หากคุณต้องการถ่ายภาพอาหารขณะท่องเที่ยวให้ดูสวยขึ้นหรือถ่ายภาพมื้ออาหารนอกบ้านให้ดูน่ากินขึ้นอีก ต่อไปนี้คือเคล็ดลับจาก Mark Ong (@makoeats) ช่างภาพอาหารผู้เป็นนักกินตัวยงและเจ้าของบัญชีอินสตาแกรมที่เต็มไปด้วยภาพอาหารชวนน้ำลายหกที่เขารับประทานในแต่ละวันที่ร้านอาหารหลายแห่ง
ผมดู ถ่ายภาพ แล้วก็กิน
การถ่ายภาพอาหารเชิงพาณิชย์และการถ่ายภาพอาหารทั่วไปมีเป้าหมายเดียวกันคือ แสดงให้เห็นถึงความน่ากินของอาหาร แต่ถึงอย่างนั้น วิธีการถ่ายภาพและความท้าทายกลับแตกต่างกันมาก ข้อแรกคือ ในการถ่ายภาพอาหารทั่วไป อาหารจะถูกปรุงเพื่อการบริโภค ไม่ใช่เพื่อการถ่ายภาพ และคุณยังต้องทำงานโดยอาศัยเพียงสิ่งที่มีอยู่เท่านั้น การถ่ายภาพให้ได้ในแบบที่ต้องการจึงมีความท้าทายมากกว่า
การถ่ายภาพอาหารเชิงพาณิชย์ | การถ่ายภาพอาหารทั่วไป/ขณะท่องเที่ยว |
- ควบคุมการจัดแสงได้มากกว่า - สามารถวางแผนและเตรียมการก่อนถ่ายภาพได้ (เลือกสไตล์ ฯลฯ) - มีเวลาถ่ายมากกว่า - บรีฟงานจากลูกค้าจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการถ่ายภาพ |
- ถ่ายภาพโดยอาศัยเพียงแสงที่มี - ถ่ายภาพโดยอาศัยเพียงสิ่งที่มีอยู่เท่านั้น - มีเวลาถ่ายน้อยกว่า (เพราะการกินอาหารก็สำคัญเช่นกัน!) - คุณถ่ายภาพให้ตัวเอง |
แต่ในขณะเดียวกัน คุณจะรู้สึกเป็นอิสระที่ได้เห็นสิ่งที่ตัวเองสร้างสรรค์ได้จากกล้องตัวเดียวและเลนส์หนึ่งตัว และอาจจะรวมถึงแฟลช Speedlite ด้วย! ผมหวังว่าเคล็ดลับต่อไปนี้จะช่วยให้คุณถ่ายภาพออกมาได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่คุณต้องการมากขึ้น
สิ่งที่ผมมักจะนำไปด้วย:
- กล้อง EOS R5 หรือ EOS R6 Mark II
- RF24-105mm f/4L IS USM: เลนส์ซูมมาตรฐานจะให้ความยืดหยุ่นมากที่สุดในการถ่ายภาพร้านข้างทางและร้านอาหารที่มีคนพลุกพล่าน
- แฟลช Speedlite (ใช้เป็นบางครั้ง)
หากต้องการชุดอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักเบา ผมจะใช้:
- EOS R10
- RF50mm f/1.8 STM (แต่เลนส์คิทของคุณก็ใช้ได้เช่นกัน)
เคล็ดลับข้อที่ 1 การจัดแสง: แสงสะท้อนจากด้านข้างหรือด้านหลังจะได้ผลดีที่สุด
การจัดแสงที่เหมาะสมที่สุดคือ แสงธรรมชาติจากการสะท้อนที่ส่องมาจากด้านหลังหรือด้านข้างของอาหาร แสงด้านหน้า (แสงจากทิศทางเดียวกับกล้อง) จะทำให้อาหารดูเป็นสามมิติน้อยกว่า แม้ว่าผมจะพกแฟลช Speedlite ไปด้วยเพื่อใช้ในสภาวะแสงน้อย แต่ผมชอบถ่ายภาพตอนกลางวันโดยใช้แสงจากธรรมชาติมากกว่า โดยผมจะพยายามนั่งในจุดที่ได้รับแสงจากธรรมชาติ
ใช้วิธีนี้: แสงด้านข้างที่มาจากด้านหลังอาหาร
EOS R5/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 65 มม./ Aperture-priority AE (f/9, 1/80 วินาที, EV -0.3)/ ISO 125/ หง่อเฮียง (เนื้อหมูม้วนเป็นแท่งห่อด้วยฟองเต้าหู้) ไส้กรอก และของทอดต่างๆ
อาหารมีความฉ่ำวาวเล็กน้อยดูสวยงามอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน เงาก็ช่วยเพิ่มความมีมิติ ส่วนแสงบนน้ำจิ้มทางด้านขวาทำให้อาหารดูเป็นประกายน่าอร่อย
หลีกเลี่ยงวิธีนี้: การให้แสงด้านหน้า
แม้จะได้รับแสงอย่างทั่วถึง แต่อาหารในภาพนี้กลับดูแบนเรียบ แสงจากด้านหน้าอาจเหมาะสำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตของผู้คนเนื่องจากทำให้ผิวดูเรียบเนียน แต่สำหรับการถ่ายภาพอาหาร เรามักจะต้องการแสดงให้เห็นถึงมิติและเนื้อสัมผัส!
เคล็ดลับระดับมือโปร
- เงาและแสงสะท้อนจะทำให้อาหารดูน่ารับประทานมากขึ้น
บางครั้งผมจะเติมน้ำซุปหรือน้ำเกรวี่ปริมาณเล็กน้อยลงไปบนอาหารที่ผมรู้สึกว่าดูแห้งหรือจืดชืดเกินไป อาหารหลายประเภทจะดูน่ากินมากขึ้นหากมีผิวเป็นเงาสวยงาม ระดับของ “ความมันวาว” ที่คุณต้องใช้จะขึ้นอยู่กับอาหารและบริบท แต่ไม่ควรให้รายละเอียดบางอย่าง เช่น เนื้อสัมผัสและสีสัน ดูสว่างจ้าเกินไป
- สมดุลแสงขาว: โหมด AWB (Ambience-priority) เหมาะสำหรับการถ่ายภาพส่วนใหญ่
ผมมักจะถ่ายภาพโดยใช้โหมดสมดุลแสงขาวอัตโนมัติ (AWB) โหมด AWB (Ambience-priority) ในการตั้งค่าเริ่มต้นของกล้องซีรีย์ EOS R รุ่นใหม่ ๆ จะช่วยให้ถ่ายภาพออกมาได้สวยงามอยู่แล้ว
เคล็ดลับข้อที่ 2 สไตล์และการจัดองค์ประกอบภาพ: ควรช่วยขับเน้นให้อาหารจานหลักโดดเด่นขึ้น
EOS R5/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 85 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/100 วินาที, EV -0.3)/ ISO 500/ หลอหมี่ (ก๋วยเตี๋ยวน้ำข้น)
เมื่อไม่แน่ใจ ให้ใช้กฎสามส่วน
หากอาหารจานอื่นในภาพถูกครอปออกไปบางส่วนก็ไม่เป็นไร แต่ต้องให้องค์ประกอบสำคัญอยู่ตามแนวเส้น บนจุดตัด หรือใกล้กับจุดตัดเสมอ และคุณสามารถใช้วิธีนี้เวลาครอปภาพด้วยอัตราส่วน 4:5 เพื่อใช้บนโซเชียลมีเดียได้ด้วย
ทำให้องค์ประกอบต่างๆ ดูน่าสนใจด้วยเส้นแนวทแยง
คุณเห็นเส้นในแนวทแยงกี่เส้นในภาพนี้
ผมชอบใส่เส้นแนวทแยงเข้าไปในองค์ประกอบภาพจนกลายเป็นสิ่งที่ทำโดยไม่รู้ตัวไปแล้ว! เส้นแนวทแยงจะช่วยเพิ่มพลังให้กับภาพ ทำให้ได้เอฟเฟ็กต์ที่แตกต่างออกไปหากเทียบกับภาพที่องค์ประกอบต่างๆ อยู่ในแนวขนานกับขอบภาพ
อย่ากลัวที่จะจัดเรียงส่วนประกอบในอาหารใหม่!
ผมมักจะจัดส่วนประกอบหลักในจานเพื่อให้ส่วนที่เป็น “ตัวเอก” ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เครื่องที่ใส่ในหลอหมี่ (แสดงในภาพด้านบน) จะมีลูกชิ้นปลา เกี๊ยวทอด และหง่อเฮียง (เนื้อหมูม้วนเป็นแท่งห่อด้วยฟองเต้าหู้) ผมจึงวางส่วนประกอบเหล่านี้ไว้ด้านบนสุดพร้อมกับพริกและเครื่องปรุง ส่วนเส้นก๋วยเตี๋ยวนั้นอยู่ด้านล่าง ผมขอให้ร้านใส่เครื่องลงไปหลังจากราดน้ำซุปข้นๆ ลงไปบนเส้นก๋วยเตี๋ยวแล้วเท่านั้นเพื่อให้มองเห็นเครื่องในชามก๋วยเตี๋ยวได้ชัดเจน
อุปกรณ์ประกอบฉากและฉากหลัง: ใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ส่วนใหญ่แล้วผมจะไม่พกอุปกรณ์ประกอบฉากไปด้วยหากเป็นการถ่ายรูปอาหารของตนเอง แต่ผมจะใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ เช่น เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ชุดเครื่องปรุง หรือแม้แต่โต๊ะ
การจัดวางเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร
การจัดวางเครื่องใช้ไว้รอบๆ อาหารจะทำให้ดูสมจริงและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และยังช่วยให้องค์ประกอบภาพสมบูรณ์ขึ้นด้วย ในตัวอย่างของภาพหลอหมี่นี้ ตะเกียบทำหน้าที่เป็นเส้นนำสายตาที่ช่วยจัดเฟรมภาพและช่วยให้ก๋วยเตี๋ยวสองชามโดดเด่นยิ่งขึ้น
ใช้โต๊ะในการเพิ่มเลเยอร์
วางจานอาหารไว้ที่ขอบโต๊ะแล้วใส่พื้นหรือผนังเข้ามาในเฟรมภาพด้วย เพื่อให้องค์ประกอบภาพมีเลเยอร์และความลึกมากขึ้น
ซึ่งวิธีนี้ยังแสดงให้เห็นถึงบริบทของสถานที่ถ่ายภาพอีกด้วย!
เคล็ดลับระดับมือโปร: ศึกษาภาพสวยๆ แล้วนำมาฝึกประยุกต์ใช้
ค่อยๆ ศึกษาว่าภาพที่ดูดีสำหรับคุณเป็นอย่างไร เมื่อเห็นภาพอาหารที่ดูน่ารับประทาน ให้คุณศึกษาสไตล์ที่ช่างภาพใช้ รวมถึงวิธีการจัดองค์ประกอบภาพ เรียนรู้ทฤษฎีเกี่ยวกับสีเอาไว้ วิธีนี้จะช่วยให้คุณมองเห็นโอกาสในการถ่ายภาพมากขึ้นเมื่อต้องทำงานโดยอาศัยเพียงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า อย่ากลัวที่จะทดลองและเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย แต่สุดท้ายแล้ว อาหารก็ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะได้เห็นเพียงครั้งเดียวในชีวิต รีบกินก่อนที่อาหารจะเย็นเถอะ!
เคล็ดลับข้อที่ 3 เรียนรู้วิธีการใช้แสงสะท้อนแฟลช
หากสภาพแสงไม่เป็นใจ แต่สถานที่ถ่ายภาพมีเพดานสีขาว ผมจะใช้แฟลช Speedlite ในตัวกล้องและสะท้อนแสงแฟลชเพื่อให้แน่ใจว่าตัวแบบได้รับแสงอย่างเพียงพอ วิธีนี้ทำให้ผมใช้ความไวแสง ISO ต่ำและหลีกเลี่ยงการเกิดเม็ดเกรนได้ โหมด E-TTL (ระบบการวัดแสงแฟลชอัตโนมัติ) จะทำงานได้ดีอยู่แล้ว คุณจึงไม่ต้องกังวลว่าจะต้องคอยหมุนปุ่มการตั้งค่าเอง!
ไม่ใช้แฟลช (ISO 2000)
EOS R5/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/160 วินาที, EV -0.3)/ ISO 2000
เมื่อไม่ใช้แฟลช ผมต้องถ่ายภาพด้วยความไวแสง ISO 2000 ซึ่งทำให้ภาพมีเม็ดเกรนมากกว่า และภาพนี้ยังดูมีโทนอบอุ่นมากกว่าด้วย เพราะ AWB: Ambience-priority จะคงโทนอบอุ่นของแสงภายในอาคารเอาไว้ ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการในภาพอาหารที่คุณถ่าย
ใช้แสงสะท้อนแฟลช (ISO 100)
EOS R5/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 105 มม./ Manual exposure (f/5.6, 1/50 วินาที)/ ISO 100
การใช้แฟลชทำให้ผมสามารถถ่ายภาพด้วยความไวแสง ISO ต่ำๆ โดยที่อาหารทุกจานยังดูสว่างพอ และยังช่วยให้ก๋วยเตี๋ยวดูเงางามน่ารับประทานและปรับสีสันโทนอุ่นให้เบาลง
ไม่ใช้แฟลช (f/5.6, ISO 1250)
EOS R6 Mark II/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 47 มม./ Aperture-priority AE (f/5.6, 1/80 วินาที)/ ISO 1250
นอกจากความไวแสง ISO ที่สูงขึ้นแล้ว ผมยังต้องใช้การตั้งค่ารูรับแสงที่กว้างขึ้นด้วยเพื่อให้เปิดรับแสงได้อย่างเพียงพอ ซึ่งทำให้ชามก๋วยเตี๋ยวไม่อยู่ในโฟกัสทั้งหมด และน้ำซุปยังดูใสน้อยลงเพราะขาดความมันวาว
ใช้แสงสะท้อนแฟลช (f/8, ISO 100)
EOS R6 Mark II/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 47 มม./ Manual exposure (f/8, 1/250 วินาที,)/ ISO 100
แสงสะท้อนแฟลชช่วยให้ผมใช้รูรับแสงแคบลงได้ ซึ่งทำให้ชามก๋วยเตี๋ยวอยู่ในโฟกัสทั้งหมด นอกจากนี้ ยังช่วยให้น้ำซุปดูเป็นเงาน่าอร่อยด้วย
วิธีการทำงานของแสงสะท้อนแฟลช
แสงสะท้อนแฟลชจะเปลี่ยนเพดานหรือผนังให้กลายเป็นรีเฟลกเตอร์ขนาดใหญ่ วิธีนี้จะได้ผลดีที่สุดหากพื้นผิวที่คุณใช้สะท้อนแสงแฟลชเป็นสีขาว พื้นผิวที่เป็นสีอื่นๆ จะทำให้เกิดสีเพี้ยน
ลองทดสอบดูว่ามุมสะท้อนใดให้ผลดีที่สุด ใช้การชดเชยปริมาณแสงแฟลชเพื่อปรับระดับแสงหากแฟลชสว่างเกินไป (อ่านขั้นตอนที่ 8 ในบทความนี้เพื่อดูวิธีการ)
เกี่ยวกับผู้เขียน
สำหรับ Mark Ong การถ่ายภาพอาหารเป็นผลพวงตามธรรมชาติที่มาจากความชื่นชอบอาหารของเขา ภาพชวนน้ำลายสอในรายการอาหารทางทีวี รวมถึงบล็อกเกี่ยวกับอาหารและความตั้งใจที่จะถ่ายภาพด้วยตนเอง เป็นแรงบันดาลใจให้เขาซื้อกล้อง DSLR ตัวแรกเพื่อถ่ายภาพอาหารโดยเฉพาะในปี 2551 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชีพการถ่ายภาพอาหาร
ในเวลาที่ไม่ได้ถ่ายภาพอาหารเชิงพาณิชย์ Mark ชอบไปสำรวจร้านอาหารต่างๆ รวมถึงทำอาหารอร่อยๆ รับประทานเองที่บ้าน บัญชีอินสตาแกรมของ Mark อย่าง @makoeats เต็มไปด้วยภาพน่าอร่อยของเมนูแนะนำทั้งที่เขาทำเองและได้ไปรับประทานมา ซึ่งคุณไม่ควรเปิดดูตอนท้องว่าง!