ภาพสัตว์ป่าแบบซูเปอร์เทเลโฟโต้: ความสงบนิ่งตัดกับความเคลื่อนไหวที่ระยะ 800 มม.
ช่างภาพสัตว์ป่าจะมาแบ่งปันเรื่องราวเบื้องหลังภาพซูเปอร์เทเลโฟโต้ของนกกระเรียนญี่ปุ่นนี้ รวมถึงเคล็ดลับในการหาความเร็วชัตเตอร์ที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพความเร็วชัตเตอร์ต่ำ (เรื่องโดย: Yukihiro Fukuda, Digital Camera Magazine)
EOS R/ EF800mm f/5.6L IS USM/ FL: 800 มม./ Manual exposure (f/25, 2 วินาที)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
อุปกรณ์อื่นๆ: ฟิลเตอร์ ND แบบปรับได้
เรื่องราวเบื้องหลังภาพนี้:
ผมต้องการถ่ายภาพนกกระเรียนญี่ปุ่นเหล่านี้ตอนที่พวกมันตื่นขึ้นจากการหลับใหลและทำกิจวัตรยามเช้า ดังนั้น ผมจึงเฝ้าดูบริเวณที่พวกมันอยู่กันในยามเช้าตรู่ ภาพนี้ถ่ายตอนประมาณ 7 โมงเช้าในวันที่มีอากาศแจ่มใส ขณะที่ดวงอาทิตย์เพิ่งโผล่พ้นขอบฟ้าและเริ่มมีแสงสว่าง
แม้ว่าจะไม่สว่างอย่างที่ผมต้องการ แต่ก็ทำให้เกิดสภาพแสงที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์
ในวันนั้นมีเมฆครึ้มเล็กน้อย จึงไม่มีแสงมากนัก อย่างไรก็ตาม แสงแดดที่สะท้อนออกมาจากก้อนเมฆทำให้ผิวน้ำในแม่น้ำแต่งแต้มด้วยสีส้มทองจางๆ อันงดงาม
ในช่วงเวลานี้ของเช้าที่หนาวเย็น นกกระเรียนมักจะเกาะกลุ่มกันแน่นและหลับสนิท แต่ในวันที่ถ่ายภาพนี้มีอากาศอบอุ่น นกกระเรียนบางตัวตื่นกันอยู่แล้วและกำลังเคลื่อนที่ไปรอบๆ ผมจึงตัดสินใจใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเปรียบต่างระหว่างนกกระเรียนที่กำลังหลับอยู่กับพวกที่ตื่นแล้ว
อุปกรณ์: เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้
ตัวเลือกของมืออาชีพ: EF800mm f/5.6L IS USM
ผมต้องใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ เพื่อถ่ายภาพนกกระเรียนโดยไม่รบกวนพวกมัน สำหรับภาพนี้ ผมใช้เลนส์ EF800mm f/5.6L IS USM ซึ่งเมื่อใช้คู่กับกล้อง EOS R จะสามารถโฟกัสอัตโนมัติได้ครอบคลุมพื้นที่ AF ทั้งหมด (ประมาณ 88% ในแนวนอน × 100% ในแนวตั้งของเซนเซอร์ภาพ) แม้ว่าจะใช้เมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS R และท่อต่อเลนส์ (หรือที่เรียกกันว่าตัวแปลงเลนส์) ก็ตาม นับว่าคุณภาพของภาพแทบไม่ลดลงเลยแม้จะใช้ท่อต่อเลนส์ แม้ว่าขนาดของเลนส์รุ่นนี้ทำให้ควบคุมได้ยากขึ้น แต่เอฟเฟ็กต์การดึงวัตถุและการบีบมุมมองภาพก็ไม่เหมือนใคร
ตัวเลือกราคาประหยัด
- เลนส์ RF800mm f/11 IS STM
- เลนส์ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM พร้อม Extender EF2xIII
แม้ว่าคุณอาจต้องถ่ายภาพโดยใช้รูรับแสงที่แคบลงด้วยตัวเลือกเหล่านี้ แต่ก็ไม่สำคัญเลยสำหรับการถ่ายภาพความเร็วชัตเตอร์ต่ำในเวลากลางวันเช่นนี้ ซึ่งคุณต้องใช้รูรับแสงแคบมากอยู่แล้ว
ขั้นตอนที่ 1: ใช้ฟิลเตอร์ ND และความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
ในตอนแรก ผมถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/500 วินาที และได้ภาพดังต่อไปนี้
ถ่ายที่ 1/500 วินาที
พอจะบอกได้ไหมว่านกกระเรียนตัวไหนกำลังเคลื่อนไหว ผมเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน การใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/500 วินาทีนั้นเร็วพอที่จะหยุดการเคลื่อนไหวทั้งหมดเพื่อให้ทุกอย่างดูคมชัด
ซึ่งในบางครั้งก็เป็นสิ่งที่คุณต้องการ (ดูบทความ: จับภาพความเคลื่อนไหวของสัตว์ป่าด้วยการควบคุมความเร็วชัตเตอร์) แต่สำหรับภาพนี้ ผมต้องการจับภาพความแตกต่างระหว่างการหยุดนิ่งกับการเคลื่อนไหว
ดังนั้น ผมจึงใช้ฟิลเตอร์ ND แบบปรับได้ โดยเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำลงมากถึง 2 วินาที วิธีนี้ช่วยให้จับภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวได้ ซึ่งสร้างความแตกต่างระหว่างนกกระเรียนที่หลับสนิทกับพวกที่ตื่นแล้วและกำลังเคลื่อนไหว
ขั้นตอนที่ 2: ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพื่อเพิ่มความมีมิติให้กับภาพของคุณ
ถ้าคุณอยากท้าทายตัวเอง ก็สามารถลองถ่ายภาพแบบแพนกล้องได้เช่นกัน! และนี่คือภาพที่ผมได้:
(ถ้าต้องการถ่ายให้ดีกว่านี้ ลองอ่านเคล็ดลับการแพนกล้องสำหรับการถ่ายภาพที่สื่อถึงการเคลื่อนไหวของนกป่าที่กำลังโผบิน)
อย่าลืม: พิจารณาถึงความสมดุลโดยรวมเมื่อคุณเลือกความเร็วชัตเตอร์
สำหรับภาพนี้ ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ จะทำให้นกกระเรียนที่กำลังเคลื่อนไหวดูพร่ามัวมากจนเลือนหายไปเลย
นอกจากนี้ อย่าลืมว่าความเร็วชัตเตอร์จะส่งผลกระทบต่อด้วยองค์ประกอบอื่นๆ ที่กำลังเคลื่อนไหวในภาพของคุณด้วยเช่นกัน ผมไม่ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เพราะผมชอบลักษณะของกระแสน้ำในแม่น้ำเวลาที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์ 2 วินาที
อ่านเคล็ดลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพนกด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำได้ที่:
วิธีถ่ายภาพนกในธรรมชาติให้ดูน่าทึ่งด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
ดูเทคนิคการใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้เพิ่มเติมได้ที่:
เทคนิคการถ่ายภาพด้วยเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ – ภาพซิลูเอตต์ของสัตว์ป่าภายใต้แสงอาทิตย์
เทคนิคการถ่ายภาพมาโครเทเลโฟโต้: สร้างจุดสนใจให้ใบไม้ธรรมดาๆ
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (3): ดึงความสามารถสูงสุดของเลนส์มาใช้
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่กรุงโตเกียวในปี 1965 การไปเยือนฮอกไกโดของ Fukuda เพื่อตามหานกกระเรียนญี่ปุ่นที่เขาชื่นชอบได้นำเขามาสู่การเป็นช่างภาพสัตว์ป่า หลังจากใช้เวลา 10 ปีในการถ่ายภาพสัตว์ป่าในฮอกไกโด Fukuda เริ่มขยับขยายขอบเขตของเขาไปยังประเทศอื่นๆ รวมถึงการถ่ายภาพใต้น้ำ ปัจจุบัน การถ่ายภาพสัตว์ป่า ภาพใต้น้ำ และทิวทัศน์กลายมาเป็นกิจกรรมหลักของเขา