การถ่ายภาพสัตว์ป่าเป็นงานที่ท้าทาย เพราะเราไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าสัตว์เหล่านั้นจะเคลื่อนที่ไปทางไหนหรือเมื่อไหร่ ในบรรดาสัตว์ต่างๆ การถ่ายภาพนกที่กำลังโผบินอยู่บนท้องฟ้าอย่างเสรีเป็นหนึ่งในตัวแบบที่เรียกว่าหินที่สุดก็ว่าได้ สำหรับบทความต่อเนื่องชุดนี้ ผมในฐานะช่างภาพมืออาชีพที่เชี่ยวชาญการถ่ายภาพสัตว์ป่าจะนำบทเรียนเกี่ยวกับวิธีการถ่ายภาพนกในสถานการณ์ต่างๆ มาฝากผู้อ่านกัน (เรื่องโดย: Gaku Tozuka)
หน้า: 1 2
เคล็ดลับในการถ่ายภาพนกที่กำลังโผบินคือ "การตั้งค่า"
ช่างภาพไม่ว่าคนไหนย่อมต้องมีบางขณะที่อยากจะถ่ายภาพนกบินร่อนอยู่บนฟ้าทั้งนั้น ย้อนกลับไปในยุคกล้องฟิล์ม ภาพนกเหินฟ้าที่ถ่ายออกมาอย่างคมชัดจะถูกมองด้วยความรู้สึกอิจฉา อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยปัจจุบันการถ่ายภาพนกให้คมชัดมีอุปสรรคลดน้อยลงอย่างมากเนื่องด้วยการค้นพบใหม่ๆ ทางเทคโนโลยีกล้องดิจิตอล โดยเฉพาะกล้อง EOS 7D Mark II สามารถปรับการตั้งค่าที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการถ่ายภาพประเภทนี้ได้อย่างมั่นใจ
สภาวะแสงของการถ่ายภาพนกบินที่ดีที่สุด คือ สภาวะที่ตัวแบบรับแสงจากทางด้านหน้า และเมื่อท้องฟ้าเป็นโทนสีฟ้ากำลังดี และการกำหนดปริมาณแสงในสภาวะดังกล่าวนี้จะทำได้ง่ายกว่าด้วย โดยทั่วไปแล้ว กรณีที่ใช้การวัดแสงแบบประเมินทั้งภาพ ให้ตั้งค่าการชดเชยแสงไปที่ EV+1.0 เมื่อถ่ายภาพนกสีน้ำตาลหรือเทา และไม่ต้องทำการชดเชยแสงหากเป็นนกสีขาว สำหรับโหมดการเลือกพื้นที่โฟกัสอัตโนมัติ โซน AF เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่าการใช้จุด AF เพียงจุดเดียว แน่นอนว่า AI Servo AF อาจเป็นตัวเลือกหลักที่ใช้เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีการบินของนก
ภาพ A
ระดับความยาก: ปานกลาง
เลนส์: ซูเปอร์เทเลโฟโต้
แสง: แสงด้านหน้า
ความเร็วชัตเตอร์: เร็ว
รูรับแสง: เปิดกว้าง
EOS 7D Mark II/ FL: 700 มม. (เทียบเท่ากับ 1,120 มม. ในฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ EF500mm f/4L IS II USM + EXTENDER EF1.4xIII/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/2,500 วินาที, +1.0EV)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ในภาพ A ผมพยายามถ่ายภาพนกตระกูลกาตัวหนึ่งที่กำลังบินคาบลูกโอ๊คอยู่ มันบินค่อนข้างใกล้ผมขณะกำลังถ่ายภาพ ผมจึงติดตามการเคลื่อนไหวของมันโดยใช้ [การขยายจุด AF: ขึ้น, ลง, ซ้ายและขวา] แทนที่โซน AF และเลือกภาพที่เก็บรายละเอียดลักษณะท่าทางและรูปร่างของปีกนกได้ดีที่สุด
จุด AF ที่ใช้ในการโฟกัส
แม้ว่าโซน AF มักจะเป็นตัวเลือกในการถ่ายภาพประเภทนี้ในสภาวะปกติ แต่ผมกลับเลือกใช้ [การขยายจุด AF: ขึ้น, ลง, ซ้ายและขวา] แทนเพื่อทดสอบระดับประสิทธิภาพในการจับการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของปีกนก ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่า กล้องสามารถรักษาโฟกัสผ่านการตั้งค่านี้ได้
การตั้งค่า
ระบบโฟกัสอัตโนมัติ: AI Servo AF
โหมดขับเคลื่อน: การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง
โหมดเลือกพื้นที่ AF: การขยายจุด AF (เลือกด้วยตนเอง, 4 จุด: ขึ้น, ลง, ซ้าย และขวา)
เครื่องมือกำหนด การตั้งค่า: Case 1
การถ่ายภาพนกกระสาด้วยโซน AF
ในภาพ B คือภาพถ่ายนกกระสา กล้อง EOS 7D Mark II แสดงให้เห็นถึงความแม่นยำในการโฟกัสอัตโนมัติที่โดดเด่นภายใต้สภาวะแสงแบบต่างๆ ผมสามารถกำหนดโฟกัส โดยใช้โหมดการเลือกพื้นที่ AF ใดก็ได้ ภาพนี้ถ่ายโดยใช้โซน AF บริเวณกึ่งกลาง หากตัวแบบมีขนาดใหญ่และเคลื่อนที่ไม่เร็วนัก คุณสามารถขยับจุด AF ไปยังตำแหน่งที่ต้องการถ่ายภาพด้วยการจัดองค์ประกอบภาพที่ให้ความโดดเด่นกว่า
ภาพ B
EOS 7D Mark II/ FL: 700 มม. (เทียบเท่ากับ 1,120 มม. ในฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ EF500mm f/4L IS II USM + EXTENDER EF1.4xIII/ Manual exposure (f/5.6, 1/3,200 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
การตั้งค่าที่เกี่ยวข้องกับลักษณะพิเศษของโหมด AI Servo AF
เมื่อเลือกโหมดโฟกัสอัตโนมัติแบบ AI Servo AF บนกล้อง EOS 7D Mark II คุณจะสามารถตั้งค่าการเคลื่อนที่ของ AF และลักษณะพิเศษของมันได้ตามที่ต้องการ ภาพด้านล่างคือการตั้งค่าที่ผมเลือกใช้ ผมปรับค่าเป็น [Case 1: การตั้งค่าอเนกประสงค์] เพื่อให้แน่ใจว่าโฟกัส "ล็อค" อยู่ที่ตัวแบบ ตั้งค่า "ความไวติดตาม" เป็น [-2], "เพิ่ม/ลดความไวติดตาม" เป็น [+2] และ "เปลี่ยนจุด AF อัตโนมัติ" เป็น [+2]
เกิดเมื่อปี 1966 ที่จังหวัดไอชิ Tozuka เริ่มสนใจในการถ่ายภาพขณะเรียนอยู่ไฮสคูลปีที่ 3 และหัดถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติรวมทั้งชีวิตสัตว์ป่ามานับแต่นั้น เมื่ออายุ 20 ปี เขากลายมาเป็นผู้ที่สนใจการถ่ายภาพนกธรรมชาติอย่างจริงจัง หลังจากถ่ายภาพติดนกหัวขวานโดยบังเอิญ ผลงานของเขาจำนวนมากมายหลายชิ้นได้รับการเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เช่น นิตยสาร วารสาร หนังสือ ปฏิทิน และโฆษณาโทรทัศน์
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation