การถ่ายภาพสัตว์ป่า: เทคนิค 3 ประการจากช่างภาพมืออาชีพ
เทคนิค 3 ประการจากช่างภาพมืออาชีพ สำหรับการถ่ายภาพสัตว์ป่า การโฟกัสและได้ระดับความสว่างตามต้องการอาจเป็นเรื่องท้าทาย ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและสถานที่ในการถ่ายภาพ เราจะมาดูเทคนิคบางประการที่ช่างภาพมืออาชีพใช้รับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ (เรื่องโดย: Gaku Tozuka, Yukihiro Fukuda)
เทคนิคที่ 1: ใช้ AF แบบจุดเล็กจุดเดียวเพื่อจับโฟกัสนกป่าในป่าที่มืดทึบ
เมื่อถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย การจับโฟกัสด้วยโฟกัสอัตโนมัติ (AF) จะทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องถ่ายภาพในผืนป่า การใช้โหมด AF ที่ทำงานในพื้นที่ที่กว้างขึ้นอาจทำให้โฟกัส "เคลื่อน" ตามกิ่งไม้และใบไม้ในส่วนโฟร์กราวด์หรือในพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่คาดคิด อย่างไรก็ดี แม้ว่าจุด AF กึ่งกลางที่มี AF จุดเดียวจะมีความแม่นยำสูง แต่การนำมาใช้งานจะทำให้คุณจัดองค์ประกอบภาพได้อย่างจำกัด กรณีนี้เองที่ AF แบบจุดเล็กจุดเดียวจะมีประโยชน์ เพราะให้อิสระมากขึ้นในการจัดองค์ประกอบภาพ ทั้งยังให้ความมั่นใจว่าโฟกัสจะล็อคที่ตัวแบบของคุณ
ในภาพด้านล่าง ผมวางนกให้อยู่นอกเขตศูนย์กลางภาพไปทางขวาเล็กน้อยเพื่อเก็บภาพกิ่งก้านของต้นไม้ที่ดูน่าสนใจ และเลื่อนจุด AF ไปทางขวาสองจุดเพื่อให้ได้ภาพนี้
EOS 7D Mark II/ EF500mm f/4L IS II USM + Extender EF1.4×III/ FL: 700 มม. (เทียบเท่า 1,120 มม.)/ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/40 วินาที, EV-0.7)/ ISO 1600/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Gaku Tozuka
เคล็ดลับที่ 1-1: เปลี่ยนการตั้งค่า AF เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์
ในฉากที่ต้องไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น หรือเมื่อคุณต้องการเก็บช่วงเวลาสำคัญที่เกิดขึ้นในชั่วพริบตา วิธีในทางทฤษฎีคือการโฟกัสโดยใช้จุด AF กึ่งกลางใน AF แบบจุดเดียวที่แม่นยำสูงขณะถ่ายภาพต่อเนื่อง หากสัตว์ป่าเคลื่อนไหวน้อยมากซึ่งทำให้คุณมีเวลาเพิ่มขึ้น ให้ลองตั้งค่า AF แบบจุดเล็กจุดเดียว เพื่อให้ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบภาพได้ง่ายขึ้น แต่หากคุณต้องการถ่ายตัวแบบที่เคลื่อนที่รวดเร็ว เช่น นกที่กำลังบินบนท้องฟ้า ผมขอแนะนำการตั้งค่าที่ครอบคลุมพื้นที่ที่กว้างขึ้น
EOS-1D X Mark II/ EF500mm F4L IS II USM+EXTENDER EF2×III/ FL: 1000 มม./ Aperture-priority AE (f/8.0, 1/1600 วินาที, EV±0)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ภาพโดย Gaku Tozuka
หากคุณใช้ AF แบบจุดเล็กจุดเดียวถ่ายภาพนกที่กำลังโผบินกลางอากาศ กล้องอาจจับโฟกัสไปที่แบ็คกราวด์หากตัวแบบเคลื่อนที่ออกนอกพื้นที่โฟกัส ดังนั้น การใช้โหมด AF ที่ครอบคลุมพื้นที่ที่กว้างขึ้นอาจจะเหมาะสมกว่า
โปรดอ่านบทความต่อไปนี้หากต้องการทราบเคล็ดลับในการใช้ AF เพื่อถ่ายภาพสัตว์ป่า/นกป่า:
การถ่ายภาพนกที่กำลังบินอยู่บนท้องฟ้า
การถ่ายภาพนกบนท้องฟ้าให้มีพลัง
การถ่ายภาพช่วงเวลาที่นกออกตัวบิน
เทคนิคการใช้กล้อง EOS 7D Mark II ของช่างภาพมืออาชีพ - ภาพสัตว์ป่า
หากคุณกำลังนึกถึงอุปกรณ์การถ่ายภาพ ลองอ่านรีวิวของ Gaku Tozuka ว่า EOS-1D X Mark II ทำได้ดีแค่ไหนในการถ่ายภาพนกในธรรมชาติ:
โฟกัสที่แม่นยำและสมรรถนะการติดตามตัวแบบของ AF ที่น่าทึ่ง
Dual Pixel CMOS AF โฟกัสสมบูรณ์แบบแม้ในฉากที่มืด
เทคนิคที่ 2: เพื่อรักษาบรรยากาศยามค่ำคืน ให้ถ่ายภาพโดยใช้การชดเชยแสงเป็นลบในโหมดระบุค่ารูรับแสง
ในกล้องรุ่นล่าสุดของ Canon ขีดจำกัดในสภาพแสงน้อยสำหรับการถ่ายภาพแบบ Live View ได้รับการพัฒนาถึงระดับที่สามารถจับโฟกัสได้แม้ในสถานการณ์ที่ยากจะมองเห็นด้วยตาเปล่า เช่น ที่ EV-4
ขณะถ่ายภาพสัตว์ป่าสายพันธุ์ต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวหลังพระอาทิตย์ตกดิน ผมคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถสื่อถึงโลกแห่งความมืดรอบๆ สัตว์ได้ กล้องดิจิตอลมักจะถ่ายภาพออกมาดูเหมือนเป็นเวลากลางวันแม้แต่ในสถานที่มืด ดังนั้น ผมจึงใช้โหมด Aperture-priority AE พร้อมกับตั้งค่าชดเชยปริมาณแสงระหว่าง EV-1.0 และ -2.0 เพื่อลดเอฟเฟ็กต์นี้และถ่ายทอดบรรยากาศยามค่ำคืนในภาพถ่าย เทคนิคการถ่ายภาพนี้ผมเรียกว่า "โหมดถ่ายกลางคืน" ซึ่งมีประสิทธิภาพเมื่อใช้ในขณะที่อุณหภูมิสีอยู่ในระดับต่ำหลังพระอาทิตย์ตกและก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
EOS 5D Mark IV/ EF70-200mm f/2.8L IS II USM/ FL: 70 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/5 วินาที, EV-1.3)/ ISO 10000/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Yukihiro Fukuda
เคล็ดลับที่ 2-1: ภาพแบบ Live View จากด้านหลังที่กำบังสำหรับถ่ายภาพ
ในการถ่ายภาพหมีสีน้ำตาลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของฟินแลนด์ ผมถ่ายภาพจากในที่กำบังซึ่งผมสร้างขึ้นโดยเฉพาะสำหรับถ่ายภาพหมีสีน้ำตาล ผมสอดเลนส์ผ่านช่องเล็กๆ ในที่กำบังสำหรับถ่ายภาพ และสามารถติดตั้งหัวขาตั้งกล้องภายในที่กำบัง จึงทำให้ถ่ายภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ควรระวังอย่าคลาดสายตาจากตัวแบบเมื่อใช้ Live View AF ขณะถ่ายภาพ เทคนิคนี้จะใช้ได้ผลดีเมื่อเรามองเห็นได้น้อยมาก
เคล็ดลับที่ 2-2: ปรับค่าสมดุลแสงขาวไปที่ "แสงแดด" เพื่อเก็บภาพอุณหภูมิสีที่เปลี่ยนไปทันทีหลังพระอาทิตย์ตกดิน
เมื่อปรับสมดุลแสงขาวไปที่ "แสงแดด" คุณจะสามารถเก็บภาพการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของอุณหภูมิสีทั้งก่อนและหลังพระอาทิตย์ตกดิน ผมขอแนะนำให้ใช้เทคนิคนี้ เนื่องจากจะช่วยให้เก็บภาพการเปลี่ยนแปลงของโทนสีที่เกิดขึ้นขณะที่ความมืดเริ่มคืบคลานเข้ามาได้
โทนสีแดงในภาพจะปรากฏขึ้นเป็นเวลา 7 นาทีก่อนพระทิตย์ตกดิน
EOS 5D Mark IV/ EF70-200mm f/2.8L IS II USM/ FL: 200 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/60 วินาที, EV-1.3)/ ISO 3200/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Yukihiro Fukuda
โทนสีน้ำเงินเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 13 นาทีหลังพระอาทิตย์ตกดิน
EOS 5D Mark IV/ EF200mm f/2L IS USM/ FL: 200 มม./ Aperture-priority AE (f/2.0, 0.4 วินาที, EV-1)/ ISO 12800/ WB: แสงแดด
ภาพโดย Yukihiro Fukuda
คุณจะทราบว่าความมืดมาเยือนอย่างรวดเร็วหลังพระอาทิตย์ตกดินจากสเกลแสดงระดับแสง เมื่อปรับค่าสมดุลแสงขาว โทนสีน้ำเงินจะเพิ่มขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติพร้อมๆ กับพระอาทิตย์ที่กำลังลาลับขอบฟ้า สำหรับทั้งสองภาพด้านบน การตั้งค่าสำหรับกระบวนการปรับแต่งภาพไม่แตกต่างกัน ค่าพารามิเตอร์เดียวที่เปลี่ยนไปในระหว่างกระบวนการปรับแต่งภาพคือความเปรียบต่างที่เพิ่มสูงขึ้น คุณจะเห็นว่าการถ่ายภาพในหลายช่วงเวลาส่งผลให้ได้ภาพถ่ายที่สื่อความรู้สึกที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง
หากต้องการทราบทางเลือกเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับอุณหภูมิสี โปรดดูที่:
วิธีการแสดงสีด้วยฟังก์ชั่นการแก้ไขสมดุลแสงขาว
อ่านไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพสัตว์ป่า:
เทคนิคการถ่ายภาพด้วยเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ - ภาพซิลูเอตต์ของสัตว์ป่าภายใต้แสงอาทิตย์
ฉันจะถ่ายภาพสัตว์ตัวเล็กๆ ตัดกับแบ็คกราวด์ที่ยุ่งเหยิงแต่งดงามได้อย่างไร
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดยลงทะเบียนกับเรา!
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่กรุงโตเกียวในปี 1965 การไปเยือนฮอกไกโดของ Fukuda เพื่อตามหานกกระเรียนญี่ปุ่นที่เขาชื่นชอบได้นำเขามาสู่การเป็นช่างภาพสัตว์ป่า หลังจากใช้เวลา 10 ปีในการถ่ายภาพสัตว์ป่าในฮอกไกโด Fukuda เริ่มขยับขยายขอบเขตของเขาไปยังประเทศอื่นๆ รวมถึงการถ่ายภาพใต้น้ำ ปัจจุบัน การถ่ายภาพสัตว์ป่า ภาพใต้น้ำ และทิวทัศน์กลายมาเป็นกิจกรรมหลักของเขา
เกิดเมื่อปี 1966 ที่จังหวัดไอชิ Tozuka เริ่มสนใจในการถ่ายภาพขณะเรียนอยู่ไฮสคูลปีที่ 3 และหัดถ่ายภาพทิวทัศน์ธรรมชาติรวมทั้งชีวิตสัตว์ป่ามานับแต่นั้น เมื่ออายุ 20 ปี เขากลายมาเป็นผู้ที่สนใจการถ่ายภาพนกธรรมชาติอย่างจริงจัง หลังจากถ่ายภาพติดนกหัวขวานโดยบังเอิญ ผลงานของเขาจำนวนมากมายหลายชิ้นได้รับการเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เช่น นิตยสาร วารสาร หนังสือ ปฏิทิน และโฆษณาโทรทัศน์