เล็กกะทัดรัด น้ำหนักเบา อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจาก Canon พร้อมด้วยสเปคอันน่าตื่นตาตื่นใจ กล้อง EOS RP นั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้เป็นกล้องมิเรอร์เลสแบบฟูลเฟรมที่จับต้องได้มากขึ้นสำหรับผู้ใช้มือสมัครเล่นและผู้ที่สนใจการถ่ายภาพ เราจะพาคุณไปดูว่าคุณสมบัติทั้ง 7 ข้อและฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ควรทราบมีอะไรบ้างหากคุณกำลังจะตัดสินใจซื้อ (เรื่องโดย: Ikuko Tsurumaki)
1. AF จุดเล็ก
หากคุณชอบใช้โฟกัสอัตโนมัติ (AF) กับพื้นที่ที่มีขนาดเล็ก กรอบ AF ในฟังก์ชั่น AF จุดเล็กคือเพื่อนแท้ของคุณ สำหรับกล้อง EOS R หากต้องการ AF ที่แม่นยำสำหรับพื้นที่ขนาดเล็กนั้น คุณจะต้องเปลี่ยนวิธีโฟกัสอัตโนมัติมาเป็น ‘AF จุดเดียว’ จากนั้นเปลี่ยนขนาดกรอบ AF จาก ‘มาตรฐาน’ เป็นขนาด ‘เล็ก’ แต่หากเป็นกล้อง EOS RP มีขั้นตอนง่ายๆ เพียงขั้นตอนเดียวเท่านั้นที่คุณต้องทำ คือเลือก ‘AF จุดเล็ก’ สำหรับวิธีโฟกัสอัตโนมัติ
EOS RP/ RF50mm f/1.2L USM/ FL: 50 มม./ Aperture-priority AE (f/2, 1/500 วินาที, EV-0.3)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
Fสำหรับตัวแบบหลายประเภท รวมทั้งอาหารชามนี้ซึ่งมีส่วนผสมที่ทับซ้อนกันอยู่ จุดที่คุณเลือกโฟกัสสามารถสร้างความแตกต่างให้กับภาพได้. AF จุดเล็กจะช่วยให้คุณควบคุมผลลัพธ์ขั้นสุดท้ายได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น.
เปรียบเทียบขนาดกรอบ AF
(1) กรอบ AF จุดเดียว
(2) กรอบ AF จุดเล็ก
พื้นที่ในกรอบสีขาวจากภาพด้านบนแบบโคลสอัพ จะเห็นว่าโฟกัสที่ตรงจุดช่วยให้ถ่ายทอดรายละเอียดบนผิวสัมผัสของใบผักได้อย่างเหมือนจริง
2. กรอบ AF 4,779 ตำแหน่ง
กล้อง EOS RP มีกรอบ AF ให้เลือกมากถึง 4,779 ตำแหน่ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 88% x 100% (แนวนอน x แนวตั้ง) ของเซนเซอร์ภาพ แม้จะมีจำนวนน้อยกว่า AF 5,655 ตำแหน่งในกล้อง EOS R เล็กน้อย (คลิกที่นี่เพื่อดูคำอธิบายเพิ่มเติม) ก็ยังนับว่ามีความหนาแน่นและกว้างพอสำหรับ AF ที่รวดเร็วและแม่นยำเมื่อต้องใช้บนพื้นที่ขนาดใหญ่ คุณจึงสามารถวางตัวแบบเอาไว้ได้แทบทุกที่ในเฟรมภาพและมั่นใจได้ว่ากรอบ AF ที่อยู่ใกล้เคียงจะสามารถโฟกัสได้อย่างคมชัด
EOS RP/ EF70-300mm f/4-5.6 IS II USM/ FL: 300 มม./ Aperture-priority AE (f/7.1, 1/500 วินาที, EV-1.3)/ ISO 200/ WB: เมฆครึ้ม
ด้วยพื้นที่ครอบคลุมที่กว้างและความหนาแน่นของกรอบ AF ในกล้อง EOS RP การโฟกัสจึงเป็นเรื่องง่ายแม้องค์ประกอบภาพจะเต็มไปด้วยจุดเล็กๆ ของตัวแบบซึ่งอยู่ตรงขอบภาพ
3. Eye Detection AF ระหว่างใช้ Servo AF
Eye Detection AF ซึ่งทำหน้าที่ตรวจจับดวงตาของตัวแบบโดยอัตโนมัตินั้นเป็นคุณสมบัติที่มีประโยชน์มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องถ่ายภาพโดยใช้รูรับแสงกว้างที่ระยะชัดตื้น นอกจากในโหมด AF ครั้งเดียว ขณะนี้ กล้อง EOS RP ยังมีฟังก์ชั่นนี้ในโหมด Servo AF และ Movie Servo AF ด้วย เพื่อช่วยในการถ่ายภาพตัวแบบซึ่งกำลังเคลื่อนที่ ฟังก์ชั่นนี้ทำให้ง่ายต่อการถ่ายภาพพอร์ตเทรตหรือคลิปวิดีโอของคนที่กำลังเคลื่อนไหวโดยที่ดวงตายังคงอยู่ในโฟกัสที่คมชัด
EOS RP/ EF85mm f/1.8 USM/ FL: 85 มม./ Aperture-priority AE (f/1.8, 1/500 วินาที)/ ISO 400/ WB: อัตโนมัติ
(ถ่ายในโหมด Servo AF)
เมื่อใช้การตั้งค่าเริ่มต้น กล้องจะโฟกัสไปที่ดวงตาข้างที่อยู่ใกล้กับกล้องมากที่สุด หากดวงตาทั้งสองข้างห่างจากกล้องเป็นระยะเท่ากัน กล้องจะโฟกัสข้างที่อยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางของเฟรมภาพแทน คุณสามารถยกเลิกการตั้งค่านี้ได้ด้วยตนเอง โดยใช้หน้าจอแบบสัมผัสหรือปุ่ม 4 ทิศทางเพื่อเลือกดวงตาอีกข้างหนึ่ง
สำหรับกล้อง EOS RP สามารถใช้ Eye Detection AF ในโหมด Servo AF ได้ด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ AF ในการจับภาพตัวแบบที่กำลังเคลื่อนที่ กล้องสามารถตรวจจับและโฟกัสที่ดวงตาได้แม้ในขณะที่ตัวแบบเคลื่อนไหว
4. ถ่ายภาพต่อเนื่องได้ 5 fps ขณะใช้ AF ครั้งเดียว
กล้อง EOS RP มีเซนเซอร์ฟูลเฟรมขนาด 26.2 เมกะพิกเซลและสามารถถ่ายภาพต่อเนื่อง (Burst Shooting) ได้ด้วยความเร็วถึง 5 เฟรมต่อวินาที (fps) ในโหมด AF ครั้งเดียวและ 4 fps ในโหมด Servo AF ซึ่งเพียงพอสำหรับการถ่ายภาพต่อเนื่องในขณะที่นางแบบของคุณสะบัดหน้าและหันมายิ้มให้ หรือในขณะที่เธอกำลังขี่จักรยาน หากต้องการความเร็วสูงสุดในการถ่ายต่อเนื่อง ให้ใช้การ์ด SD UHS-II
ความสามารถในการบัฟเฟอร์ของกล้อง EOS RP คือ 50 ภาพ นั่นหมายความว่า คุณสามารถถ่ายต่อเนื่องได้ 50 ภาพในรูปแบบ RAW ที่ความเร็วสูงสุดก่อนที่บัฟเฟอร์ของกล้องจะเต็มและเริ่มถ่ายภาพด้วยความเร็วที่ช้าลง
ภาพหลัก: EOS RP/ EF100mm f/2 USM/ FL: 100 มม./ Manual exposure (f/2.8, 1/500 วินาที)/ ISO 1600/ WB: แสงแดด
5. โหมดปิดเสียง
เป็นหนึ่งในโหมดฉากพิเศษ (SCN) ที่อยู่บนวงแหวนเลือกโหมด โหมดปิดเสียงจะใช้ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์แทนชัตเตอร์กล คุณจึงสามารถถ่ายภาพได้โดยปราศจากเสียงชัตเตอร์ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพในโบสถ์ พิพิธภัณฑ์ และในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเสียงชัตเตอร์อาจไปรบกวนผู้อื่น
(หมายเหตุ: คุณจะไม่สามารถปรับรูรับแสงหรือความเร็วชัตเตอร์ได้ในโหมดนี้)
EOS RP/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Flexible-priority AE (f/4, 1/50 วินาที)/ ISO 12800/ WB: อัตโนมัติ
โหมดปิดเสียงเหมาะสำหรับการถ่ายภาพคอนเสิร์ตและการแสดงในโรงละคร และยังช่วยให้ถ่ายภาพตัวแบบที่ไวต่อเสียง เช่น เด็กทารกหรือสัตว์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
6. ระบบป้องกันภาพสั่นไหวสูงสุดถึง 5 สต็อปด้วย Dual Sensing IS
Dual Sensing IS ใช้ข้อมูลจากเซนเซอร์ภาพเพื่อตรวจจับการเบลอที่ยากต่อการตรวจจับด้วยเซนเซอร์ไจโรที่อยู่ภายในเลนส์ ซึ่งให้ประสิทธิภาพในการป้องกันภาพสั่นไหวด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงถึง 5 สต็อปเมื่อใช้กับเลนส์ RF35mm f/1.8 Macro IS STM หรือ RF24-105 f/4L IS USM เหมาะสำหรับการถือกล้องถ่ายภาพในตอนกลางคืน แม้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาพเบลอจากการสั่นของกล้อง
คลิกที่นี่เพื่อดูว่า: เราจะกำหนดสต็อปของระบบป้องกันภาพสั่นไหวได้อย่างไร
EOS RP/ RF24-105mm f/4L IS USM/ FL: 24 มม./ Aperture-priority AE (f/4, 1/2 วินาที)/ ISO 400/ WB: ฟลูออเรสเซนต์
ภาพนี้ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/2 วินาที ซึ่งช้าพอที่จะทำให้เกิดภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวของผู้ที่เดินผ่านไปมา แต่หากดูที่ความคมชัดของรายละเอียดต่างๆ เช่น ตัวอาคาร จะพบว่า เมื่อใช้ระบบป้องกันภาพสั่นไหว 5 สต็อปของกล้อง EOS RP คุณสามารถถ่ายภาพที่มีความคมชัดเทียบเท่ากับการใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/60 วินาทีได้โดยที่ยังคงมีภาพเบลอจากการเคลื่อนไหวที่คุณต้องการอยู่ซึ่งเกิดจากความเร็วชัตเตอร์ต่ำ
7. ขีดจำกัดการโฟกัสที่ EV-5
คุณเห็นดาวในภาพด้านล่างหรือไม่ ในสถานการณ์ที่คุณมองอะไรด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น AF มักจะไม่สามารถทำงานได้ แต่ด้วยขีดจำกัดในการโฟกัสในสภาวะแสงน้อยของกล้อง EOS RP ที่ EV-5 สถานการณ์เช่นนี้ไม่เป็นปัญหา ในบางฉาก คุณอาจสามารถใช้ AF โดยไม่ต้องมีแสงรบกวนจากแสงไฟช่วยปรับโฟกัส
ภาพนี้ถ่ายตอน 1 ทุ่มของค่ำวันหนึ่งในฤดูหนาว ที่ EV-5 คุณจะมองอะไรแทบไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ AF ยังสามารถโฟกัสที่ตัวแบบได้หากเป็นกล้อง EOS RP
สภาวะการถ่ายภาพโดยประมาณ
หากต้องการดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างกล้อง EOS R และ EOS RP สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ใน SNAPSHOT
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่โตเกียวในปี 1972 Tsurumaki เริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพในระหว่างที่ทำงานในบริษัทโฆษณา และผันตัวมาเป็นช่างภาพหลังจากผ่านการเป็นผู้ช่วยช่างภาพระยะหนึ่ง ปัจจุบัน เธอมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การถ่ายภาพนิตยสาร การเขียนบทความ และกำกับการถ่ายภาพการบรรยายและสัมมนาต่างๆ