หนึ่งสถานที่กับภาพสองแบบ: การถ่ายภาพประภาคารท่ามกลางแสงจันทร์และใต้ดวงดาว
สิ่งสำคัญที่จะทำให้ภาพถ่ายท้องฟ้ายามค่ำคืนแต่ละภาพของคุณดูมีเอกลักษณ์แปลกตาอยู่ที่ว่าคุณเลือกจัดวางส่วนประกอบใดไว้ที่กึ่งกลางภาพ นอกจากนี้ คุณยังสามารถเพิ่มความหลากหลายให้ภาพโดยการถ่ายภาพในช่วงเวลาต่างๆ ของวันและถ่ายภาพจากมุมที่หลากหลายได้ บทความนี้จะแนะนำเทคนิคในการถ่ายภาพท้องฟ้ายามค่ำคืนทั้งก่อนและหลังพระจันทร์จะลับขอบฟ้า (เรื่องโดย Minefuyu Yamashita, Digital Camera Magazine)
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 18 มม./ Manual exposure (f/2.8, 30 วินาที)/ ISO 2500/ WB: หลอดไฟทังสเตน
แบบที่ 1: ใต้ท้องฟ้าตระการตาที่เต็มไปด้วยดวงดาว
สถานที่:
- สำหรับการถ่ายภาพท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวนั้น ผมได้ย้ายจากสถานที่ที่เคยใช้ถ่ายภาพท้องฟ้าทางทิศตะวันตกที่ยังคงมีแสงจันทร์อยู่ไปยังสถานที่ใหม่ที่ผมสามารถถ่ายภาพท้องฟ้าทางทิศเหนือได้
(ภาพนี้ถ่ายก่อนฟ้าสางไม่นาน ในช่วงเวลานี้ ทิศทางเดียวที่ยังคงมืดอยู่คือท้องฟ้าทางทิศเหนือ)
- ผมเลือกถ่ายภาพจากมุมต่ำและแหงนหน้ากล้องขึ้นหาประภาคาร
ภาพรวมของการตั้งค่ากล้อง:
- ทางยาวโฟกัส: 18 มม. ซึ่งสามารถนำท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวเข้าไปไว้ในภาพได้โดยไม่ทำให้ตัวประภาคารดูเล็กเกินไป
- ความเร็วชัตเตอร์: 30 วินาที เพื่อถ่ายภาพดวงดาวให้เห็นเป็นจุดแสงเด่นชัด
- รูรับแสงและความไวแสง ISO: f/2.8 (กว้างสุด) และ ISO 2500 เพื่อให้ภาพสว่างพอที่จะมองเห็นรูปทรงของประภาคารได้อย่างชัดเจน
อื่นๆ:
เพื่อสื่ออารมณ์ของดวงดาวที่ส่องสว่างระยิบระยับได้ดียิ่งขึ้น ผมมุ่งเน้นที่การถ่ายทอดรายละเอียดของแสงไฟที่ส่องออกมาจากประภาคารในลักษณะแหล่งกำเนิดแสงที่โดดเด่นเช่นเดียวกับดวงดาว แสงสว่างโพลนในไฟประภาคารยังคงไว้เช่นเดิม
สิ่งที่ทำให้ถ่ายภาพนี้ได้สำเร็จ
จุดที่ 1: เลือกส่วนของท้องฟ้าส่วนที่ไม่มีแหล่งกำเนิดแสงอันไม่พึงประสงค์
ดวงดาวจะดูสว่างที่สุดเมื่อพระจันทร์ลับขอบฟ้าไปแล้วและท้องฟ้ามืดสนิท เมื่อผมพิจารณาถึงผลกระทบจากแหล่งกำเนิดแสงอันไม่พึงประสงค์และตำแหน่งที่พระอาทิตย์จะขึ้นแล้ว ผมจึงเลือกที่จะถ่ายภาพท้องฟ้าทางทิศเหนือ คุณสามารถตรวจสอบช่วงเวลาที่พระจันทร์จะลับขอบฟ้าล่วงหน้าได้ทางออนไลน์หรือแอปในสมาร์ทโฟน เช่น Sun Surveyor (ฉบับภาษาอังกฤษ)
จุดที่ 2: ถ่ายภาพจากมุมต่ำ
เพื่อลดผลกระทบจากแหล่งกำเนิดแสงทุกชนิด ผมเลือกถ่ายภาพจากมุมต่ำและแหงนหน้ากล้องขึ้นหาประภาคารเพื่อให้ท้องฟ้าอันมืดมิดที่เต็มไปด้วยดวงดาวเข้าไปอยู่ในส่วนแบ็คกราวด์ วิธีดังกล่าวยังช่วยสร้างเอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟที่เกินจริงให้กับตัวประภาคารอีกด้วย ซึ่งจะดึงความสนใจของผู้ชมไปยังแหล่งแสงที่อยู่บริเวณกึ่งกลางภาพ
จุดที่ 3: เปิดรับแสงนาน 30 วินาทีหรือน้อยกว่าเพื่อถ่ายภาพดวงดาวเป็นจุดแสงเด่นชัด
เพื่อถ่ายภาพดวงดาวให้ปรากฏเป็นจุดแสงเด่นชัด วิธีที่ดีที่สุดคือใช้เวลาเปิดรับแสงนานประมาณ 30 วินาทีหรือน้อยกว่านั้น เนื่องจากหากเปิดรับแสงนานกว่านี้อาจทำให้ดวงดาวมีลักษณะเป็นเส้นแสงจนมองเห็นได้ชัดเจน และหากต้องการปรับความเร็วชัตเตอร์ ให้เพิ่มความไวแสง ISO ดังเช่นในตัวอย่างนี้ ผมตั้งค่าความไวแสง ISO เป็น 2500
ข้อควรรู้: ความเร็วชัตเตอร์มีผลต่อรูปทรงของดวงดาว
แม้ว่าทางยาวโฟกัสมีความสำคัญเช่นกัน ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลงจะทำให้ดวงดาวออกมาดูเบลอยิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้มองเห็นประกายระยิบระยับได้น้อยลง
ความเร็วชัตเตอร์: 15 วินาที
ความเร็วชัตเตอร์: 40 วินาที
หากคุณรู้สึกอยากถ่ายภาพทิวทัศน์ดวงดาว ลองศึกษาเคล็ดลับและบทเรียนต่อไปนี้
ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: การใช้ระเบิดซูมเพื่อเปลี่ยนดวงดาวบนท้องฟ้าให้เป็นฝนดาวตก
ภาพทิวทัศน์ดวงดาวอันน่าทึ่ง: การถ่ายภาพดอกซากุระและทางช้างเผือกยามค่ำคืนให้สวยสดงดงาม
EF8-15mm f/4L Fisheye USM: เลนส์ที่ผมใช้เป็นประจำในการถ่ายภาพดวงดาว
เทคนิคการถ่ายภาพดวงดาวที่ควรลองใช้กับ EOS R
แบบที่ 2: แสงจันทร์อันน่าตื่นตาตื่นใจ
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 16 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 10 วินาที, EV+0.3)/ ISO 800/ WB: หลอดไฟทังสเตน
อุปกรณ์:
- เลนส์มุมกว้าง เพื่อช่วยขับเน้นภาพทิวทัศน์ที่ดูกว้างใหญ่ไพศาล
- เพื่อป้องกันไม่ให้ประภาคารในภาพดูบิดเบี้ยวไม่เป็นธรรมชาติ ผมจึงตั้งขาตั้งกล้องในจุดที่อยู่ในระดับแนวนอนเช่นเดียวกับประภาคาร
ภาพรวมของการตั้งค่ากล้อง:
- สมดุลแสงขาว: “หลอดไฟทังสเตน” เพื่อเพิ่มโทนสีเย็นที่จะช่วยดึงเอาบรรยากาศของภาพถ่ายยามค่ำคืนออกมา
- รูรับแสง: ช่างภาพหลายคนอาจใช้รูรับแสงที่แคบลงสำหรับฉากในลักษณะนี้ แต่ผมเลือกที่จะใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/2.8 และจับโฟกัสไปที่ประภาคาร ซึ่งทำให้พระจันทร์ดูมืดสลัวลง ภาพจึงให้ความรู้สึกนุ่มนวลมากขึ้น
- ความเร็วชัตเตอร์: 10 วินาที เพื่อป้องกันแสงสว่างโพลนใกล้กับไฟของประภาคาร
- ความไวแสง ISO: ลดให้มากที่สุดโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการไล่เฉดสีของท้องฟ้า และผมก็พบว่าค่าสมดุลการเปิดรับแสงที่เหมาะสมคือ ISO 800
การจัดองค์ประกอบภาพ:
ผมต้องการให้เห็นประภาคารได้ชัดเจนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นจุดเด่นในองค์ประกอบภาพแล้ว ยังช่วยดึงเอาความสง่างามของประภาคารออกมาด้วยในขณะที่ตั้งตระหง่านอยู่เหนือสิ่งอื่นๆ ภายใต้แสงจันทร์ และเมฆที่กำลังเคลื่อนตัวอยู่บนฟ้ายังช่วยเพิ่มความรู้สึกตื่นตาตื่นใจให้ภาพด้วย
สิ่งที่ทำให้ถ่ายภาพนี้ได้สำเร็จ
จุดที่ 1: สร้างความลึกด้วยทางยาวโฟกัสมุมกว้าง
ในการถ่ายภาพแสงจันทร์นี้ ผมไม่เพียงต้องการใช้ความกว้างในแนวตั้งและแนวนอนเพื่อเน้นถึงความรู้สึกที่กว้างใหญ่ไพศาลเท่านั้น แต่ยังต้องการใช้ประโยชน์จากมิติความลึกอันเป็นเอกลักษณ์ที่เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์สร้างได้อีกด้วย ผมถ่ายภาพที่ระยะ 16 มม. และรวมเอาต้นหญ้าที่อยู่ในโฟร์กราวด์และขอบฟ้าในแบ็คกราวด์เข้ามาในเฟรมด้วย ซึ่งเป็นการสร้างเอฟเฟ็กต์การขยายมุมมองเปอร์สเปคทีฟเกินจริงในบริเวณด้านหน้าและหลังประภาคาร
จุดที่ 2: สมดุลแสงขาว – “หลอดไฟทังสเตน” ช่วยเน้นโทนสีน้ำเงินของท้องฟ้า
ดวงจันทร์ที่มีโทนสีเหลืองเริ่มเปลี่ยนเป็นโทนสีแดงเมื่อเคลื่อนเข้าใกล้ขอบฟ้ามากขึ้น คล้ายกับพระอาทิตย์ที่กำลังตกดิน ภาพที่ได้จึงอาจดูเหมือนภาพพระอาทิตย์ตกดินหากผมตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็นอัตโนมัติ ดังนั้น ผมจึงตั้งค่าสมดุลแสงขาวเป็น “หลอดไฟทังสเตน” เพื่อสื่อความรู้สึกที่ผมได้สัมผัสที่สถานที่ถ่ายภาพได้ดีขึ้น
จุดที่ 3: เวลาการเปิดรับแสง 10 วินาทีเพื่อไม่ให้เกิดแสงสว่างโพลน
เนื่องจากประภาคารจะค่อยๆ หมุนตัวไปรอบๆ พร้อมกับส่องไฟสว่างเจิดจ้า ดังนั้น ภาพจึงอาจมีส่วนที่สว่างเกินไปได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ ณ จุดใดของประภาคารด้วย ผมประมาณเวลาที่แสงจะหมุนครบหนึ่งรอบ จากนั้นตั้งความเร็วชัตเตอร์ไว้ที่ 10 วินาทีเพื่อไม่ให้ภาพได้รับแสงมากเกินไป
ข้อควรรู้: ความสำคัญของแสงจันทร์
ภาพด้านล่างนี้ถ่ายในขณะที่พระจันทร์ซ่อนตัวอยู่หลังก้อนเมฆ เหลือเพียงแสงสว่างจากประภาคารเท่านั้น ดังนั้น สนามหญ้าในส่วนโฟร์กราวด์จึงดูมืดและประภาคารยังขาดความมีมิติอีกด้วย
---
อ่านไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการถ่ายภาพจากสถานที่เดียวกันให้แตกต่างกันหลายแบบได้ที่:
หนึ่งสถานที่กับภาพสองแบบ: ภาพยามค่ำคืนแนวแอ็บสแตรกต์ - ความสงบเยือกเย็น กับ ความมีชีวิตชีวา
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่จังหวัดไอชิในปี 1979 หลังจากสั่งสมประสบการณ์ในงานด้านต่างๆ เช่น การออกแบบภายในและกราฟิกดีไซน์แล้ว Yamashita ได้ผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระในปี 2011 ผลงานของเขาได้ถูกนำไปพิมพ์ในปฏิทินมากมาย