ในบทความนี้ ช่างภาพนกมืออาชีพจะถ่ายทอดเทคนิคต่างๆ ในการถ่ายภาพนกที่กำลังบินร่อนกลางอากาศในระยะโคลสอัพให้มีพลังโดยใช้กล้อง EOS 7D Mark II เรื่องโดย: Gaku Tozuka)
หน้า: 1 2
[Case 2] + การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงช่วยให้ถ่ายภาพนกระยะใกล้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการถ่ายภาพนกที่กำลังบิน คุณสามารถแบ่งลักษณะการบินได้เป็น 2 แบบ คือ ตัวแบบบินเข้าหาคุณ และตัวแบบบินขนานกับคุณ สำหรับนกที่กำลังบินขนานกับตัวคุณ เมื่อถ่ายโดยใช้กล้อง EOS 7D Mark II บางครั้งโฟกัสอาจคลาดเคลื่อนไปอยู่ที่วัตถุอื่นๆ ในแบ็คกราวด์ เช่น ภูเขา แต่หากตัวแบบกำลังบินอยู่กลางอากาศในทิศทางที่เข้าหาคุณโดยไม่มีวัตถุใดๆ ขวาง ฟังก์ชั่น AF ของกล้องจะสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างดี ในภาพถ่ายลักษณะนี้ โหมดการเลือกพื้นที่ AF ที่ใช้จุด AF หลายจุด เช่น โซน AF, Large Zone AF หรือการเลือก AF อัตโนมัติ 65 จุดนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก
การตั้งค่าเหล่านี้ทั้งหมดทำให้การโฟกัสของกล้อง EOS 7D Mark II ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกัน อย่าลืมว่า AF จุดเดียว (Spot AF) จะไม่ทำงานเมื่อเลือก [Case 5] และ [Case 6] ซึ่งใช้งานจุด AF หลายจุดตามลักษณะการโฟกัสอัตโนมัติแบบ AI Servo AF สำหรับภาพด้านล่าง ผมเลือก [Case 2] พร้อมกับปรับระดับความไวแสงไปที่ค่าสูงสุด เพื่อจะสามารถกำหนดโฟกัสที่ใบหน้าของตัวแบบได้อย่างแม่นยำ ในการถ่ายภาพใบหน้าของตัวแบบในระยะโคลสอัพ สิ่งที่ผมทำคือติดตามการเคลื่อนไหวของนกเพื่อไม่ให้นกออกนอกพื้นที่การจัดองค์ประกอบภาพ จากนั้นจึงรอให้นกบินมาทางกล้อง
ระดับความยาก: ปานกลาง
เลนส์: ซูเปอร์เทเลโฟโต้
แสง: แสงด้านหน้า
ความเร็วชัตเตอร์: เร็ว
รูรับแสง: เปิดกว้าง
EOS 7D Mark II/ FL: 700 มม. (เทียบเท่ากับ 1,120 มม. ในฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ EF500mm f/4L IS II USM + EXTENDER EF1.4×III/ Manual (f/8, 1/1,600 วินาที)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ผมเล็งกล้องไปที่ว่าวสีดำซึ่งกำลังหันมาทางผม กล้อง EOS 7D Mark II ทำการถ่ายภาพนกบินร่อนกลางท้องฟ้าได้อย่างดีเยี่ยม คุณสามารถถ่ายภาพให้ประสบความสำเร็จแทบทุกครั้งไม่ว่าจะเลือกใช้การตั้งค่าแบบใด สิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำคือใช้ AI Servo AF คู่กับการถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงเพื่อติดตามตัวแบบ
จุด AF ที่ใช้ในการโฟกัส
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการวางตำแหน่งใบหน้าให้ใกล้กับจุด AF กึ่งกลาง สำหรับโหมดการเลือกพื้นที่ AF ที่ใช้ประโยชน์จากระนาบโฟกัส คุณสามารถสร้างภาพที่ดูนิ่งได้หากตัวแบบอยู่ที่กึ่งกลาง
การตั้งค่า
การใช้งานโฟกัสอัตโนมัติ: AI Servo AF
โหมดขับเคลื่อน: การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง
โหมดเลือกพื้นที่ AF: Large Zone AF
เครื่องมือกำหนด การตั้งค่า: Case 2
เมื่อนกบินเข้ามาใกล้กล้อง ความเร็วในการบินของนกจะเพิ่มสูงขึ้น การพยายามรักษาตัวแบบให้อยู่ในพื้นที่การจัดองค์ประกอบภาพจึงเป็นงานที่ยาก อย่างไรก็ตาม ด้วยการตั้งค่า AI Servo AF + iTR AF + Large Zone AF และ [Case 2] ที่มีการกำหนดค่าไว้แล้ว สิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ก็กลับทำได้สำเร็จ
การถ่ายภาพต่อเนื่องขณะดูภาพผ่านช่องมองภาพ
1
2
3
4
5
ในการถ่ายภาพนกที่บินเข้าหาทิศทางกล้อง หากคุณกดปุ่มชัตเตอร์ตอนที่ตัวแบบอยู่ตรงหน้าคุณแล้วนั้นอาจไม่ทันการณ์ แม้ว่าความแม่นยำในการโฟกัสอัตโนมัติของกล้อง EOS 7D Mark II จะพัฒนาดีขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเมื่อตัวแบบอยู่ใกล้กล้องเกินไป ยอมให้ตัวแบบเข้าสู่พื้นที่การจัดองค์ประกอบภาพและจับโฟกัสขณะที่ตัวแบบยังอยู่ห่างจากกล้องเล็กน้อย จากนั้น เริ่มถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงเมื่อตัวแบบยังอยู่ห่างออกไปในระยะที่มีขนาดเหมาะสม มองผ่านช่องมองภาพเพื่อเช็คให้แน่ใจว่านกไม่ออกนอกพื้นที่การจัดองค์ประกอบภาพ และภาพที่คุณถ่ายจะไม่กลายเป็นภาพที่ส่วนหัวถูกตัดขาดไปหลายภาพมากนัก
การตั้งค่าที่เกี่ยวข้องกับลักษณะพิเศษของโหมด AI Servo AF
ผมปรับค่าเฉพาะของ AI Servo AF [Case 2] ไปที่ "ultra-sensitive" โดยปรับความไวติดตาม, เพิ่ม/ลดความไวติดตาม และเปลี่ยนจุด AF อัตโนมัติเป็น [+2] การตั้งค่าแบบนี้ทำให้ผมถ่ายภาพการเคลื่อนไหวของนกได้อย่างทรงพลัง เช่น ช่วงเวลาที่นกบินร่อนกลางอากาศ หรือขณะที่นกกำลังต่อสู้กันกลางอากาศ การตั้งค่านี้อยู่ในโหมดการเลือกพื้นที่ AF ที่ใช้ประโยชน์จากจุด AF แบบหลายจุด
เกิดเมื่อปี 1966 ที่จังหวัดไอชิ Tozuka เริ่มสนใจในการถ่ายภาพขณะเรียนอยู่ไฮสคูลปีที่ 3 และหัดถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติรวมทั้งชีวิตสัตว์ป่ามานับแต่นั้น เมื่ออายุ 20 ปี เขากลายมาเป็นผู้ที่สนใจการถ่ายภาพนกธรรมชาติอย่างจริงจัง หลังจากถ่ายภาพติดนกหัวขวานโดยบังเอิญ ผลงานของเขาจำนวนมากมายหลายชิ้นได้รับการเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เช่น นิตยสาร วารสาร หนังสือ ปฏิทิน และโฆษณาโทรทัศน์
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation