นกโผบิน: การตั้งค่ากล้องเพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการถ่ายภาพ
เมื่อต้องถ่ายภาพนกที่กำลังเคลื่อนไหว การทำให้นกอยู่ในโฟกัสนั้นเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก ระบบ EOS iTR AF X ใหม่ของกล้อง EOS R5 และ EOS R6 จะตรวจจับตัว หัว และแม้กระทั่งดวงตาของนกได้อย่างง่ายดาย แต่สำหรับฉากยากๆ บางฉาก การปรับแต่งค่าในเมนูอาจช่วยให้ระบบนี้ทำงานได้ดียิ่งขึ้นไปอีก ช่างภาพมืออาชีพอย่าง Neo Ng ซึ่งความรักในการถ่ายภาพการเคลื่อนไหวทำให้เขาไปที่ที่มีนกบินโฉบและล่าเหยื่อในวันที่เขาหยุดพักจากการถ่ายภาพกีฬา จะมาแบ่งปันเคล็ดลับบางส่วนในบทความนี้ (เรื่องโดย: Neo Ng)
ก่อนการถ่ายภาพ: การตั้งค่าเบื้องต้นเพื่อการตอบสนองที่เหมาะที่สุด
การถ่ายภาพประเภทต่างๆ มีการตั้งค่าที่เหมาะที่สุดไม่เหมือนกัน และข้อได้เปรียบของกล้องระดับสูงอย่าง EOS R5 และ EOS R6 คือ ระดับที่คุณสามารถปรับแต่งกล้องให้เหมาะกับฉากและความชอบของคุณ
การถ่ายภาพตัวแบบที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงแต่คาดเดาไม่ได้อย่างนกที่กำลังบินและพุ่งโฉบลงมานั้น ทุกเสี้ยววินาทีมีความสำคัญ กล้องรุ่นต่างๆ เช่น EOS R5, EOS R6 และ EOS-1D X Mark III สร้างมาเพื่อความเร็วและมีประสิทธิภาพของ AF ที่ดีเยี่ยมอยู่แล้ว แต่ยังมีสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อลดโอกาสในการเกิดปัญหากล้องหน่วงด้วย! ลองมาดูเคล็ดลับบางอย่างต่อไปนี้กัน
- ถ่ายภาพในโหมดแมนนวลหรือ Shutter-priority AE (Tv) ด้วยความไวแสง ISO คงที่
เมื่อคุณใช้โหมดการเปิดรับแสงอัตโนมัติ กล้องต้องทำการวัดและคำนวณระดับแสงที่ดีที่สุดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้กล้องมีการตอบสนองช้าลงกว่าเดิมถึงเสี้ยววินาที สำหรับกล้องมิเรอร์เลส อาจทำให้เกิดการหน่วงของ EVF ด้วยเช่นกัน เนื่องจากกล้องจะอัพเดตการแสดงผลในแบบเรียลไทม์ วิธีที่ดีที่สุดในการลดการประมวลผลที่จำเป็นคือ การใช้โหมดแมนนวลเต็มรูปแบบ
แต่โหมดการเปิดรับแสงอัตโนมัติอาจมีประโยชน์สำหรับบางฉาก เช่น เมื่อนกบินจากพื้นที่สว่างเข้าไปในพื้นที่มืด ในสถานการณ์เช่นนี้ ให้ใช้โหมด Tv เพื่อคงความเร็วชัตเตอร์สูงไว้ แต่ตั้งความไวแสง ISO แบบแมนนวลแทนการใช้ ISO อัตโนมัติ กล้องจะยังคงต้องอัพเดตการแสดงผลของ EVF แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องคำนวณความไวแสง ISO ที่ดีที่สุดซ้ำอย่างต่อเนื่อง
- ปิดการลดจุดรบกวนจากความไวแสง ISO สูง
คุณจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงมาก จึงควรเตรียมพร้อมที่จะใช้ความไวแสง ISO สูงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเปิดการลดจุดรบกวนจากความไวแสง ISO สูงอาจทำให้ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องลดลงและส่งผลให้พลาดโอกาสในการถ่ายภาพ ด้วยเหตุนี้ กล้องที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยมในด้านความไวแสง ISO สูง จึงมีประโยชน์!
- ปิด AF ต่อเนื่อง
ในโหมด AF ต่อเนื่อง (ต่างจากโหมด Servo AF) กล้องจะทำการตรวจจับโฟกัสแม้แต่ก่อนที่คุณจะกดปุ่มเพื่อเริ่ม AF ลดการใช้พลังงานโดยการปิดโหมดดังกล่าวในเมนู AF ของกล้อง
- สำหรับกล้องมิเรอร์เลส: ปิด ‘ดูภาพ’ แล้วตั้งค่าประสิทธิภาพการแสดงผลของ EVF เป็น ‘นุ่มนวล’
วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถติดตามการเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้นผ่าน EVF
อย่าลืมตรวจสอบค่าต่อไปนี้ด้วย!
การตั้งค่าต่อไปนี้ถือเป็นพื้นฐานสำหรับการถ่ายภาพนกและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ แต่มักถูกหลงลืมได้ง่าย
- เป้าหมายที่ตรวจจับ: สัตว์
เมื่อถ่ายภาพนก แมว หรือสุนัข ต้องไม่ลืมที่จะเปลี่ยนเป็น ‘สัตว์’ เพื่อจดจำตัวแบบได้ดีขึ้น
- ตรวจจับดวงตา: เปิดใช้งาน
โหมดนี้ถูกปิดใช้งานตามค่าเริ่มต้น ดังนั้น ให้ตรวจดูว่ามีการเปิดใช้งานแล้ว!
- การโฟกัสอัตโนมัติ: Servo AF
ในโหมดนี้ กล้องจะจับโฟกัสที่ตัวแบบที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่เสมอตราบเท่าที่คุณกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งหรือกดปุ่ม AF ON ค้างไว้ จุด AF จะเป็นสีน้ำเงินแทนที่จะเป็นสีเขียว
- เลนส์ IS – ปิด (เพื่อถ่ายภาพที่คมชัดขึ้นเมื่อใช้ขาตั้งกล้อง)
เมื่อคุณตั้งค่าเหล่านี้ครบแล้ว การตั้งค่าอื่นๆ จะขึ้นอยู่กับฉากนั้นๆ ในลำดับต่อไป ผมจะเล่าวิธีการตั้งค่าต่างๆ ที่ผมแนะนำสำหรับฉากนกบิน 3 ฉาก
ฉากที่ 1: นกน้ำที่กำลังบินขึ้นจากน้ำ
EOS R5 + EF600mm f/4L IS III USM @ f/4, 1/4000 วินาที, ISO 1000
นกเป็ดผีเล็ก
หากคุณเป็นมือใหม่ในการถ่ายภาพนกบิน การถ่ายภาพนกว่ายน้ำน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด เราจะสังเกตุเห็นนกลักษณะนี้ได้ง่าย และทิศทางการเคลื่อนไหวที่คาดเดาได้ทำให้จับโฟกัสพวกมันอย่างต่อเนื่องได้ง่ายกว่า แต่ส่วนที่ยากคือ การเร่งความเร็วกะทันหันเมื่อพวกมันเริ่มบิน
การตั้งค่า AF ที่สำคัญ
- วิธีโฟกัสอัตโนมัติ: ตรวจจับใบหน้า + ติดตามตัวแบบ
- ลักษณะเฉพาะของ Servo AF: “เพิ่ม/ลดความไว ติดตาม” เป็น +1 หรือ +2
เทคนิค
ใช้จุด Servo AF เริ่มต้นเพื่อจับโฟกัสที่นกขณะกำลังว่ายน้ำ แล้วติดตามนกตัวนั้นไปจนกว่าจะบิน
การตั้งค่าที่มีประโยชน์ 1: จุด Servo AF เริ่มต้น
ตามค่าเริ่มต้น (‘อัตโนมัติ’) กล้องจะค้นหาจุด AF ที่ดีที่สุดทั่วทั้งพื้นที่ AF การตั้งค่าจุด Servo AF เริ่มต้นเป็นการ “บอก” กล้องว่าจะให้เริ่มค้นหาจากจุดไหน ซึ่งเป็นการเร่งกระบวนการนี้ให้เร็วขึ้น
ขั้นตอนที่ 1: ในเมนู AF ให้มองหารายการนี้:
ขั้นตอนที่ 2: เลือกรายการที่สองในเมนู
ตัวเลือกนี้ยังทำให้คุณสามารถคงจุด AF เดิมไว้เสมอได้แม้เมื่อคุณจะเปลี่ยนจากโหมดการตรวจจับใบหน้า + ติดตามตัวแบบเป็นโหมด AF อื่น
ขั้นตอนที่ 3: วางจุด AF บนตัวแบบ
กรอบเล็กๆ ตรงกลางคือจุด Servo AF เริ่มต้น ให้วางกรอบบนตัวนก แล้วกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งหรือกดปุ่ม AF ON ซึ่งน่าจะทำให้กล้องค้นหาตัวแบบได้ค่อนข้างง่าย และเมื่ออยู่ในโฟกัสแล้ว กรอบนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน กรอบอาจมีขนาดเปลี่ยนไปเช่นกัน ขึ้นอยู่กับตัวแบบ สิ่งเดียวที่คุณต้องทำเป็นลำดับถัดไปคือ จัดให้ตัวนกอยู่ในเฟรม
เคล็ดลับ: รีเซ็ตจุด AF ให้อยู่ตรงกลาง
จุด Servo AF เริ่มต้นอาจไม่ได้อยู่ตรงกลางเมื่อคุณเริ่มถ่ายภาพอีกครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับภาพก่อนหน้า สำหรับกล้อง EOS R5 และ EOS R6 โดยค่าเริ่มต้นแล้วการกดปุ่ม Multi-controller จะรีเซ็ตจุด AF ให้อยู่ตรงกลาง นอกจากนี้ คุณสามารถกำหนดปุ่มอื่นๆ ให้เป็นปุ่มลัดได้
การตั้งค่าที่มีประโยชน์ 2: ลักษณะเฉพาะของ Servo AF – ‘เพิ่ม/ลดความไว ติดตาม’ เป็น +1 หรือ +2
เมื่อมีการเคลื่อนไหวตอนบินขึ้นกะทันหัน จำเป็นต้องเพิ่มความไวในการติดตาม ผมใช้ Servo AF Case 3 แต่คุณอาจต้องลดค่าความไวในการติดตามเริ่มต้นหากมีสิ่งรบกวนความสนใจอยู่ในบริเวณใกล้เคียง หรือใช้ Case 4 แทน
EOS R5 + EF600mm f/4L IS III USM @ f/4, 1/1000 วินาที, ISO 1000
2. นกตัวเล็กที่เคลื่อนที่รวดเร็วมากก่อนร่อนลงพื้น
EOS R5 + EF600mm f/4L IS III USM @ f/4, 1/3200 วินาที, ISO 1600, EV -1
นกกระเต็นน้อยธรรมดา
การเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของนกตัวเล็กๆ เช่น นกกระเต็น ทำให้ยากที่จะคาดเดาการเคลื่อนไหวของพวกมัน แต่หากสังเกตตัวนกอย่างใกล้ชิดไปเรื่อยๆ คุณจะพอเดาได้ว่ามันจะบินลงตรงจุดไหน นอกจากนี้ ช่วงเวลาก่อนที่นกจะร่อนลงสู่พื้นอาจทำให้ได้ภาพถ่ายที่ไม่ซ้ำใครอีกด้วย!
การตั้งค่า AF ที่สำคัญ
- วิธีโฟกัสอัตโนมัติ: ตรวจจับใบหน้า + ติดตามตัวแบบ หรือ Zone AF
- ลักษณะเฉพาะของ Servo AF: Case 3
เทคนิค
ใช้จุด Servo AF เริ่มต้นเพื่อจับโฟกัสล่วงหน้าตรงพื้นที่ที่คุณคาดว่านกจะร่อนลงมา
การตั้งค่าที่มีประโยชน์ 1: AF Case 3
การตั้งค่าที่ดีที่ควรใช้คู่กับการโฟกัสล่วงหน้าด้วยจุด Servo AF เริ่มต้นคือ Servo AF Case 3 ซึ่งจะทำให้ AF สามารถค้นหาและล็อคที่ตัวนกได้ง่ายยิ่งขึ้นเมื่อมันเข้ามาในตำแหน่งของจุด AF
การตั้งค่าที่มีประโยชน์ 2: Zone AF/Large Zone AF
หากมีสิ่งรบกวนความสนใจในแบ็คกราวด์และคุณต้องการลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาการไล่หาโฟกัส ลองเปลี่ยนเป็นวิธี Zone AF ซึ่งจะจำกัดพื้นที่ AF โปรดทราบว่า Animal Eye Detection ไม่สามารถใช้งานได้ในโหมดนี้
ในโหมด Zone AF กล้องจะทำการตรวจจับ AF ภายในพื้นที่ในกรอบสีขาวเท่านั้น จุด AF ที่ทำงานอยู่จะปรากฏเป็นกรอบสีน้ำเงิน โหมด Large Zone AF มีกรอบ AF ที่ใหญ่กว่า
EOS R5 + EF600mm f/4L IS III USM @ f/4, 1/3200 วินาที, ISO 1600, EV -1
ลองใช้การตั้งค่าข้างต้นเพื่อถ่ายภาพชิ้นเอกนี้ให้ดียิ่งขึ้นในแบบของคุณเอง
ฉากที่ 3: เมื่อนกอีกตัวบินเข้ามาขวาง
EOS R5 + EF300mm f/2.8L IS II USM @ f/3.5, 1/5000 วินาที, ISO 400
นกนางนวลแกลบท้ายทอยดำ
นกนางนวลมักหาปลากันเป็นฝูง และเมื่อออกล่าอาหาร เส้นทางการบินของพวกมันก็แทบจะคาดเดาไม่ได้ ดังนั้น จึงมีโอกาสสูงที่จะมีนกตัวอื่นๆ บินเข้ามาขวางทางแม้ว่าคุณต้องการถ่ายภาพนกเพียงตัวเดียวเท่านั้น
การตั้งค่า AF ที่สำคัญ
- AF ตรวจจับใบหน้า + ติดตามตัวแบบ
- เปลี่ยนเป้าหมายที่ติดตาม: ที่เป้าหมาย
เทคนิค
ใช้จุด Servo AF เริ่มต้นเพื่อจับโฟกัสนกที่คุณต้องการให้เป็นตัวแบบ แล้วจัดให้ตัวนกอยู่ภายในเฟรม
การตั้งค่าที่มีประโยชน์: “เปลี่ยนเป้าหมายที่ติดตาม”
คุณสมบัตินี้ของเมนูช่วยให้คุณตั้งค่าได้ว่ากล้องจะเปลี่ยนจุด AF ได้ง่ายมากน้อยแค่ไหนถ้ากล้องตรวจจับตัวแบบเดิมไม่ได้ ผมตั้งค่าเป็น ‘ที่เป้าหมาย’ ซึ่งทำให้โฟกัสยังคง “เหนียวแน่น” มากพอที่จะล็อคไว้บนตัวแบบของผมแม้ว่าจะมีนกอีกตัวบินเข้ามาขวางด้านหน้า
EOS R5 + EF300mm f/2.8L IS II USM @ f/5, 1/4000 วินาที, ISO 640
เคล็ดลับ: การได้ระดับแสงและรายละเอียดที่ดีที่สุดเมื่อถ่ายภาพนกสีขาว
EOS R5 + EF300mm f/2.8L IS II USM @ f/2.8, 1/6400 วินาที, ISO 640
หากคุณใช้การวัดแสงประเมินทั้งภาพ รายละเอียดขนของนกสีขาวอาจดูสว่างเกินไป โดยเฉพาะหากเป็นฉากที่มีความเปรียบต่างสูงและคุณกำลังใช้โหมดการเปิดรับแสงอัตโนมัติ ใช้การวัดแสงแบบจุดและล็อค AE เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ คุณอาจต้องเปิดรับแสงน้อยกว่าปกติเล็กน้อยเพื่อให้สามารถฟื้นฟูรายละเอียดได้มากขึ้นในกระบวนการปรับแต่งภาพ
การตั้งค่าที่มีประโยชน์: เน้นโทนภาพบริเวณสว่าง
เปิดใช้งาน ‘เน้นโทนภาพบริเวณสว่าง’ เพื่อจับภาพรายละเอียดบริเวณสว่างในขนนกสีขาวได้ดียิ่งขึ้น โดยปกติผมจะใช้การตั้งค่า ‘เพิ่มขึ้น’ (D+2)
หากคุณต้องการความท้าทายยิ่งกว่านี้ ลองใช้วิธีนี้:
เคล็ดลับการแพนกล้องสำหรับการถ่ายภาพที่สื่อถึงการเคลื่อนไหวของนกป่าที่กำลังโผบิน
ทบทวนพื้นฐานการถ่ายภาพนกของคุณได้ที่:
คำแนะนำการถ่ายภาพนกสำหรับมือใหม่
ภาพพอร์ตเทรตนก: 4 เคล็ดลับง่ายๆ ในการหามุมที่ดีขึ้น
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
Neo Ng เป็นอดีตโค้ชบาสเก็ตบอลและอาศัยอยู่ในฮ่องกง ปัจจุบันเขาเป็นช่างภาพอิสระด้านกีฬา สัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่าผู้มุ่งมั่นที่จะจับภาพเสี้ยววินาทีสำคัญที่มีการเคลื่อนไหว ในฐานะช่างภาพอย่างเป็นทางการสำหรับทีมกีฬาฮ่องกงหลายทีม เขาได้ร่วมงานกับ Nike Hong Kong Sports Marketing ในยามว่าง อาจพบเห็นเขาทำสิ่งที่รักอย่างการถ่ายภาพนกป่า นอกจากจะเขียนบทความให้กับเว็บไซต์การถ่ายภาพที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกงอย่าง DC Fever เป็นประจำแล้ว Neo ยังจัดเวิร์กช็อปการถ่ายภาพและทัวร์ถ่ายภาพนกอีกด้วย
https://500px.com/neong
https://www.facebook.com/neongphotography/