การเปิดรับแสง ซึ่งหมายถึงความสว่างในภาพถ่าย เป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นโดยการทำงานร่วมกันระหว่างชัตเตอร์และรูรับแสง มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดรับแสงเพื่อที่จะควบคุมภาพถ่ายให้ได้ดั่งใจ (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)
หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการเปิดรับแสง
กำหนดปริมาณการรับแสงด้วยค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์
”การเปิดรับแสง” เป็นคำที่ใช้พูดถึงความสว่างของภาพ ความสว่างของภาพถูกกำหนดด้วยปริมาณแสงที่ตกกระทบบนเซนเซอร์ภาพ ขณะที่ชัตเตอร์และรูรับแสงทำหน้าที่เป็นวาล์วสำหรับปรับปริมาณแสงมากหรือน้อย ส่วน “ความเร็วชัตเตอร์” จะวัดระยะเวลาที่เปิด “ประตู” ให้แสงผ่านเข้ามา ขณะเดียวกัน “รูรับแสง” อาจเข้าใจได้ดังนี้ว่าเป็นตัวระบุความกว้างของ “ประตู” ที่เปิดอยู่ ฉะนั้น ปริมาณแสงที่ไม่เป็นไปตามต้องการสามารถปรับได้โดยการควบคุมความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสง การเปิดรับแสงที่เหมาะสมได้มาจากการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนประกอบทั้งสองอย่างนี้ ไม่ว่าปริมาณความสว่างที่เหมาะสมจะได้มาโดยการเพิ่มความเร็วชัตเตอร์เร็วขึ้นเพื่อให้ได้ขนาดรูรับแสงกว้าง หรือโดยการตั้งความเร็วชัตเตอร์ช้าลงเพื่อให้ขนาดรูรับแสงแคบลง แนวคิดเรื่อง “การเปิดรับแสง” นี้เหมือนกันในทั้งสองกรณี หากยกตัวอย่างเทียบกับการวิ่งมาราธอน ไม่ว่านักวิ่งจะถึงเส้นชัยด้วยความเร็วที่เร็วหรือช้า ระยะทางจริงที่วิ่งย่อมไม่เปลี่ยนแปลง
ความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสง
ตารางข้างบนนี้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ ความสว่างในภาพระดับเดียวกันสามารถเกิดขึ้นได้โดยการเปิดรูรับแสงกว้างขึ้นเพื่อเพิ่มความเร็วชัตเตอร์เร็วขึ้น หรือโดยการลดขนาดรูรับแสงแคบลงเพื่อให้ความเร็วชัตเตอร์ช้าลง
ทำความเข้าใจความหมายของการเปิดรับแสงที่เหมาะสม
สว่างเกินไป (Overexposed)
การเปิดรับแสงที่เหมาะสม
มืดเกินไป (Underexposed)
เมื่อเปิดรับแสงอย่างเหมาะสม ความสว่างในภาพก็ดูน่ามอง
”การเปิดรับแสงที่เหมาะสม” หมายถึงระดับความสว่างที่ถูกต้องสำหรับภาพถ่าย ที่เมื่อปรากฏแล้วน่ามองในสายตาของผู้ชมภาพ นี่เป็นเพียงนิยามคร่าวๆ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามความเชื่อของช่างภาพแต่ละคนว่าระดับความสว่างที่เหมาะสมของเขานั้นเป็นอย่างไร แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีช่วงการเปิดรับแสงที่เหมาะสมช่วงหนึ่งซึ่งจะดูพอดีโดยที่ช่างภาพไม่จำเป็นต้องเพิ่มความสว่าง (หรือปรับมืด) หากความสว่างเบนห่างจากช่วงนี้มาก ภาพที่ออกมาจะสว่างเกินไปหรือมืดเกินไป แต่ก็มีหลายกรณีที่เมื่อความสว่างอยู่ในช่วงระดับแสงที่เหมาะสมแล้ว กลับมีส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพที่สว่างจ้าหรือมืดไป เมื่อส่วนสว่างในภาพหลุดไปจากช่วงที่เหมาะสมอย่างสิ้นเชิง เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Blowout (ส่วนที่สว่างเกินไป)” ขณะที่ พื้นที่ที่มืดทึบนั้นเรียกว่า “Black Crush (ส่วนที่มืดเกินไป)” ปรากฏการณ์เหล่านี้มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเมื่อการเปิดรับแสงโดยรวมของภาพเบนห่างจากช่วงความสว่างที่เหมาะสมมากเกินไป การรักษาการเปิดรับแสงที่เหมาะสมเอาไว้ตลอดเวลาเมื่อถ่ายภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเข้าใจแนวคิดเรื่องการเปิดรับแสงที่เหมาะสมแล้ว คุณก็สามารถใช้เทคนิคการถ่ายทอดภาพเพื่อเพิ่มความสว่างของภาพ (ไฮคีย์) หรือลดความสว่างของภาพ (โลว์คีย์)
ตัวอย่าง Blowout (ส่วนที่สว่างเกินไป)
แสงอาทิตย์จ้าสะท้อนให้เห็นจากเต้นท์สีขาว ทำให้เกิดส่วนที่สว่างเกินไป แก้ปัญหานี้ง่ายๆ ด้วยการลดระดับการเปิดรับแสง
ตัวอย่าง Black Crush (ส่วนที่มืดเกินไป)
ความเปรียบต่างสูงทำให้เกิดส่วนเงาที่ดูมืดเกินไป แต่ในกรณีนี้ สังเกตว่าการเพิ่มการเปิดรับแสงอาจทำให้เกิดส่วนที่สว่างเกินไปขึ้นในบริเวณอื่นแทน
เกิดที่จังหวัดไอชิเมื่อปี 1960 Takahashi เริ่มทำงานอิสระในปี 1987 หลังจากทำงานในสตูดิโอภาพโฆษณาและสำนักพิมพ์ และเนื่องจากรับถ่ายภาพให้กับนิตยสารชื่อดัง เขาจึงได้เดินทางจากที่อยู่ประจำ คือ ญี่ปุ่นและจีน ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก และเขาก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งของ Japan Professional Photographers Society (JPS) ด้วย