ผมขึ้นรถไฟไปเที่ยวรอบเมือง Interlaken ในสวิตเซอร์แลนด์ตอนกลางและนำกล้อง EOS R ติดตัวไปด้วย ทั้งกล้องและผม เราต่างก็ได้เห็นความงดงามของสวิตเซอร์แลนด์และถ่ายภาพมามากมาย และต่อไปนี้คือวิธีการใช้กล้อง EOS R ให้คุ้มค่าที่สุดที่ผมได้เรียนรู้มา (เรื่องโดย: Kazuo Nakahara (Digital Camera Magazine)
สนับสนุนโดย: การรถไฟ Jungfrau, Rail Europe Japan, การท่องเที่ยว Interlaken
EOS R/ RF24-105mm f/4 L IS USM/ FL: 85 มม./ Flexible-priority AE(f/5.6, 1/160 วินาที, EV±0)/ ISO 2000/ WB: อัตโนมัติ
รถไฟ Jungfraubahn นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกขึ้นรถไฟสีแดงขบวนนี้ไปยังสถานีใน Jungfraujoch (ฉบับภาษาอังกฤษ) ซึ่งอยู่ที่ความสูง 3,454 ม. เหนือระดับน้ำทะเลและเป็นที่รู้จักกันในฐานะจุดสูงสุดของยุโรป มีภูเขา Eiger และ Mönch อยู่ด้านหลัง ผมทั้งประหลาดใจและชอบใจที่ภาพมีสีสันชัดเจนแม้จะถ่ายภาพในสภาพแสงย้อน
#1: ปรับแต่งระดับอิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถเปิดหรือปิดได้ด้วยการกดปุ่มเพียงครั้งเดียว
คุณคงอยากมั่นใจว่าภาพที่ถ่ายนั้นตรงตามแนวนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณถ่ายภาพทิวทัศน์ที่กว้างใหญ่ การแสดงระดับอิเล็กทรอนิกส์ใน EVF มีประโยชน์ในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะสามารถช่วยคุณได้แม้ในฉากจะไม่มีเส้นที่เห็นได้ชัดเจนเพื่อวัดระดับในแนวนอน
เคล็ดลับ: ปรับการตั้งค่าที่ VF info/toggle และคุณจะสามารถเปิดปิดการแสดงระดับอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยกดเพียงปุ่ม INFO เท่านั้น
วิธีการ
บนแถบเมนู SET UP เลือก [Shooting info. Disp.] จากนั้นเลือก [VF info/toggle settings] เลือกรายการที่คุณต้องการให้แสดงบนแต่ละหน้าจอ เมื่อเสร็จแล้ว คุณจะสามารถเปลี่ยนสลับหน้าจอได้ด้วยการใช้ปุ่ม INFO
ระดับอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้คุณตรวจดูได้ว่ากำลังเอียงกล้องโดยไม่รู้ตัวขณะถ่ายภาพหรือไม่ ซึ่งเป็นประโยชน์มากในฉากที่ไม่มีเส้นช่วยในการวัดระดับแนวนอน แต่หากทำให้คุณเสียสมาธิ คุณก็สามารถปิดมันได้
EOS R/ RF24-105mm f/4L IS USM / FL: 24 มม. / Flexible-priority AE(f/4, 1/800 วินาที, EV+0.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
#2: หากคุณกำลังถ่ายภาพจากยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่ ให้ตั้งค่าชดเชยแสงไว้ล่วงหน้า
การหาค่าการเปิดรับแสงที่เหมาะสมที่สุดขณะถ่ายภาพจากรถไฟหรือยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากฉากจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ทิวทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนี้คือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกอยากถ่ายภาพ
นี่คือวิธีหนึ่งที่จะทำให้คุณสามารถปรับการตั้งค่าการเปิดรับแสงได้อย่างรวดเร็ว ปรับแต่งการควบคุมของคุณให้สามารถใช้การชดเชยแสงได้เมื่อหมุนวงแหวน Quick Control หรือวงแหวนควบคุมเลนส์ และคุณจะสามารถเห็นผลลัพธ์ที่ได้ทันทีใน EVF
ผมปรับแต่งให้วงแหวน Quick Control ในโหมด Av และ Tv เป็นตัวควบคุมการชดเชยแสง ในโหมด Fv วงแหวนมีไว้สำหรับเลือกพารามิเตอร์ในการวัดแสง ผมจึงตั้งให้วงแหวนควบคุมเลนส์เป็นปุ่มลัดแทนในการใช้การชดเชยแสง ภาพด้านล่างถ่ายจากบนรถไฟที่กำลังวิ่งอยู่ระหว่างยอดเขา Schynige Platte กับยอดเขา First
EOS R/ EF16-35mm f/4L IS USM/ FL: 20 มม./ Flexible-priority AE (f/5.6, 1/125 วินาที, EV+1.0)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
#3: ใช้ Large Zone AF เพื่อให้ง่ายต่อการโฟกัสตัวแบบขนาดใหญ่
กรอบ AF ในวิธีการโฟกัสอัตโนมัติส่วนใหญ่อาจเล็กเกินไปสำหรับตัวแบบขนาดใหญ่ จึงทำให้ยากต่อการโฟกัสตัวแบบทั้งหมด
แต่สำหรับตัวแบบเช่นนี้ วิธีการโฟกัสอัตโนมัติแบบใหม่สองวิธีของกล้อง EOS R สามารถช่วยคุณได้ ทั้ง Large Zone AF (แนวตั้ง) และ Large Zone AF (แนวนอน) มีกรอบ AF ที่ครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง จึงง่ายต่อการจับโฟกัสสำหรับทั้งตัวแบบที่มีขนาดใหญ่และตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่ เช่น นักกระโดดร่มร่อนสีแดงในฉากนี้
ฉากนี้อาจดูธรรมดาหากขาดนักกระโดดร่มไป ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมผมจึงตัดสินใจใส่เข้ามาในภาพด้วย วิธีการโฟกัสอัตโนมัติแบบ 'Large Zone AF: แนวตั้ง' ช่วยให้มั่นใจได้ว่าตัวร่มทั้งหมดอยู่ในโฟกัส แม้จะมีการเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถคาดเดาได้
EOS R/ RF28-70mm f/2L USM/ FL: 28 มม./ Flexible-priority AE (f/2, 1/4,000 วินาที, EV-1.0)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
#4: ใช้หน้าจอแบบปรับหมุนได้ให้เป็นประโยชน์ในการถ่ายภาพวิวที่โดดเด่น
สถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่งล้วนมีจุดที่ "ต้องถ่ายภาพ" แต่ทำไมถึงไม่ลองถ่ายภาพสิ่งต่างๆ ในมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ของคุณเองล่ะ มันจะง่ายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนหากคุณใช้หน้าจอแบบปรับหมุนได้ เพียงแค่ปรับหน้าจอ คุณก็จะสามารถตรวจดูและปรับการจัดองค์ประกอบภาพของคุณได้ไม่ว่าคุณจะถือกล้องอยู่เหนือหัวเพื่อถ่ายภาพมุมสูงหรือเล็งกล้องจากพื้นขึ้นไปบนฟ้าเพื่อถ่ายภาพมุมต่ำ
และคุณไม่จำเป็นต้องนอนคว่ำลงเพื่อถ่ายภาพเงาสะท้อนในแอ่งน้ำอีกต่อไป นอกเสียจากว่าคุณต้องการจะทำเช่นนั้น
เมื่อพลิกหน้าจอแบบปรับหมุนได้ออกมา คุณจะสามารถหมุนหน้าจอไปด้านหน้าได้ประมาณ 180° เพื่อหันเข้าหาตัวแบบ หรือหันกลับมาด้านหลังได้ 90° แกนพับมีขนาดเล็กแต่ทนทานมาก จึงช่วยให้กล้องคงความกะทัดรัดเอาไว้ได้
EOS R/ RF28-70mm f/2L USM/ FL: 31 มม./ Shutter-priority AE (f/2, 1/5,000 วินาที, EV±0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เหมาะสำหรับการถ่ายภาพในแนวตั้ง แม้ถ่ายจากมุมที่ต่ำมาก
เพราะสามารถพลิกหน้าจอออกมาได้ จึงง่ายต่อการมองเห็นภาพในขณะถ่ายภาพในแนวตั้ง
(เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย Canon)
EOS R/ RF50mm f/1.2L USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/1.2, 1/25 วินาที, EV+0.7)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
#5: ใช้เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์และโหมดถ่ายภาพแบบเงียบในการถ่ายภาพภายในอาคาร
ไม่ต้องเสียใจไปหากเลนส์ EF ตัวโปรดของคุณยังไม่มีคุณสมบัติเทียบเท่าเลนส์ RF คุณสามารถติดเลนส์ลงไปบนกล้อง EOS R ได้และใช้คุณสมบัติต่างๆ ให้เต็มที่ได้ด้วยเมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS R เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ เช่น EF16-35mm f/4L IS USM สามารถถ่ายภาพสถานที่ต่างๆ เช่น ภายในโบสถ์ ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้คู่กับคุณสมบัติถ่ายภาพแบบเงียบเพื่อรักษาบรรยากาศเงียบสงบของสถานที่
RF15-35mm f/2.8L IS USM คือ เลนส์ที่ทุกคนต่างรอคอย แต่ระหว่างที่ยังไม่เปิดตัวนั้น ผมพอใจที่สามารถใช้เลนส์ EF16-35mm f/4L IS USM กับกล้อง EOS R ได้โดยใช้เมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS R ช่วย
EOS R/ EF16-35mm f/4L IS USM / FL: 20 มม. / Flexible-priority AE (f/5.6, 1/125 วินาที, EV+1.0)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
โดยสรุป: กล้องสำหรับการท่องเที่ยวอันทรงประสิทธิภาพที่ให้คุณภาพของภาพสูงและพกพาได้สะดวก
EOS R เป็นกล้องมิเรอร์เลสแบบฟูลเฟรมรุ่นแรกของ Canon ที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติอันยอดเยี่ยม (เช่น เซนเซอร์ขนาด 30.3 เมกะพิกเซล ระบบ Dual Pixel CMOS AF และระบบประมวลผลภาพ DIGIC 8 ใหม่) และใช้งานง่าย เช่น หน้าจอแบบปรับหมุนได้และความสามารถในการจับคู่กับสมาร์ทโฟนภายในบอดี้ขนาดเล็กและมีน้ำหนักเบา ระบบเมาท์ RF ใหม่ ก็เป็นที่กล่าวถึงอย่างมากเช่นกัน รวมทั้งการที่ระบบนี้ได้ปฏิวัติวงการถ่ายภาพไปอย่างไร ด้วยเหตุนี้ ผมจึงรู้สึกว่า EOS R เป็นกล้องที่ยอดเยี่ยมสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้กับเลนส์ซูมสารพัดประโยชน์อย่าง RF24-105mm f/4L IS USM
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้กล้อง EOS R เพื่อถ่ายรูปท่องเที่ยวได้ที่:
รีวิวประสบการณ์โดยตรง: ทำไมกล้องEOS R จึงเป็นตัวช่วยที่ดีในการถ่ายภาพการท่องเที่ยวของผม
รีวิวการใช้งานกล้อง EOS R: เก็บภาพความงดงามแห่งประเทศญี่ปุ่น (ฉบับภาษาอังกฤษ)
24 ชั่วโมงในโซล: 10 ภาพตระการตาที่ถ่ายด้วยกล้อง EOS R (ฉบับภาษาอังกฤษ)
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกล้อง EOS R ได้ที่:
จุดโฟกัส: EOS R
คอลเลคชั่น EOS R (ฉบับภาษาอังกฤษ)
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมืองฮอกไกโดในปี 1982 Nakahara ผันเข้าสู่วงการถ่ายภาพหลังจากทำงานในบริษัทผลิตสารเคมี เขาถ่ายภาพที่ Vantan Design Institute เป็นหลักและเป็นผู้บรรยายในเวิร์คช็อปและสัมมนาด้านการถ่ายภาพ นอกเหนือจากการทำงานถ่ายภาพโฆษณา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินงานเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลด้านการถ่ายภาพอย่าง studio9 อีกด้วย