เป็นที่ทราบกันดีว่า เลนส์ฟิชอายสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ความบิดเบี้ยวอันเป็นเอกลักษณ์ได้ แต่ในขณะเดียวกัน มุมรับภาพแบบอัลตร้าไวด์ของเลนส์ฟิชอายอย่าง EF8-15mm f/4L Fisheye USM ยังสามารถใช้ถ่ายภาพท้องฟ้ากว้างที่เต็มไปด้วยดวงดาวได้อย่างสวยงามอีกด้วย ในบทความนี้ ช่างภาพทิวทัศน์ดวงดาวจะมาแบ่งปันภาพที่เขาถ่ายด้วยเลนส์นี้ และเล่าให้เราฟังว่าทำไม EF8-15mm f/4L Fisheye USM จึงเป็นเลนส์ที่ขาดไม่ได้สำหรับเขา (เรื่องโดย: Mitsunori Yuasa, Digital Camera Magazine)
EOS 5D Mark IV/ EF8-15mm f/4L Fisheye USM/ FL: 15 มม./ Manual exposure (f/4, 20 วินาที)/ ISO 6400/ WB: Auto/ ครอปจากภาพพาโนรามาของภาพที่นำมาต่อกัน 3 ภาพ
ศาลเจ้าชิระฮิเงะ (ฉบับภาษาอังกฤษ) ซึ่งมีชื่อเสียงเพราะมีประตูโทริอิตั้งอยู่ในน้ำในทะเลสาบบิวะ (ฉบับภาษาอังกฤษ) คือสถานที่ที่ซารุตะฮิโกะ เทพเจ้าที่คอยนำทางเทวดาจากสวรรค์ลงมายังโลกสถิตอยู่ ทางช้างเผือกที่อยู่เหนือประตูโทริอิชวนให้เกิดจินตนาการว่าเทวดาเหล่านั้นกำลังเดินทางลงมายังโลก
การถ่ายภาพทิวทัศน์ดวงดาว: งานอดิเรกในวัยเด็กที่ผมไม่เคยเลิกทำ
เป็นเวลาครึ่งศตวรรษแล้วที่ผมเลือกงานสายถ่ายภาพ
ทั้งปู่และลุงของผมต่างก็รักในการถ่ายภาพ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมมีความคุ้นเคยกับกล้องถ่ายรูปตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ผมรักท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว และเคยคิดอยากสร้างกล้องโทรทรรศน์เป็นของตัวเองเพื่อที่จะได้มองเห็นและถ่ายภาพดวงดาวเหล่านั้น
พอเป็นผู้ใหญ่ในวัยทำงาน ก็เกิดความกดดันในชีวิตและอาชีพการงาน ผมจึงไม่มีโอกาสได้ดูดาวบ่อยเท่าแต่ก่อน และถึงกับหยุดถ่ายภาพไปพักหนึ่ง แม้ว่าใจผมยังอยากจะทำอยู่ก็ตาม ราว 10 ปีที่แล้ว ความต้องการจะกลับมาถ่ายภาพก็เพิ่มขึ้นจนผมไม่สามารถทัดทานได้ จึงลาออกจากงานเพื่อมาตามความฝันในการเป็นช่างภาพอาชีพ
ผมเลือกที่จะเน้นถ่ายภาพทิวทัศน์ดวงดาว ซึ่งหมายถึง ภาพทิวทัศน์ที่อวดโฉมท้องฟ้าซึ่งเต็มไปด้วยดวงดาว นี่เป็นทางเลือกที่เหมาะกับผมที่สุด เนื่องจากผมรู้จักดวงดาวเป็นอย่างดีและยังได้ถ่ายภาพทิวทัศน์มาโดยตลอด
ทำไมเลนส์ฟิชอายจึงเหมาะสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ดวงดาว
การถ่ายภาพดวงดาว: การถ่ายภาพที่คุณไม่สามารถเข้าไปใกล้เพื่อให้ท้องฟ้าดูใหญ่ขึ้นได้
ในอดีต หนึ่งในหลักการพื้นฐานที่ผู้เริ่มต้นถ่ายภาพจะได้เรียนในโรงเรียนสอนการถ่ายภาพคือ การใช้ระยะห่างจริงเพื่อเปลี่ยนมุมรับภาพ การใช้เลนส์เดี่ยวมาตรฐานทำให้เราเคยชินกับการเข้าไปใกล้เพื่อให้ตัวแบบดูมีขนาดใหญ่ขึ้นและออกห่างเพื่อให้ตัวแบบดูมีขนาดเล็กลง
อย่างไรก็ตาม หลักการข้อนี้ใช้ไม่ได้กับการถ่ายภาพดวงดาว ท้องฟ้าที่พร่างพราวไปด้วยหมู่ดาวนั้นอยู่ไกลมากจนไม่ว่าคุณจะเข้าใกล้หรือออกห่างแค่ไหน ก็จะไม่เห็นความแตกต่าง การเปลี่ยนขนาดของท้องฟ้าในภาพมีวิธีเดียวคือ เปลี่ยนทางยาวโฟกัส ซึ่งบ่อยครั้ง จะหมายถึงการเปลี่ยนเลนส์ด้วย
ให้ได้มากกว่าลุคในแบบเลนส์ฟิชอาย
เสน่ห์ของเลนส์ฟิชอายไม่ได้มีเพียงแค่เอฟเฟ็กต์ความบิดเบี้ยวอันโดดเด่นที่ไม่ได้ผ่านการแก้ไขเท่านั้น ลักษณะของ “เลนส์ฟิชอาย” ที่ไม่มีใครเหมือนนี้เป็นลูกเล่นที่น่าสนุก แต่หลายคนจะเบื่อในเวลาไม่นาน
สำหรับผม ความงดงามของเลนส์ฟิชอาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลนส์ EF8-15mm f/4L Fisheye USM ที่ผมชื่นชอบ คือ ความหลากหลายและความเป็นไปได้มากมายในการถ่ายภาพ
เนื่องจากท้องฟ้ามีความกว้างใหญ่ โดยธรรมชาติจึงต้องใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้ถ่ายฉากได้ครอบคลุมมากขึ้น เลนส์ฟิชอายมีมุมรับภาพที่กว้างที่สุดเท่าที่คุณจะสามารถหาซื้อได้ และผมเชื่อว่าการถ่ายภาพดวงดาวและทิวทัศน์ดวงดาวเป็นเพียงการถ่ายภาพไม่กี่ประเภทที่ใช้ประโยชน์สูงสุดจากมุมกว้างนี้
EOS 6D/ EF8-15mm f/4L Fisheye USM/ FL: 15 มม./ Manual exposure (f/4, 20 วินาที)/ ISO 3200/ WB: Auto/ ครอปจากภาพพาโนรามาของภาพที่นำมาต่อกัน 3 ภาพ
ไม่มีร่องรอยผู้คนในบริเวณใกล้ยอดเขาซึ่งถูกปกคลุมไปด้วยหมอกหนา ความมืดและลมแรงยิ่งทำให้รู้สึกน่ากลัวมากขึ้นไปอีก ผมรอเป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนที่ลมจะหยุดพัดและหมอกจางลงจนมองเห็นทางช้างเผือกในที่สุด
ทำไม EF8-15mm f/4L Fisheye USM จึงเป็นเลนส์ชิ้นโปรดของผม
1. สามารถสร้างได้ทั้งเอฟเฟ็กต์ฟิชอายแบบทรงกลมและแนวทแยง
เมื่อติดตั้งเลนส์ลงบนกล้องฟูลเฟรม คุณจะได้เอฟเฟ็กต์ฟิชอายทรงกลมเมื่อเข้าใกล้ระยะมุมกว้าง และได้เอฟเฟ็กต์ฟิชอายแนวทแยงเมื่อเข้าใกล้ระยะเทเลโฟโต้ ความสามารถรอบด้านนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเลือกใช้เลนส์ฟิชอายในการถ่ายภาพทิวทัศน์ดวงดาว
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเอฟเฟ็กต์เหล่านี้และวิธีการใช้งานให้เป็นประโยชน์ได้ที่:
เลนส์ฟิชอาย: สิ่งที่ผู้เริ่มต้นต้องรู้
เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมืออาชีพ (4): การใช้เลนส์พิเศษ
2. คุณภาพของภาพที่สวยงาม
ผมใช้เลนส์กับกล้อง EOS 5D Mark IV และ EOS 6D ที่ได้รับการปรับแต่งให้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพดวงดาว ในการใช้เลนส์กับกล้องทั้งคู่ ภาพที่ได้มีคุณภาพที่ยอดเยี่ยม โดยสามารถแสดงดวงดาวได้เป็นจุดที่ชัดเจนแม้อยู่ตรงขอบภาพ
เคล็ดลับ: ระวังแหล่งกำเนิดแสงจากพื้นดิน
ด้วยมุมรับภาพที่ใหญ่มาก คุณอาจถ่ายติดแสงจากแหล่งกำเนิดบนพื้นโลกเข้ามาด้วยจนเกิดเป็นแสงสะท้อนหรือแสงแฟลร์ที่คุณไม่ต้องการในภาพ ใช้ความระมัดระวังให้มาก และเก็บสิ่งของที่ปล่อยแสงได้ เช่น โทรศัพท์หรือไฟฉาย ให้ห่างที่สุดเท่าที่จะทำได้
3. มีขนาดกะทัดรัดและจับถนัดมือ
เนื่องจากเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างมักจะมีขนาดใหญ่กว่าและหนักกว่า สิ่งที่แลกมาจึงเป็นความเร็วของเลนส์ ต้องยอมรับว่ารูรับแสงกว้างสุดที่ค่า f/4 ของเลนส์รุ่นนี้ช้ากว่าเลนส์ที่เรามักใช้ในการถ่ายภาพดวงดาวเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ความคล่องตัวในการพกพาทำให้มันเป็นเลนส์ที่ผมขาดไม่ได้
ข้อควรรู้: กฎ 500
เอาเลข 500 หารด้วยทางยาวโฟกัสเทียบเท่าฟูลเฟรมที่คุณใช้ ค่าที่ได้คือระยะเวลาโดยประมาณในการเปิดรับแสงที่คุณใช้ได้ก่อนจะเริ่มเห็นเส้นแสงจากดวงดาว ตามกฎนี้ ที่ 8 มม. คุณจะสามารถถ่ายภาพได้ที่ราว 60 วินาที ซึ่งน่าจะทำให้ดวงดาวของคุณดูสว่างสดใสได้แม้ใช้ค่า f/4
(อ่านต่อได้ที่นี่ (ฉบับภาษาอังกฤษ))
4. มีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพพาโนรามา VR แบบ 360 องศา
นอกจากภาพในรูปแบบปกติแล้ว เลนส์ EF8-15mm f/4L Fisheye USM ยังมีช่วงทางยาวโฟกัสที่มีประโยชน์ในการสร้างภาพพาโนรามาทรงกลมแบบ 360 องศาด้วย (ภาพพาโนรามา VR แบบ 360 องศา) ที่คุณต้องการมีเพียงการตั้งค่าที่ถูกต้องและความช่วยเหลือจากซอฟต์แวร์ปะติดภาพพาโนรามาแบบ VR เท่านั้น
(ดูวิธีการได้ที่นี่ (ฉบับภาษาอังกฤษ))
EOS 6D/ EF8-15mm f/4L Fisheye USM/ FL: 8 มม./ Manual exposure (f/4, 60 วินาที)/ ISO 3200/ WB: Auto/ ถ่ายด้วยขาตั้งแบบอีเควทอเรียล (อุปกรณ์ติดตามดวงดาว)
มีสถานที่เพียงไม่กี่แห่งในภูมิภาคคันไซของญี่ปุ่นที่สามารถเห็นวิวของท้องฟ้าทั้งหมดได้ชัดเจน หนึ่งในนั้นคือ โอดาอิงะฮะระ (ฉบับภาษาอังกฤษ) ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่ที่ใครๆ ต่างก็ต้องไปเยือนหากต้องการจะเห็นท้องฟ้าสวยงามที่เต็มไปด้วยดวงดาว ภาพนี้ซึ่งจับภาพทางช้างเผือกที่วางตัวเป็นเส้นตรงถ่ายจากยอดหอดูดาวที่ภูเขาฮิเดะงาตาเกะ
ข้อควรรู้: การกำจัดความบิดเบี้ยวของเลนส์ฟิชอาย
มีช่างภาพไม่มากนักที่ทราบว่า หากคุณไม่ต้องการความบิดเบี้ยวของเลนส์ฟิชอายที่เด่นชัดในภาพ คุณสามารถกำจัดมันออกไปได้โดยการถ่ายภาพในแนวตั้งและสร้างภาพพาโนรามา นี่คือวิธีที่ผมใช้ในการถ่ายภาพสองภาพแรกในบทความ รวมทั้งภาพด้านล่างด้วย
อีกวิธีหนึ่งคือ ทำการแก้ไขเลนส์เพื่อให้เส้นขอบฟ้าที่บิดเบี้ยวกลายเป็นเส้นตรง อย่างไรก็ตาม การทำเช่นนี้จะไม่สามารถแก้ไขความบิดเบี้ยวที่ขอบภาพ ในขณะที่การปะติดภาพพาโนรามาสามารถทำได้
อย่าลืม: ให้เส้นขอบฟ้าอยู่ตรงกลางมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การบิดเบี้ยวของเลนส์จะสามารถมองเห็นได้น้อยที่สุดตรงกลางภาพ เลนส์ฟิชอายก็เช่นเดียวกัน
EOS 6D/ EF8-15mm f/4L Fisheye USM/ FL: 15 มม./ Manual exposure (f/4, 20 วินาที)/ ISO 3200/ WB: Auto/ ภาพครอปของภาพพาโนรามาจากการรวมภาพ 3 ภาพ
ภาพนี้อาจดูเหมือนถ่ายจากดาวอีกดวงหนึ่ง แต่ความจริงแล้วเป็นก้อนหินในยุคเทอเชียรีที่ถูกกัดกร่อนโดยคลื่นที่ซัดสาดเข้ามา มีคนทิ้งรอยขีดเขียนเอาไว้บนก้อนหิน และการกัดกร่อนเป็นระยะเวลานานทำให้รอยเหล่านั้นดูเหมือนตัวอักษรโบราณ
หากต้องการดูตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วย EF8-15mm f/4L Fisheye USM เพิ่มเติม โปรดอ่านบทความต่อไปนี้:
ถ่ายภาพใต้น้ำด้วย EF8-15mm f/4L Fisheye USM
การถ่ายภาพใต้น้ำและบนบกอยู่ในภาพเดียวกัน
การถ่ายภาพภูมิทัศน์: ถ่ายภาพ พายุ
การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมและเทคนิคการจัดแสง (ฉบับภาษาอังกฤษ)
5 วิธีในการกำหนดเฟรมภาพท่องเที่ยวของคุณ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Yuasa เกิดเมื่อปี 1960 เขามีความเชี่ยวชาญในการเพิ่มลูกเล่นแนวแฟนตาซีให้กับภาพธรรมชาติของเขา ภาพทิวทัศน์ดวงดาวและภาพทิวทัศน์ที่แสดงให้เห็นท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวคือความถนัดของเขา ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดวงดาว Yuasa ได้จัดเวิร์คช็อปการถ่ายภาพทิวทัศน์ดวงดาว Nori Starscape Photography และชนะรางวัล “ยอดเยี่ยม” จากการประกวด Nikkei National Geographic Photo Contest ในหมวดธรรมชาติ รวมทั้งได้รับรางวัล “เกียรติยศ” ในการประกวด Nature's Best Photography Asia ด้วย