วิธีถ่ายภาพนกในธรรมชาติให้ดูน่าทึ่งด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
การเคลื่อนไหวของนกนั้นคาดเดาได้ยากมาก เราจึงมักไม่ค่อยพบเห็น "การถ่ายภาพนก" ร่วมกับ "ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ” แต่ความเร็วชัตเตอร์ต่ำสามารถช่วยให้ภาพถ่ายนกดูมีพลังมากขึ้นได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้ (เรื่องโดย Gaku Tozuka)
EOS 7D Mark II/ FL: 700 มม. (เทียบเท่ากับ 1,120 มม. ในฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ EF500mm f/4L IS II USM + EXTENDER EF1.4 ×III/ Shutter-priority AE (f/22, 1/8 วินาที, EV+1.0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
คุณไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพนกด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เสมอไป
ช่างภาพมักได้รับคำแนะนำให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อป้องกันปัญหากล้องสั่น (อ่านพื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง #2: ความเร็วชัตเตอร์) รวมไปถึงการเพิ่มความไวแสง ISO ให้เหมาะกับสภาพแสง แต่นี่ไม่ใช่กฎตายตัว แม้จะถ่ายภาพนกก็ตาม มีฉากบางประเภทที่คุณควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
แนวคิดหนึ่งที่มีประโยชน์และควรจดจำคือ ให้การเคลื่อนไหวขับเน้นความสงบนิ่ง และในขณะเดียวกันก็ให้ความสงบนิ่งขับเน้นการเคลื่อนไหว
เมื่อในฉากเดียวกันมีทั้งองค์ประกอบที่เคลื่อนไหว (เช่น กระแสน้ำไหลเร็ว) และองค์ประกอบที่สงบนิ่ง (เช่น นกที่อยู่นิ่ง) คุณสามารถใช้องค์ประกอบเหล่านี้ขับเน้นกันและกันให้โดดเด่น เพื่อให้ภาพน่าประทับใจมากขึ้น วิธีการหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อเน้นการเคลื่อนไหว
มาดูกันว่าทำได้อย่างไร โดยดูตัวอย่างจากภาพถ่ายเป็ดแมนดารินในแม่น้ำไหลเชี่ยวด้านบน
วิธีการถ่ายภาพที่สมบูรณ์แบบ
1. ค้นหาความเร็วชัตเตอร์ที่มีสมดุลเหมาะสมที่สุด
ยิ่งความเร็วชัตเตอร์ต่ำ กระแสน้ำยิ่งดูนุ่มนวล และเป็นไปได้มากขึ้นว่านกซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ "สงบนิ่ง" จะเคลื่อนไหวและเบลออีกด้วย
ในการค้นหาความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสม ให้สังเกตนกอย่างใกล้ชิด ในฉากนี้ เป็ดแมนดารินไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก ซึ่งหมายความว่าคุณสามารถลดความเร็วชัตเตอร์ลงเล็กน้อยได้
2. เลือกการตั้งค่า AF ที่เหมาะสม
ขอแนะนำให้ทำความคุ้นเคยกับโหมด AF ต่างๆ สำหรับฉากนี้ ผมเลือกโหมดการเลือกพื้นที่ AF แบบจุดเล็กจุดเดียว ซึ่งสามารถโฟกัสแบบ Pinpoint ได้ ผมต้องการให้แม่น้ำอยู่ในองค์ประกอบภาพให้ได้มากที่สุด ผมจึงสร้างพื้นที่ด้านบนและวางตำแหน่งเป็ดตัวผู้และเป็ดตัวเมียไว้ที่กึ่งกลางภาพ
การตั้งค่า AF ของผม
การทำงานของ AF: One-Shot AF
โหมดขับเคลื่อน: ถ่ายภาพเดี่ยว
โหมดการเลือกพื้นที่ AF: AF แบบจุดเล็กจุดเดียว
เครื่องมือปรับแต่ง AF: Case 1
3. ระมัดระวังเพื่อลดการสั่นไหวของกล้อง
การถ่ายภาพโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำจะเพิ่มโอกาสในการเกิดปัญหากล้องสั่น ซึ่งจะยิ่งสั่นไหวมากขึ้นเมื่อใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ ในการลดปัญหากล้องสั่น คุณสามารถ
- ใช้ขาตั้งกล้อง
- ใช้การถ่ายภาพ Live View เพื่อป้องกัน "การกระตุกของกระจก"
- ลั่นชัตเตอร์ด้วยรีโมทสวิตช์/ฟังก์ชั่นตัวตั้งเวลา 2 วินาที
ในการตั้งค่าตัวตั้งเวลา 2 วินาที ให้กดปุ่มเลือกโหมดขับเคลื่อน แล้วเลือกไอคอนตามที่ระบุในภาพ
4. ใช้การถ่ายภาพต่อเนื่อง
แม้ว่าคุณจะพยายามถ่ายภาพนกที่อยู่นิ่งกับที่ แต่มันอาจบินหนีไปโดยไม่ทันตั้งตัว ในภาพเสียด้านล่าง เป็ดที่เป็นตัวแบบหลักในภาพแรกได้บินหนีไปเสียแล้ว
EOS 7D Mark II/ EL: 700 มม. (เทียบเท่ากับ 1,120 มม. ในฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ EF500mm f/4L IS II USM + EXTENDER EF1.4 ×III/ Shutter-priority AE (f/22, 1/8 วินาที, EV+1.0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการถ่ายภาพ ควรใช้การถ่ายภาพต่อเนื่อง แม้จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำก็ตาม คุณอาจเก็บภาพการเคลื่อนไหวที่เกิดในช่วงเสี้ยววินาทีและได้ภาพแคนดิดที่น่าสนใจก็เป็นได้! และควรใช้รีโมทสวิตช์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
สำหรับบทเรียนโดยละเอียดเกี่ยวกับการถ่ายภาพนก โปรดอ่านบทความต่อไปนี้
[ตอนที่ 1] การถ่ายภาพนกที่กำลังบินอยู่บนท้องฟ้า
[ตอนที่ 2] การถ่ายภาพนกบนท้องฟ้าให้มีพลัง
[ตอนที่ 3] การถ่ายภาพช่วงเวลาที่นกออกตัวบิน
ต่อไปนี้คือบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดในการถ่ายทอดความสงบนิ่งตัดกับการเคลื่อนไหว
การถ่ายภาพกีฬา: วิธีเน้นความเร็วโดยการถ่ายทอดความสงบนิ่งตัดกับการเคลื่อนไหว
หนึ่งสถานที่กับภาพสองแบบ: ภาพยามค่ำคืนแนวแอ็บสแตรกต์ - ความสงบเยือกเย็น กับ ความมีชีวิตชีวา
คุณอาจสนใจอ่านบทความนี้เช่นกัน:
การถ่ายภาพสัตว์ป่า: เทคนิค 3 ประการจากช่างภาพมืออาชีพ
EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM: เลนส์ที่ถ่ายภาพนกได้อย่างยอดเยี่ยมสำหรับผู้เริ่มใช้งาน
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดเมื่อปี 1966 ที่จังหวัดไอชิ Tozuka เริ่มสนใจในการถ่ายภาพขณะเรียนอยู่ไฮสคูลปีที่ 3 และหัดถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติรวมทั้งชีวิตสัตว์ป่ามานับแต่นั้น เมื่ออายุ 20 ปี เขากลายมาเป็นผู้ที่สนใจการถ่ายภาพนกธรรมชาติอย่างจริงจัง หลังจากถ่ายภาพติดนกหัวขวานโดยบังเอิญ ผลงานของเขาจำนวนมากมายหลายชิ้นได้รับการเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เช่น นิตยสาร วารสาร หนังสือ ปฏิทิน และโฆษณาโทรทัศน์