เมื่อไม่นานมานี้ คนทั่วไปมักเชื่อกันว่าไม่มีเลนส์ชนิดใดที่มีประสิทธิภาพเหนือเลนส์เดี่ยวในด้านคุณภาพของภาพถ่าย เลนส์ซูม f/2.8L และ f/4L รุ่นแรกของ Canon คือเลนส์ตัวแรกๆ ของโลกที่เปลี่ยนแนวคิดนี้ไปโดยสิ้นเชิงเมื่อออกวางจำหน่ายในปี 1989 นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Canon จะมาเล่าให้เราฟังเพิ่มเติมถึงกระบวนการพัฒนาเลนส์ที่พลิกโฉมวงการเหล่านี้ เนื่องในโอกาสที่ EF70-200mm f/2.8L IS III USM และ EF70-200mm f/4L IS II USM เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในตระกูลเลนส์ชื่อดังนี้
เลนส์ซูม f/2.8 ตัวแรกในซีรีย์ L: พิสูจน์แล้วว่าเลนส์ซูมใช้งานได้ดีเทียบเท่าเลนส์เดี่ยว
- Canon เริ่มต้นพัฒนาเลนส์ซูมที่มีรูรับแสงขนาดใหญ่ครั้งแรกเมื่อใด
ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์: เลนส์ซูมที่มีรูรับแสงขนาดใหญ่ระดับมืออาชีพสามรุ่นแรกในเลนส์ซีรีย์ EF คือ EF20-35mm f/2.8L, EF28-80mm f/2.8-4L USM และ EF80-200mm f/2.8 เลนส์ทั้งหมดนี้ออกวางจำหน่ายในปี 1989 พร้อมกับกล้อง EOS-1 ซึ่งเป็นกล้อง AF SLR ที่ดีที่สุดของ Canon ในขณะนั้น นับเป็นครั้งแรกที่ Canon มีเลนส์ซูมระดับมืออาชีพ f/2.8 สามรุ่นในกลุ่มผลิตภัณฑ์เลนส์
ในขณะนั้น เนื่องจากเลนส์เดี่ยวคือตัวเลือกสำหรับช่างภาพมืออาชีพที่ต้องการความสว่าง (รูรับแสงกว้าง) และภาพถ่ายคุณภาพสูง นักออกแบบเลนส์ของ Canon จึงใฝ่ฝันที่จะสร้างเลนส์ซูมแบบเมาท์ EF ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับเลนส์เดี่ยว เมื่อเราเปิดตัว FD35-70mm f/2.8-3.5 S.S.C. ในปี 1973 เลนส์ได้รับความนิยมอย่างมาก และเราได้รับเสียงเรียกร้องมากมายให้ผลิตเลนส์ซูมคุณภาพระดับมืออาชีพที่มีรูรับแสงกว้างมากขึ้น
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในที่สุดเราก็สามารถผลิตเลนส์ซูมที่มีรูรับแสงกว้างและให้คุณภาพของภาพถ่ายเทียบเท่ากับเลนส์เดี่ยวได้ เลนส์เหล่านี้คือเลนส์ซูม EF ซีรีย์ L สามรุ่นแรกดังที่กล่าวข้างต้นนี้เอง เลนส์ดังกล่าวนี้ใช้งานได้ดีมากจนแม้แต่ช่างภาพมืออาชีพที่ชอบใช้เลนส์เดี่ยวยังเริ่มหันมาใช้เลนส์ซูมเหล่านี้เช่นกัน
ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์: Kengo Ietsuka
ปัจจุบันเรื่องนี้อาจดูไม่สำคัญนักเพราะผู้ผลิตทุกรายกำลังผลิตเลนส์ซูม f/2.8 แต่หากย้อนไปในช่วงเวลานั้น ถือได้เป็นการปฏิวัติวงการทีเดียว เพราะไม่มีใครเคยคิดที่จะผลิตเลนส์ซูมมุมกว้าง มาตรฐาน และเทเลโฟโต้ ที่มีรูรับแสงกว้างขนาดนั้นออกมาวางจำหน่าย นักออกแบบเลนส์ต้องการเดินหน้าสู่ยุคใหม่โดยทดลองสิ่งใหม่และท้าทายดูบ้าง ซึ่งหากไม่ใช่แนวคิดนี้ล่ะก็ บางทีเลนส์ซูมซีรีย์ L ที่มีรูรับแสงกว้างของ Canon อาจจะไม่ได้แรงสนับสนุนมากมายจากผู้ใช้หรือพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้
1973
เลนส์ซูมรุ่นแรกที่มีรูรับแสงกว้างและคุณภาพระดับมืออาชีพ: FD35-70mm f/2.8-3.5 S.S.C.
เลนส์นี้ยังเป็นเลนส์ซูมรูรับแสงกว้างตัวแรกที่ให้คุณภาพของภาพถ่ายทัดเทียมกับเลนส์เดี่ยว และยังมีเลนส์ซูมที่มีทางยาวโฟกัสที่สั้นอีกมากที่ดำเนินรอยตามแนวคิดนี้
1987
เปิดตัวระบบ EOS
กล้อง EOS 650 และ 620 ซึ่งเปิดตัวในปี 1987 เป็นกล้องรุ่นแรกๆ ที่มีระบบเมาท์ EF อิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ
คลิกที่นี่เพื่ออ่าน:
กำเนิดเมาท์เลนส์อิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ
EOS 650 คือกล้อง EOS รุ่นแรก
1989
เลนส์ซูม f/2.8L รุ่นแรก
เลนส์รุ่นบุกเบิกสามตัวแรกในซีรีย์เลนส์ f/2.8L ที่เปิดตัวพร้อมกล้อง EOS-1 ตัวแรกให้คุณภาพของภาพถ่ายระดับสูงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเลนส์ซีรีย์ L สำหรับช่างภาพมืออาชีพ
- EF20-35mm f/2.8L
- EF28-80mm f/2.8-4L USM
- EF80-200mm f/2.8L
USM: สร้างระบบ AF ในเลนส์ที่เหมาะสำหรับมืออาชีพ
- ช่วยเล่าให้เราฟังเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลนส์ซูม f/2.8L รุ่นแรกหน่อยครับ
ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์: EF17-35mm f/2.8L USM, EF28-70mm f/2.8L USM และ EF70-200mm f/2.8L USM ออกสู่ตลาดในฐานะทายาทของเลนส์ซูมรูรับแสงกว้างสามรุ่นที่เปิดตัวในปี 1989 เลนส์ทั้งหมดเป็นเลนส์ที่มีรูรับแสงคงที่ที่ f/2.8 ในทุกระยะการซูม ช่างภาพจะได้ทางยาวโฟกัสตั้งแต่มุมกว้างไปจนถึงระยะเทเลโฟโต้ เพียงพกแค่เลนส์สามรุ่นนี้ติดตัวไปตามสถานที่ถ่ายภาพต่างๆ ซึ่งสะดวกมากๆ นอกจากนี้ เลนส์ทั้งหมดยังใช้มอเตอร์อัลตร้าโซนิค (USM) ที่ทำให้จับ AF ได้รวดเร็วและง่ายดายขึ้น เลนส์เทเลโฟโต้ทั้งหมดในกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ EF70-200mm f/2.8L USM สามารถใช้ร่วมกับท่อต่อเลนส์ 1.4 เท่า และ 2 เท่าได้
ฝ่ายออกแบบอิเล็กทรอนิกส์: ในขณะนั้น วิธีการที่ใช้กันทั่วไปคือ ใช้มอเตอร์ภายในตัวกล้องขับเคลื่อนเลนส์โฟกัส แต่ Canon ได้พัฒนาวิธีของตัวเองโดยใช้ระบบขับเคลื่อนภายในตัวเลนส์ ขณะนี้ เราได้วางระบบขับเคลื่อนให้เหมาะสมที่สุดสำหรับเลนส์แต่ละตัว ทำให้ได้ AF ที่รวดเร็ว แม่นยำ และเงียบเชียบเหนือคู่แข่งของ Canon นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงรูปทรงและกลไกการควบคุมของ USM ชนิดวงแหวนเพื่อให้เหมาะสำหรับเลนส์มากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานดียิ่งขึ้นด้วย
ฝ่ายออกแบบอิเล็กทรอนิกส์: Koji Okada
ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์: เลนส์รุ่นแรกที่มี USM คือ EF300mm f/2.8L USM ซึ่งเป็นเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ที่วางจำหน่ายในปี 1987 ปีเดียวกับที่ระบบ EOS เปิดตัวเป็นครั้งแรก เลนส์ตัวนี้ได้รับเสียงชื่นชมอย่างสูง เนื่องจากสามารถโฟกัสอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมาก แม้ว่าจะมีระยะชัดลึกที่ตื้นมากเพียง 300 มม. หลังจากนั้นมีการนำเทคโนโลยี USM มาใช้ในซีรีย์เลนส์ซูม f/2.8L ส่วนเรื่องที่เหลือก็เป็นอย่างที่รู้กันดี
1987
การใช้งาน USM ครั้งแรกของโลก
Canon เป็นรายแรกในโลกที่ใช้ USM ขับเคลื่อน AF ในเลนส์ได้เป็นผลสำเร็จ USM ซึ่งขับเคลื่อนด้วยแรงสั่นสะเทือนของคลื่นอัลตร้าโซนิค แทบเรียกได้ว่าเป็นมอเตอร์ขับเคลื่อน AF ที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากทำงานได้เงียบสนิท ใช้พลังงานต่ำ ตอบสนองเมื่อเริ่มและหยุดทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม และควบคุมได้ง่ายมาก
เลนส์ L ซูเปอร์เทเลโฟโต้ตัวแรกของโลกที่มาพร้อมกับ USM: EF300mm f/2.8L USM
ประสิทธิภาพด้านออพติคอลที่สูง การใช้ระบบโฟกัสภายใน และ USM ชนิดวงแหวนในเลนส์รุ่นนี้ช่วยให้เลนส์ได้ AF ที่รวดเร็วและราบรื่น อีกทั้งยังเป็นเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้รูรับแสงกว้างที่ได้รับเสียงชื่นชมมากที่สุดในโลกรุ่นหนึ่ง
ยุคดิจิตอล: ตอบสนองความต้องการประสิทธิภาพด้านออพติคอลที่สูงขึ้น
- ช่วยเล่าให้เราฟังถึงตอนที่ยุคดิจิตอลเกิดขึ้นได้ไหมครับ
ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์: ในยุคดิจิตอล เรามีโอกาสพิมพ์และใช้ภาพถ่ายที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น ดังนั้น นักพัฒนาจึงต้องออกแบบเลนส์ที่มีประสิทธิภาพด้านออพติคอลที่สูงขึ้นกว่าที่เคย
ฝ่ายออกแบบออพติค: สำหรับเลนส์ซูมที่มีรูรับแสงคงที่ ส่วนที่ท้าทายที่สุดของการออกแบบด้านออพติคอลคือ การแก้ไขความคลาดทรงกลมที่สุดฝั่งเทเลโฟโต้ ภาพบิดเป็นเส้นโค้งที่สุดฝั่งมุมกว้าง และความคลาดสีจากสุดฝั่งมุมกว้างจนถึงสุดฝั่งเทเลโฟโต้ การเลือกวัสดุแก้วและเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในขณะนั้น ซอฟต์แวร์จำลองยังไม่ก้าวหน้ามากนัก การพัฒนาเลนส์จึงนับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าเลนส์ของเรามีประสิทธิภาพสมดุลสมกับที่เป็นผลิตภัณฑ์รุ่นเรือธง เราจึงต้องสร้างต้นแบบ ทดสอบ และทำกระบวนการทั้งหมดซ้ำอีกครั้งจนกว่าผลที่ออกมาจะน่าพอใจ
ฝ่ายออกแบบออพติค: Hiroshi Endo
ฝ่ายออกแบบเชิงกลไก: ความละเอียดของภาพในกล้องที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่าต้องมีความแม่นยำในการโฟกัสสูงขึ้นด้วย ดังนั้น เราจึงต้องปรับปรุงระบบขับเคลื่อนโฟกัส เพื่อให้มั่นใจว่าประสิทธิภาพจะไม่ลดลง เราต้องศึกษาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นแยกกัน นอกจากนี้ เรายังพัฒนาวิธีการปรับให้มีความแม่นยำ เพื่อให้สามารถปรับค่าความเบี่ยงเบนการเอียงและคู่ขนานสำหรับแต่ละกลุ่มเลนส์ในแบบดิจิตอลได้
ฝ่ายออกแบบเชิงกลไก: Shigeki Sato
ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์: เมื่อมีการเปลี่ยนจากกล้องอะนาล็อกเป็นกล้องดิจิตอล SLR เราตัดสินใจว่าเราต้องการให้เลนส์ L มีประสิทธิภาพด้านออพติคอลที่สูงยิ่งขึ้น
สุดฝั่งมุมกว้าง 24 มม. ในเลนส์ซูมมาตรฐาน
- อะไรคือความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่ช่วยให้คุณได้สุดฝั่งมุมกว้างที่ 24 มม. ในเลนส์ซูมมาตรฐาน
ฝ่ายออกแบบเชิงกลไก: เราได้มุมกว้างขึ้นที่สุดฝั่งมุมกว้างด้วยการนำกลไกโฟกัสภายในที่เชื่อมโยงกับการซูมมาใช้ ก่อนหน้านี้ ปริมาณข้อมูลโฟกัสจากระยะอนันต์จนถึงระยะใกล้จะต้องคงที่ตลอดทั้งช่วงทางยาวโฟกัส แต่กลไกการโฟกัสปัจจุบันคือกลไกนวัตกรรมซึ่งทำให้การออกแบบออพติคเป็นอิสระจากข้อจำกัดนี้
ฝ่ายออกแบบออพติค: กลไกก่อนหน้านี้จะเลื่อนชิ้นเลนส์ที่อยู่ด้านหน้าสุด ขณะที่กลไกใหม่สามารถใช้ระบบการโฟกัสด้านหลังหรือการโฟกัสภายใน ซึ่งทำให้เราได้มุมที่กว้างขึ้นในระยะสุดฝั่งมุมกว้าง พร้อมกับยังคงขนาดโดยรวมไว้ได้ กลไกเดียวกันนี้ได้นำมาใช้ใน EF24-105mm f/4L IS USM ซึ่งออกวางจำหน่ายในภายหลัง นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า เพราะเหตุใดเราจึงสามารถผลิตเลนส์ซูมกำลังขยายสูง ("ซูเปอร์ซูม") ที่มีระยะสุดฝั่งมุมกว้างที่กว้างถึง 24 มม.
ฝ่ายออกแบบออพติค: Hiroshi Endo
ฝ่ายออกแบบอิเล็กทรอนิกส์: เลนส์ในซีรีย์ EF70-200mm f/2.8L ใช้กลไกนี้เช่นกัน ซึ่งทำให้เลนส์โฟกัสมีขนาดเล็กลง โดยไม่เพียงทำให้สามารถขับเคลื่อน AF ความเร็วสูงได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราสามารถผลิตเลนส์เทเลโฟโต้ที่มีขนาดกะทัดรัดยิ่งขึ้นด้วย
เลนส์ซูเปอร์ซูมตัวแรกที่ใช้กลไกการโฟกัสภายในที่เชื่อมโยงกับการซูม: EF35-135mm f/4-5.6 USM
เลนส์ที่เปิดตัวในปี 1990 นี้เป็นเลนส์ซูเปอร์ซูมตัวแรกของ Canon ที่ใช้ระบบการโฟกัสภายใน ซึ่งกลายเป็นคุณสมบัติสำคัญของเลนส์ซูม เลนส์รุ่นนี้กลายเป็นแบบอย่างสำหรับเลนส์ซูม EF ในอีกหลายกลุ่มตามมา
แผนภาพของเลนส์ EF28-70mm f/2.8L USM
การโฟกัสภายในด้วยชิ้นเลนส์ด้านหน้าสุด
แผนภาพของเลนส์ EF24-70mm f/2.8L USM
กลไกการโฟกัสภายในที่เชื่อมโยงกับการซูม
ตัวกล้องที่แข็งแกร่งทนทานกว่าที่เคย เพื่อรองรับความถี่ในการใช้งานที่สูงขึ้น
- ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา มีการปรับปรุงมากมายในด้านความทนทาน คุณช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยสิครับ
ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์: ในยุคดิจิตอลนี้ ผู้คนถ่ายภาพกันมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสื่อมวลชน แนวโน้มการใช้งานดังกล่าวต้องการความแข็งแกร่งและทนทานในระดับที่สูงขึ้น ภายใต้สภาพการใช้งานปกติมักมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง อย่างไรก็ดี ในการถ่ายภาพด้านสื่อสารมวลชนและงานข่าวมักใช้กล้องและเลนส์ในสภาพแวดล้อมที่สมบุกสมบันอย่างมาก เราจึงยกเครื่องโครงสร้างทางกลไกทั้งหมดตั้งแต่ต้นเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและทนทาน
ฝ่ายออกแบบเชิงกลไก: ตัวอย่างเช่น วงแหวนซูม ซึ่งเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่ใช้งานบ่อยที่สุดจะถูกเชื่อมโยงเชิงกลไกเข้ากับโครงสร้างภายใน ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2000 เราใช้ตลับลูกปืนในส่วนของการเชื่อมต่อ และได้ปรับปรุงเพื่อให้ใช้งานได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ ยิ่งโครงสร้างภายในซับซ้อนมากขึ้นเท่าใด เลนส์จะยิ่งใช้งานได้ยากขึ้นเท่านั้น ในยุคดิจิตอล เราจึงจำเป็นต้องปรับสมดุลระหว่างความง่ายในการใช้งานกับความเชื่อถือได้ ดังนั้น เราจึงพิจารณาถึงเรื่องนี้จากขั้นตอนการออกแบบออพติคอล และได้ลองผิดลองถูกซ้ำหลายครั้ง
ในส่วนของการทำให้โครงสร้างกันฝุ่นและหยดน้ำได้นั้น แค่เพิ่มการซีลป้องกันละอองน้ำและฝุ่นยังไม่เพียงพอ เพราะเลนส์จะให้ความรู้สึกหนักเมื่อใช้งาน ดังนั้น เราต้องคำนึงถึงเส้นทางไหลของอากาศ และยังต้องหาวิธีทำให้สมดุลกับคุณสมบัติป้องกันหยดน้ำ พร้อมกับต้องมั่นใจว่ารูปลักษณ์ภายนอกของเลนส์จะไม่ได้รับผลกระทบอีกด้วย
ฝ่ายเทคโนโลยีการผลิต: Kenichi Okushima
ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์: ความทนทานที่ดียิ่งขึ้นทำให้ผู้ใช้ระดับมืออาชีพพึงพอใจมากกว่าเดิม สเปคที่มืออาชีพต้องการจริงๆ คือสิ่งที่คุณอาจมองไม่เห็น แต่สามารถใช้งานได้ตลอดเวลาเมื่อคุณถ่ายภาพในสภาวะที่ไม่สามารถถ่ายใหม่ได้
ฝ่ายออกแบบเชิงกลไก: ตัวอย่างเช่น เลนส์เทเลโฟโต้ 70-200 มม. มักใช้ในการถ่ายภาพกีฬา ซึ่งแน่นอนว่าคุณไม่ต้องการให้เกิดการทำงานผิดปกติจนไม่สามารถจับภาพวินาทีสำคัญได้ EF70-200mm f/2.8L IS II USM ซึ่งเปิดตัวในปี 2010 และเลนส์รุ่นทายาทที่เปิดตัวไปเมื่อไม่นานนี้ [EF70-200mm f/2.8L IS III USM] มีความแข็งแกร่งทนทานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ฝ่ายออกแบบด้านกลศาสตร์: Shigeki Sato
เทคโนโลยีสำหรับการผลิตปริมาณมากและแม่นยำสูง
- ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยครับว่าเทคโนโลยีความคลาดทรงกลมสำหรับเลนส์มุมกว้างได้พัฒนาไปอย่างไรบ้าง
ฝ่ายออกแบบออพติค: เมื่อการถ่ายภาพกลายเป็นระบบดิจิตอลแล้วในขณะนี้ หนึ่งในงานวิจัยที่สำคัญคือการแก้ไขคุณภาพของภาพถ่ายบริเวณขอบภาพและการแก้ไขความคลาดสีริมขอบวัตถุ ซึ่งตรงจุดนี้เองที่เทคโนโลยีเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เป็นพิเศษ Canon มีเทคโนโลยีการออกแบบและผลิตเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมมากมาย อาทิ ผิวแก้ความคลาดทรงกลมแบบเจียร เลนส์จำลอง การขึ้นรูปด้วยแก้ว (GMo) ฯลฯ ซึ่งเราใช้งานตามความเหมาะสม ใน EF16-35mm f/2.8L III USM เราได้นำชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมแบบผิวสองชั้นมาใช้ในเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งทำให้ความคลาดดีขึ้นมาก
ฝ่ายเทคโนโลยีการผลิต: จุดแข็งของ Canon อยู่ที่ความสามารถในการผลิตเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมแบบขึ้นรูปด้วยแก้วที่มีรูรับแสงกว้างในปริมาณมาก ซึ่งคุณต้องมีความแม่นยำสูงอย่างยิ่ง EF16-35mm f/2.8L III USM ใช้เลนส์แก้ความคลาดทรงกลมขนาดใหญ่มาก พร้อมเส้นผ่านศูนย์กลาง 62.5 มม. ในการผลิตเลนส์นี้ในปริมาณมาก เราจึงใช้เทคโนโลยีการตรวจวัดและขัดผิวที่ใช้ในอุปกรณ์สร้างลายวงจรด้วยแสง (Photolithographic equipment) สำหรับการผลิตสารกึ่งตัวนำ ซึ่งต้องใช้ความแม่นยำมากกว่าเลนส์สำหรับกล้องสำหรับผู้บริโภค เมื่อนำมาใช้ในพื้นผิวแก้ความคลาดทรงกลมแบบเจียร เทคโนโลยีเหล่านี้จึงมีความแม่นยำมากกว่าวิธีเดิมถึง 2.5 เท่า นอกจากนี้ เรายังปรับปรุงกระบวนการหล่อให้มีความแม่นยำมากขึ้นอีกด้วย
แม่พิมพ์เลนส์แก้ความคลาดทรงกลมแบบ GMo ที่แม่นยำสูง
- ช่วยอธิบายเกี่ยวกับออพติคของเลนส์เทเลโฟโต้หน่อยครับ
ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์: ในเลนส์เทเลโฟโต้ ปัญหาสำคัญคือความคลาดสี เราแก้ไขปัญหานี้โดยใช้แก้วที่มีการกระจายต่ำ เช่น เลนส์ UD เรายังใช้ฟลูออไรต์มาตั้งแต่รุ่น EF70-200mm f/2.8L IS II USM ซึ่งได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวกมากมาย ใน EF70-200mm f/2.8L IS III USM เราใช้เทคโนโลยีการเคลือบใหม่ล่าสุดคือ Air Sphere Coating (ASC) เพื่อตอบสนองเสียงเรียกร้องให้ปรับปรุงแสงแฟลร์ให้ดีขึ้น นั่นทำให้ผลิตภัณฑ์แทบจะสมบูรณ์แบบทีเดียว
ฝ่ายออกแบบออพติค: แค็ตตาล็อกผลิตภัณฑ์ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้มากนัก แต่เราใช้วัสดุเลนส์ชนิดใหม่ที่เรียกว่า "แก้ว High-index" ซึ่งมีดัชนีการหักเหแสงสูง เพื่อช่วยลดความคลาดสี ภาพบิดเป็นเส้นโค้ง และความคลาดที่ขอบภาพ แก้วชนิดใหม่มีการนำมาใช้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ในเบื้องต้น เราไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของออพติคของเลนส์เทเลโฟโต้ แต่สำหรับนักออกแบบออพติค เรื่องนี้สำคัญมาก ตอนนี้เราสามารถใช้แก้วที่เราเคยได้แต่ฝันถึงได้แล้ว และนี่ก็เพิ่มความไปได้ในการออกแบบเลนส์มากขึ้น
ฝ่ายประมวลผลเลนส์: เลนส์ UD บอบบางและใช้งานยากมาก หลังจากทำการวิจัยมาหลายปี เมื่อสิบปีที่แล้ว Canon สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทำให้การผลิตเลนส์ UD ปริมาณมากเป็นแบบอัตโนมัติได้ในที่สุด จึงทำให้เราสามารถผลิตเลนส์ที่มีคุณภาพคงที่ได้ นอกจากนี้ การมีเครื่องจักรที่แม่นยำสูงยังทำให้เราสามารถใช้แก้ว High-index ดังที่กล่าวข้างต้นได้ด้วย
เลนส์ UD
เปลี่ยนงานฝีมือเป็นดิจิตอล
- โรงงานผลิตมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเมื่อปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิตอล
ฝ่ายประมวลผลเลนส์: ในยุคดิจิตอล ความต้องการของตลาดมีมากขึ้นและการผลิตปริมาณมากกลายเป็นสิ่งจำเป็น ความต้องการชิ้นเลนส์แก้วแม่นยำสูงจึงเพิ่มขึ้นจากเพียงไม่กี่ชิ้นเป็นหลายร้อยชิ้นต่อวัน ดังนั้น เราจึงเริ่มปรับงานที่ต้องอาศัยทักษะฝีมือให้เป็นมาตรฐาน (เป็นระบบดิจิตอล) ให้มากที่สุด ในขณะเดียวกัน เรายังสนับสนุนให้ปรับเครื่องมือให้ได้มาตรฐาน และนำเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการและอุปกรณ์ประเมินใหม่ๆ มาใช้อย่างแข็งขัน ความพยายามเหล่านี้ช่วยให้เราสามารถผลิตผิวเลนส์ในปริมาณมากที่มีคุณภาพคงที่และความแม่นยำสูงมากได้เป็นผลสำเร็จ
ฝ่ายประมวลผลเลนส์: Hisakazu Nakamitsu
ที่โรงงานในอุสึโนะมิยะ เราประสบความสำเร็จในการทำให้ขั้นตอนในกระบวนการผลิตที่จำเป็นสำหรับการจัดหาชิ้นเลนส์คุณภาพสูงและคงที่เป็นอัตโนมัติได้แทบทั้งหมด อย่างไรก็ดี บางกระบวนการ เช่น การขัดและปรับรูปทรงชิ้นส่วนเลนส์บางชิ้นให้มีความแม่นยำจำเป็นต้องใช้ทักษะฝีมือของมนุษย์และยากที่จะทำให้เป็นระบบอัตโนมัติได้ ดังนั้น เราจึงยังคงใช้ทักษะฝีมือในกระบวนการเหล่านั้น และพยายามทำให้แน่ใจว่าทักษะเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อไป
ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทีมออกแบบกับทีมวิศวกรรมการผลิต
- เลนส์ได้รับการออกแบบและเคลื่อนเข้าสู่สายการผลิตได้อย่างไร
ฝ่ายออกแบบออพติค: เราใช้ซอฟต์แวร์จำลองออพติคในบริษัท Canon ซึ่งช่วยให้เราสามารถออกแบบเลนส์ที่มีสเปคใหม่ๆ ได้ ก่อนที่จะผลิตรุ่นต้นแบบ เราได้จำลองวัสดุต่างๆ บนซอฟต์แวร์ และใช้วัสดุนั้นทดสอบความแข็งแรงของเลนส์ในแง่ของความต้านทานแรงกระแทก จากนั้นตรวจสอบว่าวัสดุเหล่านี้มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพด้านออพติคอลอย่างไรบ้าง เทคโนโลยีการจำลองจะใช้คอมพิวเตอร์ที่มีกำลังการประมวลผลที่ยอดเยี่ยม
ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์: ซอฟต์แวร์ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่าตำแหน่งการซูม ตำแหน่งของโฟกัส และค่ารูรับแสงส่งผลต่อแสงแฟลร์และแสงหลอกหรือไม่ เราจึงสามารถออกแบบเลนส์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ อีกทั้งโรงงานผลิตยังพยายามตอบสนองด้วยการดำเนินการผลิตที่แม่นยำ
ฝ่ายเทคโนโลยีการผลิต: ทีมออกแบบและทีมวิศวกรรมการผลิตประชุมกันบ่อยครั้ง ตั้งแต่ในขั้นแรกๆ ของการวางแผนผลิตภัณฑ์ เราพูดคุยกันถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นๆ ความท้าทายด้านเทคนิคที่เราอาจต้องพบ ความยากง่ายที่จะนำชิ้นส่วนต่างๆ ไปผ่านกระบวนการและประกอบ ตลอดจนความเป็นไปได้ของการใช้ระบบอัตโนมัติ การปรึกษาหารือกันเช่นนี้ทำให้เราสามารถพิจารณาทั้งมุมมองด้านการออกแบบและวิศวกรรมเมื่อเราเตรียมการผลิตปริมาณมาก
ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์: ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเกิดขึ้นได้เนื่องจากแผนกออกแบบและโรงงานอยู่ในระดับเดียวกันในลำดับชั้นขององค์กร ซึ่งโครงสร้างนี้มีมาตั้งแต่ปี 2000
ห้องปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาและโรงงานผลิตทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาก
ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีออพติคอล
โรงงานที่อุสึโนะมิยะ
เกี่ยวกับนักพัฒนา
(จากซ้ายมือ)
ฝ่ายวางแผนผลิตภัณฑ์: Kengo Ietsuka
Ietsuka เป็นผู้รับผิดชอบด้านการวางแผนผลิตภัณฑ์สำหรับเลนส์ซีรีย์ EF เขาดูแลด้านการผลิตออกจำหน่ายและการพัฒนาประสิทธิภาพเลนส์ EF รวมถึงเลนส์ซูม f/2.8L และ f/4L
ฝ่ายออกแบบออพติค: Hiroshi Endo
Endo มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ EOS ในส่วนของการออกแบบออพติคนับตั้งแต่เปิดตัวระบบ เขาดูแลด้านการพัฒนาและการออกแบบเลนส์แก้ความคาดทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญของเลนส์ซูมซีรีย์ L ที่มีรูรับแสงกว้าง นับตั้งแต่เขาเริ่มทำงานที่ Canon
ฝ่ายออกแบบเชิงกลไก: Shigeki Sato
Sato เป็นผู้รับผิดชอบด้านการออกแบบเชิงกลไกของเลนส์ EF ตั้งแต่เขาเริ่มทำงานที่ Canon เขามีส่วนช่วยรังสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและปรับปรุงความเชื่อถือได้นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบดิจิตอลอย่างรวดเร็วในปี 2000
ฝ่ายออกแบบอิเล็กทรอนิกส์: Koji Okada
Okada รับผิดชอบชุดการทำงานระบบ IS เป็นหลัก เขามีหน้าที่ดูแลให้กล้อง EOS และเลนส์ EF ทำงานสอดรับกันเป็นอย่างดี และปัจจุบันเขายังกำกับดูแลกลไกระบบของส่วนประกอบที่เข้ากันได้ ซึ่งจะส่งข้อมูลระหว่างกล้องกับเลนส์
ฝ่ายประมวลผลเลนส์: Hisakazu Nakamitsu
Nakamitsu ดูแลตรวจสอบประสิทธิภาพโดยรวมของฝ่ายการผลิตทั้งหมด รวมถึงการควบคุมคุณภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถจัดหาเลนส์ระดับมืออาชีพที่มีคุณภาพสูงได้อย่างต่อเนื่อง
ฝ่ายเทคโนโลยีการผลิต: Kenichi Okushima
Okushima รับผิดชอบด้านการสนับสนุนทางเทคนิคสำหรับการผลิตปริมาณมาก ฝ่ายของเขามีส่วนร่วมในการทำให้แน่ใจว่าเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมที่เกิดจากการเจียรจะมีความแม่นยำสูง สนับสนุนระบบอัตโนมัติในการประมวลผลเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมที่แม่นยำสูง และยังทำงานร่วมกับแผนกออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อพัฒนาการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ
เราทำการสัมภาษณ์นี้เนื่องในโอกาสเปิดตัวเลนส์ EF70-200mm L รุ่นใหม่ของ Canon คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
Canon เผยโฉม EF70-200mm f/2.8L IS III USM
Canon เปิดตัว EF70-200mm f/4L IS II USM
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!