เทคนิคการจัดองค์ประกอบภาพ: การสร้างภาพลวงตาให้พระจันทร์ดูใหญ่ขึ้น
เคยไหมที่คุณพยายามใส่พระจันทร์ไว้ในภาพทิวทัศน์แต่กลับดูไม่น่าประทับใจอย่างที่คิด มาศึกษาเคล็ดลับสองข้อต่อไปนี้กันว่าควรจัดองค์ประกอบภาพอย่างไรให้พระจันทร์ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น (เรื่องโดย: Toshiki Nakanishi, Digital Camera Magazine)
EOS 5D Mark IV/ EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM/ FL: 380 มม./ Aperture-priority AE (f/11, 1 วินาที, EV -1.3)/ ISO 400/ WB: แสงแดด
ขั้นตอนที่ 1: ใช้ทางยาวโฟกัสซูเปอร์เทเลโฟโต้
ขั้นตอนแรกคือการเลือกเลนส์ พระจันทร์จะดูเล็กจิ๋วเสมอหากคุณถ่ายมุมกว้าง แต่ในทางตรงกันข้าม เอฟเฟ็กต์การบีบมุมมองภาพของเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้จะดึงวัตถุที่อยู่ห่างไกลให้เข้ามาใกล้ขึ้นและทำให้วัตถุนั้นดูใหญ่กว่าที่มองเห็นด้วยตาเปล่า
ภาพถ่ายนี้ถ่ายก่อนรุ่งสางขณะที่พระจันทร์ใกล้ลับขอบฟ้า ผมต้องการถ่ายภาพพระจันทร์เต็มดวงพร้อมกับทางลาดที่เต็มไปด้วยหิมะในโฟร์กราวด์ ผมจึงเลือกใช้เลนส์ซูมซูเปอร์เทเลโฟโต้เพื่อให้จัดเฟรมได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อถ่ายที่ระยะเกือบ 400 มม. พระจันทร์ดูใหญ่พอที่จะดึงดูดความสนใจของผู้ชมแต่ไม่ได้เด่นไปกว่าทิวทัศน์โดยรอบ
ถ่ายที่ระยะ 280 มม.
พระจันทร์ดูไม่ใหญ่นักเมื่อถ่ายภาพที่ระยะ 280 มม.
ขั้นตอนที่ 2: เลือกสถานที่ที่มีโฟร์กราวด์กว้างขวาง
การเลือกสถานที่ที่มีโฟร์กราวด์กว้างขวางซึ่งขยายระยะบางส่วนไปทางด้านหลังนั้น ทำให้พระจันทร์ดูสวยน่าประทับใจยิ่งขึ้น ลองจัดเฟรมภาพให้รวมโฟร์กราวด์ให้มากขึ้น เช่น ทางลาดที่ดูนุ่มนวลเหมือนในภาพนี้ก็ถือว่าเหมาะสำหรับจุดประสงค์นี้! โฟร์กราวด์ขนาดใหญ่จะลวงตาให้ผู้ชมเห็นว่าฉากดูลึกขึ้นและพระจันทร์ดูไกลห่างออกไป วิธีนี้ใช้ร่วมกับพระจันทร์ที่ดูใหญ่ขึ้นด้วยเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้เพื่อเล่นกับความรู้สึกของเราในเรื่องขนาด ทำให้เราคิดว่าพระจันทร์ดูใหญ่กว่าความเป็นจริง
เคล็ดลับการเปิดรับแสง
- ผมเก็บรายละเอียดของพระจันทร์พร้อมกับบรรยากาศโพล้เพล้ที่มีแสงสลัวโดยปรับรูรับแสงให้แคบลงเหลือ f/11 และลดการชดเชยแสงเหลือ EV -1.3
- วิธีนี้จะทำให้ความเร็วชัตเตอร์ช้าลง ดังนั้นควรเพิ่มความไวแสง ISO แล้วใช้ขาตั้งกล้องที่มั่นคง คุณคงไม่อยากถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าเกินไป ซึ่งไม่ใช่เพราะปัญหากล้องสั่นไหวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะการเคลื่อนที่โดยธรรมชาติของพระจันทร์ด้วย!
ดูเทคนิคและแนวคิดเพิ่มเติมสำหรับการถ่ายภาพพระจันทร์หรือการถ่ายภาพใต้แสงจันทร์ได้ที่
เคล็ดลับการเปิดรับแสงและอุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพดวงจันทร์
หนึ่งสถานที่กับภาพสองแบบ: การถ่ายภาพประภาคารท่ามกลางแสงจันทร์และใต้ดวงดาว
ลวดลายบนพื้นทรายใต้แสงจันทร์: ผมทำให้กลางคืนดูเหมือนกลางวันได้อย่างไร
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดปี 1971 ในโอซาก้า หลังจากศึกษาการถ่ายภาพด้วยตัวเอง Nakanishi ย้ายสถานที่ดำเนินกิจกรรมถ่ายภาพของตนไปยังเมือง Biei ที่อำเภอ Kamikawa-gun ในฮอกไกโด นอกจากถ่ายภาพทิวทัศน์ที่โฟกัสที่แสงเป็นหลักแล้ว เขายังสร้างสรรค์ผลงานที่เน้นถึงความงามของธรรมชาติในจินตนาการอีกด้วย เขามีตำแหน่งเป็นหัวหน้า PHOTO OFFICE ของ atelier nipek