ค้นหาสิ่งที่คุณต้องการ

หรือค้นหาโดย

หัวข้อ

Article
Article

Article

e-Book
e-Book

e-Book

Video
Video

Video

Campaigns
Campaigns

Campaigns

Architecture
กล้องคอมแพค

กล้องคอมแพค

Architecture
DSLRs

DSLRs

Architecture
การถ่ายวีดิโอ

การถ่ายวีดิโอ

Architecture
ภาพดาราศาสตร์

ภาพดาราศาสตร์

Architecture
กล้องมิลเลอร์เลส

กล้องมิลเลอร์เลส

Architecture
ภาพสถาปัตยกรรม

ภาพสถาปัตยกรรม

Architecture
เทคโนโลยีของแคนนอน

เทคโนโลยีของแคนนอน

Architecture
การถ่ายภาพในขณะที่มีแสงน้อย

การถ่ายภาพในขณะที่มีแสงน้อย

Architecture
การสัมภาษณ์ช่างภาพ

การสัมภาษณ์ช่างภาพ

Architecture
ภาพวิวทิวทัศน์

ภาพวิวทิวทัศน์

Architecture
การถ่ายภาพมาโคร

การถ่ายภาพมาโคร

Architecture
การถ่ายภาพกีฬา

การถ่ายภาพกีฬา

Architecture
การถ่ายภาพท่องเที่ยว

การถ่ายภาพท่องเที่ยว

Architecture
การถ่ายภาพใต้น้ำ

การถ่ายภาพใต้น้ำ

Architecture
แนวคิดการถ่ายภาพและการประยุกต์ใช้

แนวคิดการถ่ายภาพและการประยุกต์ใช้

Architecture
การถ่ายภาพสตรีท

การถ่ายภาพสตรีท

Architecture
กล้องมิเรอร์เลสแบบฟูลเฟรม

กล้องมิเรอร์เลสแบบฟูลเฟรม

Architecture
เลนส์และอุปกรณ์เสริม

เลนส์และอุปกรณ์เสริม

Architecture
Nature & Wildlife Photography

Nature & Wildlife Photography

Architecture
การถ่ายภาพพอร์ตเทรต

การถ่ายภาพพอร์ตเทรต

Architecture
การถ่ายภาพกลางคืน

การถ่ายภาพกลางคืน

Architecture
การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง

การถ่ายภาพสัตว์เลี้ยง

Architecture
โซลูชั่นการพิมพ์

โซลูชั่นการพิมพ์

Architecture
รีวิวผลิตภัณฑ์

รีวิวผลิตภัณฑ์

Architecture
การถ่ายภาพงานแต่งงาน

การถ่ายภาพงานแต่งงาน

เคล็ดลับและบทเรียน >> เคล็ดลับและบทเรียนทั้งหมด

กล้องฟูลเฟรมและกล้อง APS-C: ควรเลือกรุ่นไหนดี

2022-02-18
3
34.81 k
ในบทความนี้:

ขณะเลือกกล้องตัวแรก คุณอาจได้เห็นคำว่า “ฟูลเฟรม” และ “APS-C” มาแล้วหลายครั้ง หรือคุณอาจกำลังสงสัยว่าควรเปลี่ยนจากกล้อง APS-C มาใช้กล้องฟูลเฟรมดีหรือไม่ กล้องทั้งสองรุ่นมีความแตกต่างกันอย่างไร และส่งผลอย่างไร มาหาคำตอบได้จากบทความนี้

1. กล้อง APS-C และกล้องฟูลเฟรม: เซนเซอร์ภาพ 2 แบบที่มีขนาดแตกต่างกัน
2. ข้อพิจารณาที่ 1: ผลกระทบต่อขนาดของกล้องและเลนส์
3. ข้อพิจารณาที่ 2: ประสิทธิภาพในสภาวะแสงน้อยและความไวแสง ISO สูง
4. ข้อพิจารณาที่ 3: คุณสมบัติการครอป 1.6 เท่า
5. ข้อพิจารณาที่ 4: ระยะชัดของภาพ
6. สรุป: กล้อง APS-C หรือกล้องฟูลเฟรม

 

กล้อง APS-C และกล้องฟูลเฟรม: เซนเซอร์ภาพ 2 แบบที่มีขนาดแตกต่างกัน

ในกล้องดิจิตอล เซนเซอร์ภาพคือชิ้นส่วนของกล้องที่ทำหน้าที่รับแสงที่ผ่านเข้ามาทางเลนส์ และแปลงแสงเหล่านั้นให้กลายเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่สามารถดู วิเคราะห์ หรือจัดเก็บได้ เซนเซอร์ภาพมีรูปทรงและขนาดแตกต่างกันไป แต่จะมีรูปแบบมาตรฐานบางอย่างที่บริษัทผู้ผลิตกล้องนิยมใช้

ไม่ว่าคุณจะซื้อกล้อง DSLR หรือกล้องมิเรอร์เลส รูปแบบที่คุณจะได้พบเห็นมากที่สุดสองชนิดคือ “ฟูลเฟรม” และ “APS-C” ในขณะที่กล้องแต่ละรุ่นอาจมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่โดยทั่วไป ขนาดของเซนเซอร์ภาพจะเป็นดังนี้
ฟูลเฟรม: 36 x 24 มม.
APS-C (Canon): 22.3 x 14.8 มม.


ฟูลเฟรม 35 มม.

“ฟูลเฟรม” มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฟูลเฟรม 35 มม.” และมีต้นกำเนิดมาจากฟิล์ม 35 มม. ที่ใช้ในกล้องฟิล์ม หากคุณวัดขนาดฟิล์มเนกาทีฟ 35 มม. คุณจะพบว่าพื้นที่ภาพคือ 36 x 24 มม. ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับเซนเซอร์ภาพในกล้องฟูลเฟรม

นอกจากนี้ ฟิล์ม 35 มม. เองยังถูกดัดแปลงมาจากม้วนฟิล์ม 35 มม. ที่ใช้ในโรงภาพยนตร์อีกด้วย อ่านความเป็นมาและเรียนรู้เกี่ยวกับกล้องถ่ายภาพยนตร์ได้ที่
6 สิ่งเกี่ยวกับกล้องถ่ายภาพยนตร์ที่นักสร้างวิดีโอมืออาชีพควรทราบ


แบบ APS-C

“APS-C” ย่อมาจาก “Advanced Photo System type-C” มีที่มาจากรูปแบบ C (“Classic”) ของรูปแบบฟิล์มเนกาทีฟ APS ที่ผู้ผลิตนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 1996 เพื่อช่วยให้ผู้ใช้กล้องทั่วไปสามารถเข้าถึงกล้องถ่ายรูปได้มากขึ้น เมื่อการถ่ายภาพดิจิตอลได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้ผลิตกล้องจึงนำเซนเซอร์ภาพแบบดิจิตอลที่มีขนาดใกล้เคียงกันมาใช้

 

ข้อพิจารณาที่ 1: ผลกระทบต่อขนาดของกล้องและเลนส์

เมื่อคุณถอดเลนส์ออกจากกล้องมิเรอร์เลสบางรุ่น คุณจะเห็นเซนเซอร์ภาพได้ทันที และจะเห็นความแตกต่างของขนาดได้อย่างชัดเจนเมื่อวางกล้องฟูลเฟรมและกล้องมิเรอร์เลส APS-C เทียบกัน สำหรับกล้อง DSLR เซนเซอร์ภาพจะอยู่ด้านหลังกระจกแต่ขนาดก็จะแตกต่างเช่นกัน


ขนาดของกล้อง

ผลกระทบจากขนาดของเซนเซอร์ที่เกิดขึ้นโดยทันทีคือขนาดของกล้อง เพราะไม่ว่าอย่างไร ตัวกล้องก็ต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะบรรจุเซนเซอร์และส่วนประกอบอื่นๆ เข้าไปได้! และในกล้อง DSLR ขนาดเซนเซอร์ยังส่งผลต่อขนาดของกระจกที่อยู่ด้านหน้าเซนเซอร์และเพนทาปริซึมหรือเพนทามิเรอร์ที่อยู่ด้านบนด้วย ซึ่งจะทำให้มีขนาดและน้ำหนักที่มากขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กล้องฟูลเฟรมมีขีดจำกัดด้านความเบาและขนาดที่กะทัดรัด เมื่อเทียบกับกล้องรุ่นที่มีเซนเซอร์ภาพแบบ APS-C

แถวหลัง: กล้อง DSLR EOS 6D Mark II (ฟูลเฟรม) และ EOS 200D II (APS-C) 
แถวหน้า: กล้องมิเรอร์เลส EOS R6 (ฟูลเฟรม) และ EOS M50 Mark II (APS-C)
กล้อง APS-C สามารถทำให้มีขนาดเล็กกว่าและเบากว่ากล้องฟูลเฟรมได้


ขนาดของเลนส์

ภาพที่ฉายมาจากเลนส์จะเป็นรูปวงกลม เซนเซอร์ภาพแบบฟูลเฟรมจำเป็นต้องใช้วงภาพที่มีขนาดใหญ่กว่าเซนเซอร์ภาพ APS-C ซึ่งหมายความว่า ชิ้นส่วนกระจกภายในเลนส์จะต้องมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เซนเซอร์ทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกัน วงภาพที่มีขนาดเล็กกว่ามากของเซนเซอร์ภาพ APS-C จะทำให้เลนส์สำหรับกล้อง APS-C มีขนาดที่เล็กกว่าและน้ำหนักเบากว่า


ข้อนี้ส่งผลต่อการตัดสินใจของคุณอย่างไร

ขนาดของเซนเซอร์ภาพมีผลต่อขนาดและน้ำหนักของตัวกล้องและเลนส์ และยังส่งผลต่อต้นทุนในการผลิตด้วย หากคุณต้องการกล้องที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา และ/หรือมีงบประมาณที่น้อยกว่า คุณอาจพบว่าตนเองสนใจเลือกดูกล้องรุ่น APS-C มากกว่า

 

ข้อพิจารณาที่ 2: ประสิทธิภาพในสภาวะแสงน้อยและความไวแสง ISO สูง

ขนาดของเซนเซอร์ยังส่งผลต่อขนาดพิกเซลที่เป็นไปได้ด้วย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในสภาวะแสงน้อยของกล้อง

ด้านล่างนี้คือภาพประกอบอย่างง่ายที่แสดงให้เห็นจำนวนพิกเซลที่เท่ากันในเซนเซอร์ภาพ APS-C และเซนเซอร์ภาพฟูลเฟรมจะเป็นอย่างไร สังเกตเห็นหรือไม่ว่าพื้นที่ที่ใหญ่กว่าของเซนเซอร์ฟูลเฟรมทำให้พิกเซลมีขนาดใหญ่ขึ้น

พิกเซลบนเซนเซอร์ภาพคือ Photosite ที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมแสง ซึ่งจะถูกนำมาแปลงเป็นข้อมูล ข้อมูลนี้ไม่ได้ใช้ในการสร้างภาพเท่านั้น แต่ยังใช้ในกระบวนการต่างๆ เช่น การวัดแสงหรือวัดการเปิดรับแสง หรือในการคำนวณของ Dual Pixel CMOS AF ด้วย* ภายใต้สภาวะแสงแบบเดียวกัน ในทางเทคนิค พื้นที่ของ Photosite ที่มีขนาดใหญ่กว่าจะสามารถรวบรวมแสงได้มากกว่า จึงเป็นการเพิ่มความไวแสงและลดอัตราสัญญาณเสียงต่อคลื่นรบกวน ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดจุดรบกวนที่ความไวแสง ISO สูง น้อยลง รวมถึงมีประสิทธิภาพ AF ในสภาวะแสงน้อยโดยรวมดีขึ้นด้วย*

* สำหรับกล้องมิเรอร์เลสและกล้อง DSLR ขณะถ่ายแบบ Live View กล้อง DSLR มีเซนเซอร์ AF แยกกันสำหรับการถ่ายผ่าน OVF


แล้วเซนเซอร์ฟูลเฟรมที่มีจำนวนพิกเซลมากกว่าเป็นอย่างไร

ในความเป็นจริง มีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในสภาวะแสงน้อย:

- พิกเซลที่เล็กกว่าหมายถึงความละเอียดที่มากกว่า และยังทำให้จุดรบกวนที่เกิดขึ้นดูเล็กลงและเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก

- โครงสร้างของเซนเซอร์ภาพ: เซนเซอร์ภาพทั่วไปจะมีวงจรรอบแต่ละพิกเซล ซึ่งกินพื้นที่บนเซนเซอร์และส่งผลต่อขนาดพิกเซลจริง วงจรและขนาดพิกเซลจริงขึ้นอยู่กับรุ่นของกล้อง อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเซนเซอร์แบบซ้อนกัน เช่น เซนเซอร์ในกล้อง EOS R3 ได้ย้ายวงจรไปไว้ด้านหลังพิกเซล จึงทำให้มีพื้นที่มากขึ้นสำหรับ Photosite ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

- ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี: สิ่งต่างๆ เช่น เทคโนโลยีการลดจุดรบกวนและประสิทธิภาพของพิกเซลนั้นมีการพัฒนาอยู่เสมอ


ดังนั้น นอกจากขนาดของเซนเซอร์ภาพแล้ว คุณอาจต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย กล้อง APS-C ระดับไฮเอนด์รุ่นใหม่ๆ อาจมีประสิทธิภาพในสภาวะแสงน้อยที่เทียบเท่าหรือดียิ่งกว่ากล้องฟูลเฟรมระดับต่ำที่จำหน่ายในปีก่อนหน้า

EOS RP (ฟูลเฟรม) ที่ 35 มม., f/4, 1/60 วินาที, ISO 12800


EOS M6 Mark II (APS-C) ที่ 13 มม., f/11, 1/15 วินาที, ISO 12800

 

ข้อพิจารณาที่ 3: คุณสมบัติการครอป 1.6 เท่า

เซนเซอร์ภาพ APS-C มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เซนเซอร์ครอป” คุณเดาได้หรือไม่ว่าเพราะเหตุใด

มาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราถ่ายภาพจากจุดเดียวกัน โดยใช้ทางยาวโฟกัสเท่ากัน แต่ใช้เซนเซอร์กล้องที่มีขนาดต่างกัน

สังเกตเห็นหรือไม่ว่ามุมรับภาพที่ถ่ายด้วยเซนเซอร์ APS-C นั้นแคบกว่า ความจริงแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้เหมือนกันกับที่คุณจะได้จากการถ่ายภาพด้วยทางยาวโฟกัสที่ยาวกว่า 1.6 เท่าของกล้องฟูลเฟรม ยกตัวอย่างเช่น หากคุณใช้เลนส์ 50 มม. กับกล้อง APS-C ภาพที่ได้จะมีมุมรับภาพเท่ากับภาพที่ถ่ายที่ระยะ 80 มม. (50 x 1.6) ด้วยกล้องฟูลเฟรม เอฟเฟ็กต์เช่นนี้เรียกว่า “การครอปแบบ APS-C” และ 1.6 เท่าคือ “คุณสมบัติการครอป”

ในบทความนี้ เราจะเรียกทางยาวโฟกัสที่สัมพันธ์กับมุมรับภาพหลังผ่านการครอปแบบ APS-C ว่า “ทางยาวโฟกัสเทียบเท่า”


คุณสมบัตินี้มีความสำคัญเมื่อใด

มุมรับภาพยังขึ้นอยู่กับระยะห่างของคุณจากตัวแบบด้วย ดังนั้น สำหรับตัวแบบทั่วไปส่วนใหญ่ คุณจะไม่เห็นความแตกต่างมากนัก อย่างไรก็ตาม จะเกิดความแตกต่างขึ้นหากคุณชอบถ่ายภาพตัวแบบในระยะใกล้ และหากคุณชอบถ่ายภาพมุมกว้างแบบอัลตร้าไวด์


APS-C: เหมือนคุณใช้เลนส์ที่ยาวกว่าอยู่เสมอ

ด้วยคุณสมบัติการครอปดังกล่าว จึงแทบจะเหมือนว่าคุณมีเลนส์ที่ยาวกว่าโดยอัตโนมัติ เลนส์ 100 มม. ทำงานได้เช่นเดียวกับเลนส์ 160 มม. เลนส์ 200 มม. ทำงานได้เช่นเดียวกับเลนส์ 320 มม. และเลนส์ 400 มม. ทำงานได้เช่นเดียวกับเลนส์ 640 มม. จึงเหมาะสำหรับตัวแบบเช่นสัตว์และสัตว์ป่า ซึ่งระยะที่ไกลกว่านั้นเป็นประโยชน์เสมอ

EOS M50 (กล้อง APS-C) + EF‑M55‑200mm f/4.5‑6.3 IS STM ที่ 187 มม. (เทียบเท่า 299.2 มม.)

คุณไม่มีทางรู้เลยว่าการมีระยะที่เพิ่มขึ้นจะเป็นประโยชน์เมื่อใด แต่สำหรับการถ่ายภาพดอกบัวนี้ในระยะใกล้ด้วยมุมที่โดดเด่นจากอีกฝั่งหนึ่งของสระน้ำนั้น คุณได้ใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน! การใช้กล้อง APS-C ร่วมกับเลนส์ซูมเทเลโฟโต้ในภาพนี้มีน้ำหนักที่เหมาะสำหรับการพกพาเพียง 647 ก. ซึ่งเบากว่าการใช้เลนส์และกล้องฟูลเฟรมที่เทียบเท่ากันในปัจจุบันทุกรุ่นอย่างมาก

โหมดการครอป 1.6 เท่าในกล้องฟูลเฟรมบางรุ่นเป็นอย่างไร

กล้องฟูลเฟรมบางรุ่นมีโหมดครอป 1.6 เท่า ซึ่งช่วยให้คุณสามารถดูและถ่ายภาพโดยใช้เอฟเฟ็กต์การครอปแบบ APS-C ได้ คุณสมบัตินี้เป็นประโยชน์มากเนื่องจากคุณสามารถตรวจสอบองค์ประกอบภาพด้วยเอฟเฟ็กต์ระยะใกล้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องใช้เลนส์ที่ยาวกว่า

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเพียงบางส่วนของเซนเซอร์ภาพเท่านั้นที่จะถูกนำมาใช้ในการบันทึกภาพครอป 1.6 เท่า ภาพที่ได้จึงมีความละเอียดต่ำกว่าความละเอียดสูงสุดของกล้อง ยกตัวอย่างเช่น สำหรับภาพด้านล่าง การใช้โหมดครอป 1.6 เท่าในกล้อง EOS R ความละเอียด 30.3 ล้านพิกเซลทำให้ได้ภาพขนาด 4176 x 2784 เท่ากับประมาณ 11.6 ล้านพิกเซล

ซึ่งคงไม่เป็นปัญหาหากคุณเพียงต้องการแบ่งปันภาพผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่ปรับแต่งมากนัก แต่หากคุณต้องการครอปภาพเพิ่มขึ้นอีกในระหว่างการปรับแต่ง จำนวนพิกเซลที่น้อยกว่าจะจำกัดปริมาณการครอปของคุณ

การครอปที่ 2000 พิกเซลจากภาพที่ถ่ายในโหมดครอป 1.6 เท่า
ภาพต้นฉบับถ่ายที่ระยะ 200 มม. ด้วยกล้อง EOS R (ฟูลเฟรม) + EF70-200mm f/4L IS II USM

โดยทั่วไปภาพจะต้องมีขนาดอย่างน้อย 2000 พิกเซลในแนวยาวเพื่อคุณภาพที่ดีที่สุดขณะรับชมผ่านจอแสดงผลส่วนใหญ่ ภาพด้านบนถ่ายในโหมดครอป 1.6 เท่าด้วยกล้อง EOS R และการครอปภาพที่ 2000 พิกเซล (ภาพล่าง) ทำให้ได้ผลลัพธ์ดังภาพบนสุด การครอปเพิ่มอาจทำให้คุณภาพของภาพมีความคมชัดน้อยลงและมีจุดพิกเซลมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนหน้าจอขนาดใหญ่

สำหรับกล้องที่มีเซนเซอร์ APS-C ความละเอียด 24 ล้านพิกเซลเช่น EOS M50 คุณจะได้ภาพต้นฉบับที่มีขนาดใหญ่กว่า (6000 x 4000 พิกเซล) ซึ่งการครอปที่ 2000 พิกเซลจะทำให้ตัวนกกินพื้นที่ในเฟรมภาพมากขึ้น อีกตัวเลือกที่มีราคาสูงกว่าคือการใช้เลนส์ที่ยาวกว่า หรือใช้กล้องฟูลเฟรมที่มีจำนวนพิกเซลมากกว่า

 

คำถามที่พบบ่อย: สามารถใช้เลนส์ APS-C กับกล้องฟูลเฟรมได้หรือไม่

เลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับกล้อง DSLR แบบ APS-C (เลนส์เมาท์ EF-S และ EF-M) จะใช้ไม่ได้กับกล้อง Canon DSLR แบบฟูลเฟรม แม้คุณจะสามารถติดตั้งเลนส์ลงไปได้ แต่วงภาพที่มีขนาดเล็กกว่าจะทำให้เกิดขอบมืดบนเซนเซอร์ภาพฟูลเฟรม กล้องมิเรอร์เลสระบบ EOS R แบบฟูลเฟรมสามารถรองรับเลนส์ RF-S ได้โดยตรง และรองรับเลนส์ EF-S ได้เมื่อใช้กับเมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS R แต่จะทำให้คุณต้องเปลี่ยนมาใช้โหมดครอป 1.6 เท่าโดยอัตโนมัติ ซึ่งใช้เซนเซอร์ภาพเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้ใช้กล้องฟูลเฟรมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ คุณจะต้องใช้เลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับกล้องฟูลเฟรม

 

กล้องฟูลเฟรม: ใช้ประโยชน์จากเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ได้อย่างเต็มที่

ถ่ายที่ระยะ 14 มม. ด้วยกล้อง EOS R5 (ฟูลเฟรม) + RF14-35mm f/4L IS USM

หากต้องการถ่ายภาพมุมกว้างเป็นจำนวนมาก คุณควรลองพิจารณาถึงเลนส์ต่างๆ ที่มีให้เลือก เนื่องจากการครอปแบบ APS-C จะทำให้มุมรับภาพแคบกว่าของกล้องฟูลเฟรมโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น การติดตั้งเลนส์ 16 มม. ลงบนกล้อง APS-C จะทำให้คุณได้มุมรับภาพเช่นเดียวกับที่ถ่ายที่ 25.6 มม. (16 x 1.6) ด้วยกล้องฟูลเฟรม (“เทียบเท่า 25.6 มม.”)

ซึ่งไม่เป็นปัญหามากนักหากคุณใช้เลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่ออกแบบมาสำหรับกล้อง APS-C โดยเฉพาะ เช่น
- EF-M11-22mm f/4-5.6 IS STM (สำหรับกล้องซีรีย์ EOS M)
- EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM
- EF-S10-22mm f/3.5-4.5 USM

เลนส์เหล่านี้มีช่วงทางยาวโฟกัสที่กว้างถึงเทียบเท่า 16 มม. (สำหรับเลนส์ EF-S) หรือเทียบเท่า 17.6 มม. (สำหรับเลนส์ EF-M) และให้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความท้าทายด้านเทคนิคในการออกแบบเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ให้มีความบิดเบี้ยวน้อยที่สุด หากคุณต้องการมุมที่กว้างขึ้นอีก คุณจะมีตัวเลือกมากกว่าหากใช้กล้องฟูลเฟรม

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของเลนส์มุมกว้างได้ใน
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #6: เลนส์มุมกว้าง
สำรวจเลนส์มุมกว้างตอนที่ 1: เอฟเฟ็กต์ภาพที่ได้จากเลนส์มุมกว้าง

ดูเคล็ดลับน่ารู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ได้ที่
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเลนส์: ชื่อเลนส์มีความหมายอย่างไรและทำไมเลนส์บางรุ่นจึงเป็นสีขาว


ข้อควรรู้: เอฟเฟ็กต์ฟิชอายทรงกลมจะเกิดขึ้นได้เมื่อใช้กล้องฟูลเฟรมเท่านั้น

หากคุณชอบลองใช้เลนส์หลายชนิด หากคุณมีโอกาสได้ใช้เลนส์ฟิชอาย EF8-15mm f/4L Fisheye USM อันเป็นเอกลักษณ์ กล้องฟูลเฟรมจะทำให้คุณได้ภาพที่ไม่เหมือนใครซึ่งไม่สามารถถ่ายได้ด้วยกล้อง APS-C:

EOS R + EF8-15mm f/4L Fisheye USM ที่ 8 มม.

เอฟเฟ็กต์นี้เรียกว่าเอฟเฟ็กต์ฟิชอายทรงกลม และทำให้เห็นฉากที่มุมมอง 180 องศา ซึ่งถ่ายได้ด้วยกล้องฟูลเฟรมเท่านั้น เอฟเฟ็กต์การครอปของกล้อง APS-C จะครอปภาพออกไปจึงได้ภาพที่ไม่เต็มวง


ฟิชอายแบบแนวทแยง: ถ่ายได้ด้วยกล้องฟูลเฟรมและ APS-C

EOS R + EF8-15mm f/4L Fisheye USM ที่ 15 มม.

ไม่ว่าคุณจะใช้กล้อง APS-C หรือกล้องฟูลเฟรม คุณจะสามารถถ่ายภาพให้ดูมีพลังได้ด้วยเอฟเฟ็กต์ฟิชอายแนวทแยง ซึ่งจะเกิดขึ้นที่ระยะประมาณเทียบเท่าฟูลเฟรม 12 มม. เมื่อใช้เลนส์ฟิชอาย

ไม่ใช่แค่ความบิดเบี้ยวอันเป็นเอกลักษณ์เท่านั้น หาคำตอบว่าเลนส์ฟิชอายสามารถถ่ายภาพทิวทัศน์ดวงดาวให้สวยงามได้อย่างไรที่
EF8-15mm f/4L Fisheye USM: เลนส์ที่ผมใช้เป็นประจำในการถ่ายภาพดวงดาว

 

ข้อพิจารณาที่ 4: ระยะชัดของภาพ

คุณอาจเคยได้ยินว่ากล้องฟูลเฟรมสามารถสร้างระยะชัดที่ตื้นกว่า (เห็นพื้นหลังเบลอ/โบเก้ได้ชัดกว่า) เมื่อเทียบกับกล้อง APS-C สาเหตุหลักข้อหนึ่งของคุณสมบัตินี้คือขนาดของเซนเซอร์ที่ส่งผลต่อระยะการถ่ายภาพของคุณจากตัวแบบ

แต่ก่อนอื่น เราจะมาทบทวนปัจจัยสี่ข้อที่ส่งผลต่อโบเก้ในแบ็คกราวด์/ระยะชัดตื้น:
1)  ระยะห่างระหว่างตัวแบบและแบ็คกราวด์
2)  ค่ารูรับแสง
3) ทางยาวโฟกัสที่ใช้
4) ระยะห่างระหว่างกล้องและตัวแบบ

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราถ่ายภาพด้วยกล้องฟูลเฟรมและ APS-C โดยให้ปัจจัยในข้อ 1) และ 2) เท่ากัน ในภาพด้านล่าง ให้สังเกตขนาดของวงโบเก้ในแบ็คกราวด์และลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งสองภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ 50 มม. ชนิดเดียวกันที่ f/1.8 เราใช้โหมดครอป 1.6 เท่ากับกล้องฟูลเฟรมเพื่อให้ทั้งสองภาพมีมุมรับภาพเหมือนกัน

 

กล้องฟูลเฟรมที่ระยะ 50 มม. ในโหมดครอป 1.6 เท่า, f/1.8

กล้อง APS-C ที่ระยะ 50 มม. (เทียบเท่า 80 มม.), f/1.8

วงโบเก้มีขนาดใกล้เคียงกันในทั้งสองภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หลังจากนำคุณสมบัติการครอปมาใช้ ที่ตำแหน่งการถ่ายภาพและการตั้งค่าเดียวกัน จะไม่เห็นความแตกต่างของระยะชัดระหว่างภาพที่ถ่ายด้วยกล้องฟูลเฟรมและกล้อง APS-C


และจะเกิดอะไรขึ้นหากเราขยับกล้องฟูลเฟรมให้เข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้นเพื่อให้มีขนาดเท่ากับภาพ APS-C แทนที่จะใช้โหมดครอป 1.6 เท่าเพื่อให้เข้าใกล้ได้มากขึ้น

กล้องฟูลเฟรมที่ระยะ 50 มม., f/1.8, เข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้น

กล้อง APS-C ที่ระยะ 50 มม. (เทียบเท่า 80 มม.), f/1.8

ระยะชัดของภาพจากกล้องฟูลเฟรมจะตื้นกว่า วงโบเก้จึงมีขนาดใหญ่กว่า การถ่ายภาพใกล้ตัวแบบมากกว่าจะลดระยะชัดของภาพ


ข้อนี้บอกอะไรกับเรา

เมื่อใช้กล้องฟูลเฟรม เรามักจะถ่ายภาพโดยขยับเข้าไปใกล้ตัวแบบมากกว่า หากเทียบกับตอนที่เราใช้ทางยาวโฟกัสเท่ากันบนกล้อง APS-C นี่เป็นสาเหตุที่มักทำให้เกิดระยะชัดที่ตื้นกว่าและโบเก้ที่เห็นได้ชัดเจนกว่า

ดูวิธีการสร้างแบ็คกราวด์ฟรุ้งฟริ้งได้ที่นี่

 

สรุป: กล้อง APS-C หรือกล้องฟูลเฟรม

ต่อไปนี้คือสรุปข้อดีและข้อเสียของกล้องทั้งสองชนิด


ข้อดีของกล้อง APS-C
- มักมีขนาดที่เล็กกว่า เบากว่า และราคาถูกกว่า
- เลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับกล้อง APS-C มักมีขนาดเล็กกว่า เบากว่า และถูกกว่าด้วยเช่นกัน
- การครอป 1.6 เท่าช่วยให้คุณเข้าใกล้ตัวแบบได้มากขึ้นโดยอัตโนมัติ
- โดยปกติแล้วจะสามารถใช้เลนส์ฟูลเฟรมเพิ่มเติมจากเลนส์ APS-C ได้ (แต่ขึ้นอยู่กับระบบเมาท์ อาจต้องใช้เมาท์อะแดปเตอร์)

ข้อเสียของกล้อง APS-C
- ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเลนส์มุมกว้างได้อย่างเต็มที่
- อาจเห็นจุดรบกวนได้มากกว่าเมื่อถ่ายภาพด้วยความไวแสง ISO สูงในสภาวะแสงน้อย

ข้อดีของกล้องฟูลเฟรม
- ถ่ายภาพได้ด้วยมุมรับภาพที่กว้างกว่าเมื่อเทียบกับกล้อง APS-C ที่ใช้เลนส์เดียวกันและจุดถ่ายภาพเดียวกัน
- สามารถใช้ประโยชน์จากเลนส์มุมกว้างได้อย่างเต็มที่
- มักจะมีจุดรบกวนน้อยกว่าเมื่อถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อยด้วยความไวแสง ISO สูง

ข้อเสียของกล้องฟูลเฟรม
- มีราคาแพงกว่า
- ใช้งานกับเลนส์ APS-C ได้อย่างจำกัด


ลองถามตัวเองว่า คุณต้องการหรือสามารถลงทุนได้มากเพียงใด

ข้อดีที่สำคัญที่สุดของกล้อง APS-C และเลนส์คือมีราคาที่ค่อนข้างถูก หากนี่เป็นกล้องตัวแรกของคุณและคุณมีงบประมาณจำกัด คุณสามารถสร้างคลังอุปกรณ์ที่ดีพอได้ด้วยกล้อง APS-C เลนส์สองชิ้น และอาจซื้อแฟลช Speedlite ได้ด้วยในราคาเท่ากับชุดกล้องฟูลเฟรมใหม่เอี่ยม

ระบบกล้องฟูลเฟรมต้องใช้การลงทุนที่สูงกว่ามาก แต่สิ่งที่จะได้รับคือความอเนกประสงค์ในสภาวะการถ่ายภาพที่หลากหลายกว่า นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ช่างภาพมืออาชีพหลายคนชอบใช้กล้องฟูลเฟรมมากกว่า และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้รักการถ่ายภาพหลายคนตัดสินใจว่าพวกเขาต้อง “เลื่อนระดับ” ขึ้นมาจากระบบกล้อง APS-C ในที่สุด

ไม่มีกฎตายตัวว่าเส้นทางการถ่ายภาพควรมีจุดเริ่มต้นอย่างไร คุณอาจเริ่มจากจุดเล็กๆ ด้วยระบบกล้อง APS-C และลองดูว่าเป็นอย่างไร หรืออาจลงทุนไปกับชุดกล้องฟูลเฟรมแล้วค่อยๆ พัฒนาทักษะให้สูงขึ้น (และเรียนรู้ไปในขณะเดียวกัน) ท้ายที่สุดแล้ว อุปกรณ์กล้องคือเครื่องมือที่คุณใช้ในการถ่ายทอดอารมณ์ด้วยภาพ และสิ่งสำคัญคือคุณต้องเรียนรู้ที่จะใช้อุปกรณ์เหล่านั้นให้ได้เป็นอย่างดี! ซึ่ง SNAPSHOT อยู่ตรงนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คุณ

ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพ!

 


รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT

ลงทะเบียนตอนนี้!

แบ่งปันภาพถ่ายของคุณใน My Canon Story แล้วร่วมลุ้นโอกาสเผยแพร่ผลงานบนโซเชียลมีเดียของเรา