การถ่ายภาพดาราศาสตร์: การถ่ายภาพท้องฟ้าที่ดารดาษไปด้วยแสงดาวด้วยเลนส์ f/1.4
การถ่ายภาพดาราศาสตร์เป็นวิธีที่ใช้เก็บภาพดวงดาวต่างๆ ในบทความนี้ เราจะมาดูจุดสำคัญสำหรับการถ่ายภาพท้องฟ้าที่ดารดาษไปด้วยแสงดาวโดยใช้เลนส์ที่ให้ความสว่างซึ่งมีค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.4 คุณจะสามารถถ่ายทอดอารมณ์ผ่านภาพถ่ายของคุณได้กว้างไกลยิ่งขึ้น และได้รับความเพลิดเพลินจากประสบการณ์การถ่ายภาพมากขึ้น หากคุณสามารถปรับค่า f ด้วยความเข้าใจถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมา! (เรื่องโดย: Shigemi Numazawa)
EOS-1D X/ EF24mm f/1.4L II USM/ FL: 24 มม./ Manual exposure (f/1.4, 30 วินาที)/ISO 1250/ WB: อัตโนมัติ
เมื่อก้าวลงจากรถที่จอดท่ามกลางเทือกเขาและแหงนมองบนท้องฟ้าทางทิศใต้ ผมมองเห็นทางช้างเผือกที่สว่างไสวและกลุ่มดาวแมงป่องลอยเด่น ดวงดาวทั้งสองเปล่งประกายระยิบระยับท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บยามค่ำคืน ผมถ่ายภาพนี้โดยใช้เลนส์ที่มีขนาดรูรับแสงกว้างที่ f/1.4 เมื่อท้องฟ้าปลอดโปร่ง ผมเพิ่มความไวแสง ISO ขึ้นอีกเล็กน้อยและเลือกใช้การเปิดรับแสงนานประมาณ 30 วินาที จากนั้นถ่ายภาพโดยใช้ขาตั้งแบบอีเควทอเรียลเข้าช่วย
สร้างอารมณ์ภาพให้โดดเด่นยิ่งขึ้นกว่าที่มองเห็น
แสงที่อ่อนกำลัง ดวงดาวที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ตามโลกที่หมุนไป...ในการถ่ายภาพดาราศาสตร์ คุณจะพบข้อจำกัดมากมายที่ไม่อาจใช้การถ่ายภาพในเวลากลางวันเข้าช่วยได้ อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพความไวแสง ISO สูงอันยอดเยี่ยมของกล้องดิจิตอลและเลนส์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่ที่ให้ความสว่างจะช่วยให้คุณเก็บภาพท้องฟ้ายามค่ำคืนให้มีสีสันสดใสและคมชัดในทุกรายละเอียดได้
เลนส์ที่มีค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ประมาณ f/2.8 อาจถือว่าเป็นเลนส์ที่มี "รูรับแสงกว้าง" ได้ อย่างไรก็ดี หากเป็นการถ่ายภาพดวงดาวบนท้องฟ้า ความแตกต่างในเรื่องความสามารถในการถ่ายทอดภาพระหว่างค่ารูรับแสงที่ f/1.4 และ f/2.8 หรือ f/2.0 นั้นมีมากกว่าที่คุณคิดไว้
ในการถ่ายภาพดวงดาวที่มีลักษณะเป็นจุดแสงจากตำแหน่งถ่ายภาพที่ตายตัวนั้น คุณจำเป็นต้องใช้เลนส์มุมกว้างโดยตั้งเวลาการเปิดรับแสงนาน 20 วินาทีหรือน้อยกว่า หากถ่ายภาพยามค่ำคืนที่ไร้ดวงจันทร์ท่ามกลางทิวทัศน์ในชนบท ควรตั้งค่าความไวแสง ISO ปกติสำหรับเลนส์ f/1.4 ที่ประมาณ ISO 800 เพื่อให้ได้ระดับการเปิดรับแสงอย่างเพียงพอที่ 20 วินาที สำหรับเลนส์ f/2 และ f/2.8 การตั้งค่าความไวแสง ISO ปกติจะอยู่ที่ประมาณ ISO 1600 และ ISO 3200 ตามลำดับ เพื่อให้ได้ภาพที่มีการเกลี่ยแสงที่ละเอียดและมีจุดสีรบกวนน้อย
ไม่เพียงเท่านั้น เลนส์ f/1.4 ยังมีความสามารถในการถ่ายภาพท้องฟ้าที่สว่างไสวไปด้วยดวงดาวในแบบที่คุณไม่เคยได้สัมผัสเมื่อใช้เลนส์ f/2 เลนส์นี้ไม่เพียงสร้างความตื่นตาตื่นใจขณะที่เรายืนอยู่ในฉากเท่านั้น แต่ยังมอบความพิเศษทั้งในแง่ของเฉดสี รายละเอียด หรือองค์ประกอบอื่นๆ ที่สร้างความประทับใจมากเกินกว่าที่เราคาดหวังไว้
เคล็ดลับที่ 1: ใช้ดวงดาวที่มืดเพื่อกำหนดโฟกัส
การหาจุดโฟกัสพีคสำหรับดวงดาวที่ส่องสว่างอาจทำได้ยากเมื่อคุณใช้เลนส์ที่มีค่ารูรับแสงกว้างขนาด f/4 เนื่องจากดวงดาวนั้นจะดูใหญ่ขึ้นและมีความอิ่มของสีมากขึ้น ดังนั้น ในการกำหนดโฟกัสผมจึงแนะนำให้ใช้ดวงดาวที่มืด และเพื่อเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น คุณอาจลองใช้ดวงดาวสักสองหรือสามดวงได้
เคล็ดลับที่ 2: ปรับโฟกัสบนหน้าจอ LCD ด้วยเลนส์ขยาย
คุณจำเป็นต้องขยายหน้าจอ Live View ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อใช้ในการกำหนดโฟกัสไปที่ดวงดาว แต่เนื่องจากท้องฟ้าในยามค่ำคืนนั้นมืดสนิท การตรวจสอบหน้าจอจึงทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับช่างภาพที่มีประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลงตามวัย ดังนั้น เลนส์ขยาย 5 เท่าจึงเป็นสิ่งจำเป็นในกรณีนี้
รับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการถ่ายภาพ รวมถึงเคล็ดลับและกลเม็ดต่างๆ ได้โดย ลงทะเบียนกับเรา!
เลนส์ f/1.4 ที่แนะนำ
EF24mm f/1.4L II USM
คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
เป็นเลนส์ที่ให้ความสว่างซึ่งจำเป็นสำหรับการถ่ายภาพท้องฟ้าที่มีดวงดาวพร่างพราว ผมใช้เลนส์ชนิดนี้โดยใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุดแม้ว่าจะมีความคลาดสีหลงเหลืออยู่ตามขอบภาพก็ตาม เนื่องจากเราสามารถลดปัญหาดังกล่าวได้ด้วยการใช้ฟิลเตอร์ซอฟต์
เกิดที่จังหวัดนีงะตะเมื่อปี 1958 Numazawa มีผลงานด้านการถ่ายภาพดาราศาสตร์และภาพวาดเกี่ยวกับดาราศาสตร์ เขาเคยมีส่วนร่วมในโครงการของรายการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์หลายโครงการที่จัดทำขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์ NHK และเคยได้รับรางวัลจากรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน เขาเป็นช่างภาพประจำ National Geographic Tour
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation