ไม่ว่าจะเข้าไปใกล้ๆ เนื้อสัมผัสน่ากิน ถ่ายภาพแบบไม่ใช้ขาตั้งกล้องในร้านอาหารที่มีแสงน้อยได้คมชัดขึ้น ไปจนถึงสร้างแบ็คกราวด์เบลอ (“โบเก้”) ฟูฟ่องนุ่มนวลที่ขับเน้นให้อาหารจานหลักดูโดดเด่น เพียงเปลี่ยนเลนส์ที่คุณใช้ ก็จะเพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการถ่ายภาพอาหาร คำถามก็คือ ท่ามกลางตัวเลือกมากมาย คุณควรเลือกใช้เลนส์แบบใด ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา รวมถึงเลนส์แนะนำของเรา
เลนส์เดี่ยว: ไวแสง คมชัด และสารพัดประโยชน์
เลนส์ตัวแรกที่ช่างภาพอาหารส่วนใหญ่จะเลือกซื้อคือเลนส์เดี่ยว เพราะเหตุผลต่อไปนี้
- รูรับแสงกว้างสุดที่กว้าง
โดยทั่วไป เลนส์เดี่ยว “มีความไวสูงกว่า” (=มีรูรับแสงกว้างสุดที่กว้างกว่า) เลนส์ซูมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลนส์คิทที่มาพร้อมกับกล้อง เลนส์ชนิดนี้จึงมีประโยชน์ในสภาพแสงน้อย เพราะคุณสามารถใช้ความไวแสง ISO ต่ำๆ และ/หรือความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่คมชัดแม้ว่าจะไม่ได้ใช้แฟลช
- โบเก้สวย (ระยะชัดที่ตื้นขึ้น)
รูรับแสงกว้างสุดที่กว้างยังช่วยให้สร้างแบ็คกราวด์เบลอสวยๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะลดความยุ่งเหยิงของบริบทโดยรอบและดึงดูดความสนใจไปที่ตัวอาหาร จึงเป็นเรื่องง่ายขึ้นที่จะทำให้อุปกรณ์ประกอบฉากไม่หันเหความสนใจของผู้ชมไปที่อื่น
- ขนาดเล็กและใช้งานง่าย
คุณอาจพบว่าการจับถือเลนส์เดี่ยวอย่างมั่นคงและขยับหามุมที่ดีที่สุดทำได้ง่ายกว่าเลนส์ชนิดอื่น หากกล้องกับเลนส์ที่คุณใช้เบาพอที่จะถ่ายภาพได้ด้วยมือข้างเดียว คุณก็ถ่ายได้แม้แต่ภาพตอนตัวเองรินน้ำ หรือเป็นนายแบบนางแบบมือเองได้โดยไม่ต้องตั้งขาตั้งกล้อง!
- ความคมชัด
การปรับคุณภาพด้านออพติคอลให้เหมาะสมสำหรับทางยาวโฟกัสเดียวนั้นทำได้ง่ายกว่า ภาพที่ได้จากเลนส์เดี่ยวจึงคมชัดกว่าภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ซูมระดับเริ่มต้นหรือเลนส์ซูมคิท! ไม่มีอะไรที่จะทำให้ภาพถ่ายอาหารยิ่งดูน่ากินมากขึ้นได้เท่ากับการแสดงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างละเอียดอ่อน
ยิ่งไปกว่านั้น ดีไซน์ที่เรียบง่ายกว่าของเลนส์เดี่ยวช่วยให้สามารถรวมคุณสมบัติหลายอย่างเข้าด้วยกันได้มากขึ้น คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์ซึ่งจะพบได้ในเลนส์เดี่ยวหลายรุ่นจาก Canon คือ ฟังก์ชั่นมาโคร เลนส์เดี่ยวเกือบทุกรุ่นที่เราแนะนำในบทความนี้สามารถถ่ายภาพมาโคร 0.5 เท่าเป็นอย่างน้อย คุณจะสามารถถ่ายภาพอาหารชิ้นเล็กๆ ได้เต็มเฟรมภาพยิ่งขึ้น และเก็บภาพโคสอัพของรายละเอียดและเนื้อสัมผัสชวนน้ำลายหกได้!
สิ่งที่ควรพิจารณาเวลาเลือกเลนส์เดี่ยว
เมื่อต้องตัดสินใจเลือกรุ่นเลนส์เดี่ยวที่จะซื้อ สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือทางยาวโฟกัส ควรเลือกเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสซึ่งคุณใช้งานได้ง่าย (หรือเสริมการทำงานของเลนส์ที่คุณมีอยู่) และจับภาพมุมมองเปอร์สเปคทีฟที่คุณชื่นชอบ
ทางยาวโฟกัสกว้างๆ | ทางยาวโฟกัสแคบๆ | |
ขอบเขตภาพ | ใหญ่กว่า | เล็กกว่า |
ระยะชัดของภาพ | ลึกกว่า | ตื้นกว่า |
ระยะการทำงาน (จำเป็นในการจัดเฟรมภาพที่เหมือนกัน) |
เล็กกว่า | ใหญ่กว่า |
ภาพโคลสอัพที่เต็มเฟรม | ยากกว่า | ง่ายกว่า |
ความบิดเบี้ยว | มากกว่า | น้อยกว่า |
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างทางยาวโฟกัสหลักๆ ที่ช่างภาพอาหารมืออาชีพเลือกใช้ รวมถึงเลนส์ที่แนะนำสำหรับทั้งผู้ใช้กล้องฟูลเฟรมและผู้ใช้กล้อง APS-C
1. เลนส์ 35 มม.: เหมาะอย่างยิ่งสำหรับภาพจากมุมสูงและภาพอาหารระหว่างท่องเที่ยว
ภาพโดย Kim/@niesukma_
EOS R6 Mark II + RF35mm f/1.8 Macro IS STM ที่ f/3.5, 1/100 วินาที, ISO 1000
เลนส์ 35 มม. ใช้ถ่ายภาพจากมุมสูงและมุมเหนือศีรษะได้สะดวก เพราะคุณไม่ต้องถือกล้องให้สูงมากเพื่อที่จะเก็บภาพไว้ในเฟรมมากขึ้น ซึ่งนับเป็นข้อดีอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นคนตัวเล็ก! อีกทั้งยังช่วยให้คุณเก็บรายละเอียดบรรยากาศโดยรอบได้มากขึ้นเวลาถ่ายภาพที่ร้านอาหาร คาเฟ่ หรืองานอีเวนต์ต่างๆ หากเลนส์มีฟังก์ชั่นมาโคร เช่น RF35mm f/1.8 Macro IS STM (กำลังขยายสูงสุดประมาณ 0.5 เท่า) ก็จะโฟกัสใกล้ตัวแบบได้มากขึ้น ทำให้จับภาพรายละเอียดและเนื้อสัมผัสให้เต็มเฟรมยิ่งขึ้นได้
เนื่องจากการจัดเฟรมภาพที่ระยะ 35 มม. ทั้งในอาคารและนอกอาคารทำได้ง่ายมาก เลนส์ 35 มม. จึงเป็นเลนส์ความไวสูงที่เหมาะสำหรับใช้ได้ทุกวันหรือเวลาเดินทางท่องเที่ยวอีกด้วย คุณจะพบว่าตัวเองใช้เลนส์นี้ถ่ายมากกว่าแค่ภาพอาหารอย่างแน่นอน!
เคล็ดลับระดับมือโปร: ความบิดเบี้ยวเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณหรือไม่
ไม่ต้องแปลกใจไปถ้าวัตถุทรงกลมจะดูเป็นรูปทรงรีเล็กน้อย 35 มม. เป็นทางยาวโฟกัสมุมกว้าง จึงทำให้เกิดการบิดเบี้ยวของเปอร์สเปคทีฟ ซึ่งจะเห็นชัดขึ้นที่บริเวณขอบเฟรมในภาพโคลสอัพ และเวลามีการเอียงกล้อง เช่น ภาพมุมทแยง แม้ว่าจะใช้ความบิดเบี้ยวให้ออกมาดูสร้างสรรค์ได้ แต่ถ้านั่นไม่ใช่เอฟเฟ็กต์ที่คุณ (หรือลูกค้าของคุณ) ต้องการ ควรหลีกเลี่ยงมุมเช่นนี้และระมัดระวังสิ่งที่คุณวางไว้ตรงขอบเฟรม นอกจากนี้ ควรพิจารณาใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้น อย่างน้อย 50 มม. ขึ้นไป
เลนส์ที่แนะนำสำหรับกล้องฟูลเฟรม: RF35mm f/1.8 Macro IS STM
มีน้ำหนักเบาและพกพาสะดวก เป็นเลนส์สารพัดประโยชน์มากที่สุดรุ่นหนึ่งของ Canon เลนส์รุ่นนี้มีรูรับแสงกว้างสุดความไวสูงที่ f/1.8 และระบบป้องกันภาพสั่นไหวในตัวสูงสุดถึง 5 สต็อป ซึ่งมีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้องในสภาวะแสงน้อย ส่วนความสามารถในการถ่ายภาพมาโคร 0.5 เท่า จะช่วยให้คุณถ่ายภาพโคลสอัพได้โดยที่ตัวแบบอยู่ห่างจากปลายเลนส์เพียงไม่กี่เซนติเมตร อาหารจึงเป็นเพียงหนึ่งในตัวแบบที่เลนส์รุ่นนี้สามารถรับมือได้อย่างง่ายดาย!
เลนส์ที่แนะนำสำหรับกล้อง APS-C: RF24mm f/1.8 Macro IS STM
เมื่อใช้กับกล้อง APS-C
ทางยาวโฟกัสเทียบเท่า: 38.4 มม.
กำลังขยายสูงสุดที่ใช้ได้จริง: ประมาณ 0.8 เท่า
หากคุณกำลังมองหาเลนส์เดี่ยวสำหรับกล้อง APS-C ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติการครอป 1.6 เท่าด้วย RF24mm f/1.8 Macro IS STM จะให้ขอบเขตภาพคล้ายกับเลนส์ RF35mm f/1.8 Macro IS STM ที่ใช้กับกล้องฟูลเฟรม อีกทั้งยังมีขนาดใกล้เคียงกัน
2. เลนส์ 50 มม.: ทางยาวโฟกัสสารพัดประโยชน์
ภาพโดย Kim/@niesukma_
EOS R6 Mark II + RF50mm f/1.8 STM ที่ f/4, 1/125 วินาที, ISO 100
ช่างภาพจำนวนมากชอบถ่ายภาพจากมุม 45 องศาหรือมุมทแยงที่ระยะ 50 มม. หรือยาวกว่านั้น เพราะแทบจะไม่เห็นความบิดเบี้ยวใดๆ เมื่อเทียบกับการถ่ายที่ระยะ 35 มม. ที่จริงแล้ว เลนส์ 50 มม. มีความสามารถรอบด้านสูงมาก เพราะให้มุมมองเปอร์สเปคทีฟที่เป็นธรรมชาติไม่ว่าคุณจะถ่ายภาพในระยะใกล้ไกลแค่ไหน! ช่างภาพบางคนยังอาจจะชอบขอบเขตภาพที่แน่นขึ้นเล็กน้อย เพราะช่วยให้เก็บภาพตัวแบบที่มีขนาดเล็กได้เต็มเฟรมง่ายขึ้น
แน่นอนว่าเลนส์ประเภทนี้ยังสามารถถ่ายภาพฉากกว้างๆ เช่น ภาพจากมุมสูงและภาพอาหารบนโต๊ะ แต่คุณจะต้องขยับกล้องให้ห่างออกไปประมาณ 30 ถึง 40 ซม. เพื่อให้ได้องค์ประกอบภาพเดียวกันกับเลนส์ 35 มม.
เคล็ดลับระดับมือโปร: เมื่อถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย ควรใช้ Focus Bracketing
หากคุณต้องใช้รูรับแสงกว้างสุดเวลาถ่ายภาพและพบว่าจับโฟกัสตัวแบบได้ไม่เต็มที่ ให้ถือกล้องให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ และใช้ Focus Bracketing ฟังก์ชั่นนี้จะถ่ายภาพหลายๆ ภาพด้วยตำแหน่งโฟกัสที่ต่างกัน ซึ่งสามารถนำมารวมกันเพื่อสร้างภาพที่คมชัดยิ่งขึ้น กล้องซีรีย์ EOS R ส่วนใหญ่มีฟังก์ชั่น Focus Bracketing ซึ่งจะถ่ายภาพแบบคร่อมระยะโฟกัส และกล้องรุ่นใหม่ๆ เช่น EOS R6 Mark II และ EOS R8 มีฟังก์ชั่น Depth Composition ซึ่งจะรวมภาพที่ถ่ายคร่อมเข้าด้วยกันภายในกล้อง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
จะเพิ่มระยะชัดได้อย่างไรเวลาถ่ายภาพโดยใช้รูรับแสงกว้าง
การซ้อนโฟกัส: เทคนิคมืออาชีพที่ทำได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย Focus Bracketing
เลนส์ที่แนะนำสำหรับกล้องฟูลเฟรม: RF50mm f/1.8 STM
“เลนส์ 50 มม. ความไวสูง” รุ่นนี้ได้รับความนิยมมากในฐานะเลนส์ตัวที่สองหรือเลนส์เดี่ยวตัวแรก เพราะราคาไม่แพง มีขนาดเล็ก และน้ำหนักเบา ตัวเลนส์ขนาดกะทัดรัดช่วยให้จับถืออย่างมั่นคงได้ง่าย แต่การใช้งานร่วมกับกล้องที่มี IS ในตัว เช่น EOS R6 Mark II จะยิ่งทำให้ผู้ใช้ได้ประโยชน์มากขึ้นจากระบบป้องกันภาพสั่นไหว
เลนส์ที่แนะนำสำหรับกล้อง APS-C: RF35mm f/1.8 Macro IS STM
3. เลนส์ 85 มม.: มุมมองเปอร์สเปคทีฟระดับมืออาชีพ
ภาพโดย Tan Jiajun/@jsquaress
EOS R5 + RF85mm f/2 Macro IS STM ที่ f/4, 1/200 วินาที, ISO 200
เลนส์ 85 มม. ถือว่าเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ระยะกลาง (บางครั้งเรียกว่า “ระยะสั้น”) เลนส์ชนิดนี้เป็นที่ชื่นชอบในหมู่ช่างภาพอาหารเชิงพาณิชย์ เพราะให้มุมมองเปอร์สเปคทีฟที่สวยงามเป็นธรรมชาติ การบีบอัดภาพเล็กน้อย และระยะชัดที่ตื้น คุณสมบัติเหล่านี้จะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างภาพถ่ายสมจริงซึ่งดึงดูดคุณเข้าไปในเฟรมและจดจ่ออยู่ที่ตัวแบบหลัก ทั้งยังเป็นเหตุผลที่ทำให้ 85 มม. เป็นทางยาวโฟกัสมาตรฐานสำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรต
การครอปที่แน่นขึ้นช่วยให้ถ่ายภาพสไตล์มินิมัลของตัวแบบขนาดเล็กๆ เช่น ลูกกวาดและผลเบอร์รี่ ได้ง่ายโดยไม่เหลือพื้นที่ว่างมากเกินไป คุณจะต้องยืนห่างออกไปจากตัวแบบมากขึ้นหากต้องการรวมอุปกรณ์ประกอบฉากหรือตัวแบบรองไว้ในเฟรมภาพด้วย สำหรับภาพด้านบน ช่างภาพอยู่ห่างออกไปประมาณ 1 เมตร
เลนส์ที่แนะนำสำหรับกล้องฟูลเฟรม: RF85mm f/2 Macro IS STM
เลนส์ 85 มม. รุ่นแรกจาก Canon ที่มีความสามารถในการถ่ายภาพแบบมาโครนี้ มีน้ำหนักราว 500 กรัม ซึ่งช่วยให้จับถือได้ง่ายมาก อีกทั้งยังมีระบบป้องกันภาพสั่นไหว (IS) ในตัว 5 สต็อป ซึ่งจะเพิ่มได้สูงสุดเป็น 8 สต็อปเมื่อใช้ร่วมกับกล้องที่มี IS ในตัว คุณจึงสามารถจับโฟกัสตัวแบบที่อยู่ห่างจากปลายเลนส์ไปประมาณ 21 ซม. ซึ่งไกลพอที่จะไม่ทำให้เกิดเงา นับได้ว่าเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่ามากสำหรับเลนส์มาโครเทเลโฟโต้ตัวแรก
เลนส์ที่แนะนำสำหรับกล้อง APS-C: RF50mm f/1.8 STM
เมื่อใช้กับกล้อง APS-C
ทางยาวโฟกัสเทียบเท่า: 80 มม.
กำลังขยายสูงสุดที่ใช้ได้จริง: ประมาณ 0.4 เท่า
เมื่อใช้ร่วมกับกล้อง APS-C “เลนส์ 50 มม. ความไวสูง” ระดับคลาสสิกรุ่นนี้จะกลายเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ระยะกลางที่มีขอบเขตภาพใกล้เคียงกับเลนส์ 85 มม. แม้ว่าจะไม่มีคำว่า “มาโคร” อยู่ในชื่อเลนส์ แต่เลนส์รุ่นนี้สามารถจับโฟกัสตัวแบบที่อยู่ใกล้ถึงประมาณ 24 ซม. จากปลายเลนส์ การครอปแบบ APS-C 1.6 เท่า ช่วยให้เลนส์ขยายตัวแบบได้มากเกือบเท่ากับ RF85mm f/2 Macro IS STM
ฟังก์ชั่นสำคัญ: การเข้าใกล้รายละเอียด
ภาพโดย Tan Jiajun/ @jsquaress
EOS R5 + RF85mm f/2 Macro IS STM ที่ f/4, 1/200 วินาที, ISO 200
เลนส์ที่มีความสามารถในการถ่ายภาพกึ่งมาโคร เช่น RF85mm f/2 Macro IS STM และ RF35mm f/1.8 Macro IS STM สามารถจับโฟกัสได้ค่อนข้างใกล้กับตัวแบบ ซึ่งจะช่วยให้คุณถ่ายภาพโคลสอัพของรายละเอียดต่างๆ ได้เหมือนในภาพด้านบน เลนส์ประเภทนี้จึงใช้เสริมความสามารถในส่วนที่เลนส์ซูมคิทขาดไปได้ดี เพราะเลนส์ซูมคิทไม่สามารถจับโฟกัสตัวแบบได้ใกล้เท่า การใช้กล้อง APS-C หรือโหมด 1.6 เท่าในกล้องฟูลเฟรมช่วยให้คุณถ่ายภาพได้เต็มเฟรมมากขึ้น สูงสุดเทียบเท่ากำลังขยาย 0.8 เท่า
เกี่ยวกับผู้เขียน
Nie Sukma (หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า “Kim”) เป็นช่างภาพสาวผู้อาศัยอยู่ในเมืองบันดุง จังหวะชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย เธอเข้าสู่โลกแห่งการถ่ายภาพอาหารด้วยกล้อง EOS M3 ในปี 2562 และเป็น EOS Creator Indonesia ของ Canon Indonesia มาตั้งแต่ปี 2564 เธอเชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพสไตล์เรียบง่ายเป็นธรรมชาติ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะดึงเอาเสน่ห์ที่แท้จริงของอาหารออกมาโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ประกอบฉากมากมาย นอกจากงานถ่ายภาพสำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก แบรนด์ต่างๆ และร้านอาหารแล้ว เธอยังทำงานร่วมกับ Canon Indonesia เพื่อสอนในเวิร์กช็อปการถ่ายภาพอาหารทั่วประเทศอีกด้วย
อินสตาแกรม: @niesukma_
Jiajun เริ่มเรียนถ่ายภาพและการออกแบบอาหารเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาฝึกงานในบริษัทที่ถ่ายภาพอาหาร ประสบการณ์ครั้งนั้นได้จุดประกายความหลงใหลที่ทำให้เขาชนะการแข่งขันถ่ายภาพ รวมถึงรางวัลชนะเลิศในงาน Canon PhotoMarathon Singapore และการเข้าแข่งขันในรายการ Photo FaceOff ทางช่อง History Channel หลังจากเข้ารับการเกณฑ์ทหารในสิงคโปร์แล้ว เขายังคงฝึกปรือทักษะการถ่ายภาพอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Sparkstudio SG และได้ถ่ายภาพงานอีเวนท์และงานแต่งงานในช่วงสั้นๆ ด้วย นับแต่นั้นมา เขาก็ตัดสินใจที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งแรกที่ตัวเองหลงใหล นั่นคือการสร้างสรรค์ภาพที่ดึงเสลองน่ห์ของอาหารออกมา นอกจากทำให้อาหารดูดีแล้ว เขายังตั้งใจที่จะบอกเล่าเรื่องราวและสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่สะท้อนผ่านการถ่ายภาพและวิดีโออาหารอีกด้วย
อินสตาแกรม: @jsquaress, @sparkstudiofood