เทคนิคการถ่ายภาพดวงดาวที่ควรลองใช้กับ EOS R
ค่าการเปิดรับแสงที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาวนั้น สูงกว่าค่าที่ใช้ในวันที่มีแดดจัดและท้องฟ้าแจ่มใสถึงสี่ล้านเท่า เมื่อคุณมองแทบไม่เห็นสิ่งที่อยู่รอบตัว การจัดองค์ประกอบภาพและโฟกัสที่ดวงดาวอาจทำได้ยาก แต่กล้อง EOS R ก็ทำให้เป็นเรื่องง่ายได้อย่างไม่น่าเชื่อ ในบทความนี้ เราจะมาแบ่งปันเคล็ดลับและไอเดียในการถ่ายภาพดวงดาวที่คุณควรลองใช้กับกล้อง EOS R (เรื่องโดย: Shigemi Numazawa (Digital Camera Magazine))
เหตุผล 3 ข้อที่ทำให้กล้อง EOS R เหมาะสำหรับการถ่ายภาพดวงดาว
1. หากคุณชอบใช้ช่องมองภาพ: EVF ช่วยให้คุณ “มองเห็น” และโฟกัสได้ในความมืด
สำหรับผู้ที่ชอบการถ่ายภาพผ่านช่องมองภาพโดยตรง EVF คือทางเลือกที่ดีสำหรับการถ่ายภาพในที่มืด เนื่องจากสามารถแสดงข้อมูลเดียวกับที่คุณเห็นใน Live View และคุณสามารถแสดงตัวอย่างค่าการเปิดรับแสงได้ด้วย
2. เมื่อใช้ Live View: ถ่ายภาพได้สะดวกสบายยิ่งขึ้นด้วยหน้าจอ LCD แบบปรับหมุนได้
แทนที่จะต้องเงยศีรษะขึ้นตลอดเวลาเพื่อมองจอ LCD ขณะที่หันกล้องขึ้นฟ้า คุณสามารถหมุนหน้าจอให้อยู่ในมุมที่สบายที่สุดได้เพื่อลดการปวดเมื่อยคอ
3. น้ำหนักขาตั้งกล้องเบาขึ้น
สำหรับการถ่ายภาพดวงดาว คุณย่อมต้องการเตรียมถ่ายภาพให้มั่นคงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และตัวกล้องที่มีขนาดเล็กและเบากว่าของ EOS R ช่วยให้ได้สมดุลที่ดีขึ้นแม้จะใช้ขาตั้งกล้องที่มีขนาดเล็กกว่าเดิม
ฉาก 1: การใช้ AF ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ดวงดาวระยิบระยับ
EOS R/ RF35mm f/1.8 Macro IS STM/ FL: 35 มม./ Manual exposure (f/1.8, 20 วินาที, EV±0)/ ISO 1600/ WB: 3900K
อุปกรณ์เพิ่มเติม: ซอฟต์ฟิลเตอร์
ภาพนี้ถ่ายจากท้องฟ้าที่มืดสนิทบนภูเขา กลุ่มดาวต่างๆ ในฤดูหนาว รวมถึงกลุ่มดาวนายพรานและกระจุกดาวลูกไก่ที่ส่องแสงสว่างไสว โดยใช้ AF ในการโฟกัสและตั้งจุดโฟกัสไว้ที่ดวงดาวความสุกสว่างระดับ 1 (Magnitude 1) ในกลุ่มดาวนายพราน ผมใช้ซอฟต์ฟิลเตอร์เพื่อเบลอแสงดาว ซึ่งทำให้ดวงดาวดูมีขนาดใหญ่และสว่างขึ้น เทคนิคนี้นิยมใช้กันในการถ่ายภาพดวงดาว
หากมีกล้อง EOS R ตัวเลือกของคุณจะไม่ได้มีแค่ MF อีกต่อไป
วิธีปกติในการถ่ายภาพเช่นภาพด้านบนคือ ขยายจอภาพ Live View/EVF ให้สูงสุด จากนั้นจึงโฟกัสโดยใช้ MF อย่างไรก็ตาม การระบุพีคโฟกัสด้วยวิธีนี้อาจทำได้ยาก และผมแน่ใจว่าหลายคนคงประสบปัญหาในการควบคุมเลนส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเลนส์รุ่นใหม่ๆ ที่มีจังหวะของวงแหวนโฟกัสสั้นลง
ความสามารถในการโฟกัสในสภาวะแสงน้อยของกล้อง EOS R ช่วยให้ใช้ AF ในการโฟกัสที่ดวงดาวได้ ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่าการหาโฟกัสด้วยตาเปล่า เพียงแต่ต้องใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างเท่านั้น
หัวใจสำคัญ 3 ข้อที่จะทำให้จับ AF ที่ดวงดาวได้ง่ายขึ้น
1. หาดวงดาวที่สว่างเพื่อจับโฟกัส
หากดวงดาวมีความสว่าง AF จะสามารถจับโฟกัสได้แม้ใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/2.8 ดวงดาวนั้นมีการแบ่งประเภทตามค่าความสุกสว่าง ยิ่งตัวเลขค่าความสุกสว่างต่ำเท่าใด ดวงดาวจะสว่างมากเท่านั้น
หมายเหตุ: AF จะจับโฟกัสบนดวงดาวที่มีสีแดงได้ยากกว่าดาวอื่นๆ ที่มีความสว่างระดับเดียวกัน
ความสว่าง (ค่าความสุกสว่าง) ของดวงดาวในกลุ่มดาวนายพราน
ผมใช้ทางยาวโฟกัส XX มม. และค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/YY AF ของผมจะใช้ได้กับดาวแบบไหนบ้าง
ตารางด้านล่างแสดงค่าความสุกสว่างของดวงดาวที่ AF สามารถจับโฟกัสได้ที่ทางยาวโฟกัสและค่ารูรับแสงกว้างสุดต่างๆ กัน เมื่อติดตั้งซอฟต์ฟิลเตอร์เข้ากับเลนส์*
สัญลักษณ์: 〇 = ได้; × = ไม่ได้; △ = อาจได้
ทางยาวโฟกัส | รูรับแสง | จอภาพ EVF/Live View | ความสุกสว่างที่ปรากฏของดวงดาว | ||||
-1 | 0 | 1 | 2 | 3 | |||
16 มม. | 2.8 | ปกติ | × | × | × | × | × |
กำลังขยาย 10 เท่า | △ | × | × | × | × | ||
35 มม. | 2.8 | ปกติ | × | × | × | × | × |
กำลังขยาย 10 เท่า | 〇 | × | × | × | × | ||
24 มม. | 1.4 | ปกติ | 〇 | 〇 | × | × | × |
กำลังขยาย 10 เท่า | 〇 | 〇 | 〇 | △ | × | ||
35 มม. | 1.8 | ปกติ | 〇 | 〇 | 〇 | × | × |
กำลังขยาย 10 เท่า | 〇 | 〇 | 〇 | × | × | ||
50 มม. | 1.2 | ปกติ | 〇 | 〇 | 〇 | × | × |
กำลังขยาย 10 เท่า | 〇 | 〇 | 〇 | 〇 | △ |
*ความสามารถในการจับ AF ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ประเภทของซอฟต์ฟิลเตอร์ ตำแหน่งที่ติดตั้งฟิลเตอร์ และสภาพบรรยากาศ
2. ใช้เลนส์ไวแสง
ยิ่งเลนส์มีรูรับแสงกว้างสุดมากเท่าใด ก็จะใช้ AF จับโฟกัสที่ดวงดาวที่มืดได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ถ้าให้ดี รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ควรอยู่ที่ f/2.8 หรือสว่างกว่านั้น
หากคุณไม่สามารถโฟกัสที่ดาวดวงใดได้ แต่มีแสงไฟจากถนนที่สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล (ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร) การโฟกัสไปที่แสงเหล่านั้นก็ได้ผลค่อนข้างดีเช่นกัน
อ่านข้อดีของการใช้เลนส์ f/1.4 ในการถ่ายภาพดวงดาวได้ที่:
การถ่ายภาพดาราศาสตร์: การถ่ายภาพท้องฟ้าที่ดารดาษไปด้วยแสงดาวด้วยเลนส์ f/1.4
3. ขยายตัวอย่างภาพใน EVF เพื่อให้โฟกัสได้ง่ายขึ้น
หน้าจอสัมผัสของกล้อง EOS R ช่วยให้คุณแตะลงบนดวงดาวที่มีความสว่างเพื่อกำหนดพื้นที่ AF รอบดวงดาว การขยายพื้นที่โฟกัสนี้จะช่วยให้จับโฟกัสได้แม่นยำมากขึ้น ยิ่งใช้กำลังขยายสูงในการแสดงภาพ ก็จะยิ่งจับโฟกัสได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ให้ใช้กำลังขยายสูงสุด (10 เท่า) เมื่อทำได้
มุมมองปกติ
กำลังขยาย 10 เท่า
เคล็ดลับ: ปรับแต่งปุ่มต่างๆ เพื่อให้ขยายมุมมองได้รวดเร็วขึ้น
ผมกำหนดฟังก์ชั่นขยาย/ลดขนาดภาพให้กับปุ่มล็อค AE ซึ่งเป็นปุ่มหนึ่งที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดในกล้อง EOS R วิธีนี้จะช่วยให้คุณสลับเปิดปิดกำลังขยาย 10 เท่าได้เพียงกดปุ่มครั้งเดียว
ฉาก 2: ใช้เส้นแสงดาวในการถ่ายทอดกระแสแห่งเวลา
EOS R/ EF16-35mm f/2.8L III USM / FL: 16 มม./ Manual (f/2.8, 30 วินาที x 30 ภาพ, EV±0)/ ISO 2500/ WB: 3700K
เส้นแสงดาวเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่นิยมใช้ในการถ่ายภาพท้องฟ้าพร่างดาว ซึ่งคุณสามารถทำได้ด้วยกล้อง EOS R โดยถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยสายลั่นชัตเตอร์ จากนั้นจึงนำภาพที่ได้มารวมกัน
เคล็ดลับ: ถ่ายภาพให้นานขึ้นเพื่อให้ได้ภาพที่ดียิ่งขึ้น
หากระยะเวลาการถ่ายภาพของคุณสั้นเกินไป เส้นแสงดาวจะมีความชัดเจนน้อยลง หากใช้เลนส์มุมกว้าง คุณควรถ่ายภาพเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 20 นาที หากต้องการให้ได้ผลที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น ให้ถ่ายภาพเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
สายลั่นชัตเตอร์ที่มีกลไกในการล็อคชัตเตอร์ เช่น รีโมทสวิตช์ RS-60E ช่วยให้ล็อคปุ่มลั่นชัตเตอร์ไว้สำหรับการถ่ายภาพที่ต้องเปิดรับแสงต่อเนื่องเป็นเวลานาน
EOS R/ EF16-35mm f/2.8L III USM / FL: 16 มม./ Manual (f/2.8, 30 วินาที x 53 ภาพ, EV±0)/ ISO 2500/ WB: 3900K
2 ขั้นตอนในการถ่ายภาพเส้นแสงดาวให้น่าทึ่ง
1. ตรวจดูให้แน่ใจว่าการตั้งค่ากล้องที่คุณใช้สามารถถ่ายเส้นแสงดาวได้อย่างต่อเนื่อง
- ตั้งค่าโหมดขับเคลื่อนไปที่ “H” (การถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูง)
- ตั้งค่าการลดจุดรบกวนจากการเปิดชัตเตอร์นานเป็น “ปิด” เนื่องจากกระบวนการลดจุดรบกวนอาจทำให้เกิดความล่าช้าระหว่างการเปิดรับแสง
ตั้งค่าโหมดขับเคลื่อนไปที่ “H”
ตั้งค่าการลดจุดรบกวนจากการเปิดชัตเตอร์นานเป็น “ปิด”
2. สร้างเส้นแสงดาวโดยนำภาพมารวมกันด้วยซอฟต์แวร์
สามารถสร้างเส้นแสงดาวได้โดยนำเฉพาะส่วนที่สว่างในภาพมารวมกัน ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยโปรแกรมซอฟต์แวร์พิเศษ เช่น StarStaX (ฉบับภาษาอังกฤษ) (ซอฟต์แวร์ฟรีที่ใช้ได้กับทั้ง Windows และ Mac)
ต่อไปนี้คือวิธีอื่นๆ ที่คุณสามารถลองใช้ได้ในการสร้างเส้นแสงดาวให้แตกต่าง:
ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: การใช้ระเบิดซูมเพื่อเปลี่ยนดวงดาวบนท้องฟ้าให้เป็นฝนดาวตก
อ่านเคล็ดลับเกี่ยวกับการถ่ายภาพดวงดาวเพิ่มเติมที่:
ความรู้เบื้องต้นในการถ่ายภาพดาราศาสตร์ - คำแนะนำสำหรับมือใหม่
การถ่ายภาพดวงดาว: สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงเมื่อถ่ายภาพดวงดาว
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดเมื่อปี 1958 ที่จังหวัดนีงะตะ Numazawa เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพดาราศาสตร์และภาพประกอบทางดาราศาสตร์เป็นหลัก เขาเคยมีส่วนร่วมในโครงการของรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์หลายโครงการที่จัดทำขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์ NHK อีกทั้งยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นช่างภาพประจำ National Geographic Tour และได้รับรางวัล Good Life Award จากกระทรวงสิ่งแวดล้อม (ญี่ปุ่น) อีกด้วย