รู้จักกับเทคโนโลยีของ Canon: Dual Pixel CMOS AF คืออะไร
คุณสมบัติที่สำคัญข้อหนึ่งของระบบ EOS จาก Canon คือ AF (โฟกัสอัตโนมัติ) ที่รวดเร็วและทรงพลัง ในยุคของกล้องมิเรอร์เลสนี้ หน้าที่ในการทำให้ AF มีความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพสูงขึ้นอยู่กับระบบ Dual Pixel CMOS AF ซึ่งใช้เทคโนโลยีการตรวจจับระยะตามระนาบภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของ Canon ระบบนี้ทำงานอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ทำให้ระบบนี้มีความพิเศษ อ่านต่อเพื่อหาคำตอบว่า Dual Pixel CMOS AF ทำให้ AF มีทั้งความแม่นยำและคุณภาพของภาพอันยอดเยี่ยมได้อย่างไรในการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ
1. Dual Pixel CMOS AF คืออะไร
Dual Pixel CMOS AF คือระบบโฟกัสอัตโนมัติ (AF) ที่กล้องมิเรอร์เลส EOS และกล้อง DSLR EOS รุ่นใหม่ของ Canon ใช้ขณะถ่ายแบบ Live View ระบบนี้จะใช้เทคโนโลยีตรวจจับระยะตามระนาบภาพรูปแบบหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของ Canon ในเทคโนโลยีนี้ ทุกพิกเซลบนเซนเซอร์ภาพสามารถทำหน้าที่ในการตรวจจับระยะและสร้างภาพได้ ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ดังต่อไปนี้
- คุณภาพของภาพที่ยอดเยี่ยมโดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพของ AF
- AF ครอบคลุมพื้นที่กว้าง: สูงสุด 100% ของพื้นที่ภาพ (อ่านต่อได้ที่นี่)
- การขยายข้อมูลแสงจากเลนส์ความไวแสงสูง (รูรับแสงขนาดใหญ่) ได้ดียิ่งขึ้น (อ่านต่อได้ที่นี่)
- การโฟกัสและติดตามอย่างรวดเร็วและลื่นไหลในระหว่างการถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว
ก่อนที่จะชื่นชม Dual Pixel CMOS AF ได้อย่างเต็มที่ เราควรทำความเข้าใจว่าการตรวจจับระยะ/การตรวจจับระยะตามระนาบภาพมักจะทำงานอย่างไร หากคุณคุ้นเคยกับคุณสมบัตินี้แล้ว คุณสามารถข้ามไปข้อ 4 ได้เลย โครงสร้างของ Dual Pixel CMOS AF เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของเทคโนโลยีนี้
2. เบื้องหลังทางเทคนิค: การตรวจจับระยะ/การตรวจจับระยะตามระนาบภาพคืออะไร
2. การตรวจจับระยะ (Phase detection) คืออะไร
วิธีหนึ่งในการคำนวณระดับการปรับโฟกัสโดยเปรียบเทียบความแตกต่างของแสงที่มาจากตำแหน่งที่ต่างกันสองแห่ง
ก่อนที่ Dual Pixel CMOS AF จะถือกำเนิดขึ้น มี AF ตรวจจับระยะอยู่สองประเภทหลักๆ ได้แก่
- AF ตรวจจับระยะแบบดั้งเดิม
- AF ตรวจจับระยะตามระนาบภาพ
การทำงานของคุณสมบัติทั้งสองแบบมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ AF ตรวจจับระยะแบบดั้งเดิมซึ่งใช้บนกล้อง DSLR จะรับข้อมูลจากเซนเซอร์ AF แยกกัน ในขณะที่การตรวจจับระยะตามระนาบภาพจะใช้ข้อมูลจากพิกเซลตรวจจับระยะบนเซนเซอร์กล้อง
แต่คุณสมบัติทั้งสองนี้จะต้องใช้ข้อมูลการตัดส่วน (parallax) ซึ่งเป็นข้อมูลจากแสงที่มาจากตำแหน่งที่ต่างกันสองแห่ง (โดยจะสร้างภาพตัดส่วนที่แตกต่างกันเล็กน้อยสองภาพ) ระบบ AF จะใช้ข้อมูลการตัดส่วนนี้ในการคำนวณและปรับส่วนประกอบที่ทำหน้าที่โฟกัสของเลนส์เพื่อจับโฟกัส
2.1. วิธีการทำงานของการตรวจจับระยะแบบดั้งเดิม (กล้อง DSLR)
วิธีการทำงานของ AF ตรวจจับระยะแบบดั้งเดิม
(ภาพนี้ใช้เป็นภาพประกอบเท่านั้น)
A: เพนทาปริซึม/เพนทามิเรอร์
B: หน้าจอช่องมองภาพแบบออพติคอล (OVF)
C: กระจกหลัก
D: กระจกรอง
E: ระบบเซนเซอร์ AF
F: ทางเดินแสง
ในกล้อง DSLR แสงที่เข้าสู่เลนส์ (F) จะเบนออกไปในสองทิศทางคือขึ้นและลงเนื่องจากกระจกหลักและกระจกรอง (C และ D)
แสงที่ถูกนำขึ้นไปด้านบนจะเดินทางผ่านส่วนของเพนทาปริซึม (A) ซึ่งฉายแสงไปยังหน้าจอ OVF (B) ในรูปแบบภาพ OVF
แสงที่ถูกนำลงมาด้านล่างจะเข้าไปยังระบบเซนเซอร์ AF ซึ่งอยู่ที่ด้านล่างของกล้อง (E)
ระบบเซนเซอร์ AF เองจะมีเลนส์ขนาดเล็กอีก 2 ชิ้น เลนส์เหล่านี้จะแบ่งแสงที่เข้ามาอีกครั้งเพื่อสร้างภาพตัดส่วนสองภาพบนเซนเซอร์ AF
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเซนเซอร์ตรวจจับระยะในกล้อง DSLR ได้ที่:
อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างเซนเซอร์แบบเส้นและเซนเซอร์แบบกากบาท
2.2. วิธีการทำงานของการตรวจจับระยะตามระนาบภาพแบบทั่วไป
วิธีการทำงานของการตรวจจับระยะตามระนาบภาพแบบทั่วไป
หากการตรวจจับระยะเกิดขึ้นบนเซนเซอร์ภาพแทนที่จะเป็นเซนเซอร์ AF จะเรียกว่า การตรวจจับระยะตามระนาบภาพ โดยทั่วไปแล้ว เซนเซอร์ภาพของกล้องที่ใช้วิธีนี้จะมีพิกเซล 2 ชนิด ได้แก่
- พิกเซลสำหรับตรวจจับระยะโดยเฉพาะ
- พิกเซลสำหรับสร้างภาพ
ข้อมูลการตัดส่วนได้มาจากพิกเซลตรวจจับระยะที่ทำงานร่วมกันเป็นคู่ พิกเซลหนึ่งจะมีโฟโต้ไดโอด (ตัวรับแสงที่แปลงแสงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า) ในตำแหน่งทางซ้าย ในขณะที่อีกพิกเซลหนึ่งจะมีโฟโต้ไดโอดอยู่ทางขวา การตรวจจับระยะสามารถทำได้โดยการวิเคราะห์ความแตกต่างของข้อมูลจากทั้ง 2 พิกเซลนี้
ประสิทธิภาพของ AF จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีพิกเซลตรวจจับระยะมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีเช่นนี้จะทำให้จำนวนพิกเซลสร้างภาพลดน้อยลง ซึ่งอาจเป็นผลเสียต่อคุณภาพของภาพ
3. ข้อเสียของการตรวจจับระยะตามระนาบภาพแบบทั่วไป
3. ข้อเสียของการตรวจจับระยะตามระนาบภาพแบบทั่วไป
ต้องเลือกระหว่างคุณภาพของภาพที่สูงและประสิทธิภาพ AF
พิกเซลตรวจจับระยะบนเซนเซอร์ภาพที่ทำหน้าที่ตรวจจับระยะตามระนาบภาพแบบทั่วไป วิธีนี้ทำให้เกิดช่องว่างบนพื้นที่ในส่วนที่จำเป็นต้องถูกเติมเต็มด้วยการประมาณค่าพิกเซล ซึ่งก็คือการประมาณค่าจากข้อมูลที่ได้จากพิกเซลสร้างภาพที่อยู่โดยรอบ
ช่องว่างข้อมูลที่จำเป็นต้องถูกเติมเต็มด้วยการประมาณค่าพิกเซล ( interpolation)
คุณภาพของภาพจึงขึ้นอยู่กับปริมาณการประมาณค่าพิกเซลที่เกิดขึ้น การประมาณค่าพิกเซลเป็นวิธีหนึ่งในการเติมข้อมูลที่หายไปโดยการใช้ข้อมูลที่อยู่รอบๆ ในการประมาณว่ารายละเอียดที่หายไปอาจจะเป็นอะไร แม้อาจจะทำได้อย่างแม่นยำ แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดได้เมื่อเทียบกับการได้รับข้อมูลมาจากแหล่งโดยตรง
กระบวนการสร้างภาพสีโดยปกติจะเกี่ยวข้องกับการประมาณค่าพิกเซลอยู่แล้ว เนื่องจากพิกเซลบนเซนเซอร์ภาพนั้น "ตาบอดสี" ในตัวเอง จึงสามารถรับรู้และบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณแสงที่ผ่านเข้ามาถึงตนเองได้เท่านั้น แต่ข้อมูลสีจะถูกบันทึกโดยฟิลเตอร์สี (ฟิลเตอร์ Bayer) RGB (แดง เขียว และน้ำเงิน) ที่อยู่ด้านหน้าเซนเซอร์ ด้วยความช่วยเหลือจากฟิลเตอร์ Bayer ข้อมูลจากสีใดสีหนึ่งใน 3 สีจึงถูกบันทึกลงไปในแต่ละพิกเซล ข้อมูลจากแต่ละพิกเซลจะถูกเสริมด้วยข้อมูลจากพิกเซลที่อยู่รอบๆ ในการสร้างภาพที่มีสีสันครบถ้วน
ในการตรวจจับระยะตามระนาบภาพแบบทั่วไป "ช่องว่าง" ของข้อมูลภาพในพื้นที่ที่มีพิกเซลตรวจจับระยะ (แทนที่จะเป็นพิกเซลสร้างภาพ) จะต้องถูกเติมเต็มด้วยการประมาณค่าพิกเซลเช่นกัน โดยใช้ข้อมูลจากพิกเซลสร้างภาพที่อยู่รอบๆ วิธีนี้จะทำให้คุณภาพของภาพมีโอกาสได้รับผลกระทบมากขึ้น
สามารถทำอะไรได้อีกบ้างและทำไมบางอย่างถึงไม่ได้ผล
ในระบบนี้ จะเกิดการสูญเสียคุณภาพของภาพหรือประสิทธิภาพ AF อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ:
- การลดจำนวนและความหนาแน่นของพิกเซลตรวจจับระยะจะลดผลกระทบที่มีต่อคุณภาพของภาพได้ แต่ก็จะสูญเสียประสิทธิภาพ AF ด้วยเช่นกัน
- การกำหนดค่าให้พิกเซลตรวจจับระยะอยู่ในเส้นต่อเนื่องกัน (ซึ่้งเป็นการเพิ่มจำนวนและความหนาแน่น) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ AF ได้ อย่างไรก็ตาม นั่นหมายความว่า "ช่องว่าง" ในข้อมูลการสร้างภาพที่หายไปซึ่งจำเป็นต้องถูกเติมเต็มด้วยการประมาณค่าพิกเซลจะมีขนาดใหญ่ขึ้น
- การเพิ่มจำนวนจุด AF หรือขนาดพื้นที่ AF จะต้องอาศัยการลดจำนวนพิกเซลสร้างภาพเสมอ
Dual Pixel CMOS AF คือวิธีการแก้ปัญหาที่ Canon ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของ AF โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของภาพ เนื่องจากทุกพิกเซลสามารถทำได้ทั้งตรวจจับระยะและสร้างภาพ
4. โครงสร้างของระบบ Dual Pixel CMOS AF
4. โครงสร้างของระบบ Dual Pixel CMOS AF
Dual Pixel CMOS AF: โฟโต้ไดโอด 2 อันบนทุกๆ พิกเซลทำให้พิกเซลทั้งหมดสามารถตรวจจับระยะและสร้างภาพได้
สำหรับเซนเซอร์ภาพที่ออกแบบมาสำหรับ Dual Pixel CMOS AF แต่ละพิกเซลจะมีโฟโต้ไดโอด 2 อันดังแสดงในภาพประกอบ ขณะตรวจจับระยะ ข้อมูลจากโฟโต้ไดโอด A และ B จะถูกอ่านแยกกันแล้วนำมาเปรียบเทียบ ขณะสร้างภาพ ข้อมูลจากโฟโต้ไดโอดทั้งสองจะถูกนำมารวมกันและอ่านค่าเป็นสัญญาณเดียวโดยสมบูรณ์
เนื่องจากโฟโต้ไดโอด A และ B นั้นแยกออกจากกัน แต่ละโฟโต้ไดโอดจะสร้างภาพที่มีมุมมองไม่เหมือนกัน ("ภาพตัดส่วน") ระบบ AF จะวิเคราะห์ความแตกต่างเหล่านั้น (ปริมาณความเบลอ) วัดปริมาณ และนำมาใช้ในการคำนวณว่าจะเคลื่อนย้ายเลนส์อย่างไรเพื่อให้ภาพทั้งสองตรงกัน (= ตัวแบบอยู่ในโฟกัส)
ข้อควรรู้: การตรวจจับระยะเทียบกับการตรวจจับความเปรียบต่าง
การตรวจจับระยะนั้นเร็วกว่าการตรวจจับความเปรียบต่าง ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในการตรวจจับความเปรียบต่างระดับไมโครที่ขอบภาพ การตรวจจับความเปรียบต่างจะไม่ได้ข้อมูลด้านระยะห่าง ซึ่งไม่เหมือนกับการตรวจจับระยะ แต่จะวิเคราะห์ภาพที่ฉายลงไปบนเซนเซอร์ภาพเพื่อดูความแตกต่างของความเปรียบต่าง และเคลื่อนย้ายชุดโฟกัสจนกระทั่งความเปรียบต่างคมชัดที่สุด วิธีนี้คล้ายกับการทำงานของสมองของเราขณะจับโฟกัสแบบแมนนวลโดยไม่มีตัวช่วยใดๆ ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำ แต่ช้ากว่า นอกจากนั้น วิธีนี้ยังต้องอาศัยการไล่หาจุดโฟกัสมากกว่าด้วย ซึ่งอาจเป็นปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถ่ายวิดีโอ
เมื่อเปรียบเทียบกัน การตรวจจับระยะจะสามารถบอกได้ว่าจุดโฟกัสในปัจจุบันอยู่ที่ด้านหน้า (โฟกัสด้านหน้า) หรือด้านานหลัง (โฟกัสด้านหลัง) ของตัวแบบ วิธีนี้ทำให้สามารถคำนวณได้อย่างรวดเร็วว่าต้องเคลื่อนย้ายชุดโฟกัสของเลนส์มากเพียงใด ซึ่งทำให้ได้โฟกัสอัตโนมัติที่รวดเร็วและแม่นยำ
5. ประโยชน์ของ Dual Pixel CMOS AF
5. Dual Pixel CMOS AF มีข้อดีอย่างไรบ้าง
5.1. ประโยชน์ทั้งสองด้าน นั่นคือ คุณภาพของภาพที่ยอดเยี่ยมและ AF ประสิทธิภาพสูง
1. ประโยชน์ของคุณภาพของภาพที่ยอดเยี่ยมและ AF ประสิทธิภาพสูง
ต่อไปนี้เป็นการเปรียบเทียบเลย์เอาต์ของการตรวจจับระยะตามระนาบภาพแบบทั่วไปและ Dual Pixel CMOS AF สังเกตว่า Dual Pixel CMOS AF จะเติมเต็ม “ช่องว่างข้อมูล” ทั้งในการตรวจจับระยะและการสร้างภาพ
|
ในระบบ Dual Pixel CMOS AF ทุกพิกเซลบนเซนเซอร์ภาพสามารถทำหน้าที่ในการตรวจจับระยะและสร้างภาพได้ ซึ่งทำให้เกิดเป็น AF ที่รวดเร็ว แม่นยำ และยืดหยุ่นครอบคลุมเฟรมภาพเป็นพื้นที่กว้าง
ข้อควรรู้: ระบบก่อนหน้า Dual Pixel CMOS AF คืออะไร
ก่อนจะมีระบบ Dual Pixel CMOS AF กล้องมิเรอร์เลส (รวมถึงกล้องคอมแพคและกล้องถ่ายวิดีโอ) ใช้การตรวจจับความเปรียบต่างหรือการตรวจจับระยะแบบทั่วไป หรือผสมทั้งสองระบบ และกล้อง DSLR ก็ใช้การตรวจจับความเปรียบต่างขณะบันทึกวิดีโอเช่นกัน เนื่องจากไม่สามารถตรวจจับระยะได้เพราะกระจกถูกล็อคเอาไว้
Canon ได้พัฒนาระบบ Dual Pixel CMOS AF ขึ้นมาเนื่องจากคาดการณ์ได้ว่าความต้องการถ่ายวิดีโอจะเพิ่มมากขึ้นและกล้องมิเรอร์เลสจะกลายเป็นที่นิยม ระบบเปิดตัวไปเมื่อปี 2013 ในกล้อง EOS 70D ซึ่งทำให้ AF ตรวจจับระยะทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำทั้งในการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ
2. พื้นที่ครอบคลุม AF 100%
เมื่อพิกเซลบนเซนเซอร์ภาพทั้งหมดสามารถตรวจจับระยะได้ จึงมี AF ที่ครอบคลุมพื้นที่ภาพมากกว่า อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนนี้ไม่สามารถทำได้ด้วยพิกเซลเพียงพิกเซลเดียว ตัวแบบจะถูกตรวจจับเมื่อพิกเซลจำนวนมากทำการตรวจจับระยะของข้อมูลภาพภายในพื้นที่ AF หนึ่ง ด้วยเหตุนี้ กล้องทุกรุ่นจึงมาพร้อมกับโหมดพื้นที่ AF ที่หลากหลายเพื่อรองรับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างโหมดพื้นที่ AF
ยกตัวอย่างเช่น
- AF จุดเดียว จะให้พื้นที่ AF ขนาดเล็กที่มีความแม่นยำเหนือตัวแบบที่คุณจับโฟกัสมากขึ้น ซึ่งทำให้คุณควบคุมองค์ประกอบภาพได้ดียิ่งขึ้น
- โหมด ขยายพื้นที่ AF ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามขณะถ่ายตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่ เนื่องจากระบบใช้ข้อมูลการตรวจจับระยะจากพื้นที่ที่อยู่รอบๆ พื้นที่ของ AF จุดเดียวด้วยเช่นกัน
- AF จุดเล็ก ให้พื้นที่ AF ที่เล็กกว่า AF จุดเดียว ซึ่งเหมาะสำหรับฉากที่ต้องการการโฟกัสที่แม่นยำมาก
- AF ทั่วพื้นที่ จะแบ่งพื้นที่ภาพทั้งหมดออกเป็นโซนกรอบ AF ที่หนาแน่นสำหรับ AF ยกตัวอย่างเช่น กล้อง EOS R6 Mark II จะมี AF 1053 โซนซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 90%×100% (แนวนอน × แนวตั้ง) ของเฟรมภาพ
นอกจากนี้ Dual Pixel CMOS AF ยังทำงานร่วมกันได้กับระบบตรวจจับตัวแบบและติดตามตัวแบบ EOS iTR AF เมื่อตรวจพบตัวแบบ AF จะมีความครอบคลุมได้สูงสุดถึง 100% ของพื้นที่ภาพ (อาจแตกต่างกันไปในกล้องแต่ละรุ่น)
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
การจัดองค์ประกอบภาพทำได้ง่ายขึ้นในกล้องมิเรอร์เลสใช่หรือไม่
5.3. ใช้ประโยชน์จากเลนส์ไวแสงได้อย่างเต็มที่
3. ใช้ประโยชน์จากเลนส์ไวแสงได้อย่างเต็มที่
มาทบทวนกันอีกครั้ง: ภาพตัดส่วนที่ใช้ในการคำนวณ AF ด้วยวิธีการแบบตรวจจับระยะมี 2 ภาพ ภาพหนึ่งมาจากโฟโต้ไดโอดทางซ้าย และอีกภาพหนึ่งมาจากโฟโต้ไดโอดทางขวา ภาพเหล่านี้แตกต่างกันเนื่องจากแสงที่ทำให้เกิดภาพเข้ามาถึงฝั่งซ้ายและขวาตามลำดับจากเส้นทางที่ต่างกัน
เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดกว้าง (“เลนส์ไวแสง”) จะมีไดอะแฟรมรูรับแสง (ช่องเปิดของเลนส์) ที่ใหญ่กว่า ดังนั้น ช่องว่างระหว่างเส้นทางไปยังโฟโต้ไดโอดทางฝั่งซ้ายและขวาจึงกว้างขึ้นไปอีก ซึ่งส่งผลให้ภาพตัดส่วนมีความแตกต่างกันมากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้คำนวณ AF ได้แม่นยำยิ่งขึ้น
เซนเซอร์ตรวจจับระยะในกล้อง DSLR อาจเรียกได้ว่า ไวต่อค่า f/2.8 ไวต่อค่า f/5.6 หรืออื่นๆ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเซนเซอร์เหล่านี้ได้รับการออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับแสงที่มีความยาวฐานบางช่วง และทำงานเมื่อใช้กับเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างสุดตามค่า f ที่กำหนดไว้หรือเร็วกว่าเท่านั้น ยิ่งค่า f ใน “ไวต่อค่า f/” น้อยเท่าใด เซนเซอร์ก็จะแม่นยำขึ้นเท่านั้น ดังนั้น เซนเซอร์ที่ไวต่อค่า f/5.6 จึงสามารถทำงานร่วมกับเลนส์ f/2.8 ได้ แต่จะไม่แม่นยำเท่าเซนเซอร์ที่ไวต่อค่า f/2.8 นอกจากนี้ แม้คุณจะใช้เลนส์ที่ไวกว่า f/2.8 (เช่น f/1.8) เซนเซอร์ที่ไวต่อค่า f/2.8 จะเริ่มตรวจจับระยะได้ที่ค่า f/2.8 เช่นกัน
แต่ไม่มีข้อจำกัดเช่นนี้กับระบบ Dual Pixel CMOS AF ซึ่งสามารถใช้ข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดซึ่งพิกเซลบนเซนเซอร์ภาพรวบรวมมาได้ ข้อมูลแสงที่เพียงพอซึ่งเลนส์ไวแสงปล่อยให้ผ่านเข้ามาในกล้องจะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงมีส่วนช่วยให้ AF เร็วและแม่นยำมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
เลนส์ไวแสงทำให้มองเห็นผ่านช่องมองภาพได้ง่ายขึ้นหรือไม่
6. Dual Pixel CMOS AF II มีความแตกต่างอย่างไร
6. Dual Pixel CMOS AF II มีความแตกต่างอย่างไร
Dual Pixel CMOS AF II คือเวอร์ชันของ Dual Pixel CMOS AF ที่รองรับ EOS iTR AF X ระบบตรวจจับและติดตามตัวแบบของ Canon ที่ใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก
ในขณะที่กล้องมิเรอร์เลสได้เข้ามาแทนที่กล้อง DSLR มากขึ้นในฐานะกล้องแบบถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ที่ผู้ใช้เลือก รวมทั้งมีผู้ที่ถ่ายทั้งภาพนิ่งและวิดีโอเพิ่มขึ้นด้วย Dual Pixel CMOS AF จึงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่จำเป็นต่อการพัฒนาความสามารถของกล้อง
7. สรุป: คุณสมบัติที่สำคัญของ Dual Pixel CMOS AF
7. สรุป: คุณสมบัติที่สำคัญของ Dual Pixel CMOS AF
- ให้ AF ครอบคลุมพื้นที่กว้าง โฟกัสราบรื่น การติดตามที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพขณะถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ
- โฟกัสได้อย่างราบรื่นเนื่องจากใช้การตรวจจับระยะทั้งหมดโดยไม่เปลี่ยนไปใช้หรือเปลี่ยนจากการตรวจจับความเปรียบต่าง
- ทุกพิกเซลบนเซนเซอร์ภาพสามารถทำหน้าที่ในการตรวจจับระยะและสร้างภาพได้ คุณสมบัตินี้ทำให้ AF มีประสิทธิภาพและความครอบคลุมสูง ทั้งยังให้คุณภาพของภาพที่ยอดเยี่ยมโดยไม่ต้องลดทอนคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง
Canon Dual Pixel CMOS AF (YouTube)
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีอื่นๆ ของ Canon ได้ที่
รู้จักกับเทคโนโลยีของ Canon: DIGIC คืออะไร
Nano USM: การโฟกัสที่รวดเร็วและราบรื่นเพียงปลายนิ้วสัมผัส