คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง: การจัดองค์ประกอบภาพทำได้ง่ายขึ้นในกล้องมิเรอร์เลสใช่หรือไม่
กล้องมิเรอร์เลส EOS มีความครอบคลุมของโฟกัสอัตโนมัติ (AF) ดีกว่า AF ช่องมองภาพของกล้อง EOS DSLR เนื่องจากครอบคลุมพื้นที่ภาพได้เกือบทั้งหมดและมีตำแหน่ง AF ที่สามารถเลือกเองได้มากกว่ามาก แล้วปัจจัยนี้จะเปลี่ยนวิธีการใช้งาน AF ของคุณอย่างไร พบคำตอบได้ในบทความนี้! (เรื่องโดย: Takashi Karaki, Digital Camera Magazine)
ความครอบคลุมของ AF กว้างขึ้นและหนาแน่นขึ้นระหว่างการถ่ายภาพด้วยช่องมองภาพ
ขณะถ่ายภาพนิ่งผ่านช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ (EVF) ของกล้องมิเรอร์เลส Canon EOS ระบบโฟกัสอัตโนมัติ (AF) ที่ทำงานอยู่คือ ระบบ Dual Pixel CMOS AF แบบใช้เซนเซอร์ภาพ ซึ่งแต่ละพิกเซลบนเซนเซอร์ภาพนั้นสามารถตรวจจับระยะได้นอกเหนือจากการจับแสงเพื่อถ่ายภาพ วิธีนี้ช่วยให้ได้พื้นที่ AF ที่ครอบคลุมพื้นที่ภาพเกือบทั้งหมด ตลอดจนมีตำแหน่ง AF ที่เป็นไปได้มากขึ้น (เช่น กล้อง EOS R5 มีตำแหน่ง AF ที่เลือกได้สูงสุด 5,490 ตำแหน่ง)
ซึ่งเป็นการเทียบกับระบบ AF ช่องมองภาพของกล้อง DSLR ที่จุด AF มีจำนวนคงที่และมักจะหนาแน่นที่ตรงกลางภาพ
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อแตกต่างดังกล่าวได้ที่:
สเปคของกล้อง EOS R แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร
จุดโฟกัสอัตโนมัติ/ความครอบคลุมของ AF ของกล้อง DSLR
(ตัวอย่าง: EOS 5D Mark IV - จุด AF 61 จุด)
*ภาพนี้ใช้เป็นภาพประกอบเท่านั้น
จุดโฟกัสอัตโนมัติ/ความครอบคลุมของ AF ของกล้องมิเรอร์เลส
(ตัวอย่าง: EOS R5 - ครอบคลุมพื้นที่สูงสุด 100% x 100%)
ความครอบคลุมของ AF จริงขึ้นอยู่กับรุ่นของกล้องและเลนส์ของคุณ สำหรับระบบ EOS R นั้นอาจสูงถึง 100% ในแนวตั้ง และ 88-100% ในแนวนอน (ขึ้นอยู่กับรุ่นของกล้อง) เมื่อใช้ร่วมกับเลนส์รุ่นที่เข้ากันได้
คุณสมบัตินี้มีผลต่อการถ่ายภาพนอกสถานที่อย่างไร ลองพิจารณาภาพท้องฟ้ายามอาทิตย์อัสดงภาพต่อไปนี้
ในภาพนี้ จุดสนใจหลักคือพระอาทิตย์ที่ขอบด้านล่างของภาพ และนั่นคือจุดที่คุณจะต้องจับโฟกัส
การโฟกัสด้วยกล้อง DSLR
สำหรับกล้อง DSLR นั้น การจัดองค์ประกอบแล้วจับโฟกัสจะใช้ไม่ได้ผลสำหรับตัวแบบที่อยู่ตรงขอบเฟรม คุณจำเป็นต้องใช้เทคนิคการล็อค AF (‘โฟกัสแล้วจัดองค์ประกอบภาพใหม่’):
ขั้นตอนที่ 1: หาโฟกัสโดยใช้จุด AF จุดใดจุดหนึ่ง
ขั้นตอนที่ 2: “ล็อคโฟกัส” โดยกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง
ขั้นตอนที่ 3: จัดองค์ประกอบภาพใหม่ตามต้องการ
ขั้นตอนที่ 4: ถ่ายภาพ
การโฟกัสด้วยกล้องมิเรอร์เลส
สำหรับกล้องมิเรอร์เลส เนื่องจากพื้นที่ AF ครอบคลุมเฟรมภาพเกือบทั้งหมด คุณจึงจัดองค์ประกอบภาพได้เกือบทุกแบบที่คุณต้องการตั้งแต่ต้น โดยไม่ต้องล็อคโฟกัสและจัดองค์ประกอบใหม่ ขั้นตอนการใช้งานที่ไม่ซับซ้อนนี้ไม่เพียงช่วยให้คุณถ่ายภาพได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังให้อิสระในการสร้างสรรค์มากขึ้นอีกด้วย
เทคนิคพิเศษ: การใช้วิธีการโฟกัสอัตโนมัติแบบต่างๆ
ส่วนใหญ่แล้ว โหมด AF ตรวจจับใบหน้า + ติดตามตัวแบบ (AF อัตโนมัติเต็มรูปแบบ) จะเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของตัวแบบ การเคลื่อนไหวของตัวแบบ ตลอดจนระดับความแม่นยำที่คุณต้องการ การใช้วิธีการโฟกัสอัตโนมัติที่ต่างกันอาจช่วยให้คุณจับโฟกัสได้ง่ายขึ้น
คุณอาจมีวิธีโฟกัสอัตโนมัติให้เลือกถึง 8 วิธี ขึ้นอยู่กับกล้องของคุณ มาดูสองวิธียอดนิยมต่อไปนี้กัน
AF 1 จุด: สำหรับความแม่นยำในการโฟกัสแบบ Pinpoint
‘AF 1 จุด’ จะโฟกัสด้วยจุด AF เล็กๆ เพียงจุดเดียว ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับฉากที่มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ หรือหากตัวแบบมีขนาดเล็กจิ๋ว วิธีนี้เหมาะสำหรับฉากที่ตัวแบบหลักเคลื่อนไหวไม่มากนักและกินพื้นที่ส่วนเล็กๆ ของเฟรมภาพ กล้องบางรุ่นยังมี ‘AF จุดเล็ก’ ซึ่งช่วยให้คุณจับโฟกัสในพื้นที่ที่เล็กยิ่งกว่า AF 1 จุดได้
ลองใช้วิธีนี้: ใช้โหมดนี้ร่วมกับฟังก์ชั่นขยายใหญ่และ Touch AF เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด!
ตัวอย่างการใช้งาน AF 1 จุด/AF จุดเล็ก:
RF85mm f/2 Macro IS STM: มองดูธรรมชาติให้ใกล้ชิดขึ้น
การถ่ายภาพดอกไม้: เทคนิคและคุณสมบัติของกล้องที่เป็นประโยชน์
Zone AF: สำหรับติดตามตัวแบบที่เคลื่อนไหว
เช่นเดียวกับโหมดเวอร์ชันกล้อง DSLR โหมด Zone AF จะแบ่งพื้นที่ AF ทั้งหมดออกเป็นโซนต่างๆ และทำการตรวจจับตัวแบบภายในโซนที่คุณเลือกเท่านั้น จึงเหมาะสำหรับตัวแบบที่เคลื่อนไหว
ข้อควรรู้: โหมด Large Zone AF ที่มีในกล้องบางรุ่นจะทำงานในลักษณะคล้ายกัน เว้นแต่ใช้กับโซนที่ใหญ่กว่า เมื่อตัดสินใจว่าจะใช้โหมดใด ควรพิจารณาขนาดของตัวแบบและขอบเขตการเคลื่อนไหวของตัวแบบ
ดูตัวอย่างการใช้งาน Zone AF และ Large Zone AF ได้ที่นี่:
สถานที่น่าสนใจในสวิตเซอร์แลนด์: 5 วิธีใช้กล้อง EOS R ให้คุ้มค่าที่สุด
นกโผบิน: การตั้งค่ากล้องเพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการถ่ายภาพ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
หลังจากผ่านประสบการณ์การเป็นโค้ชกีฬา ต่อด้วยการทำงานในแวดวงการผลิตนิตยสารและบรรณาธิการมาเป็นเวลา 10 ปี Karaki ก็ย้ายไปยังเมืองโยนาโงะในจังหวัดท็อตโตริ ซึ่งเขาได้กลายเป็นที่รู้จักจากผลงานการถ่ายภาพทิวทัศน์ในภูมิภาคซันอินของญี่ปุ่น ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ใน จุลสาร Amazing Village ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหมู่บ้านสวยๆ ในญี่ปุ่นที่จัดทำขึ้นภายใต้โครงการความร่วมมือ CANON × Discover Japan ในปี 2017 และภาพทะเลหมอกที่ช่องเขาอาเคชิในจังหวัดท็อตโตริก็เป็นหนึ่งใน 12 ภาพที่ได้รับคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ให้เป็นตัวแทนของญี่ปุ่น
Instagram: @karakky0918