กล้อง Canon EOS 7D Mark II มีประสิทธิภาพในการติดตามตัวแบบขณะถ่ายภาพเคลื่อนไหวทุกประเภท ในบทความนี้ ผมจะแนะนำเทคนิคที่นำไปใช้ได้จริงที่ช่างภาพมืออาชีพใช้กันในการถ่ายภาพตัวแบบประเภทนี้ (เรื่องโดย: Yukihiro Fukuda)
EOS 7D Mark II ปฏิวัติการถ่ายภาพสัตว์
หลายคนพบว่ากล้อง EOS 7D Mark II โดดเด่นในเรื่องการติดตามตัวแบบเคลื่อนไหวซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากสำหรับการถ่ายภาพสัตว์ ส่วนตัวผมยังสนใจเสียงชัตเตอร์แบบเงียบของกล้องรุ่นนี้อีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อประกอบกับเลนส์ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM กล้อง EOS 7D Mark II มีมุมรับภาพที่เทียบเท่าประมาณ 640 มม. ที่สุดระยะเทเลโฟโต้ ทำให้ผู้ใช้สามารถถ่ายภาพซูเปอร์เทเลโฟโต้โดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้อง กล้องนี้จะช่วยขยายขอบเขตการสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่ถ่ายจากมุมที่หลากหลาย ซึ่งเป็นความตั้งใจในการเปิดตัวกล้องรุ่นนี้ที่ว่าจะพลิกรูปแบบการถ่ายภาพสัตว์จากแบบเดิมๆ
การตั้งค่ากล้อง EOS 7D Mark II เบื้องต้นเพื่อใช้ในการถ่ายภาพสัตว์
การโฟกัสอัตโนมัติ: AI Servo AF
โหมดขับเคลื่อน: การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง
โหมดเลือกพื้นที่ AF: การขยายจุด AF (ขึ้น, ลง, ซ้าย, ขวา, รอบด้าน)
เครื่องมือปรับแต่ง AF: Case 1, Case 6
ความไวแสง ISO: ISO 200 ถึง 3200
WB: แสงแดด
หากตัวแบบในภาพคือลิง การสร้างโฟกัสบนตัวแบบโดยใช้ AF ค่อนข้างทำได้ง่าย สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดก็คือ ความไวแสง ISO เพราะคุณจำเป็นต้องเปลี่ยนการตั้งค่าไปตามฤดูกาล อากาศ และช่วงเวลาของแต่ละวัน เพื่อป้องกันปัญหาจากอาการกล้องสั่นไหว ดูให้แน่ใจว่าค่าที่ตั้งไว้นั้นเหมาะสมกับสภาพแสงในช่วงเวลาที่ถ่ายภาพหรือไม่ การรู้ค่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดที่คุณสามารถใช้ระหว่างการถ่ายภาพแบบถือด้วยมือได้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
เทคนิค 1: ใช้จุด AF แบบจุดเล็กจุดเดียวสำหรับการโฟกัสแบบตื้นมาก
EOS 7D Mark II/ EF50mm f/1.4 USM/ FL: 50 มม. (เทียบเท่า 80 มม. ในฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ Manual exposure (f/2, 1/500 วินาที)/ ISO 2000/ WB: แสงแดด
ลูกลิงกำลังมีความสุขกับการแต่งขน ผมสามารถจะครอปตัดวัตถุอื่นๆ ในองค์ประกอบภาพออกไปทั้งหมด เหลือไว้เพียงแค่ลูกลิงตัวเดียวก็ได้ แต่ผมเลือกที่จะรวมลิงตัวอื่นๆ ในระยะโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์เพื่อสื่อความรู้สึกว่ามีลิงอยู่เยอะ ผมจึงตั้งโฟกัสไปที่ลูกลิงตัวหลักและถ่ายภาพที่มองเห็นการแสดงอารมณ์บนใบหน้าได้ดีที่สุด
สร้างโบเก้ด้านหน้าและหลังจุดโฟกัสเพื่อเพิ่มมิติให้กับภาพ
เลนส์พกพาของผมตอนที่ถ่ายภาพลิงคือ เลนส์เดี่ยว EF50mm f/1.4 USM แม้ว่าพลังการถ่ายทอดของเลนส์ซูมในปัจจุบันนี้ถือว่าดีเยี่ยมแล้ว จำนวนโบเก้ที่เกิดขึ้นเมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุดที่ประมาณ f/5.6 นั้นเทียบไม่ได้กับเลนส์เดี่ยว สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับภาพที่ถ่ายจากเลนส์ซูมแบบเดิม ภาพที่ถ่ายด้วยรูรับแสงขนาดกว้างสุดของเลนส์เดี่ยวอาจให้ภาพที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง
เมื่อถ่ายภาพ ให้สร้างโบเก้ด้านหน้าและหลังส่วนที่โฟกัส ซึ่งมักจะอยู่ที่ตัวแบบหลัก แล้วจัดตำแหน่งให้เหมาะสมเพื่อสร้างมิติให้กับภาพ คุณจะต้องปรับโฟกัสให้แม่นยำ เพราะระยะชัดในภาพนี้ตื้นมาก สำหรับผม ผมมักจะใช้ One-Shot AF คู่กับ AF แบบจุดเล็กจุดเดียว เลือกจุด AF ที่ตรงกับตำแหน่งของตัวแบบหลักจากจุด AF ทั้งหมด 65 จุด และใช้การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงเพื่อจับภาพตัวแบบขณะเคลื่อนไหว
[การตั้งค่ากล้อง]
One-Shot AF + ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง + AF แบบจุดเล็กจุดเดียว + Case 1
เนื่องจากในฉากนี้ไม่มีแนวโน้มที่ลูกลิงจะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วมากนัก ผมจึงเลือกการตั้งค่าที่ให้ผมจัดองค์ประกอบภาพที่สมบูรณ์แบบและสร้างโฟกัสแม่นยำ
เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งของลิงสี่ตัวนี้ ผมเลือกจุด AF ที่อยู่ตรงกับสัดส่วนทองคำ
เทคนิค 2: ถ่ายภาพช่วงเวลาที่ต้องเด็ดขาดด้วยความไวแสง ISO สูง + ความเร็วชัตเตอร์เร็ว
EOS 7D Mark II/ EF70-300mm f/4-5.6L IS USM/ FL: 140 มม. (เทียบเท่ากับ 224 มม. ในฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.)/ Manual exposure (f/5.6, 1/2,000 วินาที)/ ISO 3200/ WB: แสงแดด
ที่สวนลิง Jigokudani คุณจะพบลิงแม็กแคกญี่ปุ่นแช่น้ำพุร้อนให้เห็นอยู่ทั่วไป อย่างไรก็ตาม เพื่อจะสร้างภาพถ่ายให้ส่งความรู้สึกที่โดดเด่นยิ่งขึ้น ผมจึงเล็งกล้องไปตรงที่มีลิงสองตัวกำลังสู้กัน เพื่อหลีกเลี่ยงเงามืดและความเปรียบต่างเข้มที่เกิดขึ้นในวันที่ฟ้าโปร่ง ผมเลือกถ่ายภาพนี้ในวันที่ฟ้าครึ้ม
รีบลงมือโดยสังเกตสัญญาณจากลิง
ในการถ่ายภาพสัตว์ งานที่ท้าทายที่สุดคือการถ่ายภาพช่วงเวลาที่ต้องเด็ดขาดที่จะผ่านไปเร็วมาก การถ่ายภาพต่อเนื่องไม่ช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่มีคุณภาพ ดังนั้น เพื่อจะหยุดช่วงเวลาแบบนั้นไว้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "การคาดคะเน" ในกรณีนี้ อาจหมายถึงการสัมผัสความตึงเครียดในบรรยากาศสักครู่ก่อนที่ลิงจะเริ่มสู้กัน สัญญาณบางอย่าง เช่น การขึ้นเสียงและกระตุกปาก ถ้าเห็นสัญญาณเหล่านี้ เตรียมพร้อมถ่ายภาพโดยการเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ทันที และเพิ่มความไวแสง ISO เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณแสงต่ำเกินไป ภาพที่ได้จะน่าพอใจหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าคุณตอบสนองได้ไวแค่ไหนเมื่อเริ่มรู้สึกว่าบางอย่างกำลังจะเกิดขึ้นจนถึงตอนปรับการตั้งค่า แม้ว่าหลายคนอาจเป็นกังวลในเรื่องของจุดรบกวนเวลาที่ใช้ความไวแสง ISO สูง เรายังคงแนะนำให้คุณเลือกใช้ความไวแสง ISO ที่สูงหากจำเป็น เพราะจะช่วย "หยุด" การเคลื่อนไหวของตัวแบบเพื่อให้ภาพถ่ายที่ดีกว่าได้
[การตั้งค่ากล้อง]
AI Servo AF + ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง + การขยายจุด AF (จุดรอบด้าน) + Case 1
การตั้งค่าข้างต้นนี้เป็นการตั้งค่าปกติที่ผมใช้ในการถ่ายภาพลิง ซึ่งใช้งานได้หลากหลายและรับมือกับฉากได้แทบทุกประเภท
การคาดคะเนจะยากกว่าหลังจากการต่อสู้เริ่มขึ้น ในที่นี้ ผมจับโฟกัสที่ลิงที่กำลังอาบน้ำอยู่อย่างสงบสุข
เลนส์คิทกล้อง EOS 7D Mark II (EF-S18-135mm f3.5-5.6 IS STM)
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
Yukihiro Fukuda
เกิดที่กรุงโตเกียวในปี 1965 การไปเยือนฮอกไกโดของ Fukuda เพื่อตามหานกกระเรียนญี่ปุ่นที่เขาชื่นชอบได้นำเขามาสู่การเป็นช่างภาพสัตว์ป่า หลังจากใช้เวลา 10 ปีในการถ่ายภาพสัตว์ป่าในฮอกไกโด Fukuda เริ่มขยับขยายขอบเขตของเขาไปยังประเทศอื่นๆ รวมถึงการถ่ายภาพใต้น้ำ ปัจจุบัน การถ่ายภาพสัตว์ป่า ภาพใต้น้ำ และทิวทัศน์กลายมาเป็นกิจกรรมหลักของเขา
Digital Camera Magazine
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation