เลนส์ฟิชอายเป็นเลนส์ที่มีลักษณะพิเศษเนื่องจากสามารถจับภาพได้ครอบคลุมบริเวณกว้างกว่าเลนส์มุมกว้างอย่างมาก เนื่องจากเลนส์ฟิชอายสามารถถ่ายภาพในระยะ 180 องศา จึงถ่ายภาพที่มีขอบภาพบิดเบี้ยวอย่างมากได้ ในบทความนี้ เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับเอฟเฟ็กต์เลนส์ฟิชอายสองรูปแบบ และผลของขนาดเซนเซอร์ในกล้องและทางยาวโฟกัสต่อภาพฟิชอายกัน (เรื่องโดย: Teppei Kohno)
EOS 5D Mark III/ EF8-15mm f/4L Fisheye USM / FL: 15 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1/320 วินาที, EV-0.3)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
เอฟเฟ็กต์ฟิชอายทรงกลมกับเอฟเฟ็กต์ฟิชอายแนวทแยง
เลนส์ฟิชอายช่วยให้คุณถ่ายภาพได้หลายประเภทมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เลนส์มุมกว้าง และสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ฟิชอายได้สองรูปแบบคือ ฟิชอายทรงกลมและฟิชอายแนวทแยง คุณจะได้เอฟเฟ็กต์ฟิชอายแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับขนาดเซนเซอร์ในกล้อง โดยเลนส์ EF8-15mm f/4L Fisheye USM ซึ่งเป็นเลนส์ซูมฟิชอาย สามารถรองรับได้ทั้งเซนเซอร์ขนาดฟูลเฟรมและ APS-C
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับขนาดของเซนเซอร์ภาพได้ที่นี่: เสน่ห์ของกล้อง DSLR
เอฟเฟ็กต์ฟิชอายทรงกลมจะได้มุมรับภาพ 180 องศาตลอดแนวขอบภาพทั้งหมด (ทั้งแนวตั้ง แนวนอน และแนวทแยง) และสร้างความบิดเบี้ยวแบบโป่งออกเหมือนถังบาร์เรล ภาพจะเกิดขอบมืดที่บริเวณมุมของเฟรมภาพ ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์แบบ "วิสัยทัศน์อุโมงค์" ฉากจึงดูราวกับว่าบรรจุอยู่ภายในวงกลม
เอฟเฟ็กต์ฟิชอายทรงกลมจะเกิดขึ้นเมื่อใช้เลนส์ฟิชอายบนกล้องฟูลเฟรมที่ทางยาวโฟกัส 8 มม. แต่ถึงแม้ว่าจะถ่ายภาพที่ 8 มม. บนกล้อง APS-C ก็จะไม่สามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ฟิชอายทรงกลมอันเป็นเอกลักษณ์นี้ได้เนื่องจากทางยาวโฟกัสจะอยู่ที่ 13 มม. เทียบเท่าฟอร์แมตฟิล์ม 35 มม.
ในขณะเดียวกัน เอฟเฟ็กต์ฟิชอายแนวทแยงสามารถถ่ายภาพที่มุมรับภาพแนวทแยงประมาณ 180 องศา และขอบภาพที่บิดเบี้ยวอย่างมาก และเอฟเฟ็กต์จะเกิดที่ทางยาวโฟกัสประมาณ 15 มม. บนกล้องฟูลเฟรม และที่ 10 มม. บนกล้อง APS-C เอฟเฟ็กต์นี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเอฟเฟ็กต์ "ฟิชอายฟูลเฟรม" เนื่องจากภาพที่ได้จะครอบคลุมทั้งเฟรม
กล้องฟูลเฟรม + 8 มม. = ฟิชอายทรงกลม
EOS 5D Mark III/ EF8-15mm f/4L Fisheye USM / FL: 8 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/3200 วินาที, EV+0.7)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ฟิชอายบนกล้องฟูลเฟรมที่ระยะ 8 มม. โดยแหงนกล้องขึ้นไปท่ามกลางบรรดาตึกระฟ้า เมื่อใช้เอฟเฟ็กต์ฟิชอายทรงกลม ขอบมืดจะเกิดขึ้น ทิวทัศน์จึงดูราวกับบรรจุอยู่ภายในวงกลม
กล้องฟูลเฟรม + 15 มม. = ฟิชอายแนวทแยง
EOS 5D Mark III/ EF8-15mm f/4L Fisheye USM / FL: 15 มม./ Aperture-priority AE (f/7.1, 1/100 วินาที, EV-1.0)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ฟิชอายบนกล้องฟูลเฟรมที่ระยะ 15 มม. ต้นไม้ที่บริเวณขอบภาพมีลักษณะบิดเบี้ยวไปทางกึ่งกลางด้านบนของภาพอย่างมาก ทำให้ดูแข็งแกร่งและน่าเกรงขามเป็นพิเศษ หากต้องการให้เกิดความบิดเบี้ยวเกินจริงยิ่งขึ้นและภาพดูเหนือจริงมากขึ้น ให้วางตัวแบบไว้ที่ขอบภาพ
กล้อง APS-C + 10 มม. = ฟิชอายแนวทแยง
EOS 750D/ EF8-15mm f/4L Fisheye USM / FL: 10 มม. (เทียบเท่า 16 มม.)/ Aperture-priority AE (f/4, 1/20 วินาที)/ ISO 800/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ฟิชอายบนกล้อง APS-C ที่ระยะ 10 มม. ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์ฟิชอายแนวทแยงที่บิดเบี้ยวมาก ในภาพนี้ช่างภาพพยายามเข้าใกล้ปลายระลอกคลื่นมากที่สุด เพื่อถ่ายทอดภาพที่ขับเน้นลักษณะความกลมของโลก
ความบิดเบี้ยว: เลนส์ฟิชอายกับเลนส์มุมกว้างแตกต่างกันอย่างไร
โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งทางยาวโฟกัสสั้น ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าเลนส์จะบิดเบี้ยวที่บริเวณขอบภาพ อย่างไรก็ตาม เลนส์มุมกว้างได้รับการออกแบบมาเพื่อลดความบิดเบี้ยวโดยใช้เลนส์ที่มีคุณสมบัติแก้ไขภาพชนิดพิเศษ เช่น เลนส์แก้ความคลาดทรงกลม
ในทางกลับกัน เลนส์ฟิชอายจะไม่ลดความบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นบริเวณขอบภาพ คุณจึงสามารถใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์นี้ในการสร้างภาพถ่ายที่บิดเบี้ยวอย่างมาก
เลนส์ฟิชอายที่ 10 มม.: มีความบิดเบี้ยวมาก
EOS 750D/ EF8-15mm f/4L Fisheye USM / FL: 10 มม. (เทียบเท่ากับ 16 มม.)/ Aperture-Priority AE (f/13, 1/320 วินาที, EV+1.0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายโดยใช้เลนส์ฟิชอายบนกล้อง APS-C ที่ 10 มม. (เทียบเท่า 16 มม.) ทำให้เกิดความบิดเบี้ยวในแนวทแยง ปลายระลอกคลื่นบิดเบี้ยวอย่างมากเนื่องจากเอฟเฟ็กต์ฟิชอาย และเห็นความบิดเบี้ยวได้ชัดเจนมากเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นขอบฟ้าตรงกลางภาพ
เลนส์มุมกว้างที่ 10 มม.: แทบไม่มีความบิดเบี้ยวเลย
EOS 750D/ EF-S10-18mm f/4.5-5.6 IS STM/ FL: 10 มม. (เทียบเท่ากับ 16 มม.)/ Aperture-Priority AE (f/13, 1/250 วินาที, EV+1.0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ
ภาพนี้ถ่ายโดยใช้เลนส์มุมกว้างบนกล้อง APS-C ที่ 10 มม. (เทียบเท่า 16 มม.) ภาพนี้ถ่ายโดยใช้ทางยาวโฟกัสเท่ากับตัวอย่างที่ถ่ายโดยใช้เลนส์ฟิชอาย แต่เลนส์มุมกว้างจะแก้ไขความบิดเบี้ยวเพื่อแสดงให้เห็นภาพปลายระลอกคลื่นที่ยังคงเป็นเส้นตรงอยู่ในแนวเดียวกันกับเส้นขอบฟ้าในภาพถ่าย เมื่อเทียบกับภาพจากเลนส์ฟิชอาย จะเห็นได้ว่าเลนส์มุมกว้างมีช่วงการจับภาพที่แคบกว่าและมุมมองเปอร์สเป็คทีฟยังเด่นชัดกว่า
เลนส์ซูมฟิชอายที่ควรลองใช้!
EF8-15mm f/4L Fisheye USM
หากใช้กล้องฟูลเฟรมกับเลนส์รุ่นนี้จะสร้างได้ทั้งเอฟเฟ็กต์ฟิชอายทรงกลมและฟิชอายแนวทแยง และหากใช้กล้อง APS-C ก็จะได้เอฟเฟ็กต์ฟิชอายแนวทแยง เลนส์นี้เคลือบฟลูออรีน จึงสามารถเช็ดสิ่งสกปรกที่ติดบนเลนส์ได้ง่ายๆ
หากต้องการดูตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วย EF8-15mm f/4L Fisheye USM เพิ่มเติม โปรดอ่านบทความต่อไปนี้:
ถ่ายภาพใต้น้ำด้วย EF8-15mm f/4L Fisheye USM
การถ่ายภาพทั้งโลกใต้น้ำและบนพื้นโลกด้วยการถ่ายภาพครั้งเดียว
การถ่ายภาพทิวทัศน์: การถ่ายภาพพายุ
การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมและเทคนิคการจัดแสง (ฉบับภาษาอังกฤษ)
5 วิธีในการกำหนดเฟรมภาพท่องเที่ยวของคุณ
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!
เกี่ยวกับผู้เขียน
เกิดที่โตเกียวในปี 1976 เขาจบการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Meiji Gakuin และฝึกถ่ายภาพกับช่างภาพ Masato Terauchi เขามีส่วนร่วมในการถ่ายภาพให้นิตยสาร PHaT PHOTO ฉบับแรก และผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระหลังจากนั้นในปี 2003 Kohno ถ่ายภาพโฆษณาทุกประเภท นอกจากนั้นเขายังเป็นนักเขียนที่มีผลงานเขียนมากมายในนิตยสารเกี่ยวกับกล้องและนิตยสารอื่นๆ ด้วย