ถ่ายภาพสวยดั่งใจ: เส้นแสงดาวในตำแหน่งที่สมบูรณ์แบบรอบดาวเหนือ
EOS 5D Mark III/ EF16-35mm f/2.8L II USM/ FL: 16 มม./ Manual exposure (f/9, 25 นาที)/ ISO 200/ WB: อัตโนมัติ
สถานที่ถ่ายภาพ: ภูเขานันไต (จังหวัดโทจิงิ)
การเตรียมความพร้อมเพื่อถ่ายภาพ
ความงดงามของภาพด้านบนนี้อยู่ที่ตำแหน่งของดาวเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางวงเส้นแสงดาวที่เรียงตัวเหนือยอดเขาพอดี ภาพเช่นนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากคุณเพียงแค่เล็งเลนส์ไปที่ตัวแบบและถ่ายภาพโดยไม่ได้วางแผน
เคล็ดลับเริ่มต้น:
1. ค้นหาตำแหน่งที่แน่นอนของดาวเหนือ
2. นึกถึงวิธีเชื่อมโยงดาวเหนือกับตัวแบบอื่นๆ ในองค์ประกอบภาพ
3. เลือกสถานที่ถ่ายภาพที่มีแสงไฟจากถนนน้อยที่สุด เพื่อให้มองเห็นดวงดาวในภาพมากขึ้น
4. แสงจากดวงจันทร์อาจส่งผลต่อการมองเห็นดวงดาวด้วยเช่นกัน จึงควรถ่ายภาพในคืนเดือนดับ
สถานที่และเวลา: ยิ่งแสงเทียมน้อย ยิ่งดี
เพื่อหลีกเลี่ยงการรับแสงบริเวณรอบทะเลสาบ (ทะเลสาบชูเซนจิ) ฉันจึงลงมือถ่ายภาพนี้ในช่วงเวลาดึก ซึ่งมีแสงเทียมน้อยกว่าปกติ อันที่จริง แสงที่มีอยู่เพียงพอแล้วสำหรับการสะท้อนพื้นผิวของภูเขานันไต จึงสามารถเก็บภาพรูปทรงของภูเขาได้อย่างชัดเจน
ขั้นตอนที่ 1: กำหนดตำแหน่งของเส้นแสงดาวและภูเขาในเฟรมภาพ
ขณะจัดวางองค์ประกอบภาพ สิ่งแรกที่ฉันทำคือจัดเฟรมภาพให้ดาวเหนืออยู่เหนือยอดเขาโดยตรง จากนั้นจึงหันมาเลือกตัวแบบหลัก (เส้นแสงดาว) และตัวแบบรอง (ภูเขา)
A: ดาวเหนือ
B: ตัวแบบหลัก (เส้นแสงดาว)
C: ตัวแบบรอง (ภูเขา)
วิธีหาตำแหน่งของดาวเหนือ
ดาวเหนือมีความสุกสว่างระดับ 2 จึงเป็นดาวที่ค่อนข้างสว่างและมองเห็นได้ง่าย คุณสามารถใช้แอปมือถือต่างๆ เพื่อช่วยระบุตำแหน่งของดาวเหนือ แต่ถ้าคุณชอบวิธีแบบดั้งเดิมมากกว่า ฉันขอแนะนำอีกสองวิธี ได้แก่
การใช้กลุ่มดาวกระบวยใหญ่:
1. หาตำแหน่งของกลุ่มดาวกระบวยใหญ่
2. วาดเส้นในจินตนาการเพื่อเชื่อมดาวดวงที่หกและเจ็ดเข้าด้วยกันจากปลายด้ามจับกระบวย
3. วาดเส้นให้ใหญ่ขึ้นห้าเท่า ดาวเหนือจะอยู่ที่ใดที่หนึ่งในบริเวณปลายเส้นนั้น
การใช้เข็มทิศ (หรือแอปเข็มทิศ):
1. ทราบละติจูดของคุณ
2. ใช้เข็มทิศ (หรือแอปเข็มทิศในสมาร์ทโฟนของคุณ) เพื่อหาตำแหน่งของทิศเหนือที่แท้จริง แล้วหันหน้าไปทางทิศนั้น
3. ความสูงของดาวเหนือเหนือเส้นขอบฟ้าจะเท่ากับละติจูดของคุณ ซึ่งหมายความว่า หากคุณอยู่ที่ละติจูด 36 องศาเหนือ ดาวเหนือจะอยู่ในตำแหน่งประมาณ 36 องศาเหนือเส้นขอบฟ้า
เคล็ดลับ: 10 องศาจะเท่ากับมือหนึ่งกำปั้นที่กำไว้สุดเหยียดแขนโดยประมาณ หากคุณอยู่ที่ตำแหน่ง 36 องศาเหนือ ดาวเหนือจะอยู่ที่ประมาณ 3.5 กำปั้นเหนือเส้นขอบฟ้า (ที่มา: www.space.com)
ขั้นตอนที่ 2: จับโฟกัสดาวเหนือให้คมชัด
กุญแจสำคัญที่ช่วยให้ถ่ายภาพถ่ายดวงดาวได้สวยงามคือ การตรวจดูให้แน่ใจว่ากล้องจับโฟกัสดาวเหนืออย่างแม่นยำ ปรับสวิตช์โหมดการโฟกัสของเลนส์ไปที่ MF และขยายภาพ Live View ดาวเหนืออาจดูเบลอและอยู่นอกโฟกัส จึงควรปรับจนกว่าโฟกัสจะคมชัด ยิ่งดาวเหนือมีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ และคมชัดมากเท่าไหร่ ภาพจะยิ่งดูสวยงามมากขึ้นเท่านั้น
เคล็ดลับ: เพื่อถ่ายทอดสีสันของภาพให้ดูสมจริงมากยิ่งขึ้น ให้ตั้งค่ารูปแบบภาพไปที่ "ปกติ" หรือ "ภาพตามจริง"
เปลี่ยนเป็น MF
ขั้นตอนที่ 3: ใช้โหมด Bulb และเปิดรับแสงเป็นเวลานาน
หมุนวงแหวนเลือกโหมดไปที่ ‘B’ (โหมด Bulb)
ฉันถ่ายภาพนี้ที่ระยะ 16 มม. และจัดวางองค์ประกอบภาพให้ท้องฟ้าครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาพ วิธีนี้ช่วยจับภาพเส้นทางเดินของดวงดาวเป็นวงกลมได้อย่างชัดเจน
หากคุณต้องการสร้างวงเส้นแสงดาว คุณต้องใช้การเปิดรับแสงนานมากๆ ฉันเลือกใช้โหมด Bulb พร้อมกับตัวตั้งเวลาแบบหน่วงเวลาเป็นระยะที่ให้มาในกล้อง หากกล้องของคุณไม่มีฟังก์ชั่นตัวตั้งเวลาแบบหน่วงเวลาเป็นระยะ คุณอาจต้องหาวิธีอื่นเพื่อเปิดชัตเตอร์ตลอดระยะเวลาที่ถ่ายภาพ เช่น รีโมทสวิตช์ที่มีฟังก์ชั่นตัวตั้งเวลา เป็นต้น
เคล็ดลับ: เวลาการเปิดรับแสง
ดวงดาวบนท้องฟ้าทางทิศเหนือจะเคลื่อนที่ประมาณ 15 องศาทุกชั่วโมง การใช้การเปิดรับแสงนานขึ้นจะทำให้เส้นแสงดาวยาวขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางยาวโฟกัสที่คุณใช้และปัจจัยอื่นๆ ด้วยเช่นกัน สำหรับภาพนี้ ฉันตั้งเวลาเปิดรับแสงไว้ที่ 25 นาที เพราะระยะที่เวลานานกว่านั้นอาจทำให้บริเวณตีนเขามีแสงสว่างจ้าเกินไป คุณอาจต้องอาศัยการลองผิดลองถูกบ้าง เพื่อค้นหาการตั้งค่าที่เหมาะสมสำหรับองค์ประกอบและสภาพการถ่ายภาพนั้นๆ
ต่อไปนี้เป็นไอเดียอื่นๆ สำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ดวงดาว:
ศิลปะของการใช้ชัตเตอร์ต่ำ: การใช้ระเบิดซูมเพื่อเปลี่ยนดวงดาวบนท้องฟ้าให้เป็นฝนดาวตก
ภาพทิวทัศน์ดวงดาวอันน่าทึ่ง: การถ่ายภาพหิ่งห้อยที่สว่างไสวท่ามกลางท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว
ติดตามเคล็ดลับและคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายภาพดวงดาวได้ที่:
การถ่ายภาพดวงดาว: สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงเมื่อถ่ายภาพดวงดาว
แอปที่ขาดไม่ได้ในการยกระดับการถ่ายภาพกลางแจ้งขึ้นไปอีกขั้น (ฉบับภาษาอังกฤษ)
เหตุผล 5 ข้อว่าทำไม EOS 5D Mark IV คือกล้องที่ดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพดาราศาสตร์
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาว SNAPSHOT
ลงทะเบียนตอนนี้!เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
เกิดที่เมือง Sendai จังหวัด Miyagi เธอเริ่มสนใจการถ่ายภาพหลังจากบังเอิญได้เห็นภาพถ่ายที่ทำให้เธอเกิดแรงบันดาลใจใน Okunikko ในปี 1987 เธอศึกษาการถ่ายภาพจาก Shotaro Akiyama ช่างภาพผู้มีชื่อเสียงที่ล่วงลับไปแล้ว ก่อนจะเปิดสตูดิโอของตัวเองและผันตัวมาเป็นช่างภาพอิสระ ด้วยความหลงใหลในสีสันอันงดงามของธรรมชาติ เธอจึงเดินทางไปทั่วญี่ปุ่นด้วยรถยนต์ของเธอ เพื่อเก็บภาพทิวทัศน์แสนสงบในฤดูต่างๆ รวมทั้งภาพที่มีทั้งรถไฟและทิวทัศน์ด้วย เธอเป็นสมาชิกของ Japan Professional Photographers Society (JPS) และ Japan Society for Arts and History of Photography (JSAHP)