ความไวแสง ISO ทำหน้าที่ควบคุมระดับความไวต่อแสงที่มากระทบของเซนเซอร์ภาพ การตั้งค่า ISO สูงๆ ทำให้เซนเซอร์กล้องของคุณไวต่อแสงมากขึ้น คุณจึงถ่ายภาพในที่มืดได้ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์และความเร็วของรูรับแสงด้วย อ่านต่อเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบต่อภาพถ่ายของคุณ (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)
ความไวแสง ISO คืออะไร
“ISO” ใน “ความไวแสง ISO” ย่อมาจาก "International Organisation for Standardisation" ซึ่งหมายถึง องค์กรที่กำหนดมาตรฐานสากล
“ความไวแสง ISO” เป็นศัพท์ด้านการถ่ายภาพที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง
ในกล้องฟิล์ม ความไวแสง ISO จะใช้ในการกำหนดความไวต่อแสงของฟิล์มถ่ายภาพ
ในการถ่ายภาพดิจิตอล ความไวแสง ISO จะใช้ในการกำหนดความไวต่อแสงของเซนเซอร์ CMOS
ความไวแสง ISO ที่เพิ่มสูงขึ้นบ่งบอกถึงความไวต่อแสงที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์เมื่อคุณถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย เนื่องจากช่วยให้ถ่ายสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวแบบได้โดยไม่ต้องใช้แฟลช และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับหลายสถานการณ์ เช่น ในกรณีที่คุณถ่ายภาพในร่มซึ่งไม่อนุญาตให้ใช้การถ่ายภาพด้วยแฟลช
หากคุณใช้ความไวแสง ISO ต่ำ คุณอาจต้องใช้แฟลชเพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน
เราได้เรียนรู้ในบทก่อนหน้านี้ว่า เราสามารถควบคุมระยะชัดลึกชัดตื้น (ปริมาณของโบเก้) ได้ด้วยค่ารูรับแสง และควบคุมการเคลื่อนที่ของวัตถุได้ด้วยความเร็วชัตเตอร์ และนำทั้งสองอย่างนี้ผนวกกับความไวแสง ISO เพื่อกำหนดการเปิดรับแสง (ปริมาณแสง) ของภาพ ดังนั้น การทำความเข้าใจวิธีการทำงานจะช่วยให้คุณได้ภาพถ่ายที่ดียิ่งขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างความไวแสง ISO และการเปิดรับแสง
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยความไวแสง ISO สูง
f/5.6
Manual exposure (1/800 วินาที, f/4)/ ISO 6400
ในภาพนี้ การเคลื่อนไหวของนักดนตรี "หยุดนิ่ง" เพราะใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง ผมไม่ยิงแสงแฟลช เพื่อจะไม่ลดทอนบรรยากาศจริงในภาพที่ได้ นี่เป็นตัวอย่างฉากที่มีแสงน้อย ซึ่งสามารถถ่ายไว้ได้อย่างสวยงามด้วยความไวแสง ISO สูงๆ
ตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วยความไวแสง ISO ต่ำ
Aperture-priority AE (25 วินาที, f/25)/ ISO 100
ในภาพนี้ ผมเลือกความไวแสง ISO ต่ำ และเมื่อใช้ร่วมกับรูรับแสงที่แคบลง ผมจะได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลง ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าทำให้แสงหน้ารถและท้ายรถเบลอ และเกิดเส้นแสงขึ้นในภาพ
เพิ่มความไวแสง ISO เพื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่เร็วขึ้น
ในสถานที่ที่มีแสงสลัว การเพิ่มความไวแสง ISO ช่วยให้แสงเข้าสู่เซนเซอร์ภาพได้มากขึ้น และเอื้อให้คุณสร้างสรรค์ภาพได้คมชัดยิ่งขึ้น
ในสถานที่ที่สว่างนั้น ความไวแสง ISO สูงเป็นการเปิดให้เซนเซอร์ภาพรับเอาปริมาณแสงได้มากในเวลาอันสั้น ทำให้คุณใช้งานชัตเตอร์ความเร็วสูงกว่าเมื่อตั้งค่าความไวแสง ISO ต่ำ สำหรับการถ่ายภาพกีฬา เป็นธรรมดาที่จะใช้ความไวแสง ISO สูงๆ อย่าง ISO 400 เมื่อถ่ายภาพในช่วงกลางวัน
ISO 200, 1/50 วินาที
ISO 800, 1/200 วินาที
กับภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/200 วินาทีนั้น ผมสามารถ "หยุด" ชั่วขณะที่ตัวแบบกระโดดได้อย่างที่ต้องการ สต็อปของความไวแสง ISO จะสอดคล้องไปทางเดียวกันกับสต็อปของความเร็วชัตเตอร์
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์และข้อเสียของความไวแสง ISO ต่ำหรือสูงได้จากบทความนี้:
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตั้งค่ากล้อง #3: ฉันจะใช้ความไวแสง ISO แบบขยายบนกล้องอย่างไร
จุดรบกวนและความไวแสง ISO
จุดรบกวนคืออะไร
จุดรบกวน (Noise) หมายถึง จุดที่ปรากฏบนภาพเมื่อถ่ายด้วยความไวแสง ISO สูง ในการเพิ่มระดับความไวแสง ISO นั้นจำเป็นต้องขยายสัญญาณไฟฟ้า สัญญาณรบกวนจะเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการนี้ จุดรบกวนเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในกล้องดิจิตอล โดยระดับของจุดรบกวนที่ยอมรับได้นั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล
จุดรบกวนที่ปรากฏตามระดับความไวแสง ISO
ISO 100
ISO 400
ISO 1600
ISO 25600
กล้อง EOS ของคุณลดจุดรบกวนได้อย่างไร
ภาพที่ถ่ายโดยใช้ความไวแสง ISO สูงมีแนวโน้มเกิดจุดรบกวนมากขึ้น สำหรับกล้องในซีรีย์ EOS มีการนำเทคโนโลยีสำคัญๆ มาใช้ลดจุดรบกวนเมื่อใช้ความไวแสง ISO สูงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เซนเซอร์ภาพ CMOS สามารถลดจุดรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน ระบบประมวลผลภาพ DIGIC จะช่วยขจัดจุดรบกวนที่บันทึกไว้ในข้อมูลจากเซนเซอร์ อาทิ กล้องที่มาพร้อมกับ DIGIC 7 จะไม่มีจุดรบกวนปรากฏให้เห็นเมื่อใช้ความไวแสงสูงถึง ISO 6400 กระทั่งภาพที่ถ่ายด้วย ISO 25600 ยังสามารถนำมาพิมพ์ภาพขนาด 3R ได้
กล้องที่วางขายในปี 2012 หรือหลังจากนั้นต่างมีคุณสมบัติ "การลดจุดรบกวนหลายภาพ" ซึ่งจะถ่ายภาพต่อเนื่องสี่ภาพเมื่อกดชัตเตอร์หนึ่งครั้ง และรวมภาพเข้าด้วยกันโดยอัตโนมัติเพื่อขจัดจุดรบกวนในภาพ
ภาพถ่ายที่ใช้การลดจุดรบกวนหลายภาพ
แม้ในเวลาที่ถ่ายภาพด้วยความไวแสง ISO สูงถึง 12800 จุดรบกวนก็ลดลงอย่างมากด้วยคุณสมบัติ การลดจุดรบกวนหลายภาพ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดสำคัญของกล้อง โปรดอ่านบทความต่อเนื่องชุดพื้นฐานเกี่ยวกับกล้องที่:
จุดโฟกัส: พื้นฐานเกี่ยวกับกล้อง
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอถ่ายภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ นอกจากถ่ายภาพสำหรับงานโฆษณาและนิตยสารทั้งในและนอกญี่ปุ่นแล้ว เขายังทำหน้าที่เป็นนักรีวิวให้กับ "Digital Camera Magazine" นับตั้งแต่นิตยสารเปิดตัว ตลอดจนตีพิมพ์ผลงานต่างๆ มากมาย ในส่วนของการรีวิวผลิตภัณฑ์และเลนส์ Takahashi เน้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพที่ดึงประสิทธิภาพการทำงานของเลนส์ออกมาผ่านมุมมองและการทดสอบเฉพาะตัวของเขาเอง ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย