เหตุผล 5 ข้อว่าทำไม EOS 5D Mark IV คือกล้องที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพดาราศาสตร์
สำหรับผู้ที่ใช้งานกล้องในซีรีย์ EOS 5D มาอย่างยาวนาน กล้อง EOS 5D Mark IV เป็นอีกก้าวหนึ่งในพัฒนาการของซีรีย์ที่น่าสนใจ ด้วยความสามารถในการทำงานที่ช่วยให้คุณเริ่มต้นถ่ายภาพได้ทันทีโดยไม่เกิดความสับสน และความรู้สึกปลอดภัยในการใช้งานที่มาพร้อมกับความสามารถในการถ่ายทอดภาพตามที่ตั้งใจได้อย่างน่าเชื่อถือ ทำให้กล้อง 5D Mark IV สามารถสื่อด้วยคำเพียงคำเดียวคือ "เชื่อถือได้" อ่านบทความและลองดูตัวอย่างต่อไปนี้เพื่อค้นหาสิ่งที่ทำให้ EOS 5D Mark IV เป็นกล้องที่ดีที่สุดสำหรับนักถ่ายภาพดาราศาสตร์ (เรื่องโดย Shigemi Numazawa)
เหตุผลข้อที่ 1: คุณสมบัติด้านความไวแสงสูง ISO ที่เหนือชั้นและภาพที่ไร้จุดรบกวนช่วยให้คุณ "หยุด" ดวงดาวพร้อมกับรักษาคุณภาพของภาพถ่ายในระดับสูงเอาไว้ได้
ภาพถ่ายเหล่านี้ถ่ายในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ขณะที่ผมเดินไปรอบๆ บริเวณริมน้ำ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพืชพันธุ์ต่างๆ รวมถึงทุ่งหญ้าแพมพัซญี่ปุ่นในหลายๆ พื้นที่ แสดงถึงการย่างเข้าสู่ฤดูกาลใหม่อย่างชัดเจน
สภาวะเช่นนี้มีความน่าสนใจในการถ่ายภาพ เนื่องจากคุณจะได้ภาพที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกันภายในสถานที่เดียว สิ่งเดียวที่คุณต้องทำคือ เพิ่มความไวแสง ISO ให้สูงขึ้นเล็กน้อย ลดเวลาเปิดรับแสงให้สั้นลง และสำรวจมุมรับภาพต่างๆ พร้อมกับตั้งกล้องไว้บนขาตั้งกล้อง เนื่องจาก EOS 5D Mark IV มีการพัฒนาประสิทธิภาพความไวแสง ISO สูงให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อผสานรวมเข้ากับเลนส์ที่มีความสว่างจึงสามารถถ่ายภาพท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวและทิวทัศน์ให้ "หยุดนิ่ง" ได้โดยสมบูรณ์ โดยใช้เวลาการเปิดรับแสงที่สั้นพร้อมกับรักษาคุณภาพของภาพในระดับสูง
EOS 5D Mark IV/ FL: 20 มม./ Manual exposure (f/1.4, 8 วินาที)/ ISO 3200/ WB: 3,600K
ขณะที่ผมเดินไปมาเพื่อถ่ายภาพในทุ่งหญ้าแพมพัซญี่ปุ่นอันกว้างใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำ กลุ่มดาวพรานก็ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันออก ผมถ่ายภาพจากกล้องที่ติดตั้งไว้บนขาตั้งกล้องพร้อมจำกัดความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ 8 วินาที ซึ่งทำให้ผมสามารถใช้ความไวแสง ISO ที่ ISO 3200 จากค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.4 ได้อย่างไร้กังวล
ตอนนี้คุณสามารถถ่ายภาพดวงดาวแบบถือกล้องด้วยมือได้แล้ว
ผมลองถ่ายภาพแบบถือกล้องด้วยมือ และกำหนดช่วงที่ใช้งานได้จริงคือ ความไวแสง ISO ที่ 51200 และเปิดรับแสงที่ 0,3 วินาที นอกจากนี้ การจัดเฟรมภาพที่ยืดหยุ่นที่ใช้ความไวแสง ISO แบบขยายบนกล้อง EOS 5D Mark IV ยังอาจเปลี่ยนแปลงวิธีการถ่ายภาพดาราศาสตร์นับตั้งแต่นี้ต่อไปอีกด้วย
เหตุผลข้อที่ 2: จุดรบกวนน้อยลงในระหว่างการเปิดรับแสงนาน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้ฟังก์ชันการลดจุดรบกวนจากการเปิดชัตเตอร์นานอีกต่อไปแม้ในวันที่มีสภาพอากาศร้อน
คุณสมบัติที่ผมใช้งานมากที่สุดในระหว่างการถ่ายภาพดาราศาสตร์คือ ความไวแสง ISO สูง และคุณลักษณะของจุดรบกวน แต่ปัญหาที่สำคัญคือการคิดว่าจะใช้ความไวแสง ISO ที่เท่าใดเพื่อที่จะรักษาคุณภาพของภาพถ่ายที่ดีเอาไว้ได้
ความละเอียดที่สูงขึ้นของกล้อง EOS 5D Mark IV หมายความว่าระยะห่างระหว่างพิกเซลจะน้อยลง แต่คุณลักษณะของความไวแสง ISO ยังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสม และการไล่โทนสีในภาพ RAW ยังคงทำได้อย่างราบรื่นโดยมีโทนสีต่างๆ ที่หลากหลาย ในแง่ของจุดรบกวน จุดรบกวนปกติที่มืด เช่น จุดรบกวนที่มีรูปแบบตายตัวคือปัญหาใหญ่หากใช้การเปิดรับแสงเป็นเวลานาน เพราะจุดรบกวนเหล่านี้จะปรากฏขึ้นเป็นพิกเซลสีขาวที่กระจัดกระจาย นอกจากนี้ จุดรบกวนดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นอีกมากเมื่ออุณหภูมิโดยรอบสูงขึ้น อย่างไรก็ดี จากการทดสอบความสามารถในการลดจุดรบกวนในกล้องรุ่นต่างๆ EOS 5D Mark IV ให้ได้ผลภาพที่ดีที่สุด
EOS 5D Mark IV/ FL: 20 มม./ Manual exposure (f/1.4, 10 วินาที)/ ISO 3200/ WB: 3,750K
ขณะที่ฤดูใบไม้ร่วงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ทางช้างเผือกแห่งฤดูร้อนก็เริ่มเคลื่อนที่ไปทางฝั่งทิศตะวันตก ผมจึงถ่ายภาพจากมุมต่ำโดยใช้เลนส์ 20 มม. ผมค่อยๆ จัดตำแหน่งอย่างระมัดระวัง เพราะหากตำแหน่งเคลื่อนไปแม้แต่นาทีเดียวก็อาจมีผลต่อองค์ประกอบภาพขณะใช้เลนส์มุมกว้างซูเปอร์ไวด์อย่างมาก
สำหรับกล้อง EOS 5D Mark IV พิกเซลสีขาวแทบไม่ปรากฏให้เห็นเลย
ISO 3200
ISO 51200
การเปรียบเทียบจุดรบกวนปกติที่มืดจะดำเนินการในห้องที่มืดสนิท โดยในกล้องทุกรุ่น มีการตั้งค่าการเปิดรับแสงไว้นาน 30 วินาที ที่อุณหภูมิโดยรอบ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งหลังจากถ่ายภาพด้วยกล้อง EOS 5D Mark IV แล้ว จำนวนพิกเซลที่ได้มีความสม่ำเสมอ ภาพถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น 200% และเน้นให้ดูโดดเด่น ที่ความไวแสง ISO 3200 พิกเซลสีขาวแทบไม่ปรากฏให้เห็นในภาพที่ถ่ายด้วยกล้อง EOS 5D Mark IV
เหตุผลข้อที่ 3: ความสว่างไสวของดวงดาวถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างสวยงาม เนื่องจากปัญหาสีเพี้ยนลดลงจนเหลือน้อยที่สุด
ปัญหาสีเพี้ยนคือปัญหาหนึ่งในการถ่ายภาพดาราศาสตร์ ในสถานการณ์ที่เราถ่ายภาพดวงดาวได้อย่างคมชัดมากๆ และพิกเซลในกล้องมีขนาดใหญ่ การสร้างสีสันธรรมดาโดยอิงจากเมทริกซ์ Bayer จะไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้ปรากฏการณ์ที่สีสันต่างๆ เช่น สีเขียวและสีม่วงแดงของดวงดาวที่ไม่เคยปรากฏเลยนั้นกลับปรากฏขึ้นในภาพ
ในความเป็นจริงแล้ว ปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นในกล้องส่วนใหญ่อยู่แล้วไม่มากก็น้อย สำหรับกล้อง EOS 5D Mark IV ผมได้ใช้เลนส์ชนิดต่างๆ และพบว่าปัญหาสีเพี้ยนเกิดขึ้นน้อยมากๆ จนไม่ต้องกังวลใจแต่อย่างใด EOS 5D Mark IV เชื่อถือได้ในแง่ของความสามารถในการถ่ายทอดความสว่างไสวของดวงดาวได้อย่างเป็นธรรมชาติ
EOS 5D Mark IV/ EF24mm f/1.4L II USM/ FL: 24 มม./ Manual exposure (f/1.4, 25 วินาที)/ ISO 800/ WB: 3,650K
ในค่ำคืนนี้ มีไฟหาปลามากมายปรากฎขึ้นที่นอกชายฝั่ง จึงลดทอนความสว่างของดวงดาวไป อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สภาวะดังกล่าว ตราบใดที่คุณสามารถประมวลผลภาพ RAW ได้อย่างพิถีพิถัน คุณจะพบว่า EOS 5D Mark IV สามารถถ่ายทอดรายละเอียดของทางช้างเผือกพร้อมๆ กับก้อนหินในส่วนโฟร์กราวด์ได้เป็นอย่างดี
สีสันของดวงดาวถูกถ่ายทอดออกมาได้เหมือนจริง
ผมเปรียบเทียบภาพของดวงดาวที่ถ่ายด้วยกล้อง EOS 5D Mark IV กับภาพที่ถ่ายด้วยกล้อง EOS-1D X ซึ่งมีขนาดพิกเซลที่ใหญ่กว่าเล็กน้อย ผมใช้ข้อมูลเดียวกันจากสถานที่เดียวกันขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น 600% เพื่อให้จำนวนพิกเซลสม่ำเสมอกันในทั้งสองภาพ แม้ว่าจะมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อย แต่เห็นได้ชัดว่าเกิดปัญหาสีเพี้ยนขึ้นในภาพดวงดาวที่ถ่ายด้วยกล้อง EOS-1D X
เหตุผลข้อที่ 4: ความละเอียดสูงที่ประมาณ 30.4 ล้านพิกเซลทำให้ดวงดาวมีความสว่างแตกต่างกัน
มีความเชื่อว่าความละเอียดสูงส่งผลให้ความไวแสง ISO และช่วงไดนามิกเรนจ์ลดลง อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการประมวลผลภาพจะช่วยขจัดจุดอ่อนดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เราจะเห็นประโยชน์ของความละเอียดสูงได้ชัดเจนมากขึ้น หนึ่งในประโยชน์ดังกล่าวนั้นก็คือเรื่องของจุดรบกวนภาพ เนื่องจากโดยทั่วไป จุดรบกวนมักเกิดจากจำนวนพิกเซล ดังนั้น ยิ่งมีจำนวนพิกเซลมากเท่าใด ขนาดของพิกเซลก็จะยิ่งเล็กลงมากเท่านั้น จึงไม่ปรากฏให้เห็นอย่างโดดเด่น ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากดวงดาวที่มืดจะมีขนาดเล็กลง ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่าดวงดาวมีความสว่างแตกต่างกันอย่างชัดเจน
EOS 5D Mark IV/ EF24mm f/1.4L II USM/ FL: 24 มม./ Manual exposure (f/1.4, 30 วินาที)/ ISO 3200/ WB: 3,500K
ผมพบกับฉากที่น่าประทับใจคือภาพกลุ่มดาวพรานที่ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกเหนือทุ่งนาในหมู่บ้านบนภูเขา เนื่องจากสภาพโดยรอบมืดสนิท ผมจึงต้องใช้การเปิดรับแสงนาน 30 วินาที ที่ค่า f/1.4 และความไวแสง ISO 3200 ซึ่งช่วยเน้นถึงความสว่างไสวของดวงดาวและรายละเอียดของทิวทัศน์ในบริเวณใกล้เคียง
ดวงดาวที่มีความสว่างแตกต่างกันถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมจริง
ผมขยายภาพดวงดาวของกลุ่มดาวพรานจำนวน 3 ดวงให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้มีขนาดที่เท่ากัน ในภาพที่ถ่ายด้วยกล้อง EOS-1D X Mark II ดวงดาวที่มืดดูมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ในภาพที่ถ่ายด้วยกล้อง EOS 5D Mark IV คุณจะเห็นได้ว่าดวงดาวที่มีความสว่างแตกต่างกันนั้นจะถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างถูกต้องสมจริงกว่ามาก
เหตุผลข้อที่ 5: ช่องต่อรีโมทคอนโทรลถูกวางไว้ที่บริเวณด้านหน้ากล้องเพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้งานให้ดีขึ้น
แม้ว่าการถ่ายภาพท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวจะกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก และเวลาการเปิดรับแสงจะลดลงแล้วก็ตาม แต่ช่องต่อรีโมทคอนโทรลยังคงมีความสำคัญเหมือนเดิม แม้กระนั้น ใครบ้างจะไม่รู้สึกว่าการเชื่อมต่อรีโมทคอนโทรลเข้ากับกล้องในที่มืดเป็นเรื่องน่าปวดหัว อันดับแรก การคลำหาช่องต่อทำได้ยาก ดังนั้น บ่อยครั้งเราจำเป็นต้องใช้แสงไฟเพื่อค้นหารูช่องต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนี้จะเป็นปัญหาในฉากที่คุณกำลังจะถ่ายภาพกลุ่มก้อนเมฆที่กระจายตัวออก ดังนั้น ในกล้อง EOS 5D Mark IV รีโมทคอนโทรลจึงถูกวางไว้แยกต่างหากที่บริเวณมุมด้านหน้ากล้อง นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงให้ฝายางป้องกันถอดได้ง่ายขึ้น ซึ่งสามารถตอบโจทย์ได้อย่างมาก
ขณะนี้คุณสามารถติดตั้งสายลั่นชัตเตอร์ได้ด้วยการสัมผัส
EOS 5D Mark IV
EOS 5D Mark III
การย้ายช่องต่อรีโมทคอนโทรลไปที่บริเวณด้านหน้าตัวกล้องมีประโยชน์ในแง่ของการป้องกันช่องต่อจากฝุ่นและน้ำ แต่การปรับปรุงที่น่าพอใจมากที่สุดคือ การที่ผู้ใช้งานสามารถค้นหาตำแหน่งของช่องต่อได้ง่ายในที่มืดระหว่างการถ่ายภาพดาราศาสตร์ นอกจากนี้ คุณยังสามารถค้นหาช่องต่อได้ด้วยการสัมผัส ซึ่งช่วยให้คุณสามารถติดตั้งสายลั่นชัตเตอร์ได้ง่ายขึ้นกว่าที่เคย
หากคุณกำลังสับสนว่าควรไปถ่ายภาพดาราศาสตร์ที่ไหนดี นี่คือ สุดยอดสถานที่เพื่อการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ในเอเชีย
หากต้องการทราบไอเดียเกี่ยวกับวิธีถ่ายภาพทิวทัศน์ดวงดาวอันน่าทึ่ง โปรดดูที่บทความต่อไปนี้
การถ่ายภาพหิ่งห้อยที่สว่างไสวท่ามกลางท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว
การถ่ายภาพดอกซากุระและทางช้างเผือกยามค่ำคืนให้สวยสดงดงาม
รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับข่าวสาร เคล็ดลับและลูกเล่นในการถ่ายภาพได้โดย ลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับเรา!
EOS 5D Mark IV
EF24mm f/1.4L II USM
เกิดเมื่อปี 1958 ที่จังหวัดนีงะตะ Numazawa เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพดาราศาสตร์และภาพประกอบทางดาราศาสตร์เป็นหลัก เขาเคยมีส่วนร่วมในโครงการของรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์หลายโครงการที่จัดทำขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์ NHK อีกทั้งยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นช่างภาพประจำ National Geographic Tour และได้รับรางวัล Good Life Award จากกระทรวงสิ่งแวดล้อม (ญี่ปุ่น) อีกด้วย
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation