.8 ไว้ในตัวเลนส์ที่มีน้ำหนักเบา เราใส่ใจกับความสำคัญของการลดน้ำหนักเลนส์อยู่เสมอ แม้แต่ในเวลาที่เรามุ่งมั่นพัฒนาเลนส์ให้มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในระดับสูงสุด ผมเชื่อว่านี่คือวิธีที่ทำให้เราสร้างเลนส์ที่มีน้ำหนักเบาลงได้โดยไม่ลดทอนคุณภาพด้านอื่นๆ”
- Makoto Hayakawa
หัวหน้าฝ่ายพัฒนา/ฝ่ายออกแบบกลไก
ทีมพัฒนาต้องการสร้างเลนส์ซูมเทเลโฟโต้ความไวแสงสูงที่จะมาเสริมความสามารถของกล้องระบบ EOS R และ “เพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพ” ถึงแม้ระยะซูม ประสิทธิภาพ และคุณภาพด้านออพติคอลถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ทีมพัฒนาก็ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องความคล่องตัวของเลนส์ด้วยเช่นกัน
อย่าลืมนึกถึงผลงานของนักพัฒนาเหล่านี้ทุกครั้งที่: คุณตระหนักได้ว่าคุณใช้เลนส์นี้อยู่บ่อยๆ
ความมุ่งมั่นของนักพัฒนาในการพัฒนาเลนส์ให้ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้เป็นเหตุผลที่ทำให้เลนส์รุ่นนี้มีความสามารถรอบตัว
2. การออกแบบออพติคอล: ความท้าทายในการลดน้ำหนักเลนส์ พร้อมทั้งมอบคุณภาพของเลนส์อันไร้ที่ติ
“เราได้ขอให้ฝ่ายผลิตทำเรื่องยากในแง่ของการแปรรูปเลนส์ แต่พวกเขาก็สามารถทำได้ด้วยความแม่นยำระดับสูง นอกจากนี้ ในกระบวนการสรุปการออกแบบขั้นสุดท้าย เราได้ใช้เวลาใดๆ ที่เหลืออยู่ไปกับการปรับปรุงประสิทธิภาพของสุดฝั่งระยะเทเลโฟโต้ จากความพยายามทั้งหมดนี้ ทำให้เราสามารถพัฒนาเลนส์ที่มีประสิทธิภาพด้านออพติคอลได้ไม่แพ้เลนส์เดี่ยว
เราหวังว่าผู้ใช้จะได้ทดลองใช้สุดฝั่งระยะเทเลโฟโต้ด้วยตัวเอง”
- Masato Katayose
ฝ่ายออกแบบออพติคอล
เลนส์ซูมประสิทธิภาพสูงต้องได้รับการปรับแต่งให้เหมาะกับช่วงโฟกัสทั้งหมด ต่างจากทางยาวโฟกัสเพียงระยะเดียวของเลนส์เดี่ยว ซึ่งมักจะต้องใช้เลนส์ออพติคเพิ่ม ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย RF100-300mm f/2.8L IS USM อาจกลายเป็น “เลนส์ยักษ์” ที่หนักเทอะทะได้ง่ายๆ! แต่ทีมออกแบบออพติคอลได้ปรับแต่งโครงสร้างของเลนส์ให้มีขนาด น้ำหนัก และจำนวนชิ้นเลนส์ลดลงได้เป็นผลสำเร็จ และฝ่ายผลิตก็ช่วยเปลี่ยนการออกแบบนี้ให้กลายเป็นจริง
อย่าลืมนึกถึงผลงานของนักพัฒนาเหล่านี้ทุกครั้งที่: คุณสนุกกับการถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งและรู้สึกทึ่งกับคุณภาพของภาพอันยอดเยี่ยม
เพราะคุณอาจชอบอย่างหนึ่ง แต่ไม่ชอบอีกอย่างก็ได้
3. การออกแบบกลไก: คิดค้นโครงสร้างแบบใหม่ที่ให้ทั้งประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ
“ทุกคนในทีมมีเป้าหมายร่วมกันที่จะรักษาความแข็งแรงทนทานและประสิทธิภาพด้านออพติคอลให้อยู่ในระดับสูง
ผมรู้สึกภูมิใจที่เราได้ทำหน้าที่ออกแบบและใส่ใจกับปัจจัยต่างๆ ที่มองไม่เห็น เช่น การลดแสงหลอกและความสะดวกสบายในการบำรุงรักษา”
- Nobuyuki Nagaoka
ฝ่ายออกแบบกลไก
เลนส์ซูมมีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวมากกว่าเลนส์เดี่ยว ซึ่งชิ้นส่วนทั้งหมดนี้ได้รับการออกแบบและผลิตมาให้มีทั้งประสิทธิภาพและความทนทาน หนึ่งในนวัตกรรมเลื่องชื่อของทีมออกแบบกลไกสำหรับ RF100-300mm f/2.8L IS USM คือระบบเลนส์โฟกัสอิเล็กทรอนิกส์แบบชิ้นเลนส์ลอยตัวที่ขับเคลื่อนโดย Nano USM แบบคู่ ซึ่งมีระยะการขับเคลื่อนของเลนส์แบบลอยตัวและเลนส์โฟกัสที่ซ้อนทับกันเพื่อช่วยลดน้ำหนักเลนส์และเพิ่มคุณภาพของภาพ
และทีมนี้ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงสร้างแบบใหม่และโครงสร้างที่ปรับปรุงใหม่อื่นๆ ซึ่งช่วยให้เลนส์สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นอีกด้วย
อันได้แก่
- โครงสร้างยึดลูกทรงกลมแบบใหม่ที่คอยยึดและรักษาตำแหน่งของกลุ่มเลนส์ซูมให้มั่นคงเมื่อมีการขยับ ซึ่งช่วยให้ประสิทธิภาพด้านออพติคอลดีขึ้น
- แอคทูเอเตอร์แบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมกลุ่มเลนส์ที่มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวได้อย่างรวดเร็ว
อย่าลืมนึกถึงผลงานของนักพัฒนาเหล่านี้ทุกครั้งที่: คุณรู้สึกดื่มด่ำกับความรู้สึกในการใช้งานเลนส์
เพราะนักออกแบบกลไกมีหน้าที่รับผิดชอบในการออกแบบการซูมที่นุ่มนวลและความรู้สึกจากการกดปุ่มแต่ละปุ่มอีกด้วย
4. การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์และเฟิร์มแวร์
4. การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์และเฟิร์มแวร์: อัลกอริธึมควบคุมอันแม่นยำเพื่อประสิทธิภาพการทำงานอย่างลื่นไหล
“กระบวนการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์/เฟิร์มแวร์จะนำสเปคที่ทีมออกแบบออพติคอลและทีมออกแบบกลไกกำหนดขึ้นมารวมไว้ในอัลกอริธึมควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด มีความกดดันว่าเลนส์อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรถ้าเราทำขั้นตอนนี้ไม่สำเร็จ
แต่แม้ว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ มากมายในด้านออพติคอลและกลไก เราก็ทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะให้ประสิทธิภาพสูงสุด”
- Yumi Toyoda
ฝ่ายออกแบบอิเล็กทรอนิกส์/ เฟิร์มแวร์
โครงสร้างอันซับซ้อนและชิ้นส่วนต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นเลนส์นั้นๆ ต้องการคำสั่งเพื่อให้รู้ว่าควรเคลื่อนไหวเมื่อใด ตรงไหน และมากน้อยเพียงใด ซึ่งในจุดนี้เองที่อัลกอริธึมควบคุมเข้ามามีบทบาทสำคัญ
อัลกอริธึมที่แม่นยำของทีมออกแบบอิเล็กทรอนิกส์/เฟิร์มแวร์ทำให้ AF และการติดตามตัวแบบมีประสิทธิภาพมากขึ้นแม้แต่ในขณะที่ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของ IS แบบประสานการควบคุมในขณะที่ถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งด้วย
อย่าลืมนึกถึงผลงานของนักพัฒนาเหล่านี้ทุกครั้งที่: คุณรู้สึกทึ่งกับ AF และการติดตามตัวแบบที่มีความแม่นยำและชาญฉลาด
“หัวใจสำคัญ” เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของเลนส์โฟกัสนั้นคือ อัลกอริธึมควบคุม และหัวใจสำคัญเบื้องหลังอัลกอริธึมดังกล่าวคือ ทีมออกแบบอิเล็กทรอนิกส์/เฟิร์มแวร์
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบ AF ได้ที่
รู้จักกับเทคโนโลยีของ Canon: Dual Pixel CMOS AF คืออะไร
5. การออกแบบ: ความใส่ใจในทุกรายละเอียดโดยคำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลัก
“เราพยายามอย่างมากเพื่อออกแบบเลนส์ให้ใช้ได้จริงและง่ายต่อการใช้งาน อีกทั้งสืบทอดความสำเร็จและความเชื่อถือได้ที่ผ่านมาของเราในฐานะเลนส์ซูม L เทเลโฟโต้รุ่นใหม่ที่มีรูรับแสงกว้างในเวอร์ชันเมาท์ RF
ผมเชื่อว่าการออกแบบนี้มุ่งเน้นความงามจากปรัชญาน้อยแต่มากและจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้ไปอีกนาน”
- Masaaki Igarashi
ฝ่ายออกแบบ
ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสมดุลกับกล้องให้เหมาะสมที่สุด ไปจนถึงรูปทรงและการออกแบบวงแหวนซูมและวงแหวนควบคุม ทีมออกแบบก็ใส่ใจทุกรายละเอียดในด้านหลักการยศาสตร์ ความใช้ง่าย และการใช้งานได้จริง นอกจากนี้ยังคำนึงถึงความสมดุลของน้ำหนักด้วยเพื่อให้มีความสบายและความมั่นคงยิ่งขึ้นในระหว่างการถ่ายภาพแบบไม่ใช้ขาตั้งและแบบใช้ขาตั้งแบบขาเดียว
ส่วนตำแหน่งของแหวนคอลลาร์สำหรับยึดขาตั้งกล้องนั้นช่วยให้จุดศูนย์ถ่วงอยู่ใกล้กับมือของผู้ใช้มากขึ้นเวลาถ่ายภาพด้วยขาตั้งแบบขาเดียว
อย่าลืมนึกถึงผลงานของนักพัฒนาเหล่านี้ทุกครั้งที่: คุณตระหนักได้ว่าปุ่มเลนส์ที่คุณต้องการนั้นอยู่ใกล้เพียงใต้ปลายนิ้ว
การเข้าถึงและการถือจับได้สะดวกไม่เพียงทำให้รู้สึกดีเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณตอบสนองได้เร็วขึ้นเพื่อให้ถ่ายภาพช่วงวินาทีสำคัญๆ ได้อย่างสวยงาม
6. เทคโนโลยีการผลิต: เปลี่ยนการออกแบบให้เป็นจริง
“โรงงานในเมืองอุทสึโนะมิยะที่ผลิต RF100-300mm f/2.8L IS USM เป็นหนึ่งในโรงงานผลิตเลนส์ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุดของ Canon และยังมีบุคลากรที่มีทักษะฝีมือมากที่สุดแห่งหนึ่งอีกด้วย
เราให้ความสำคัญกับการลดความซับซ้อนของกระบวนการ รูปทรงส่วนประกอบต่างๆ และแม้แต่สายการผลิต เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงได้อย่างน่าเชื่อถือ”
- Ken Uraba
ฝ่ายเทคโนโลยีการผลิต
ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปเลนส์และวัตถุดิบด้วยความแม่นยำสูงเพื่อให้ได้สเปคตามต้องการ ไปจนถึงการจัดหาชิ้นส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ความเชี่ยวชาญของฝ่ายเทคโนโลยีการผลิตนับเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ RF100-300mm f/2.8L IS USM ที่ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันนี้กลายเป็นจริงขึ้นมา
อย่าลืมนึกถึงผลงานของนักพัฒนาเหล่านี้ทุกครั้งที่: คุณเห็นเลนส์รุ่นนี้
เพราะทีมเทคโนโลยีการผลิตเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เลนส์รุ่นนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่แบบร่างในกระดาษหรือชิ้นงานต้นแบบเท่านั้น แม้ว่าจะตั้งสเปคสูงๆ ไว้ก็ตาม
7. การทำงานเป็นทีม: ผลกระทบเชิงบวกที่คาดไม่ถึงของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
7. การทำงานเป็นทีม: ผลกระทบเชิงบวกที่คาดไม่ถึงของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
ดังที่เราได้เห็นข้างต้น การพัฒนาเลนส์จะต้องอาศัยการประสานงานกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญหลายด้านที่แตกต่างกันไป สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการพัฒนาเลนส์ไปอย่างมาก แต่ผลกระทบต่อการทำงานเป็นทีมกลับเป็นไปในทางบวกอย่างคาดไม่ถึง
Makoto Hayakawa หัวหน้าฝ่ายพัฒนา/ฝ่ายออกแบบกลไก กล่าวว่า “เมื่อก่อนนั้นเป็นเรื่องยากมากที่จะจัดตารางเวลาให้สมาชิกฝ่ายพัฒนาทุกคนสามารถเข้าประชุมในห้องประชุมพร้อมกันได้” การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระตุ้นให้มีการสื่อสารทางออนไลน์ ซึ่งทำให้สมาชิกทีมสื่อสารกันได้ทันทีที่มีปัญหาเกิดขึ้น “ผมรู้สึกว่าการทำงานเป็นเรื่องง่ายขึ้นและสมาชิกแต่ละคนช่วยกันพัฒนาเลนส์ได้อย่างสามัคคีกันด้วย”
นักพัฒนาเลนส์ RF100-300mm f/2.8L IS USM จากซ้าย:
- Yuriyo Asami ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์
- Masato Katayose ฝ่ายออกแบบออพติคอล
- Nobuyuki Nagaoka ฝ่ายออกแบบกลไก
- Makoto Hayakawa หัวหน้าฝ่ายพัฒนา/ฝ่ายออกแบบกลไก
- Yumi Toyoda ฝ่ายออกแบบอิเล็กทรอนิกส์/เฟิร์มแวร์
- Masaaki Igarashi ฝ่ายออกแบบ
- Ken Uraba ฝ่ายเทคโนโลยีการผลิต
คุณอาจสนใจบทความต่อไปนี้
ทำไมเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้จึงจำเป็นต่อการถ่ายภาพกีฬา
อ่านเรื่องราวจากนักพัฒนาสำหรับผลิตภัณฑ์รุ่นก่อนๆ เพิ่มเติมได้ที่
ลดน้ำหนักเลนส์ Big White ถึง 1,000 ก.: เรื่องเล่าจากทีมนักพัฒนากล้องของ Canon
ประวัติที่แทบไม่มีใครรู้ของเลนส์ซูม f/2.8L และ f/4L ของ Canon